ผู้ใช้:หางกุด/ongoing

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

กำลังจัดทำ


นก (Bird) จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลัง ชั้น Aves (คำว่า Aves เป็นภาษาละติน หมายถึง นก) โดยมีลักษณะทั่วไปคือ เป็นสัตว์ทวิบาท เลือดอุ่น ออกลูกเป็นไข่ที่มีเปลือกแข็ง รยางค์คู่หน้าเปลี่ยนแปลงไปเป็นปีก มีขนนกปกคลุมเกือบตลอดตัว มีเกล็ดคลุมขาและตีน มีปากซึ่งไม่มีฟัน มีอัตราการเผาผลาญอาหารสูง หัวใจมีสี่ห้องและมีกระดูกที่ภายในเป็นโพรงซึ่งทำให้น้ำหนักเบาแต่แข็งแกร่ง

นกมีหลายขนาดตั้งแต่นกฮัมมิงผึ้ง(Mellisuga helenae) เพศผู้ที่เล็กที่สุดซึ่งวัดความยาวได้เพียง 5.7 เซนติเมตรไปจนถึงนกกระจอกเทศ(Struthio camelus) เพศผู้ที่ใหญ่ที่สุดซึ่งวัดความสูงได้ถึง 2.7 เมตร

นกเกือบทุกชนิดสามารถบินได้ แม้จะมีนกอีกหลายชนิดที่สูญเสียความสามารถในการบินไป แต่ก็มีความสามารถด้านอื่นทดแทนเช่น การว่ายน้ำของนกเพนกวิน มีนกหลายชนิดที่บินอพยพย้ายถิ่นเป็นระยะทางไกลๆ ประจำทุกปี และอีกหลายชนิดที่บินอพยพตามฤดูกาลด้วยระยะทางไม่ไกลนัก

นกส่วนใหญ่อยู่รวมกันเป็นกลุ่มและสื่อสารกันผ่านการมองเห็นและการได้ยินเช่น การร้องสั้นๆ (Bird call) หรือการร้องต่อเนื่องเป็นเพลง (Bird song) การสื่อสารนี้ช่วยให้นกสามารถร่วมกันหาอาหาร เกี้ยวพาราสี เลี้ยงลูกอ่อน บินเกาะกลุ่ม และรวมไปถึงหลบเลี่ยงศัตรูได้

ประสาทตาของนกสามารถรับรู้สีสันได้เหมือนของมนุษย์แต่มีประสิทธิภาพดีกว่ามาก การได้ยินของนกก็อยู่ในระดับความถี่ที่มากกว่ามนุษย์ ส่วนการดมกลิ่นของนกนั้นแย่มาก ยกเว้นนกไม่กี่ชนิดเท่านั้นเช่น นกกีวี แร้ง ซึ่งมนุษย์อาศัยประโยชน์จากประสาทรับกลิ่นที่ดีมากของแร้งโดยผสมกลิ่นเนื้อเน่าลงในก๊าซที่ลำเลียงผ่านท่อส่ง เมื่อท่อก๊าซรั่วจะสังเกตเห็นแร้งบินวนเหนือท่อบริเวณนั้น ทำให้มนุษย์สามารถเข้าซ่อมแซมท่อก๊าซได้อย่างรวดเร็ว

นกวางไข่ในรังและมีการกกไข่ ส่วนใหญ่พ่อแม่นกยังดูแลลูกนกต่อไปอีกระยะหนึ่งหลังจากฟักออกจากไข่แล้ว

ในปัจจุบันทั่วโลกมีนกอยู่ประมาณ 8,800 ถึง 9,800 ชนิด (ตามการจัดอนุกรมวิธานที่ต่างกัน) ซึ่งนับว่านกเป็นชั้นของสัตว์มีกระดูกสันหลังที่มีความหลากหลายมากที่สุด ในบรรดาชั้นของสัตว์มีกระดูกสันหลังทั้งหลายที่อาศัยอยู่บนพื้นดิน ความหลากหลายของนกนับเนื่องไปตั้งแต่ในเรื่องของขนาดตัว สีสัน เสียงร้อง อาหารการกิน และถิ่นที่อยู่อาศัย

นกเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญเป็นอันมากทั้งต่อระบบนิเวศและต่อชีวิตมนุษย์ ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับนกเป็นไปอย่างแน่นแฟ้น และการเกื้อกูลกันระหว่างนกกับสรรพสิ่งต่างๆ ตามธรรมชาติก็เป็นไปอย่างแนบแน่น ถ้าหากปราศจากนก คงเป็นเรื่องยากที่จะจินตนาการถึงการดำรงอยู่ต่อไปของชีวภาคใบนี้

วิวัฒนาการ[แก้]

ซากดึกดำบรรพ์อาร์คีออพเทอริกซ์

นกมีความคล้ายคลึงกับสัตว์เลื้อยคลานหลายประการ เช่น โครงสร้างของกระดูกและกล้ามเนื้อ เกล็ดที่ขา การออกลูกเป็นไข่ และการเจริญเติบโตของตัวอ่อน จึงเชื่อกันว่านกในปัจจุบันถือกำเนิดมาจากสัตว์เลื้อยคลาน

