ผู้ใช้:Xycls/ทดลองเขียน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


คนาลล์ฮาร์ท (Knallhart) เป็นวรรณกรรมเยาวชนขนาดสั้นแต่งโดย เกรกอร์ เทสสโนว์ (Gregor Tessnow) นักเขียนชาวเยอรมัน มีจำนวน ๑๕๖ หน้า ตีพิมพ์ครั้งแรกในปีพุทธศักราช ๒๕๔๗ นวนิยายเรื่อง Knallhart สะท้อนสภาพสังคมชนชั้นล่างในกรุงเบอร์ลินและปัญหาของเยาวชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวผ่านตัวละครเอก มิคาเอล โพลิชก้า (Michael Polischka) เด็กชายอายุสิบห้าผู้ถูกข่มเหงรังแกและถูกชักนำไปเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการค้ายาเสพติด นอกจากนี้  Knallhart ยังได้รับการดัดแปลงเป็นผลงานภาพยนตร์ในชื่อเดียวกันและได้รับเสียงตอบรับที่ดีเมื่อออกฉายในประเทศเยอรมันครั้งแรกปีพุทธศักราช ๒๕๔๙

ประวัติผู้แต่ง

เกรกอร์ เทสสโนว์ (Gregor Tessnow) เกิดในปีพุทธศักราช ๒๕๑๒ และอาศัยอยู่ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน เขาจบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนแบบ Realschule และได้รับใบประกาศนียบัตร Mittlere Reife ต่อมาเทสสโนว์ศึกษาต่อในโรงเรียนเทคนิคหรือ Fachschule และฝึกงานเป็นช่างอิฐ ทว่าเขาออกจากการเรียนกลางคันหลังจากที่ศึกษาด้านวิศวกรรมโยธาไปเพียงไม่กี่ภาคการศึกษาและหันมาขับรถแท็กซี่หาเลี้ยงชีพเป็นหลัก ก่อนที่จะเขียนนวนิยายเรื่องสั้นสำหรับเยาวชนและได้รับการตีพิมพ์หนังสือเล่มแรกของเขาในปี ๒๕๔๓ ผลงานของเขาได้แก่ Auch Geheimagenten brauchen Schlaf  (๒๕๔๔) หรือ Kai und Opa auf dem Mars (๒๕๔๖) รวมไปถึง Wenn die Kugel zur Sonne wird (๒๕๔๙) ซึ่งเป็นผลงานประพันธ์ร่วมกับโซราน โดรเวนคาร์ (Zoran Drvenkar) นักเขียนนวนิยายเชื้อสายโครเอเชียผุ้เขียนบทภาพยนตร์ Knallhart ร่วมกับเทสสโนว์

ที่มาของหนังสือ

คำว่า Knallhart เป็นศัพท์ภาษาเยอรมัน มีความหมายแรกว่าบั่นทอนพละกำลังอย่างไม่ลดละ (unerbittlich die ganze Kraft eines Menschen beanspruchend) ความหมายที่สองคือยากขึ้นเรื่อยๆหรือโหดร้ายทารุณ (unerbittlich hart, rücksichtslos bis zur Brutalität)[1] ในบทสัมภาษณ์จากหนังสือพิมพ์ ลา สแตมปา (La Stampa) วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๑ เกรกอร์ เทสสโนว์ได้อธิบายแรงบัลดาลใจในการเขียนนวนิยายคนาลล์ฮาร์ทไว้ว่า เขามีลูกสาวและอยากให้เธอได้อ่านและเห็นโลกมากขึ้น[2] นอกจากนี้ในเว็บไซต์เบอร์ลินเนอร์ มอร์เก้นโพส (Berliner Morgenpost) เทสสโนว์เลือกใช้เขตนอยเคิล์นเพราะเป็นเมืองที่เขาเกิด และได้ต้นแบบตัวละครหลักมิคาเอล โพลิชก้ามาจากเด็กในละแวกนั้น ในตอนท้ายของเรื่องปรากฏฉากที่ใช้ความรุนแรงอย่างแจ่มชัด ทำให้สำนักพิมพ์หลายแห่งปฏิเสธงานเขียนเขาก่อนที่สำนักพิมพ์อือเบอร์รอยเตอร์ (Ueberreuter) จะนำไปตีพิมพ์ เทสสโนว์อธิบายอีกว่า นวนิยายของเขาไม่เพียงจะเหมาะสำหรับเยาวชนเท่านั้นแต่พ่อแม่และเหล่าครูอาจารย์ก็ควรอ่าน เพราะปัญหาที่ตัวละครเอกเจอนั้น ถ้ามองในมุมมองของผู้ใหญ่จะไม่สามารถเข้าใจความเจ็บปวดและความยากลำบากในการแก้ปัญหาของตัวเด็กที่ประสบปัญหา[3]

