ผู้ใช้:Clumsy/ละเมิด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


ละเมิด (อังกฤษ: tort; ฝรั่งเศส: responsabilité délictuelle; จีน: 侵权行为; พินอิน: qīnquánhángwéi, ชินฉวนหังเหวย) คือ การทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินก็ดี หรือสิทธิก็ดี[1] ซึ่งผู้ทำละเมิด (อังกฤษ: tortfeasor) มีหนี้ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด (อังกฤษ: compensation for tort) แก่ผู้ต้องเสียหายเพราะการนั้น

โดยปรกติแล้ว ผู้ใดทำละเมิดย่อมต้องรับผิดเพื่อละเมิดที่ตนกระทำ แต่ในบางกรณีกฎหมายกำหนดให้ผู้เกี่ยวข้องต้องมาร่วมรับผิดด้วย เช่น นายจ้างร่วมรับผิดกับลูกจ้าง บิดามารดากับบุตรผู้เยาว์ ครูบาอาจารย์กับศิษย์ เป็นต้น และบางกรณีกฎหมายกำหนดให้ผู้ทำละเมิดไม่ต้องรับผิดก็มี เรียกว่า "นิรโทษกรรม" (อังกฤษ: justifiable act) เช่น เจ้าของอสังหาริมทรัพย์จับสัตว์ที่เข้ามาก่อความเสียหายในอสังหาริมทรัพย์นั้น และหากจำเป็นจะประหารสัตว์นั้นเสียก็ได้ เป็นต้น

อนึ่ง การที่บุคคลยินยอมให้ผู้อื่นทำละเมิดตน ผู้ทำละเมิดก็ไม่ต้องรับผิด ตามหลักกฎหมายว่า "ความยินยอมไม่เป็นละเมิด" (ละติน: volenti non fit injuria) เช่น เชื่อว่าตะกรุดที่ได้รับมาจากหลวงพ่อทำให้ตนอยู่ยงคงกระพัน จึงร้องขอให้ผู้อื่นยิงตนด้วยปืนเพื่อทดลองความขลังของตะกรุด ฉะนี้ เรียกว่ายินยอมให้ตนเสี่ยงภัย เมื่อยินยอมแล้วไม่ชื่อว่าถูกทำละเมิด จะเรียกค่าเสียหายภายหลังหาได้ไม่ อย่างไรก็ดี สำหรับประเทศไทยปัจจุบันมีกฎหมายมิให้อ้างหลักข้างต้นแล้ว[2]

ละเมิดชื่อว่าเป็นมูลหนี้ประเภทหนึ่งในสามประเภทตามที่กฎหมายรับรองไว้ อีกสองประเภทได้แก่ จัดการงานนอกสั่ง (อังกฤษ: management of affairs) และ ลาภมิควรได้ (อังกฤษ: unjust enrichment) ขณะที่หนี้ประเภทอื่น ๆ จะเกิดขึ้นโดยสัญญาระหว่างคู่กรณีเอง [3]

นิยาม[แก้]

เดิม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงเรียก "ละเมิด" ว่า "การประทุษร้ายทางแพ่ง" ซึ่งก่อให้เกิดหนี้ตามกฎหมายแพ่งที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย มิใช่ตามกฎหมายอาญาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการลงโทษหรือปรับไหม[4]

ขณะที่ในโลกปัจจุบัน นักกฎหมายเห็นว่า ละเมิด คือ การฝ่าฝืนข้อห้ามของกฎหมายที่จะต้องงดเว้นไม่ก่อความเสียหายต่อผู้อื่น โดยจงใจหรือโดยไม่ระมัดระวัง ส่งผลให้ผู้ฝ่าฝืนมีความรับผิดอันเรียก "ความรับผิดเพื่อละเมิด" (อังกฤษ: liability for tort) ที่จัดเป็น "หนี้" (อังกฤษ: obligation) ตามกฎหมาย ดังนั้น ละเมิดจึงเป็นมูลหนี้ตามกฎหมาย เรียกว่า "การณ์อันเป็นเหตุ" (อังกฤษ: causative event) ขณะที่หนี้โดยทั่วไปจะมีมูลมาจากนิติสัมพันธ์ของคู่สัญญา[5]

"...การกระทำละเมิดก่อหนี้ตามกฎหมาย ที่ผู้กระทำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เสียหายอันเป็นลักษณะของความรับผิดทางแพ่งเท่านั้น มิใช่ความรับผิดทางอาญา ละเมิดจึงมิได้มีความมุ่งหมายในการลงโทษผู้กระทำละเมิดเแต่ประการใด กลับมุ่งหมายเยียวยาให้ผู้เสียหาย...

