พรรคภารตียชนตา
พรรคภารตียชนตา भारतीय जनता पार्टी | |
---|---|
หัวหน้า | อมิต ศาห์ |
ก่อตั้ง | 6 เมษายน พ.ศ. 2523 |
ที่ทำการ | 6-A, Deen Dayal Upadhayay Marg, Mata Sundari Railway Colony, Mandi House, นิวเดลี 110002 |
หนังสือพิมพ์ | Kamal Sandesh |
ฝ่ายเยาวชน | Bharatiya Janata Yuva Morcha |
จำนวนสมาชิก (ปี 2558) | 110 ล้านคน |
อุดมการณ์ | ชาตินิยมฮินดู มนุษยนิยม อนุรักษนิยม อนุรักษ์นิยมทางสังคม ชาตินิยมทางเศรษฐกิจ |
กลุ่มระดับสากล | สหภาพประชาธิปไตยระหว่างประเทศ สหภาพประชาธิปไตยแห่งเอเชียแปซิฟิก |
สี | สีส้ม |
จุดยืน | ขวา |
โลกสภา | 271 / 545
|
ราชยสภา | 73 / 245
|
จำนวนรัฐและดินแดนสหภาพในรัฐบาล | 18 / 31
|
เว็บไซต์ | |
http://www.bjp.org | |
การเมืองอินเดีย รายชื่อพรรคการเมือง การเลือกตั้ง |
พรรคภารตียชนตา (ฮินดี: भारतीय जनता पार्टी ภารตีย ชนตา ปารฺตี; อังกฤษ: Bharatiya Janata Party: BJP) หรือ พรรคประชาชนอินเดีย (อังกฤษ: Indian People's Party) เป็นพรรคการเมืองอินเดียหนึ่งในสองพรรคใหญ่คู่กับพรรคคองเกรสแห่งชาติอินเดีย (Indian National Congress)[1] นับแต่ ค.ศ. 2016 เป็นต้นมา พรรคภารตียชนตามีสมาชิกในรัฐสภาอินเดียและสภาระดับรัฐมากที่สุด
พรรคภารตียชนตานั้นมีที่มาจากกลุ่มภารตียชนสังฆ์ (Bharatiya Jana Sangh) ซึ่งศยามา ประสาท มุขัรชี (Syama Prasad Mukherjee) ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1951 และหลังการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใน ค.ศ. 1977 กลุ่มภารตียชนสังฆ์รวมตัวกับกลุ่มการเมืองอื่นอีกหลายกลุ่มเข้าเป็นพรรคชนตา (Janata Party) และเอาชนะพรรคคองเกรสแห่งชาติอินเดียในการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. 1977 ได้อยู่ในอำนาจสามปี จึงยุบพรรคลงใน ค.ศ. 1980 และสมาชิกบางคนได้หันเหมาก่อตั้งพรรคภารตียชนตาในที่สุด แม้หนทางการเมืองแรกเริ่มไม่ราบเรียบ พรรคภารตียชนตาเริ่มเข้มแข็งขึ้นหลังจากเกิดความเคลื่อนไหวรามชันมภูมิ (Ram Janmabhoomi) ครั้นเมื่อได้ชัยชนะในการเลือกตั้งระดับรัฐ ทั้งมีผลงานดีขึ้นในการเลือกตั้งระดับชาติ พรรคภารตียชนตาก็กลายเป็นพรรคการเมืองที่ใหญ่สุดในรัฐสภาเมื่อ ค.ศ. 1996 แต่ก็ยังมิอาจครองเสียงข้างมากในสภาล่าง ทั้งรัฐบาลที่จัดตั้งก็อยู่ได้เพียง 13 วัน
เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปใน ค.ศ. 1998 กลุ่มการเมืองที่เรียก พันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ (National Democratic Alliance) ซึ่งมีพรรคภารตียชนตาเป็นผู้นำนั้น สามารถจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีอฏัล พิหารี วาชเปยี (Atal Bihari Vajpayee) แต่ก็ดำรงอยู่ได้เพียงหนึ่งปี ก็มีการเลือกตั้งใหม่ นายกรัฐมนตรีวาชเปยีสามารถนำรัฐบาลชุดใหม่และอยู่ในตำแหน่งได้ครบวาระ นับเป็นรัฐบาลชุดแรกที่มิได้มาจากพรรคคองเกรสแห่งชาติอินเดียและสามารถอยู่ครบวาระ ครั้นมีการเลือกตั้งทั่วไปใน ค.ศ. 2004 พันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติแพ้พ่ายอย่างมิได้คาดคิด พรรคภารตียชนตาจึงตกเป็นฝ่ายค้านในรัฐสภาถึงสิบปี จนมีการเลือกตั้งทั่วไปใน ค.ศ. 2014 นเรนทระ โมที (Narendra Modi) นำพาพรรคภารตียชนตาไปสู่ชัยชนะอันท่วมท้น และได้เป็นนายกรัฐมนตรีจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติซึ่งเวลานั้นมีสมาชิกเป็นผู้ว่าการรัฐในอินเดียถึง 17 รัฐ
พรรคภารตียชนตาเป็นกลุ่มการเมืองฝ่ายขวา[2][3] มีอุดมการณ์และการจัดระเบียบพรรคที่เชื่อมโยงกับกลุ่มชาตินิยมฮินดูราษฏรียสวยัมเสวกสังฆ์ (Rashtriya Swayamsevak Sangh) พรรคภารตียชนตาถือว่า ฮินดุตวะ (Hindutva) เป็นพันธกิจของตัว อุดมการณ์อย่างเป็นทางการของพรรค คือ มนุษยนิยมบริบูรณ์ (integral humanism) ตามที่ทีนทยาล อุปาธยายะ (Deendayal Upadhyaya) กำหนดขึ้นเป็นครั้งแรกใน ค.ศ. 1965 พรรคยังสนับสนุนแนวคิดอนุรักษนิยมเชิงสังคม (social conservatism) และมีนโยบายต่างประเทศที่ตั้งอยู่บนหลักชาตินิยม แผนการสำคัญของพรรค คือ การยกเลิกสถานะพิเศษของรัฐชัมมูและกัษมีร์ การสร้างวัดพระรามในเมืองอโยธยา และการบังคับใช้ประมวลกฎหมายแพ่งที่เป็นระเบียบเดียวกันทั่วประเทศ แต่กิจการเหล่านี้ยังมิได้ริเริ่มในรัฐบาลใด ๆ ของพรรคนับแต่ ค.ศ. 1998 สืบมา เพราะหันไปเน้นนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่อย่างกว้างขวางซึ่งให้ความสำคัญอันดับต้นแก่โลกาภิวัตน์และความเติบโตทางเศรษฐกิจยิ่งกว่าสวัสดิการสังคม
อ้างอิง[แก้]
- ↑ "In Numbers: The Rise of BJP and decline of Congress". The Times of India. 19 May 2016. สืบค้นเมื่อ 29 June 2017.
- ↑ Banerjee 2005, p. 3118.
- ↑ Malik & Singh 1992, p. 318.