ยิ่งไปกว่านั้น มีหลักฐานซากดึกดำบรรพ์จำนวนมากยืนยันว่านกมีวิวัฒนาการมาจากไดโนเสาร์เทอโรพอด ตัวอย่างเช่น ซากดึกดำบรรพ์อาร์คีออพเทอริกซ์ที่ค้นพบในแคว้นบาวาเรีย ประเทศเยอรมนี เมื่อปี ค.ศ. 1861 ซากดึกดำบรรพ์นี้มีอายุประมาณ 150 ล้านปี บ่งบอกว่าอาร์คีออพเทอริกซ์อาศัยอยู่ในยุคจูแรสสิก และมีลักษณะกึ่งนกกึ่งเทอโรพอด โดยอาร์คีออพเทอริกซ์ต่างจากนกในปัจจุบันตรงที่มีสามเล็บยื่นออกมาจากอุ้งมือ มีฟันที่ปาก และมีกระดูกหางยาว แต่ขณะเดียวกันบริเวณลำตัวก็มีขนนกปกคลุม ทำให้นักปักษีวิทยาเชื่อว่าอาร์คีออพเทอริกซ์น่าจะเป็นบรรพบุรุษของนกในปัจจุบัน

เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์คริพโทโวแลนส์ที่ประเทศจีน ซึ่งมีสันที่กระดูกอก และส่วนยื่นรูปตะขอที่ซี่โครง ซากดึกดำบรรพ์คริพโทโวแลนส์จึงนับว่ามีความเป็นนกมากกว่าซากดึกดำบรรพ์ใดๆ ที่เคยค้นพบ

กายวิภาค[แก้]

กายวิภาคเพื่อการบิน[แก้]

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างสัตว์มีกระดูกสันหลังด้วยกันแล้ว โครงสร้างกายวิภาคของนกแสดงให้เห็นวิวัฒนาการของอวัยวะหลายส่วนเพื่อการบิน อวัยวะบางส่วนลดรูปลงและบางส่วนเช่นถุงลม (Air sac) ก็มีการขยายขนาด ซึ่งเป็นวิวัฒนาการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบินทั้งสิ้น

การปรับตัวเพื่อให้มีน้ำหนักเบา[แก้]

ภายในกระดูกนกมีลักษณะกลวงคล้ายรวงผึ้ง ทำให้เบาแต่ยังคงความแข็งแรง นกบางชนิดในวงศ์นกโจรสลัด เมื่อกางปีกจะกว้างถึง 2 เมตร แต่น้ำหนักกระดูกทั้งหมดเพียงแค่ 113 กรัมเท่านั้น

กระดูกนกหลายชิ้นเชื่อมรวมกันเป็นชิ้นเดียวหรือลดรูปหดหายไป ตัวอย่างเช่น กระดูกก้นกบที่เชื่อมรวมกับกระดูกเชิงกรานเป็นแผ่นแบนโค้ง กระดูกนิ้วเชื่อมรวมกัน กระดูกหางหดเล็ก กระดูกซี่โครงกลายเป็นแผ่นแบนและเชื่อมติดกัน กระดูกหน้าอกเปลี่ยนเป็นรูปสันที่มีกล้ามเนื้อยึดเกาะซึ่งกล้ามเนื้อส่วนนี้มีหน้าที่สำคัญมากในการทำงานของปีก นอกจากนี้ถุงลมของนกยังแตกแขนงไปทั่วร่างกายช่วยให้นกมีน้ำหนักเบายิ่งขึ้น และพบว่ากระดูกของนกบางชนิดมีถุงลมแทรกอยู่ภายในด้วย

อวัยวะภายในของนกก็ลดรูปลงเช่นเดียวกัน เช่น รังไข่ของตัวเมียที่เหลือเพียงข้างเดียว และปากที่ไม่มีฟันโดยนกจะไม่เคี้ยวอาหารแต่กลืนลงไปย่อยในกึ๋นแทน

นกไม่มีกระเพาะปัสสาวะโดยนกขับถ่ายของเสียในรูปกรดยูริก (Uric acid) ผ่านช่องเปิดร่วมทวารหนัก (Cloaca) ออกไปจากร่างกายทันทีทำให้นกรักษาน้ำหนักไว้ได้ตลอด สำหรับการวางไข่ก็เช่นกัน นกวางไข่ทันทีหลังจากไข่ถูกผลิตขึ้นสมบูรณ์ และระบบสืบพันธุ์ของนกทั้งสองเพศจะขยายขนาดใหญ่ขึ้นเมื่อถึงช่วงสืบพันธุ์เท่านั้น ช่องเปิดร่วมทวารหนักไม่เพียงแต่เป็นช่องขับถ่ายของเสีย แต่นกยังใช้ผสมพันธุ์และเป็นช่องทางออกของไข่นกด้วย

ขนนกไม่ได้งอกออกมาจากทุกส่วนของตัวนก เพียงแต่ขนนกมีการจัดเรียงตัวอย่างเป็นระเบียบจนเมื่อมองจากภายนอกแล้วดูเหมือนว่านกมีขนงอกออกมาจากทุกส่วน แต่ก็ยกเว้นในนกบางชนิดอย่างเช่น นกเพนกวิน นกกระจอกเทศ นกกีวีและนกอีมู ที่มีขนขึ้นทั่วตัว

การปรับตัวเพื่อสร้างพลังงานสูง[แก้]

ในร่างกายนกมีการเผาผลาญอาหารและสร้างพลังงานจำนวนมาก เมื่อเปรียบเทียบระหว่างสัตว์เลือดอุ่นด้วยกัน อุณหภูมิร่างกายโดยเฉลี่ยของนกสูงกว่ามนุษย์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นกกระจอก (Passer montanus) มีอุณหภูมิร่างกายโดยเฉลี่ยประมาณ 42°ซ และนกกางเขน (Copsychus saularis) มีอุณหภูมิร่างกายโดยเฉลี่ยประมาณ 43.5°ซ ขณะที่มนุษย์มีอุณหภูมิร่างกายเพียง 37°ซเท่านั้น

นกมีระบบหายใจที่ซับซ้อนที่สุดในมวลหมู่สัตว์ทั้งหมด ทั้งยังมีระบบหมุนเวียนโลหิตอันทรงประสิทธิภาพ

