พยานวัตถุ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พยานวัตถุ หรือ วัตถุพยาน (อังกฤษ: physical evidence, real evidence หรือ material evidence) หมายถึงพยานหลักฐานเชิงวัตถุที่มีส่วนเกี่ยวกับคดีและพบในสถานที่เกิดเหตุ พยานวัตถุสามารถเป็นอะไรก็ได้เช่น ศพ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เศษผ้า กลิ่นน้ำหอม กลิ่นสารเคมี ภาพถ่าย ภาพวิดีโอ ภาพจากกล้องวงจรปิด ฯลฯ พยานวัตถุเป็นหลักฐานและเครื่องช่วยชี้ชัดว่ามีการก่ออาชญากรรมขึ้นอย่างแน่นอน[1]เช่น ผู้เสียหายเข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยกล่าวอ้างว่าถูกข่มขืน และจากการตรวจสอบพบว่าผู้เสียหายมีเสื้อผ้าฉีกขาด มีบาดแผลฟกช้ำตามร่างกายหลายแห่ง น่าจะแสดงว่ามีการก่ออาชญากรรมขึ้นแล้วจริง ไม่ใช่เป็นการกล่าวหาลอย ๆ หรือเป็นการเจตนาใส่ร้ายผู้ต้องสงสัย สามารถชี้ว่าผู้กระทำความผิดได้อยู่ในที่เกิดเหตุเช่น ตรวจได้ขนแมวที่ขากางเกงของผู้ต้องสงสัยที่ผู้ต้องสงสัยอธิบายที่มาที่ไปไม่ได้ และบ้านที่ผู้เสียหายถูกข่มขืนเลี้ยงแมวไว้ 2 ตัว ขนแมวที่พบในกางเกงของผู้ต้องสงสัย เป็นพยานวัตถุอย่างหนึ่ง ที่สามารถนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานในการสืบสวนสอบสวน

ความสำคัญของพยานวัตถุ[แก้]

ความสำคัญของพยานวัตถุ สามารถระบุชี้ชัดว่าบุคคลใดบ้างที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมที่เกิดขึ้นเช่น พบลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องสงสัยในด้านในของถุงมือที่ถอดทิ้งไว้ในบ้านที่ถูกโจรกรรม รวมทั้งยังสามารถกันผู้บริสุทธิ์ออกไปเช่น เด็กสาววัยรุ่น 2 คนพี่น้อง พักอาศัยในหมู่บ้านแห่งหนึ่งริมทางรถไฟ เข้าแจ้งความแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจให้ดำเนินคดีกับชายหนุ่มเพื่อนบ้าน โดยกล่าวหาว่าผู้ต้องสงสัยวางยาแล้วข่มขืนกระทำชำเรา แต่ภายหลังจากแพทย์ทำการตรวจร่างกาย ตรวจทั้งเลือดและปัสสาวะของเด็กสาววัยรุ่นแล้ว ไม่พบสารปนเปื้อนหรือตัวยาใด ๆ ในร่างกาย ผลการตรวจสอบของแพทย์สามารถใช้เป็นพยานวัตถุในการยืนยันความบริสุทธิ์ของผู้ต้องสงสัย หรือสามารถยืนยันคำให้การของผู้เสียหายได้เช่น ผู้เสียหายอ้างว่าถูกผู้ต้องสงสัยแทงมือ ผู้เสียหายจึงเอามือที่เลือดออกป้ายไปบนแขนเสื้อของผู้ต้องสงสัย จากการตรวจพบว่าคราบเลือดบนแขนเสื้อของผู้ต้องสงสัยเป็นเลือดของผู้เสียหายจริง รอยเลือดที่ปรากฏบนแขนเสื้อของผู้เสียหาย ถือเป็นพยานวัตถุสำคัญที่ใช้มัดตัวผู้ต้องสงสัย

การยืนยันพยานวัตถุ[แก้]

การยืนยันพยานวัตถุ มีความสำคัญแก่ผู้ต้องสงสัยที่ถูกยันด้วยพยานวัตถุเป็นหลักฐานสำคัญในการมัดตัวผู้ต้องหา อาจทำให้ผู้ต้องหารับสารภาพเช่น คดีของนายเสริม สาครราษฎร์ ที่ก่อเหตุฆาตกรรมฆ่าหั่นศพนางสาวเจนจิรา พลอยองุ่นศรี แฟนสาวในปี พ.ศ. 2541 [ต้องการอ้างอิง] เมื่อพิสูจน์ได้ว่าผู้ตายเสียชีวิตเพราะถูกยิง ในขณะที่ผู้ต้องหาให้การกับเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อนหน้านี้ว่า ได้ฆ่าเจนจิราโดยการบีบคอ เมื่อพยานวัตถุระบุชัดเจนทำให้ผู้ต้องหารับสารภาพ คำสารภาพของผู้ต้องหามีค่ามากกว่าประจักษ์พยาน เพราะเคยมีการทดลองแล้วพบว่าประจักษ์พยานอาจให้การคลาดเคลื่อนไปได้ เมื่อเวลาผ่านไปเป็นเดือนหรือเป็นปี รวมทั้งได้รับความเชื่อถือจากศาลมากขึ้นเรื่อย ๆ ลูกขุนในระบบศาลลูกขุนก็ต้องการพยานวัตถุเช่นกัน การไม่พบพยานวัตถุช่วยยืนยันว่าไม่มีอาชญากรรมเช่น แจ้งว่าถูกลักทรัพย์แต่ตรวจแล้วไม่มีร่องรอยงัดแงะและทรัพย์ที่ว่ายังคงอยู่ ไม่สูญหาย