ในปัจจุบัน ความคิดเกี่ยวกับการกำหนดค่าสินไหมทดแทนในเชิงลงโทษของระบบคอมมอนลอว์เริ่มจะมีอิทธิพลต่อความคิดของนักกฎหมายไทย [ระบบซีวิลลอว์] อยู่บ้าง แม้ยังไม่ถึงขนาดที่จะมีอิทธิพลต่อศาลในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนความรับผิดเพื่อละเมิด แต่ก็มีอิทธิพลต่อกฎหมายพิเศษใหม่ ๆ เกี่ยวกับเรื่องละเมิด ที่เริ่มมีความคิดเกี่ยวกับการลงโทษด้วย อันเป็นความคิดที่มิใช่ความรับผิดเพื่อละเมิดของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยโดยแท้

ความคิดของกฎหมายลักษณะละเมิดหรือความรับผิดเพื่อละเมิดนั้น พัฒนาแยกออกมาจากความรับผิดในทางอาญา แยกออกมาเป็นความรับผิดอีกประเภทหนึ่งต่างหากที่ผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องเพื่อให้ได้รับการเยียวยาความเสียหายที่ตนเองได้รับ แต่ในทางปฏิบัติก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในบางครั้งการกระทำอันเดียวก่อให้เกิดความรับผิดได้ทั้งในทางแพ่งและในทางอาญา"

ความรับผิดเพื่อละเมิด[แก้]

ความรับผิดเพื่อละเมิดที่ตนกระทำ[แก้]

ความรับผิดเพื่อละเมิดที่ผู้อื่นกระทำ[แก้]

ความรับผิดเพื่อละเมิดของเจ้าหน้าที่[แก้]

ความรับผิดเพื่อละเมิดของนิติบุคคล[แก้]

ความรับผิดเพื่อละเมิดในการจ้างทำของ[แก้]

ความรับผิดในความเสียหายอันเกิดแต่ทรัพย์สิน[แก้]

ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด[แก้]

ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด (อังกฤษ: compensation for tort) เป็นค่าสินไหมทดแทนประเภทหนึ่ง ประกอบด้วย เงินที่ต้องชดใช้เพื่อทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินหรือแก่บุคคลอันเนื่องมาจากละเมิด ซึ่งเรียก "ค่าเสียหาย" (อังกฤษ: damages) รวมทั้งทรัพย์สินที่ต้องคืนให้แก่ผู้เสียหายด้วย[1]

นิรโทษกรรม[แก้]

นิรโทษกรรม (อังกฤษ: justifable act) คือ การกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ซึ่งกฎหมายบัญญัติว่า ไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เช่น การกระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย การกระทำตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย[1]

อายุความละเมิด[แก้]

อายุความเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด[แก้]

"สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น ท่านว่า ขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด"
ป.พ.พ. ม.448 ว.1

อายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายทางแพ่งแต่ประการเดียวในคดีที่มีมูลเป็นละเมิดนั้น ตามกฎหมายไทย มีกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือสิบปีนับแต่วันทำละเมิด (ป.พ.พ. ม.448 ว.1)

ซึ่ง "ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน" นั้นจะเป็น ตัวผู้ทำละเมิด, ผู้ที่กฎหมายกำหนดให้ร่วมรับผิดกับผู้ทำละเมิด เช่น นายจ้างต้องมาร่วมรับผิดกับลูกจ้าง หรือผู้ที่กฎหมายสันนิษฐานให้รับผิดโดยตรงแม้เขามิได้ทำละเมิดก็ตาม เช่น ผู้ครอบครองทรัพย์สินอันเป็นอันตรายโดยสภาพ ก็ได้