หัวใจนกมีขนาดใหญ่และอัตราการเต้นของหัวใจสูงมาก แม้ในเลือดนกมีปริมาณฮีโมโกลบินใกล้เคียงกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แต่มีปริมาณกลูโคสมากกว่าสองเท่ารวมทั้งความดันเลือดก็สูงกว่า เมื่อนกหายใจเข้า 75% ของอากาศจะไม่ผ่านปอดแต่จะตรงเข้าสู่ถุงลมอีกส่วนที่แยกออกมานอกปอด (Posterior air sacs) ซึ่งถุงลมนี้ติดต่อกับช่องว่างในกระดูกและอากาศจะแทรกเข้าไปในนั้นด้วย ส่วนอากาศที่เหลือ 25% จะไหลเข้าไปในปอด เมื่อนกหายใจออก อากาศที่อยู่ในปอดจะไหลออกแล้วอากาศที่อยู่ในถุงลมนอกปอดก็จะไหลเข้ามาแทนที่ ดังนั้นปอดของนกจึงมีอากาศใหม่ไหลเวียนอยู่ตลอดเวลา

การปรับตัวเพื่อรักษาสมดุล[แก้]

การรักษาสมดุลที่ดีทำให้การบินมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งสมดุลของรูปทรงทางอากาศพลศาสตร์และสมดุลของศูนย์ถ่วงน้ำหนัก นกไม่มีรยางค์เช่น ใบหูที่สร้างแรงต้านอากาศ และขณะที่ไข่และท่อนำไข่อยู่ทางด้านซ้ายของลำตัว ตับก็เลื่อนไปอยู่ทางด้านขวา

ปีกนกมีรูปร่างแบบแอโรฟอยล์ (Aerofoil) คือมีด้านบนโค้งและด้านล่างแบนราบ ซึ่งช่วยให้เกิดแรงยกขณะบินฝ่าอากาศ ในการกระพือปีกนกจะใช้กล้ามเนื้ออกอันแข็งแรงที่ติดอยู่กับกระดูกอก นกที่บินเร็วที่สุดคือนกในวงศ์นกแอ่นบินเร็ว (Apodidae) ซึ่งบินได้เร็วถึง 170 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

เมื่อนกบินจะงอขาขึ้นพับแนบส่วนท้องซึ่งขนจะปกคลุมขาไว้หรือใช้การเหยียดขาไปด้านหลังทำให้แรงต้านอากาศลดลง

การมองเห็น[แก้]

นกมีลูกตาขนาดใหญ่มากเมื่อเทียบกับสมอง ซึ่งลูกตาขนาดใหญ่นี้ทำให้นกไม่สามารถกลอกตาไปมา แต่ด้วยลำคอยืดหยุ่นนกจึงสามารถหันหัวไปมองได้รอบตัว

นกมีเลนส์ตา (lens) ที่อ่อนนุ่มยืดหยุ่นได้มากจึงสามารถปรับภาพให้ชัดได้หลายระยะ ในนกน้ำมีเลนส์ตาที่ยืดหยุ่นเป็นพิเศษสามารถปรับการมองเห็นให้เหมาะสมทั้งในอากาศและในน้ำ แต่ตาของนกเพนกวินไม่มีความสามารถนี้ มันจึงไม่สามารถปรับภาพระยะใกล้ให้ชัดได้เมื่อขึ้นมาบนบก

เปลือกตาของนกควบคุมด้วยกล้ามเนื้อเรียบและเคลื่อนไหวช้า นกไม่ใช้เปลือกตานี้เพื่อกะพริบตาแต่ใช้ปิดตาเมื่อนอนเท่านั้น นกส่วนใหญ่ปิดตาด้วยเปลือกตาล่าง แต่ก็มีนกจำพวกนกเค้าที่ใช้เปลือกตาบนเพื่อกะพริบตาและใช้เปลือกตาล่างปิดตาเมื่อนอน นกมีเปลือกตาที่สาม (Nictitating membrane) สำหรับกะพริบตาโดยเฉพาะ และในนกน้ำเปลือกตานี้จะทำหน้าที่เสมือนแว่นกันน้ำ

ตำแหน่งดวงตาของนกแต่ละชนิดแตกต่างกันไปตามลักษณะการดำรงชีวิต นกนักล่าเช่นเหยี่ยวมีตาที่ค่อนมาทางด้านหน้าและมีองศาที่ตาทั้งสองข้างรับภาพร่วมกันกว้างถึง 30-35 องศา จุดที่รับภาพร่วมกันนี้จะเกิดเป็นภาพสามมิติขึ้นซึ่งช่วยให้เหยี่ยวมองเห็นเหยื่อแล้วกะระยะได้ทันทีโดยไม่ต้องหันไป ส่วนนกที่กินพืชเช่นไก่มีตาค่อนไปทางด้านข้างจนเกือบจะเป็นบริเวณครึ่งวงกลมของแต่ละข้างและมีองศาที่ตารับภาพร่วมกันทางด้านหน้าเพียง 10-15 องศาเท่านั้น

นกบางชนิดสามารถมองเห็นแสงอัลตราไวโอเล็ตได้ การมองเห็นแสงอัลตราไวโอเล็ต (Tetrachromatic) ช่วยให้นกสามารถหาคู่หรือหาเหยื่อได้ง่าย ตัวอย่างเช่น เหยี่ยวเคสเตรล (Falco tinnunculus) ซึ่งสามารถตามรอยเหยื่อจากบนท้องฟ้าได้จากแสงอัลตราไวโอเล็ตที่สะท้อนออกมาจากน้ำปัสสาวะของเหยื่อ

การได้ยิน[แก้]