ตัวอย่างพยานวัตถุ[แก้]

ตัวอย่างพยานวัตถุที่แพทย์และพนักงานสอบสวน สามารถตรวจพบจากการตรวจสถานที่เกิดเหตุหรือสถานที่พบศพ แพทย์และพนักงานสอบสวนต้องทราบว่า สิ่งใดบ้างที่จะสามารถพบได้ในสถานที่เกิดเหตุ และควรที่จะตรวจสอบสิ่งใดบ้าง และสิ่งใดอาจจะช่วยในการจับตัวผู้กระทำผิดรวมถึงการรักษาสถานที่เกิดเหตุต่อไป จนกว่าจะเสร็จรายงานและต้องเก็บวัตถุพยานไว้จนกว่าคดีจะสิ้นสุด ตัวอย่างพยานวัตถุที่พบในที่เกิดเหตุ มีดังนี้

ห้องครัว[แก้]

ห้องครัว เป็นพยานวัตถุที่สามารถบอกเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้เช่น บนเตามีอะไร จำนวนจานที่ยังไม่ได้ล้าง เศษอาหารที่เหลือ กลิ่นที่พบในที่เกิดเหตุมีกลิ่นใด มีกลิ่นก๊าซและกลิ่นน้ำหอมในบริเวณที่เกิดเหตุหรือไม่ พบบุหรี่หรือก้นบุหรี่ตกอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุหรือไม่ นาฬิกาที่พบเดินหรือไม่ ถ้านาฬิกาตายตายเวลาเท่าใดและเดินตรงเวลาที่เป็นอยู่ในวันที่ตรวจหรือไม่ ถ้าเป็นนาฬิกาปลุกตั้งไว้เวลาเมื่อใด ถ้าแพทย์และพนักงานสบอสวนเข้าตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ พบเป็นงานปาร์ตี้ ในงานมีเหล้ากี่ขวด ประเภทอะไรบ้างและมีทั้งหมดกี่ใบ ข้างในขวดมีของเหลือหรือไม่ ถ้ามีเหลือส่วนที่เหลือเป็นอะไร มีการหกเลอะเทอะและพบเศษก้นบุหรี่ตามพื้นหรือไม่ พบลายมือบนภาชนะในงาน เป็นปาร์ตี้สำหรับกี่คนและน่าจะมีคนมาในงานกี่คน ที่เขี่ยบุหรี่มีก้นบุหรี่เท่าไร มีกี่ชนิด สูบเหลือเท่าไรและมีก้านไม้ขีดหรือไม่ลักษณะเป็นอย่างไร รวมทั้งตรวจค้นตามลิ้นชักตามตู้โต๊ะ พบว่าล็อกอยู่หรือไม่ กุญแจอยู่ที่ใด มีร่องรอยรื้อค้นหาเงินหรือของมีค่าหรือไม่ ถังขยะมีเศษอาหารหรือไม่ ถ้ามีมีเท่าไร มีอะไรบ้างหรือเศษกระดาษอะไร

ห้องน้ำ ห้องนอน[แก้]

ห้องน้ำและห้องนอน เป็นพยานวัตถุที่แพทย์และพนักงานสอบสวนครวจตรวจสอบในอันดับต้น ๆ ควรตรวจผ้าต่าง ๆ ในห้องเช่นผ้าม่าน ผ้าปูเตียง ผ้าเช็ดพื้น ฯลฯ เครื่องใช้ที่อยู่ในห้อง ฝาผนัง อ่างน้ำ ส้วมเปรอะเปื้อนอะไรหรือไม่ มีการกระเซ็นของน้ำและเลือดหรือไม่ ถ้ามีกระเซ็นอย่างไร มีลายนิ้วมือหรือไม่ มีอะไรค้างในคอห่านหรือที่ดักน้ำใต้อ่าง ซึ่งถ้าแพทย์สงสัยและจำเป็นอาจจะต้องทุบส้วมอย่างกรณีเจนจิรา ก็สามารถตรวจสอบได้

เสื้อผ้า[แก้]

เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่พบในสถานที่เกิดเหตุหรือที่สวมใส่อยู่กับศพ มีการถอดออกแล้งวางไว้อย่างไร ถูกถอดแล้ววางอยู่อย่างกลับด้านหรือไม่ สภาพของเสื้อผ้าวางหรือแขวนหรือโยนหรือหมกซุกซ่อนเอาไว้ รวมทั้งมีร่องรอยการต่อสู้ของผู้ตายในสถานที่เกิดเหตุหรือไม่ หรือผู้ตายเป็นคนไม่มีระเบียบ มีการตรวจพบร่องรอยของการยิงด้วยอาวุธปืนหรือไม่ ถ้ามียิงกี่นัด ปลอกกระสุนปืนที่พบขนาดเท่าใด มีกระสุนฝังหรือผ่านวัตถุใดบ้าง ซึ่งจำนวนการยิงในแต่ละครั้ง มักจะไม่เท่ากับจำนวนของบาดแผลที่พบในศพ

ตู้รับจดหมายและจดหมาย[แก้]

ตู้รับจดหมาย เป็นพยานวัตถุที่สามารถระบุวันที่จดหมายมาถึง จดหมายในตู้รับจดหมายยังคงเรียงตามลำดับการรับก่อนหลังอยู่หรือไม่ ไฟแสงสว่างหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่พบในสถานที่เกิดเหตุเปิดหรือปิดอยู่ เช่นโทรทัศน์อาจเปิดทิ้งเอาไว้ หรืออาจจะดับเพราะเสียเนื่องจากเปิดทิ้งไว้ตั้งแต่วันที่เกิดเหตุ แพทย์และพนักงานสอบสวนต้องตรวจที่สวิตช์ด้วยว่าอยู่ใน ตำแหน่งที่เปิดหรือปิด จดหมายที่พบในที่เกิดเหตุ ส่วนใหญ่เป็นจดหมายลาตายหรือจดหมายที่ระบายความอัดอั้นตันใจ เป็นพยานวัตถุที่พบในที่เกิดเหตุในคดีฆ่าตัวตาย ส่วนมากจดหมายที่พบในที่เกิดเหตุเป็นลายมือของผู้ตาย แต่แพทย์และพนัดงานสอบสวนต้องตรวจสอบจดหมายลาตายอย่างละเอียดถี่ถ้วน ว่าจดหมายเป็นลายมือของผู้ตายหรือไม่ ปากกาที่ใช้เขียนยังอยู่หรือไม่ มีกี่ฉบับ มีลายนิ้วมือคนอื่นในกระดาษหรือไม่ จุดที่อาจใช้ซ่อนอาวุธอย่างฉุกละหุก หลังตู้สูง ซอกระหว่างเฟอร์นิเจอร์กับผนัง ซอกระหว่างหนังสือในตู้ทุกอัน ในเตาไฟ เตาอบ เตาไมโครเวฟ ตู้เย็น หม้อข้าว ฯลฯ

หยดเลือด รอยเลือด[แก้]

ภาพแสดงตัวอย่างหยดเลือด พยานวัตถุ

หยดเลือด รอยเลือดที่พบจากศพหรือพบในสถานที่เกิดเหตุ เป็นพยานวัตถุที่สำคัญอย่างหนึ่งในการตรวจสถานที่เกิดเหตุ การตรวจหาหยดเลือด รอยเลือดในที่เกิดเหตุ แพทย์และพนักงานสอบสวนควรตรวจดูทางเท้าทางเข้าที่เกิดเหตุ บันได ลิฟท์ ฯลฯ รูปร่างและลักษณะของหยดเลือดเป็นอย่างไร บางครั้งหยดเลือดของผู้ต้องสงสัย อาจเป็นพยานวัตถุที่สำคัญในการติดตามจับกุมผู้ต้องสงสัยเป็นต้น เมื่อพบเจอหยดเลือด รอยเลือดหรือสิ่งใดก็ตามที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับเลือด จะต้องตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่าเป็นเลือดจริงหรือไม่ ถ้าใช่หยดเลือดและรอยเลือดจริง รอยเลือดนั้นเป็นเลือดสัตว์หรือเลือดคน ถ้าเป็นเลือดสัตว์ เป็นสัตว์เลือดอุ่นหรือสัตว์เลือดเย็น และถ้าเป็นเลือดคนมีปริมาณมากพอที่จะตรวจสอบกรุ๊ปเลือดหรือไม่

พนักงานสอบสวนควรตรวจสอบประตูหน้าต่างในสถานที่เกิดเหตุ ตรวจดูการล็อกว่าเป็นจากด้านในหรือล็อกโดยผู้ตาย ตรวจหาร่องรอยการงัดแงะว่ามาจากด้านนอกหรือไม่ ตรวจสอบตำแหน่งของประตูหรือหน้าต่าง เปิดครึ่งหนึ่งหรือเปิดเต็มที่หรือเปิดแง้มอยู่ สภาพการมองเห็นจากทางด้านนอก ตำแหน่งของม่านหรือบังตา ประตูระหว่างห้องล็อกทางด้านไหน

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. พยานทางฟิสิกส์ นิติเวชศาสตร์ สำหรับพนักงานสอบสวน, พล.ต.ต.เลี้ยง หุยประเสริฐ, พบ., อว. (นิติเวชศาสตร์) ผู้บังคับการ สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ, 2549, หน้า 39