เนื้อเรื่องย่อ

มิคาเอล โพลิชก้า (Michael Polischka) เดิมอาศัยอยู่กับดอกเตอร์เคล้าส์ เพเทอร์ (Doktor Klaus Peters) ณ เขตเซเลนดอร์ฟ (Zehlendorf) ในกรุงเบอร์ลิน เนื่องจากมิคาเอลเป็นลูกติดของมิเรียม โพลิชก้า (Miriam Polischka) ครอบครัวโพลิชก้าจึงจำต้องย้ายออกจากคฤหาสน์ของดอกเตอร์เคล้าส์เมื่อเขาขอเลิกกับมิเรียม ชีวิตของทั้งสองแม่ลูกพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือทันที พวกเขาย้ายมาอาศัยอยู่ในเขตชุมชนแออัดในนอยเคิล์น (Neukölln) มิคาเอลต้องปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่และพยายามผูกมิตรกับเพื่อนใหม่ในโรงเรียนมัธยมระดับกลางเรอัลชูเลอะ (Realschule) และได้รู้จักกับคริเลอะ (Crille) และมัทเซอะ (Matze) สองพี่น้องที่เป็นเพื่อนร่วมคลาสกับมิคาเอล ในวันแรกของโรงเรียนใหม่มิคาเอลเดินชนหนึ่งในสมาชิกกลุ่มอันธพาลที่นำโดยแอร์โรล (Errol Üsküdat) ทำให้เขาต้องกลับบ้านด้วยความหวาดระแวงและเลี่ยงใช้เส้นทางหลัก แต่กลุ่มอันธพาลก็ตามเขาจนพบและดักเขาไว้ในตรอกถนนเล็ก กลุ่มอันธพาลทำร้ายมิคาเอลและข่มขู่ให้นำเงินและโทรศัพท์มือถือมาให้ มิคาเอลไม่ยอมแจ้งความหรือบอกแม่ของเขาแต่ไปขอความช่วยเหลือจากสองพี่น้องคริเลอะและมัทเซอะ พวกเขาตกลงที่จะไปขโมยเงินและของมีค่าที่บ้านของดอกเตอร์เคล้าส์ เพเทอร์ มิคาเอลได้เงินมาจำนวนหนึ่งกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ ๒ เครื่องในขณะที่คริเลอะขนเครื่องเงินจำนวนหนึ่งออกมา อย่างไรก็ตามแอร์โรลและกลุ่มอันธพาลก็ไม่พอใจแค่นั้น เมื่อมิคาเอลนำของไปให้ แอร์โรลข่มขู่ที่จะเอาเงินอีก มิคาเอลจึงกลับบ้านไปหาเงินที่ซ่อนอยู่เพื่อนำไปให้แอร์โรลแต่ไม่พบ มิคาเอลกับคริเลอะจึงนำเครื่องเงินและมือถือไปขายที่ร้านรับซื้อของเถื่อน ที่นั้น มิคาเอลได้รู้จักกับฮามาล (Hamal) ผู้ทำธุรกิจมืดบางอย่าง ฮามาลถูกใจลักษณะนิสัยบางอย่างของมิคาเอลและหวังว่าเขาจะได้เจอกับมิคาเอลอีก ต่อมาตำรวจมาเยือนบ้านของมิเรียมผู้เป็นแม่ของมิคาเอลเพื่อสอบสวนเรื่องขโมยที่บ้านของดอกเตอร์เคล้าส์ มิคาเอลต้องเดินทางไปให้ปากคำด้วยตนเองที่สถานีตำรวจเซเลนดอร์ฟเนื่องจากเขาไม่อยู่บ้านตอนตำรวจมา หลังจากการสอบปากคำมิคาเอลได้ปะทะกับกลุ่มอันธพาลกลุ่มเดิมที่แอบติดตามมิคาเอลและพยายามจะผลักตกจากรถไฟที่เคลื่อนที่ มิคาเอลรอดมาได้และพยายามจะเอาคืนในวันต่อมาด้วยการเข้าไปถึงกลุ่มอันธพาลและใช้สนับมือต่อสู้ แอร์โรลเริ่มจนมุมจึงใช้มีดต่อสู้และทำให้มิคาเอลเสียท่า เคราะห์ดีที่ฮามาลมาช่วยมิคาเอลไว้โดยแลกเปลี่ยนกับการส่งยาเสพติดและรับเงินจากผู้ซื้อมาให้ฮามาล ในตอนท้ายของเรื่องมิคาเอลต้องนำโคเคนมูลค่ากว่า ๘๐,๐๐๐ ยูโรไปส่งให้ผู้ซื้อ การซื้อขายดำเนินไปได้ด้วยดี แต่ระหว่างทางมิคาเอลพบกับกลุ่มอันธพาลแอร์โรลโดยบังเอิญ แอร์โรลแกล้งมิคาเอลโดยฉวยกระเป๋าบรรจุเงินของมิคาเอลแล้วโยนลงบนหลังคารถไฟที่กำลังเคลื่อนที่ออกจากชานชาลา มิคาเอลรีบไปหากระเป๋าแต่ไม่พบจึงรีบติดต่อฮามาล ฮามาลทราบเรื่องจึงมาหามิคาเอลและสอบถามจนทราบว่าแอร์โรลเป็นคนทำ ฮามาลจึงพามิคาเอลไปยังบริเวณไร้ผู้คนใกล้กับชายแดนเบอร์ลิน ที่นั้นแอร์โรลในสภาพถูกทำร้ายนอนในถุงผ้าสีดำ ฮามาลยื่นปืนให้มิคาเอลเลือกระหว่างฆ่าตัวตายหรือฆ่าแอร์โรล ด้วยความเครียดและความกดดันมหาศาลมิคาเอลลั่นไกใส่แอร์โรล ฮามาลและผู้ติดตามนั่งรถเดินทางกลับและทิ้งมิคาเอลไว้ มิคาเอลทนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ไหวจึงไปหาตำรวจและตัดสินใจเล่าเรื่องทั้งหมด