ฎ.6024/2550 ว่า ป.พ.พ. ม.448 ว.1 ได้กำหนดอายุความสิทธิเรียกร้องอันเกิดแต่มูลละเมิดไว้สองกรณี คือ กรณีแรกมีอายุความหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีที่สองมีอายุความสิบปีนับแต่วันทำละเมิด ซึ่งหากเป็นกรณีใดกรณีหนึ่งดังกล่าวก็ถือว่าสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวขาดอายุความ, บทบัญญัติดังกล่าวที่ให้นับอายุความสิบปีนับจากวันทำละเมิดนั้นวันทำละเมิด ย่อมเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ได้กระทำหรืองดเว้นการกระทำอันเป็นมูลเหตุให้เกิดความเสียหายขึ้น ส่วนผลของการทำละเมิดจะเกิดขึ้นเมื่อใดย่อมเป็นอีกเรื่องหนึ่ง, วันทำละเมิดกับวันที่ผลของการทำละเมิดเกิดขึ้นจึงต่างกัน, คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าเมื่อระหว่างเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2522 ถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2523 จำเลยทั้งสองโดยจำเลยที่ 2 จงใจหรือประมาทเลินเล่อ รังวัดที่ดินออก น.ส.3 ก. ของโจทก์ โดยมิชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการ เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย, ดังนี้ มูลละเมิดย่อมเกิดอย่างช้าที่สุดในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2523, โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 ซึ่งล่วงพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิดแล้ว, คดีโจทก์ย่อมขาดอายุความ

ฎ.1888/2547 ว่า การเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดตาม ป.พ.พ. ม.448 มีกำหนดอายุความหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน และการนับอายุความนั้น ป.พ.พ. ม.193/12 ให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป, ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยทั้งสามอยู่ในที่ดินที่จำเลยที่ 1 นำมาขายฝากแก่โจทก์มาโดยตลอด, เมื่อโจทก์อ้างว่าครบกำหนดไถ่คืนแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ไถ่คืน และโจทก์บอกกล่าวให้ออกไปจากที่ดินแล้วจำเลยทั้งสามไม่ยอมออกไป เป็นการอยู่โดยละเมิด, ฉะนั้น ตราบใดที่จำเลยทั้งสามไม่ยอมออกไป การละเมิดก็ยังคงมีอยู่, อายุความย่อมยังไม่เริ่มนับจนกว่าจะหยุดการทำละเมิด, คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

อายุความเรียกค่าเสียหายเพื่อละเมิดซึ่งเป็นความผิดอาญาด้วย[แก้]

อายุความไล่เบี้ย[แก้]

ไล่เบี้ย (อังกฤษ: recourse) หมายความว่า เรียกร้องให้รับผิดในการชําระหนี้ย้อนขึ้นไปเป็นลําดับ[1]

เชิงอรรถ[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 ราชบัณฑิตยสถาน, 2551 : ออนไลน์.
  2. ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์, 2552 : 125.
  3. ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์, 2552 : 17.
  4. ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์, 2552 : 48-49.
  5. ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์, 2552 : 49.

อ้างอิง[แก้]

ภาษาไทย[แก้]

  • ราชบัณฑิตยสถาน.
    • (2543). พจนานุกรมศัพท์กฎหมายไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์. ISBN 9748123529.
    • (2544). พจนานุกรมศัพท์กฎหมายไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์. ISBN 9748123758.
    • (2551, 7 กุมภาพันธ์). พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก>. (เข้าถึงเมื่อ: 12 กันยายน 2552).
    • (ม.ป.ป.). ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก>. (เข้าถึงเมื่อ: 12 กันยายน 2552).
  • ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์. (2552). คำอธิบายกฎหมายลักษณะละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้. (พิมพ์ครั้งที่ 2 แก้ไขเพิ่มเติม). กรุงเทพฯ : วิญญูชน. ISBN 9789742887513.
  • ศาลฎีกา. (2550, 26 มกราคม). ระบบสืบค้นคำพิพากษาและคำสั่งคำร้องศาลฎีกา. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก>. (เข้าถึงเมื่อ: 12 กันยายน 2552).
  • สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. (2551, 10 มีนาคม). ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก>. (เข้าถึงเมื่อ: 12 กันยายน 2552).

ภาษาต่างประเทศ[แก้]

  • Thailand Civil and Commercial Code (online). (n.d.). [Online]. Available: <click>. (Accessed: 26 September 2009).