ผู้ใช้:NaruF/ทดลองเขียน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา – คอกม้า[แก้]

พื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา – คอกม้า จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับการประกาศจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization: UNESCO) ให้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2520

ความเป็นมา[แก้]

พื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา-คอกม้า ตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของอำเภอเมือง อำเภอแม่ริม อำเภอหางดง และอำเภอสะเมิง ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของอุทยานแห่งชาติจำนวน 3 แห่งคือ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย อุทยานแห่งชาติออบขาน และอุทยานแห่งชาติขุนขาน

เนื้อที่ที่เสนอเดิม 87,906.25 ไร่ (14,065 เฮกแตร์) ต่อมาได้ขยายให้ครอบคลุมเนื้อที่ในการส่งเสริมรวม 358,537.50 ไร่ (57,366 เฮกแตร์) พื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา-คอกม้า มีลุ่มน้ำที่สำคัญ คือ คือลุ่มน้ำแม่สา ลุ่มน้ำห้วยคอกม้า ลุ่มน้ำแม่ท่าช้าง และลุ่มน้ำสะเมิง มีบทบาทสำคัญในการศึกษาและวิจัยทางด้านลุ่มน้ำและอุทกวิทยา และเป็นต้นแบบของการจัดการลุ่มน้ำของประเทศไทย โดยการนำระบบการจัดการลุ่มน้ำแบบผสมผสานมาใช้เป็นพื้นที่นำร่องที่แรกของประเทศไทย ภายใต้โครงการ Mae Sa Integrated Watershed Management โดยงบประมาณของ FAO และ UNDP ในปี 2516

พื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา - คอกม้า มีชุมชนอาศัยอยู่ทั้งหมด 61 หมู่บ้าน มีประชากรรวม 39,941 คน เป็นชาย 17,137 คน หญิง 22,804 คน[1] ประชากรประกอบด้วยคนไทยพื้นเมืองเหนือและชาวเขาเผ่าม้ง กะเหรี่ยง และลีซอ ถือเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพทั้งชนิดพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ ตลอดจนมีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม และเป็นพื้นที่สำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่

ความสำคัญของพื้นที่[แก้]

ดอยสุเทพซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา - คอกม้า เป็นสถานที่สำคัญที่นักพฤกษศาสตร์ใช้เก็บตัวอย่างพรรณไม้และอาศัยตัวอย่างพรรณไม้นั้นเป็นตัวอย่างต้นแบบ (type specimens) ในการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ของพืชเป็นจำนวนมาก และถือเป็นสถานที่ที่มีการเก็บตัวอย่างพรรณไม้ที่ใช้เป็นตัวอย่างต้นแบบในการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์มากที่สุดในประเทศไทย

พื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา - คอกม้า มีจำนวนพืชที่มีท่อลำเลียงไม่น้อยกว่า 679 ขนิด ประกอบด้วยพืชใบเลี้ยงคู่ 526 ชนิด พืชใบเลี้ยงเดี่ยว 113 ชนิด เฟิร์น 34 ชนิด และพืชเมล็ดเปลือย 6 ชนิด เป็นแหล่งของเห็ดรามากมายทั้งที่พบได้ทั่วไปและที่เป็นชนิดใหม่ของโลก นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าไม่น้อยกว่า 439 ชนิด แบ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม 31  ชนิด นก 360 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 31  ชนิด และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 18 ชนิด[2]

พื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา - คอกม้า ถือเป็นปอดของเมืองเชียงใหม่ เนื่องจากเป็นพื้นที่ป่าที่อยู่ใกล้ตัวเมืองเชียงใหม่ที่สุด เป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของชุมชนในพื้นที่ เช่น ลุ่มน้ำแม่สาซึ่งให้น้ำไม่น้อยกว่า 36.58 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี เป็นแหล่งผลิตน้ำประปาเลี้ยงชุมชนในอำเภอแม่ริมและบางส่วนของอำเภอเมืองเชียงใหม่ และเป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรที่สำคัญในพื้นที่ นอกจากนี้พื้นที่ลุ่มน้ำแม่สายังเป็นแหล่งเก็บหาของป่าเพื่อใช้อุปโภคบริโภคของชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ ของป่าที่เก็บในพื้นที่ อาทิ ไม้ไผ่ หน่อไม้ เห็ด พืชผักป่า ผลไม้ป่า สัตว์ป่า แมลงกินได้ สมุนไพร ไม้ฟืน กล้วยไม้ป่า และน้ำผึ้ง พืชเกษตรที่สำคัญได้แก่ พริกหวาน กะหล่ำปลีและกุหลาบ ก่อให้เกิดมาหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในพื้นที่ลุ่มน้ำและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนในพื้นที่เป็นอย่างดี

