พระเมืองเกษเกล้า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พญาเกศเชษฐราช)
พระเมืองเกษเกล้า
พระมหากษัตริย์แห่งล้านนา
ครั้งที่ 1พ.ศ. 2068 - 2081
ก่อนหน้าพญาแก้ว
ถัดไปท้าวซายคำ
ครั้งที่ 2พ.ศ. 2086 - 2088
ก่อนหน้าท้าวซายคำ
ถัดไปพระนางจิรประภาเทวี
สวรรคตพ.ศ. 2088
พระอัครมเหสีพระนางจิรประภาเทวี
พระราชบุตรท้าวซายคำ
เจ้าจอมเมือง
พระนางยอดคำทิพย์
พระตนคำ[note 1]
พระตนทิพย์
วัดประจำรัชกาล
วัดโลกโมฬี[1]
ราชวงศ์มังราย
พระราชบิดาพญาแก้ว

พระเมืองเกษเกล้า หรือ พญาเกสเชษฐราช (ไทยถิ่นเหนือ: ) ทรงเป็นกษัตริย์พระองค์ที่ 12 ในราชวงศ์มังราย แห่งอาณาจักรล้านนา ทรงครองราชย์ในครั้งที่ 1 พ.ศ. 2068 - 2081 (13 ปี) และครั้งที่ 2 พ.ศ. 2086 - พ.ศ. 2088 (2 ปี) ในการครองราชย์ครั้งแรกพระองค์ปกครองได้ 13 ปี พระองค์ก็ถูกยึดอำนาจจากพระโอรสของพระองค์คือ ท้าวซายคำ แต่ท้าวซายคำราชย์ได้แค่ 5 ปี ก็ถูกขุนนางปลดออกจากราชสมบัติ ต่อมาพญาเมืองเกษเกล้าได้ถูกอัญเชิญให้ขึ้นครองราชย์ แต่พระองค์ครองราชย์ได้แค่ 2 ปี พระองค์ก็ทรงเสียพระจริต พระองค์จึงถูกปลงพระชนม์เสีย

พระราชประวัติ[แก้]

การครองราชย์ครั้งแรก[แก้]

พระเมืองเกษเกล้า หรือ พญาเกสเชษฐราช พระองค์เป็นพระราชโอรสในพระเจ้าศิริธรรมจักรพรรดิ หรือ พญาแก้ว พระราชสมภพที่เมืองน้อย ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน[2] ครองราชย์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2068-2081 สถานภาพของพระองค์เมื่อครั้งแรกครองสิริราชสมบัตินั้น พระองค์ยังสามารถใช้ฐานอำนาจเดิมของพระราชบิดา ไม่มีความขัดแย้งของเหล่าขุนนาง เนื่องจากมีปัจจัยต่าง ๆ เช่นการสนับสนุนของเหล่าคณะสงฆ์และมหาเทวีตนย่าซึ่งเป็นฐานอำนาจเดิม เมื่อพระเมืองเกษเกล้าเสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาตามแนวทางเดิมของพระราชบิดา โดยส่งเสริมพระภิกษุสงฆ์สำนักสีหลหรือฝ่ายป่าแดง เนื่องจากพระองค์เคยบวชในสำนักสีหลที่วัดโพธารามมหาวิหาร (วัดเจ็ดยอด) จึงให้พระครูของพระองค์มาประจำที่วัดโพธารามมหาวิหารและแต่งตั้งพระภิกษุฝ่ายสีหลให้รับสมณศักดิ์เป็นสังฆราชและมหาสามี และโปรดให้พระภิกษุอุปสมบทในนิกายสีหล ดังนั้นตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ที่เขียนโดยพระรัตนปัญญาเถระแห่งวัดโพธารามมหาวิหาร ขณะที่พระเมืองเกษเกล้าครองราชย์ได้ 1-2 ปี ได้สรรเสริญพระเมืองเกษเกล้าว่า "...เป็นพระเจ้าธรรมิกราชโดยแท้..."[3]

การถอดออกจากราชสมบัติ[แก้]