ตัวละครหลัก

มิคาเอล โพลิชก้า

มิคาเอล โพลิชก้า (Michael Polischka) เป็นเด็กหนุ่มอายุสิบห้าที่ย้ายจากเขตที่มั่งคั่งของเมืองเซเลนดอร์ฟมาสู่เขตที่แออัดในนอยเคล์น ในนวนิยายไม่ได้มีการบรรยายลักษณะภายนอกอย่างชัดเจน มิคาเอลมักจะนิ่งเงียบ มีอารมณ์ขัน และชอบดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ เขาได้อธิบายหน้าตาของแอร์โรวครั้งแรกที่พบว่าเป็นเอ็ดดี้ เมอร์ฟี่เชื้อสายตุรกี เขาเคยบรรยายช่วงชีวิตหลังจากเจอฮามาลว่าเหมือนอยู่ในภาพยนตร์แนวเจ้าพ่อมาเฟีย ลักษณะนิสัยที่เด่นชัดอีกอย่างคือความดื้อรั้น เขาปฏิเสธที่จะขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่และพยายามแก้ปัญหาด้วยตนเอง ซึ่งสอดคล้องกับค่านิยมตัวละครในวรรณกรรมเด็กและเยาวชนของเยอรมันในคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ที่มีความกล้าหาญและพึ่งตนเอง อย่างไรก็ตามมิคาเอลค่อนข้างหยาบคายกับมิเรียมแม่ของเขา เมื่อเธอคบหากับผู้ชายไม่ซ้ำหน้าโดยหลุดปากว่าเธอเป็นโสเภณี และเป็นคนหัวอ่อนที่ถูกชักจูงง่าย เห็นได้จากการที่เขายอมหาเงินและโทรศัพท์มาให้กลุ่มอันธพาล และการที่เขายอมบุกบ้านดอกเตอร์เคล้าส์ตามคำแนะนำของคริเลอะ