ระดับความถี่ที่นกได้ยินมากกว่ามนุษย์ กล่าวคือในหนึ่งวินาทีนกสามารถได้ยินเสียงต่างๆ ได้มากกว่า นกที่ล่าเหยื่อในเวลากลางคืนอาศัยประสาทหูเป็นหลักในการระบุตำแหน่งเหยื่อ ตัวอย่างเช่น นกแสก (Tyto alba) ซึ่งมีตำแหน่งหูสองข้างที่สูงต่ำไม่เท่ากัน ทำให้มันรู้ได้ว่าเสียงมาจากทางด้านบนหรือด้านล่าง นกแอ่นในสกุลแอโรดรามัส (Aerodramus) ซึ่งอาศัยตามถ้ำมืดมีความสามารถในการตรวจจับตำแหน่งด้วยเสียงสะท้อน (Echolocation) เหมือนค้างคาว ช่วยให้มันระบุทิศและระยะทางของเหยื่อหรือสิ่งกีดขวางได้

ปาก[แก้]

แม้ว่าปากนกไม่มีฟันแต่ช่วงที่ลูกนกเจริญอยู่ในไข่จะมีฟันเจาะเปลือกไข่ (Egg-tooth) ซึ่งมีโครงสร้างคล้ายกระดูกอยู่ที่ส่วนปลายของจะงอยปากบน ลูกนกใช้ฟันนี้ช่วยเจาะเปลือกไข่ออกมา เมื่อลูกนกออกจากไข่แล้วฟันนี้จะหลุดไป

ลักษณะปากของนกแต่ละชนิดแตกต่างกันไปตามการหาอาหาร ปากนกส่วนใหญ่มีช่องเปิดจมูกที่ส่วนโคน แต่ในนกกีวีช่องเปิดจมูกอยู่ที่ส่วนปลายของจะงอยปากบนซึ่งเหมาะกับการดมหาอาหารบนพื้นดิน ความแตกต่างของปากที่สัมพันธ์กันกับการหาอาหารเช่นนี้ช่วยให้สามารถจำแนกได้ว่านกชนิดนั้นๆ กินอาหารประเภทใด

ปากนกแบ่งตามลักษณะต่างๆ กันได้ดังนี้

1. ปากตรง ลักษณะตรงยาวและมีปลายแหลมคล้ายปลายหอก ใช้จับสัตว์น้ำ
2. ปากโค้ง ลักษณะเรียวยาวและโค้งลง พบในนกหลายประเภท เช่น นกอีก๋อยที่จับสัตว์น้ำตามโคลนเลน นกกะรางหัวขวานที่หากินแมลงตามพื้น ไปถึงนกกินปลีที่กินน้ำหวาน
3. ปากแอ่น ลักษณะโค้งโดยปลายปากงอนขึ้น ใช้ชอนไชหาอาหารในดินโคลน
4. ปากแบนข้าง ลักษณะแหลมยาว มีความสูงมากกว่าความกว้าง และแข็งแรง ใช้จับปลา
5. ปากแบน หรือ ปากเป็ด ลักษณะสั้น มีความกว้างมากกว่าความสูง ไม่มีสันจะงอยปาก และมีส่วนปลายแข็งขณะที่ขอบด้านข้างอ่อนนุ่มซึ่งมีแผ่นหนังแบนบางที่ใช้กรองอาหารคลุมอยู่อีกชั้นหนึ่ง
6. ปากขอ หรือ ปากเหยี่ยว ลักษณะสั้น จะงอยปากบนยาวกว่าจะงอยปากล่าง และมีจะงอยปากบนแหลมคมโค้งลง ใช้ฉีกเนื้อสัตว์หรือเปลือกผลไม้แข็งๆ
7. ปากกรวย ลักษณะคล้ายทรงกรวย ปากสั้น โคนใหญ่และปลายแหลม ใช้กระเทาะเปลือกเมล็ดพืช
8. ปากแหลมคม ลักษณะปลายแหลม ความยาวพอๆ กับส่วนหัว ใช้จับแมลงได้ดี
9. ปากช้อน ลักษณะยาว ปลายแบนเป็นรูปช้อน ใช้ชอนไชหาอาหารในโคลนหรือบริเวณน้ำตื้น
10. ปากงอ ลักษณะค่อนข้างยาว หักโค้งลงเป็นมุมตรงกลางปาก พบในนกฟลามิงโก
11. ปากเจาะ ลักษณะตรงและปลายคมแผ่ออกด้านข้างคล้ายสิ่ว ความยาวเท่าส่วนหัวหรือยาวกว่าเล็กน้อย ใช้เจาะหาอาหารในเนื้อไม้
12. ปากไขว้ ลักษณะปลายปากบนและล่างไขว้กัน ใช้กัดแทะเมล็ดสนโดยเฉพาะ
13. ปากทู่ ลักษณะค่อนข้างเรียว ความยาวใกล้เคียงส่วนหัว ปลายปากไม่แหลมคม พบในปากไก่และไก่ฟ้า
14. ปากที่มีโครงสร้างพิเศษ เป็นปากที่มีลักษณะพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติม ดังนี้
14.1 โหนกแข็ง เป็นโครงสร้างคล้ายกระดูกงอกขึ้นจากขากรรไกรบน พบในนกเงือกเท่านั้น ส่วนใหญ่ภายในโหนกมักจะกลวง ยกเว้นบางชนิดที่ภายในตันเช่น นกชนหิน (Rhinoplax vigil)
14.2 หงอน เป็นแผ่นหนังงอกขึ้นที่ขากรรไกรบน มักเป็นรูปครึ่งวงกลม เช่นในเป็ดหงส์ (Sarkidiornis melanotos)
14.3 กะบัง เป็นโครงสร้างคล้ายกระดูกงอกขึ้นจากขากรรไกรบนไปถึงหน้าผาก พบในนกเพศบางชนิดเฉพาะผู้ช่วงฤดูผสมพันธุ์ แต่ก็มีบางชนิดที่มีกะบังเป็นปกติเช่น นกอีลุ้ม (Gallicrex cinerea) นกอีล้ำ (Gallinula chloropus) นกอีโก้ง (Porphyrio porphyrio) และนกคู๊ท (Fulica atra)
14.4 หนังจมูก เป็นแผ่นหนังที่แผ่อยู่ตอนกลางของขากรรไกรบน พบในเหยี่ยว นกอินทรี นกแก้ว นกเค้า
14.5 ฝาจมูก เป็นเนื้อที่ปิดรูจมูก พบในนกพิราบ เหยี่ยว