พระเมืองเกษเกล้า ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ครั้งแรกในช่วงปี พ.ศ. 2068-2081 ซึ่งช่วงแรกของการครองราชย์ยังมีกลุ่มอำนาจเดิมในสมัยพญาแก้ว ยังไม่พบความขัดแย้งของเหล่าขุนนาง และดูเหมือนว่าครองราชย์ตามปกติเฉกเช่นกษัตริย์องค์ก่อน ความมั่นคงช่วงแรกจึงเกิดจากแรงสนับสนุนของเหล่าพระสงฆ์และมหาเทวีเจ้าตนย่า (นางโป่งน้อย) ซึ่งเป็นฐานอำนาจเดิม ภายหลังเมื่อมหาเทวีเจ้าตนย่าสวรรคตใน พ.ศ. 2077 โดยพระองค์มีพระราโชบายที่จะรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง สร้างความไม่พอใจแก่ขุนนางลำปางที่นำโดย หมื่นสามล้าน ซึ่งเป็นผู่นำไม่พอใจและเกิดการก่อกบฏขึ้นในปี พ.ศ. 2078 โดยขุนนางเมืองลำปางได้เป็นแกนนำการก่อกบฏ ดังข้อความตอนหนึ่งว่า "...เสนาทังหลาย เปนต้นว่า หมื่นสามล้านกินนคร ๑ ลูกหมื่นสามล้านชื่อว่าหมื่นหลวงชั้นนอก ๑ หมื่นยี่อ้าย ๑ จักกะทำคดแก่เจ้าพระญาเกสเชฏฐราชะ พระเปนเจ้ารู้ จิ่งหื้อเอาหมื่นส้อยสามล้านไพข้าเสียวันนั้นแล..."[1] แสดงว่าขุนนางตามภูมิภาค ต่างไม่พอใจพระมหากษัตริย์ และเกิดความขัดแย้งรุนแรงยิ่งขึ้น จนในที่สุด พ.ศ. 2081 ขุนนางมีอำนาจเหนือกษัตริย์และได้ร่วมกันปลดพระเมืองเกษเกล้าออก แล้วส่งไปครองเมืองน้อย

การครองราชย์ครั้งที่สองและการสวรรคต[แก้]

หลังจากเหตุการณ์นั้น เหล่าขุนนางจึงได้อัญเชิญท้าวซายคำขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แทนพระราชบิดา ท้าวซายคำครองราชย์ในปี พ.ศ. 2081 ขณะมีพระชนมายุ 24 พรรษา แต่หลังพระองค์ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติได้ไม่นานก็ถูกลอบปลงพระชนม์ ดังตำนานพระธาตุหริภุญชัยได้กล่าวไว้ว่า "...พระยาซายคำถือเมืองได้ ๖ ปี มีลูกหญิงก็หลาย มีลูกชายก็มาก เถิงปีก่าดหม้า เดือน ๑๑ แรมค่ำ ๑ วันอาทิตย์ ไทยระวายยี (พ.ศ. 2086) ชาวดาบเรือนหื้อเสียชีวิตในคุ้มน้อยทั้งมวนแล..."[4] แสดงว่าท้าวซายคำได้ถูกเหล่าขุนนางลอบปลงพระชนม์ในคุ้มพร้อมด้วยครอบครัว โดยตำนานเมืองเชียงใหม่ได้ให้เหตุผลไว้ว่า "...เสวยเมืองบ่ชอบสราชธัมม์ เสนาอามาตย์พร้อมกัน ข้าพ่อท้าวชายเสียในปลีก่าเหม้า สก ๙๐๕ ตัว..."[1]

หลังจากลอบปลงพระชนม์แล้ว ก็ได้นำพระเมืองเกษเกล้าพระราชบิดากลับมาครองราชย์โดยครองราชย์ไม่ถึงสองปี ก็ถูกแสนคราวเหล่าขุนนางไทใหญ่ลอบปลงพระชนม์ในปี พ.ศ. 2088 แผ่นดินล้านนาจึงว่างกษัตริย์และเกิดความแตกแยกถึงขั้นสงครามกลางเมือง และมีการดึงกำลังภายนอกเข้าช่วยด้วย