มิเรียม โพลิชก้า

มิเรียม โพลิชก้า (Miriam Polischka) แม่ของมิคาเอล เธอถูกดอกเตอร์เคล้าส์ทิ้งเพียงเพราะเธออ้วนขึ้นและไม่สวยเหมือนก่อน เธอรักมิคาเอลและห่วงใยเขามาก มิเรียมไม่ถนัดวิชาชีพด้านใดเลย เธอเคยกล่าวกับมิคาเอลไว้ว่าเธอคงทำงานหาเงินได้ไม่ดี นั้นทำให้ฐานะของทั้งสองแม่ลูกลำบากยากแค้นมากขึ้น มิเรียมเป็นคนขี้เหงาและต้องการความรักอยู่เสมอ เธอจึงมีสัมพันธ์กับผู้ชายและพามาบ้านที่อาศัยอยู่บ่อยครั้ง เธอไม่ปรากฏตัวบ่อยเท่าตัวละครหลักอื่นๆในเรื่อง แต่เธอมีความสำคัญทางด้านจิตใจกับมิคาเอลมาก

แอร์โรล อึสคือดัท

แอร์โรล อึสคือดัท (Errol Üsküdat) เป็นตัวละครฝั่งตรงข้ามกับมิคาเอล (Antagonist) อย่างชัดเจน เขาเป็นเด็กหนุ่มที่เรียนในระดับที่สูงกว่ามิคาเอลในโรงเรียนเดียวกัน แอร์โรลเป็นลูกของผู้อพยพชาวตุรกีและเป็นหัวหน้ากลุ่มอันธพาลที่คอยตามรังควานมิคาเอล เนื่องจากเขาต้องการเงิน และเข้าใจว่ามิคาเอลมีฐานะร่ำรวย ในตอนหลังการตามรังควานของแอร์โรลคือการแก้แค้นที่ทำให้เสียหน้าจากการโต้กลับของมิคาเอล ตัวละครแอร์โรลมีลักษณะค่อนข้างแบนราบ (Flach oder schematisch)

คริเลอะ และ มัทเซอะ

คริเลอะ และ มัทเซอะ (Crille und Matze) สองพี่น้องที่เป็นเพื่อนสนิทมิคาเอลหลังจากย้ายมานอยเคิล์น คริเลอะสูงเท่ากับมิคาเอลแต่มัทเซอะเตี้ยกว่าทั้งสอง ทั้งคู่ชอบดื่มเบียร์และไม่ชอบไปโรงเรียน ประกอบกับพ่อของพวกเขาไปทำงานไกลบ้านบ่อยจึงทำให้มิคาเอลแทบไม่เห็นหน้าพวกเขาที่โรงเรียน ในช่วงที่มิคาเอลหลบหน้ากลุ่มอันธพาลมิคาเอลเคยมาค้างคืนกับทั้งสองและวางแผนบุกบ้านดอกเตอร์เคล้าส์ คริเลอะพยายามช่วยเหลือมิคาเอลและมีบทบาทสำคัญมากในตอนที่คริเลอะพามิคาเอลไปร้านรับซื้อของเถื่อนและได้เจอกับฮามาล

ฮามาล

ฮามาล (Hamal) เป็นผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ที่อาศัยความซื่อและไร้เดียงสาของมิคาเอลให้เขาไปส่งยาเสพติด ฮามาลเป็นผู้อพยพมาจากตุรกีและทำธุรกิจอื่นบังหน้า ฮามาลเป็นตัวละครฝ่ายตรงข้ามที่คลุมเครือเนื่องจากเขาไม่แสดงทีท่าชัดเจนและไม่ทราบแรงจูงใจที่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไคลแม็กซ์ที่ยื่นปืนให้มิคาเอลแทนที่จะลงมือเอง

สถานที่และเวลา

ในตอนต้นของเรื่องสถานที่หลักที่ใช้ในการเล่าเรื่องคือเขตมั่งคั่งในเซเลนดอร์ฟ (Zehlendorf) ที่อยู่ทางตอนใต้ของกรุงเบอร์ลิน ก่อนที่มิคาเอลกับมิเรียม โพลิชก้านั่งรถไฟมาเขตนอยเคิล์น (Neukölln) ที่อยู่ทางตอนใต้ตอนกลางของเบอร์ลิน โดยมีสถานที่สำคัญที่ใช้ดำเนินเรื่องหลักคือ บ้านเช่าของมิคาเอล โรงเรียน บ้านของคริเลอะและมัทเซอะ บ้านของดอกเตอร์เคล้าส์ เพเทอร์ ร้านรับซื้อของเถื่อน สถานีตำรวจ บ้านของผู้ซื้อยาเสพติด และเมืองทางตอนใต้สุดชายแดน สำหรับระยะเวลาในการดำเนินเรื่องในนวนิยายจะแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรก (Teil I) เล่าเรื่องเท้าความของมิคาเอล ไปจนถึงฉากที่ฮามาลช่วยมิคาเอลกินระยะเวลาประมาณหนึ่งถึงสองสัปดาห์ ในส่วนที่สอง (Teil II) เริ่มหลังจากผ่านเหตุการณ์ที่ฮามาลช่วยมิคาเอลไประยะหนึ่ง เนื่องจากการคุกคามของกลุ่มอันธพาลหายไปและมิคาเอลสารภาพกับคริเลอะว่าขนส่งยาเสพติดมาระยะหนึ่งแล้ว คาดว่าเหตุการณ์ทั้งหมดมีระยะเวลาราวหนึ่งถึงสองเดือนเดือนนับตั้งแต่เขาย้ายมาจากเซเลนดอร์ฟ