ลิ้น[แก้]

นกส่วนใหญ่มีลิ้นขนาดเล็ก ปลายเรียวแหลม แต่ก็มีนกหลายชนิดที่มีลิ้นลักษณะเฉพาะตัวซึ่งผ่านการวิวัฒนาการมาให้เหมาะกับการหาอาหาร ตัวอย่างเช่น นกหัวขวานที่หาอาหารในเปลือกไม้มีลิ้นที่ยื่นยาวออกมาได้ 4 เท่าของปากและมีปลายที่แหลมคมสำหรับแทงเหยื่อ นกกินปลีมีลิ้นยาวที่ห่อม้วนเป็นหลอดได้ช่วยในการดูดกินน้ำหวานจากดอกไม้และผลไม้ นกแก้วมีลิ้นสั้นแต่หนาและมีปลายกว้างทำให้จับเมล็ดพืชได้สะดวก

ขนนก[แก้]

ขนนกนั้นนับว่าเป็นพัฒนาการที่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งในบรรดาพัฒนาการของสัตว์มีกระดูกสันหลัง เพราะไม่พบขนแบบนี้ในสัตว์อื่นนอกจากนกเท่านั้น

ขนนกเป็นส่วนประกอบของเคราติน มีลักษณะเบาแต่แข็งแรง ขนนกช่วยป้องกันนกจากแสงแดด รักษาอุณหภูมิของร่างกาย ทำหน้าที่เป็นเสื้อกันฝน พรางตัว และที่สำคัญที่สุดคือช่วยในด้านการบินของนก

ขนนกเกิดจากเซลล์บนผิวหนังชั้นนอกที่เปลี่ยนรูปเป็นฝักกระสวย และขนนกจะงอกม้วนอยู่ในฝักกระสวย เมื่อขนนกเจริญสมบูรณ์แล้วฝักกระสวยจะเปิดและขนนกจะคลี่ออกมา ขนนกที่เจริญสมบูรณ์เป็นโครงสร้างที่ตายแล้วไม่มีเลือดไปหล่อเลี้ยงอีก แต่จะยังคงติดอยู่บนผิวหนังไปจนกว่านกจะผลัดขน

ขนนกแบ่งอย่างกว้างๆ ได้ 3 ประเภทซึ่งแต่ละประเภทก็มีประโยชน์ต่อนกแตกต่างกันไป

1. ขนสำหรับบิน เป็นขนแข็งอยู่บริเวณปีกและหาง ขนนี้มีกิ่งขนที่มีปลายเป็นตะขอเล็กๆ (Barbicels) ยื่นออกไปเกาะเกี่ยวกันทำให้ขนนกติดกันเป็นแผงขน (Vane) เรียบร้อย ช่วยพยุงตัวนกให้ลอยอยู่ในอากาศและใช้บังคับทิศทาง
2. ขนอุย เป็นขนอ่อนนุ่มซึ่งขึ้นอยู่ด้านใน ก้านขนสั้น เส้นขนย่อยไม่มีตะขอ ขึ้นมากในลูกนก ใช้เป็นฉนวนรักษาอุณหภูมิ
3. ขนปกคลุมลำตัว เป็นขนที่เส้นขนย่อยด้านในไม่มีตะขอ ขนนี้เรียงซ้อนกันเหมือนเกล็ดปลาบนลำตัวนก ทำหน้าที่ปกป้องตัวนก ลดแรงต้านอากาศ

สีขน[แก้]

เนื่องจากขนนกเป็นโครงสร้างที่ตายแล้วสีขนจึงไม่มีการเปลี่ยนแปลงหากนกไม่ผลัดขนใหม่ โดยที่นกเพศผู้และเพศเมียรวมไปถึงนกที่ยังไม่โตเต็มวัยมักมีสีขนแตกต่างกัน

การผลัดขน[แก้]

นกที่โตเต็มวัยมักผลัดขนปีละครั้งหลังฤดูผสมพันธุ์ และนกหลายชนิดก็ผลัดขนก่อนฤดูผสมพันธุ์ แต่ก่อนที่นกจะเจริญเติบโตจากลูกนกเพิ่งฟักจนเป็นนกโตเต็มวัยหรือเข้าสู่ฤดูผสมพันธุ์ครั้งแรกนั้นจะผ่านการผลัดขนมาแล้วหลายครั้ง

การผลัดขน (Molt) ของนกเกิดขึ้นอย่างเป็นระเบียบและมีรูปแบบที่แน่นอน โดยนกเริ่มผลัดขนที่อยู่ด้านนอกเข้าไปด้านใน (Descending molt) แต่ก็มีนกน้ำหลายชนิดผลัดขนปลายปีกทั้งหมดในคราวเดียว เช่น นกกาน้ำ (Cormorant) นกอ้ายงั่ว (Darter) ซึ่งทำให้นกเหล่านี้ไม่สามารถบินได้ระยะหนึ่งแต่ไม่มีผลกระทบต่อการหาอาหาร ในนกเพศผู้ที่มีขนสวยงามระหว่างฤดูผสมพันธุ์เมื่อหมดฤดูผสมพันธุ์แล้วจะผลัดขนจนมีสีขนคล้ายคลึงเพศเมีย ซึ่งขนเพศผู้ลักษณะนี้เรียกว่าขนอิคลิพซี (Eclipse plumage)