พื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา - คอกม้า เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรมในจังหวัดเชียงใหม่เป็นอย่างมาก เนื่องจากมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ  เช่น  วัดพระธาตุดอยสุเทพ น้ำตกแม่สา น้ำตกมณฑาธาร  สวนพฤกษศาสตร์สิริกิติ์ ม่อนแจ่ม พระตำหนักภูพิงค์ บ้านม้งดอยปุย บ้านม้งขุนช่างเคี่ยน ฯลฯ  มีสถานบริการและสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ  เช่น โรงแรม รีสอร์ท ปางช้าง  ตั้งอยู่ในพื้นที่ ทำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับต้นๆของประเทศที่นักท่องเที่ยวนึกถึง

ในปี พ.ศ. 2552 สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ร่วมกับอาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในการจัดกิจกรรมฝึกอบรมเทคนิคการเพาะเมล็ดกล้วยไม้ในสภาพปลอดเชื้อให้แกชุมชนบ้างปงไคร้ ต. โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ และได้ต่อยอดการถ่ายทอดเทคนิคในการเพาะเลี้ยงให้แก่ชาวบ้าน จนสามารถย้ายเนื้อเยื่อกล้วยไม้ในสภาพปลอดเชื้อได้ดี องค์การบริหารส่วนตำบลโป่งแยงได้สนับสนุนงบประมาณในการสร้างห้องปฏิบัติการที่เหมาะสม ปัจจุบันกลุ่มอนุรักษ์กล้วยไม้ฟ้ามุ่ยในหมู่บ้านได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนขนาดเล็ก และได้ทำการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อด้วยตนเองทุกขั้นตอนและเพาะเลี้ยงต่อในโรงเรือนจนสามารถนำส่วนหนึ่งมาขาย และบางส่วนกลับไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติอย่างสม่ำเสมอ และสามารถขยายขีดความสามารถไปเพาะเลี้ยงกล้วยไม้อย่างอื่น เช่น นกคุ้มไฟ ซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นของพื้นที่ และสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้และถ่ายทอดเทคนิควิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อฟ้ามุ่ยให้กับผู้สนใจอื่นๆทั้งในและต่างประเทศ เป็นตัวอย่างที่ดีของการถ่ายทอดวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่ชุมชนในพื้นที่สงวนชีวมณฑล

ในช่วงปี พ.ศ. 2555-2558 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้คัดเลือกพื้นที่ลุ่มน้ำแม่สาเป็นหนึ่งในสี่ของพื้นที่ลุ่มน้ำนำร่องของประเทศไทย ในโครงการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้และลุ่มน้ำแบบบูรณาการบนฐานชุมชนโดยการประยุกต์ใช้กลไกชดเชยตอบแทนคุณค่าของระบบนิเวศ (Integrated Community-based Forest and Catchment Management through an Ecosystem Service Approach : CBFCM) เพื่อใช้ PES เป็นแรงจูงใจในการจัดการทรัพยากรป่าไม้และลุ่มน้ำให้มีความยั่งยืน และในช่วงปี พ.ศ.2558-2559 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับ โครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในพื้นที่ป่าเอเชีย (Lowering Emission in Asia's Forests: LEAF) ได้ทดลองนำระบบการจ่ายค่าตอบแทนบริการทางระบบนิเวศ (Payment for Ecosystem Services : PES) มาใช้ในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่สาเช่นกัน

ลุ่มน้ำห้วยคอกม้าเป็นพื้นที่ศึกษาวิจัยด้านลุ่มน้ำและอุทกวิทยาที่สำคัญของประเทศไทย มีแปลงถาวรเพื่อศึกษาผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศทั้งต่อพืชและสัตว์ นอกจากนี้พื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา - คอกม้า ยังเป็นแหล่งศึกษาวิจัยทั้งทางวิทยาศาสตร์ เศรษฐกิจและสังคมจากหลากหลายสถาบันการศึกษาและหน่วยงาน

อ้างอิง[แก้]

  1. โครงการมนุษย์และชีวมณฑล พื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา-คอกม้า. "จุลสารพื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา-คอกม้า (ปีที่ 1 ฉบับที่ 1)". online.pubhtml5.com. สืบค้นเมื่อ 27 April 2021.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  2. Department of National Parks, Wildlife and Plant Conservation. 2018. Biosphere Reserve in Thailand. Bangkok. DD Media Plus Co., Ltd.