  • กลุ่มแสนคราว เป็นกลุ่มขุนนางในเชียงใหม่ได้ลอบปลงพระชนม์พระเมืองเกษเกล้า แล้วไปอัญเชิญเจ้านายเมืองเชียงตุงที่มีเชื้อสายราชวงศ์มังรายมาครองเมืองเชียงใหม่แต่ไม่ยอมมา จึงได้อัญเชิญเจ้าฟ้าเมืองนายแทน
  • กลุ่มหมื่นหัวเคียน[note 2] เป็นกลุ่มขุนนางที่นำเข้ามารบกับกลุ่มแสนคราวที่เมืองเชียงใหม่ รบกันเป็นเวลาสามวันสามคืน ฝ่ายหมื่นหัวเคียนพ่ายแพ้หนีไปเมืองลำพูน กลุ่มนี้ได้แจ้งให้กรุงศรีอยุธยายกทัพขึ้นมายึดเชียงใหม่ ด้วยเหตุนี้สมเด็จพระไชยราชาธิราชจึงทรงยกทัพมายังเชียงใหม่
  • กลุ่มเชียงแสน กลุ่มนี้ประกอบไปด้วย เจ้าเมืองเชียงแสน เจ้าเมืองเชียงราย เจ้าเมืองลำปาง และเจ้าเมืองพาน ซึ่งเป็นกลุ่มของพระนางจิรประภามหาเทวีเอง ได้ทำการกวาดล้างกลุ่มแสนคราวได้สำเร็จ และสนับสนุนพระอุปโย (หรือ พระไชยเชษฐา) แห่งล้านช้างมาครองล้านนา ด้วยพระองค์มีศักดิ์เป็นพระราชนัดดาในพระเมืองเกษเกล้า โดยระหว่างการรอการเสด็จมาของพระไชยเชษฐา เหล่าบรรดาขุนนางจึงได้อัญเชิญพระนางจิรประภา พระอัครมเหสีในพระเมืองเกษเกล้า และพระราชมารดาในท้าวซายคำ ขึ้นเป็นกษัตรีย์พระองค์แรกในแผ่นดินล้านนาในปี พ.ศ. 2088

มหาเทวีจิรประภา พระอัครมเหสีของพระองค์ ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 2088-2089[5] เนื่องจากพระองค์มีความเหมาะสมเนื่องจากเคยมีบทบาททางการเมือง ด้วยพระนางเป็นพระอัครมเหสีในพระเมืองเกษเกล้า และพระราชมารดาในท้าวซายคำ รวมระยะเวลากว่า 19 ปี (พ.ศ. 2069-2088) และในช่วงเวลาที่พระนางเสวยราชย์ สันนิษฐานว่าพระนางมีพระชนมายุราว 45-46 พรรษา ซึ่งถือเป็นพระชนมายุที่ถือว่าเหมาะสม ด้วยประสบการณ์และความพร้อมดังกล่าวทำให้มหาเทวีสามารถแก้ไขสภาวะบ้านเมืองให้ลุล่วงไปด้วยดี[6]

พระราชกรณียกิจ[แก้]

การศาสนา[แก้]

วัดโลกโมฬี

ในช่วงแรกของการครองราชย์ ขณะที่พระองค์ยังมีสถานะที่มั่นคง พระองค์ได้แต่งตั้งคนใกล้ชิดไปครองเมืองเชียงแสน[7] ซึ่งถือเป็นศูนย์อำนาจทางตอนบนของอาณาจักรล้านนา และเมืองเชียงแสนนี่เองที่เป็นฐานอำนาจของพระเมืองเกษเกล้าสืบมาถึงรัชสมัยของพระนางจิรประภามหาเทวี และสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช ทางด้านการปกครองมีลักษณะปรึกษาร่วมกันกับสิงเมืองและบรรดาขุนนาง เนื่องจากมีหลักฐานที่กล่าวถึง เมื่อพระเมืองเกษเกล้าครองราชย์ได้ไม่ไม่นาน ราชเทวี (ไม่ปรากฏพระนาม) ก็ประสูติราชบุตรองค์หนึ่ง เพื่อความเป็นสิริมงคล จึงได้สร้างพระพุทธรูป "พุทธพิมพาเจ้าราชบุตร" แล้วหารือกับสิงเมืองและเสนาอามาตย์ว่าจะนำพระพุทธรูปไว้ที่ใด เจ้าเมืองเชียงแสนจึงได้เสนอให้ไปไว้ในถ้ำปุ่ม เมืองเชียงแสน[8]

นอกจากนี้พระองค์ยังได้ให้การอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา โดยพระองค์ได้ให้การทำนุบำรุงพระศาสนาในเมืองต่างของล้านนา เช่น เมืองลำพูน เชียงใหม่ และเชียงแสน โดยเฉพาะการสร้างวัดโลกโมฬี ทำนองวัดประจำรัชกาลเลยทีเดียว[1]

การต่างประเทศ[แก้]