ลำดับขนที่ขึ้นปกคลุมตัวนกแบ่งเป็น 5 ระยะ ได้แก่

1. ขนแรกเกิด (Natal plumage) เป็นขนระยะแรกสุดที่ขึ้นบนตัวนก
2. ขนจูวีนอล (Juvenal plumage) เป็นขนนกก่อนโตเต็มวัยซึ่งมีสีคล้ำกว่าและมีสีเหมือนกันทั้งสองเพศ ในช่วงนี้ลูกนกจะเริ่มบินได้
3. ขนฤดูหนาวแรก (First winter plumage) เป็นขนที่คล้ายนกโตเต็มวัย มักงอกขึ้นตอนปลายฤดูร้อนและคงอยู่จนกระทั่งผ่านฤดูหนาวหรือคงอยู่ตลอดทั้งปี
4. ขนฤดูผสมพันธุ์แรก (First nuptial plumage) เป็นขนแบบนกโตเต็มวัย มักงอกขึ้นตอนปลายฤดูหนาวหรือต้นฤดูใบไม้ผลิ แต่สำหรับนกที่ใช้เวลามากกว่าหนึ่งปีก่อนโตเต็มวัยอาจยังมีสีหรือรูปร่างของขนไม่เหมือนนกโตเต็มวัย
5. ขนฤดูหนาวที่สอง (Second winter plumage) เป็นขนที่ขึ้นต่อจากขนฤดูหนาวแรกซึ่งเป็นขนแบบนกโตเต็มวัย แต่ในนกที่ใช้เวลานานกว่า 2 ปีก่อนถึงวัยผสมพันธุ์จะไม่มีขนชนิดนี้

การดูแลขน[แก้]

นกดูแลขนให้เรียบอยู่เสมอด้วยการไซ้ขน โดยการใช้ปากหรือตีนรูดไปตามแนวเส้นขนทำให้ขนเรียบเข้ารูปเหมือนกับการหวีผม นอกจากนั้นการไซ้ขนยังสามารถกำจัดตัวเบียนต่างๆ เช่น ไรขนได้ด้วย นกส่วนใหญ่อาบน้ำก่อนไซ้ขนและบางชนิดก็ลงคลุกดินหรือทรายด้วยเพื่อกำจัดตัวเบียนได้ดียิ่งขึ้น

นกมีน้ำมันสำหรับไซ้ขนโดยเฉพาะที่ผลิตจากต่อมไซ้ขน (Uropygial gland) ซึ่งอยู่ที่โคนหาง น้ำมันนี้เคลือบรักษาขนนกให้คงสภาพยืดหยุ่น ต่อต้านเชื้อจุลินทรีย์ และยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่ทำลายขน และนกอาจจับมดมาปล่อยบนขนเพื่อให้มดกัดและหลั่งกรดมด (Formic acid) ออกมาซึ่งกรดมดนี้ช่วยขับไล่แมลงตัวเบียนได้อย่างดี (แต่แท้จริงตัวนกไม่ได้ถูกมดกัด เพราะขนนกช่วยป้องกันผิวหนังของนกไว้)

พฤติกรรม[แก้]

การเกี้ยวพาราสีและการจับคู่ผสมพันธุ์[แก้]

โดยทั่วไปนกจะมีคู่ผสมพันธุ์เพียงคู่เดียว แต่ก็มีหลายชนิดที่มีหลายคู่และบางชนิดเพศผู้หรือเพศเมียหนึ่งตัวจะจับคู่ผสมพันธุ์กับเพศตรงข้ามหลายตัว ในช่วงที่นกจับคู่ผสมพันธุ์นกเพศผู้บางชนิดจะผลัดขนชุดใหม่สีสันสดใสหรือมีขนงอกยาวขึ้นเพื่อดึงดูดเพศเมีย บางชนิดจะร้องเพลงหรือแสดงท่าทางอวดและบางชนิดจะสร้างรังหรือนำเหยื่อไปมอบให้เพศเมีย

การสร้างรัง[แก้]

วัสดุที่นกใช้สร้างรังมีหลากหลายชนิดตั้งแต่หญ้า กิ่งไม้ เชือก ก้อนกรวด โคลน รวมไปถึงน้ำลาย แต่นกบางชนิดอย่างเช่น นกเพนกวินราชา (Aptenodytes patagonicus) ไม่สร้างรังแต่จะกกไข่โดยใช้ขาประคองไข่ไว้ใต้ท้อง

รังที่สร้างขึ้นมีหลายรูปทรงอย่างเช่น รังของนกกระจิบ (Orthotomus sutorius) ซึ่งสร้างขึ้นโดยการนำเส้นไหมหรือใยพืชมาเย็บขอบใบไม้สองข้างให้สอบเข้าหากันเป็นกระเปาะแล้วใช้พื้นที่ภายในเป็นรัง และนกอีกหลายชนิดเช่นนกหัวขวาน นกเค้าและนกเงือกก็เลือกทำรังในโพรงต้นไม้ รังนกที่มนุษย์นำมารับประทานกันก็เป็นรังนกที่สร้างขึ้นจากน้ำลายของนกแอ่นกินรัง (Aerodramus fuciphagus) ซึ่งเป็นนกแอ่นชนิดหนึ่งที่มักทำรังตามโพรงถ้ำขนาดใหญ่พบได้ทั่วไปบริเวณพื้นที่ชายฝั่งและเกาะทางใต้ของประเทศไทย