จุดสุดยอดของเนื้อเรื่อง

จุดไคลแมกซ์ของเรื่องมีสองจุดใหญ่ๆคือ ฉากที่มิคาเอลตัดสินใจไม่ยอมสยบต่อกลุ่มอันธพาลและเข้าต่อสู้กับแอร์โรลจนเกือบเสียท่า และได้ฮามาลมาช่วยไว้ จุดไคลแมกซ์นี้ปรากฏในตอนท้ายของส่วนที่หนึ่งของเรื่อง โดยมีความขัดแย้ง (Konflikt) ที่จัดอยู่ในประเภทปมขัดแย้งสะสม (entwickelnder Konflikt) เป็นตัวผลักดันในจุดไคลแมกซ์นี้ เนื่องจากตัวละครเอกรอดจากจุดที่เสียเปรียบและหลบหนีปัญหาไปได้ด้วยคนที่เข้ามาช่วย ส่วนจุดไคลแมกซ์ที่สองคือฉากที่มิคาเอลต้องยิงแอร์โรล นับเป็นฉากที่บีบคั้นและมีความเครียดสูงสุด จัดเป็นปมขัดแย้งแบบคลี่คลาย (auflösender Konflikt)

มุมมองการเล่า

ทั้งเรื่องเล่าผ่านมุมมองของตัวละครเอกมิคาเอล โพลิชก้า โดยเล่าแบบตัวละครหลักเป็นศูนย์กลาง (subjective Erzählperspektive หรือ Ich-Erzähler) ผู้อ่านจะทราบเรื่องราวผ่านสายตาของมิคาเอลและเข้าใจความรู้สึกของเขาด้วย บางครั้งมีการคาดเดาความคิดผู้อื่นผ่านความคิดของมิคาเอลเนื่องการเล่าเรื่องผ่านตัวละครเอก ผู้อ่านจะไม่ทราบความรู้สึกนึกคิดของตัวละครอื่นเลย

แหล่งอ้างอิงหรือแหล่งค้นคว้าเพิ่มเติม[แก้]

๑) นวนิยายเรื่อง  Knallhart (Gebundene Ausgabe: 156 Seiten, Verlag: Wirtschaftsverlag Ueberreuter (1. Januar 2004), Sprache: Deutsch, ISBN-10: 3800050781, ISBN-13: 978-3800050789, Vom Hersteller empfohlenes Alter: 14 - 17 Jahre, Verpackungsabmessungen: 21,4 x 14 x 1,8 cm)

๒) https://www.ueberreuter.de/urheberinnen/gregor-tessnow/ ประวัติและผลงานของเกรกอร์ เทสโนว

๓) http://www.mighty-haas.de/Gregor_Tessnow.htm ประวัติและผลงานของเกรกอร์ เทสโนว

๔) https://www.perlentaucher.de/autor/gregor-tessnow.html ประวัติและผลงานของเกรกอร์ เทสโนว

๕) https://einsteinspinelli.wordpress.com/2008/11/10/perasso-sara-iv%C2%B0-b/ บทสัมภาษณ์นักเขียนโดยหนังสือพิมพ์ La Stampa

๖) https://www.morgenpost.de/printarchiv/jugend/article103510736/Neukoelln-knallhart.html บทสัมภาษณ์นักเขียนจากหนังสือพิมพ์ Morgenpost

  1. https://www.duden.de/rechtschreibung/knallhart
  2. https://einsteinspinelli.wordpress.com/2008/11/10/perasso-sara-iv%C2%B0-b/
  3. https://www.morgenpost.de/printarchiv/jugend/article103510736/Neukoelln-knallhart.html