สถานะทางการเมืองในช่วงต้นของพระเมืองเกษเกล้าเป็นที่ยอมรับทางการเมืองระหว่างรัฐ โดยเฉพาะอาณาจักรล้านช้าง ดังพบว่า พระเจ้าโพธิสารราช กษัตริย์แห่งล้านช้างได้ทูลขอ นางยอดคำ หรือ พระนางยอดคำทิพย์ (เจ้านางหลวงคำผาย) ธิดาของพระเมืองเกศเกล้าเป็นพระอัครมเหสี เพื่อสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างสองอาณาจักร และผนึกกำลังตอบโต้การขยายตัวของอาณาจักรอยุธยา แต่อย่างไรก็ตามหลังจาก พ.ศ. 2077 ระบอบกษัตริย์และขุนนางของอาณาจักรล้านนาก็เสียสมดุล และเกิดเหตุการณ์การถอดพระองค์ออกจากราชสมบัติ การยกพระราชโอรสของพระองค์ครองราชย์ต่อและถูกลอบปลงพระชนม์ ต่อมาเมื่อพระองค์ครองราชย์อีกครั้งก่อนที่จะถูกลอบปลงพระชนม์ในท้ายที่สุด

ราชตระกูล[แก้]

เชิงอรรถ[แก้]

  1. พระราชธิดาพระองค์เล็กของพระเมืองเกศเกล้า ภายหลังพระเจ้าบุเรงนองพระตนคำกลับไปยังกรุงหงสาวดีด้วยในรัชกาลของพระเจ้าเมกุฏิสุทธิวงศ์ และเชื่อว่าเป็นคนละพระองค์กันกับ พระตนคำ พระมเหสีของสมเด็จพระเจ้าอภัยพุทธบวร ไชยเชษฐาธิราชแต่อาจจะเป็นพระตนทิพย์มเหสีอีกพระองค์ที่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชโปรดให้ดูแลนครเชียงใหม่หลังจากที่พระองค์เสด็จกลับไปหลวงพระบางแล้วและพระตนทิพย์ยังเป็นพระราชธิดาในพระเกศเกล้า
  2. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่, หน้า 88 เรียกคนกลุ่มนี้ว่า "หมื่นหัวเคียนแสนหวี" ซึ่งแสดงว่าเป็นขุนนางเมืองแสนหวี และโพกศีรษะ (หัวเคียน)

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่. หน้า 87
  2. "พบหม้อใส่แหวนรัตนชาติใน "เมืองน้อย" ที่คุมขังโอรสพระเจ้าติโลกราชผู้ถูกใส่ร้ายจนโดนประหาร". มติชนออนไลน์. 29 มกราคม 2560. สืบค้นเมื่อ 30 มกราคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. พระรัตนปัญญาเถระ. ชินกาลมาลีปกรณ์, หน้า 163
  4. ตำนานพระธาตุหริภุญชัย, หน้า 31
  5. สรัสวดี อ๋องสกุล. "บทบาททางการเมือง ประวัติ และที่มาของอำนาจมหาเทวีจิรประภา". ขัตติยานีศรีล้านนา. เจ้าวงศ์สักก์ ณ เชียงใหม่ บรรณาธิการ (เชียงใหม่:วิทอินดีไซน์,2547) หน้า 31-57
  6. ประวัติศาสตร์ล้านนา. หน้า 177
  7. สรัสวดี อ๋องสกุล. ปริวรรต. พื้นเมืองเชียงแสน. หน้า 106
  8. ฮันส์ เพนธ์, บรรณาธิการ. ประวัติพระธาตุเชียงตุง, หน้า 131-132
  • ตำนานพระธาตุหริภุญไชย. พิมพ์เป็นอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พระพิจิตรโอสถ (รอด สุตันตานนท์), 29 พฤษภาคม 2502
  • ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับเชียงใหม่ 700 ปี. เชียงใหม่:ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฎเชียงใหม่, 2538
ก่อนหน้า พระเมืองเกษเกล้า ถัดไป
พระเจ้าศิริธรรมจักรพรรดิ
กษัตริย์อาณาจักรล้านนา
(ครั้งที่ 1)

(พ.ศ. 2068 - พ.ศ. 2081)
ท้าวซายคำ
ท้าวซายคำ
กษัตริย์อาณาจักรล้านนา
(ครั้งที่ 2)

(พ.ศ. 2086 - พ.ศ. 2088)
พระนางจิรประภามหาเทวี