การวางไข่[แก้]

นอกจากรังหลากหลายรูปแบบแล้วไข่ของนกยังมีความแตกต่างกันอย่างมากทั้งขนาด รูปทรง และสีสันลวดลาย รูปทรงของไข่นกเป็นทรงรีมนที่ปลายด้านหนึ่งป้านและอีกด้านหนึ่งแหลมกว่าเพื่อป้องกันไม่ให้ไข่กลิ้งตกจากรัง โดยไข่นกที่ทำรังบริเวณหน้าผาโล่งๆ จะยิ่งมีมุมด้านแหลมที่แคบกว่าไข่นกที่ทำรังตามพื้น ไข่ของนกที่ทำรังในโพรงไม้หรือซอกหินมีเปลือกเป็นสีขาวหรือสีซีดเพราะไม่จำเป็นต้องพรางตาจากศัตรู แต่ไข่ของนกอื่นๆ มักมีลวดลายกลมกลืนกับสถานที่อาศัย นกบางชนิดเช่นนกปากซ่อมยังสามารถวางไข่ได้หลายลวดลายตามสถานที่แวดล้อมที่เปลี่ยนไป นกคัคคูที่แอบวางไข่ในรังของนกชนิดอื่นก็สามารถวางไข่ซึ่งมีลวดลายคล้ายคลึงกับไข่ของนกเจ้าของรัง

การกกไข่[แก้]

นกส่วนใหญ่มีการพัฒนาผิวหนังที่ใช้กกไข่โดยเฉพาะเรียกว่าแผ่นฝักไข่ (Brood patch) แผ่นฝักไข่เป็นผิวหนังบริเวณส่วนท้องหรือหน้าอกซึ่งไม่มีขนอยู่เลยทำให้ความร้อนจากลำตัวนกถ่ายเทไปสู่ไข่ได้ดียิ่งขึ้น

ความเป็นอยู่[แก้]

อาหาร[แก้]

ในแต่ละวันนกต้องการอาหารจำนวนมากเพื่อนำไปใช้ในกระบวนการเมแทบอลิซึม (Metabolism)โดยนกแต่ละชนิดจะหาอาหารที่แตกต่างกันออกไป นกบางชนิดเลี้ยงชีพด้วยน้ำต้อย บางชนิดเลี้ยงชีพด้วยธัญพืช แมลง สัตว์พวกหนู สัตว์พวกกิ้งก่า ปลา ซากเน่า ไปจนถึงนกด้วยกัน นกจะพัฒนารูปร่าง ปีก ขา และปาก ให้มีลักษณะเหมาะสมกับการหาอาหาร นกส่วนใหญ่เป็นสัตว์ที่หากินในเวลากลางวัน มีนกเพียงบางชนิดเท่านั้นที่หากินในเวลากลางคืน

นกบางชนิดหากินร่วมกันเป็นฝูง เช่น ฝูงนกนางนวลที่บินร่อนหาปลาตามชายทะเล หรือฝูงนกเป็ดน้ำรวมตัวกันแหวกว่ายอยู่ในบึง ซึ่งการหากินร่วมกันเป็นฝูงใหญ่ช่วยให้นกหาอาหารง่ายขึ้นและได้ปริมาณมากกว่าหากินตามลำพัง รวมทั้งยังช่วยกันระวังภัยได้เป็นอย่างดี

ส่วนนกบางชนิดก็มีพฤติกรรมการหาอาหารร่วมกับสัตว์อื่น เช่น นกเอี้ยงที่หากินร่วมกับวัวควาย โดยนกเอี้ยงจะคอยจับแมลงที่พากันบินหนีขึ้นมาเมื่อวัวควายเดินย่ำไปบนดิน นอกจากนี้นกเอี้ยงยังชอบเกาะบนตัววัวควายเพื่อจับแมลงที่บินตอมตามตัววัวควายอีกด้วย

ถิ่นอาศัย[แก้]

นกแต่ละชนิดมีการปรับตัวให้เหมาะสมกับถิ่นอาศัยต่างๆ เราจึงสามารถพบนกได้ทุกหนทุกแห่งในสภาพแวดล้อมอันหลากหลาย ซึ่งพอจะแบ่งถิ่นอาศัยของนกได้ดังนี้

มีนกหลายชนิดที่เดินหากินตามแนวหาดทรายชายทะเล เช่น นกหัวโตมลายู และ นกยางทะเล เป็นต้น ขณะที่นกหลายชนิดโผผินบินร่อนอยู่ตามหน้าผาริมทะเล หรือแม้แต่ในทะเลลึกก็เป็นแหล่งหากินของนกขนาดใหญ่ เช่น นกโจรสลัด ซึ่งนกโจรสลัดสามารถบินวนอยู่บนท้องฟ้าได้เป็นเวลาหลายวันโดยไม่ต้องร่อนลงบนพื้นดิน โดยนกที่หากินในท้องทะเลนี้ เรามักเรียกว่า นกทะเล
ตามแนวชายฝั่งที่มีไม้ชายเลนขึ้นหนาแน่นเป็นถิ่นอาศัยของนกมากมาย เช่น นกกินเปรี้ยว และ เหยี่ยวแดง เป็นต้น โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวจะมีนกอพยพย้ายถิ่นเข้ามาพักอาศัยเป็นจำนวนมาก นกที่หากินตามป่าชายเลนนี้มีชื่อเรียกโดยรวมว่า นกชายเลน นอกจากนี้ก็มีฝูงนกนางนวลซึ่งเป็นนกทะเลหากินบริเวณนี้ด้วย
พื้นที่เกษตรกรรมแถบชานเมืองหรือในชนบทเป็นที่อยู่ของนกหลายชนิด นกที่อาศัยอยู่ตามทุ่งนาหรือทุ่งหญ้าโล่ง เรามักเรียกกันว่า นกทุ่ง เช่น นกตะขาบทุ่ง นกกระจิบหญ้า เป็นต้น ส่วนนกที่อาศัยตามแหล่งน้ำ เช่น หนอง บึง ทะเลสาบ เรามักเรียกว่า นกน้ำ เช่น นกยาง นกเป็ดน้ำ และ นกกวัก เป็นต้น
  • ป่าไม้ประเภทต่างๆ
ถือว่าเป็นสถานที่ที่มีนกอาศัยอยู่มากกว่าแห่งอื่น เนื่องจากเหมาะสำหรับการดำรงชีวิตของนกนานาชนิด เช่น นกเงือก นกขุนแผน นกโพระดก และ นกแต้วแล้ว เป็นต้น นกที่อาศัยหากินในป่ามีชื่อเรียกโดยรวมว่า นกป่า
  • สภาพแวดล้อมอื่นๆ
นกบางชนิดมีการปรับตัวจนสามารถอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แม้แต่สัตว์อื่นยังอาศัยอยู่ได้ยาก เช่น ทะเลทราย ขั้วโลกใต้ หรือแม้แต่ในเมือง

การจำแนกนก[แก้]

ในปัจจุบันมีการนำดีเอ็นเอมาใช้จัดจำแนกนกแล้ว โดยงานที่สำคัญคือ Sibley & Ahlquist's Phylogeny and Classification of Birds (1990) แต่การจัดจำแนกนกในที่นี้ยึดตาม Handbook of Birds of the World ซึ่งจัดอันดับนกโดยอาศัยลักษณะทางสัณฐานวิทยาเป็นหลัก และแบ่งนกออกเป็นอันดับต่างๆ ดังนี้

Paleognathae[แก้]

อันดับใหญ่ Paleognathae (ตามรากศัพท์แปลว่า ขากรรไกรแบบเก่า) ประกอบด้วยนกอันดับต่างๆ ดังนี้

Neognathae[แก้]

อันดับใหญ่ Neognathae (ตามรากศัพท์แปลว่า ขากรรไกรแบบใหม่) ประกอบด้วยนกอันดับต่างๆ ดังนี้

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย[แก้]

  • ขนาดเล็กที่สุด นกฮัมมิงผึ้งเพศผู้ ยาว 5.7 ซม.
  • ขนาดใหญ่ที่สุด นกกระจอกเทศเพศผู้ สูง 2.7 ม. (ประมาณ 47.37 เท่าของนกที่เล็กที่สุด)
  • น้ำหนักมากที่สุด นกกระจอกเทศเพศผู้ หนัก 156 กก.
  • น้ำหนักมากที่สุดที่สามารถบินได้ นกบัสตาร์ดใหญ่เพศผู้ หนัก 18 กก.
  • ปีกกว้างที่สุด นกแอลบาทรอสส์วันเดอริง กว้าง 3.63 ม.
  • นกล่าเหยื่อขนาดเล็กที่สุด เหยี่ยวแมลงปอหน้าผากขาว ยาว 15 เซนติเมตร หนัก 35 กก.
  • บินย้ายถิ่นเป็นระยะทางไกลที่สุด นกนางนวลแกลบอาร์กติก ระยะทาง 40,000 กม.
  • บินนานที่สุด นกนางนวลแกลบดำ นาน 3 ปีโดยไม่ต้องเกาะพัก
  • บินสูงที่สุด แร้งรัปเปล สูง 11,274 ม.
  • กระพือปีกเร็วที่สุด นกฮัมมิงซันเจม ความถี่ 90 ครั้งต่อวินาที
  • กระพือปีกน้อยที่สุด แร้งขนาดใหญ่ กระพือปีกหนึ่งครั้งสามารถร่อนได้เป็นชั่วโมง
  • ว่ายน้ำเร็วที่สุด นกเพนกวินเจนทู 27.4 กม./ชม.
  • เคลื่อนที่เร็วที่สุด เหยี่ยวเพเรกรินขณะพุ่งลงจับเหยื่อ 180 กม./ชม.
  • มีนกเกือบ 80 ชนิดที่แอบวางไข่ในรังของนกชนิดอื่น
  • ก่อนบินขึ้นนกส่วนใหญ่จะพองขนเพื่อจัดระเบียบเส้นขน หากเห็นนกกำลังพองขนเราสามารถคาดเดาได้ว่ามันกำลังจะบิน
  • นกไม่มีใบหู ส่วนที่ดูเหมือนใบหูบนหัวนกเค้าแท้จริงเป็นเพียงแค่ขนของมันเท่านั้น
  • ขนหางที่นกยูงใช้รำแพนนั้นแท้จริงไม่ใช่ขนหางแต่เป็นขนคลุมขนหาง (Major tail coverts)

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

นำเสนอความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับนก การดูนก และนกวงศ์ต่างๆ ในประเทศไทย
  • โอภาส ขอบเขตต์, นกในเมืองไทย, สารคดี, 2541. ISBN 9748211703.
หนังสือเกี่ยวกับนกในเมืองไทยที่ละเอียดที่สุดในปัจจุบัน เขียนโดยอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านปักษีวิทยาของเมืองไทย หนึ่งชุดมีห้าเล่ม
  • Boonsong Lekagul, Philip D. Round, A guide to the birds of Thailand, Saha Karn Bhaet, 1991. ISBN 9748567362.
คู่มือที่นักดูนกเมืองไทยทุกคนต้องมี
  • Neil A. Campbell, Jane B. Reece, Biology, Addison-Wesley, 2002. ISBN 0201750546.
ในบทที่ 34 มีกล่าวถึงนกอยู่พอสังเขป