ผู้ซุ่มอ่านข่าว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ในวัฒนธรรมอินเทอร์เน็ต ผู้ซุ่มอ่านข่าว (อังกฤษ: lurker) โดยปรกติแล้วเป็นสมาชิกของประชาคมออนไลน์ที่เฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวในประชาคมนั้น แต่ไม่แสดงออกอย่างเป็นกิจจะลักษณะนัก[1][2] ในบรรดาสมาชิกของประชาคมออนไลน์แต่ละแห่งมักมีผู้ซุ่มอยู่จำนวนมาก[3] การซุ่มอาจเป็นไปเพื่อเรียนรู้กฎระเบียบของประชาคมก่อนเข้าร่วมอย่างเปิดเผย ช่วยให้เข้าสังคมได้ดีขึ้นเมื่อออกจากการซุ่ม[4] อย่างไรก็ดี การขาดการติดต่อกับผู้อื่นในระหว่างซุ่มนั้นอาจทำให้ผู้ซุ่มเหงาใจหรือเฉื่อยชาได้[5]

ในภาษาอังกฤษยังมีคำอื่นใช้เรียกผู้ซุ่มอีกหลายคำ เช่น browsers, read-only participants, non-public participants, legitimate peripheral participants หรือ vicarious learners[6]

ความเป็นมา[แก้]

นับแต่เริ่มมีการคมนาคมโดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นสื่อขึ้นมา ก็มีการซุ่มเกิดขึ้นในหมู่สมาชิกประชาคมแต่ละแห่งแล้ว[4] ส่วนคำว่า "lurk" (ซุ่ม) ในภาษาอังกฤษนั้นปรากฏว่า ใช้เป็นครั้งแรกในคริสต์ศตวรรษที่ 14[7] คำนี้เดิมหมายถึงบุคคลที่ซ่อนตัวอยู่โดยมีเจตนาไม่พึงประสงค์ ต่อมาในกลางคริสต์ทศวรรษที่ 1890 ก็เริ่มมีการใช้คำ "lurk" ในระบบอินเทอร์เน็ตเมื่อระบบกระดานข่าวเกิดเป็นที่นิยมขึ้นมา กระดานข่าวดังกล่าวมักเข้าถึงได้ผ่านสายโทรศัพท์ที่บุคคลโทรศัพท์ไปอัปโหลดไฟล์หรือเขียนเนื้อความเผยแพร่[8] แต่ผู้ซุ่มอ่านข่าวเงียบ ๆ มักส่งผลให้สายโทรศัพท์ไม่ว่างเป็นเวลานาน และไม่เกิดสิ่งใหม่ขึ้นบนกระดานข่าว ผู้ดูแลระบบจึงมักมองเป็นพฤติกรรมลบ แล้วปิดกั้นผู้ซุ่มจากกระดานข่าวนั้นเสีย

ปัจจุบัน มีมุมมองทั้งดีและไม่ดีต่อผู้ซุ่ม ประชาคมส่วนใหญ่ยังคงถือว่า ผู้ซุ่มเป็น "ผู้บริโภคโดยไม่ยอมเสียเงิน" (free rider)[9] เพราะเขาเหล่านั้นได้รับประโยชน์ไปโดยไม่สร้างประโยชน์ตอบแทน[10] แต่ประชาคมบางแห่งก็ชี้ชวนให้หน้าใหม่คอยซุ่มไว้ก่อน[11] เพราะจะได้ใช้เวลาเรียนรู้วัฒนธรรมของประชาคมนั้น ๆ ทำความเข้าใจบรรทัดฐานในประชาคม และคุ้นเคยกับขาประจำมากขึ้น[12] นอกจากนี้ ทัศนคติแง่ดีเกี่ยวกับผู้ซุ่มยังเกิดขึ้นเพราะผู้ซุ่มช่วยเพิ่มจำนวนผู้ชม[4]

การสืบหาหลักแหล่งผู้ซุ่มนั้นทำได้ยากในประชาคมที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นสื่อ[4] เพราะบทบาทหลักของผู้ซุ่ม คือ อ่านอย่างเดียว จึงไม่มีร่องรอยอันใดให้ใช้ตรวจสอบได้ อนึ่ง ในประชาคมแบบโอเพนซอร์ส (open source) นั้น มีการประเมินว่า มีผู้ซุ่มอยู่ราวร้อยละ 50 ถึง 90 ของผู้ชมทั้งหมด ไม่ว่า ณ เวลาใดก็ตาม[13] สถิติอันนี้สอดคล้องหลักการเรื่อง 90-9-1 (ขึ้นอยู่กับประชาคมแต่ละแห่ง)

ทำไมต้องซุ่ม[แก้]

เหตุผลที่ซุ่มนั้นมีหลายประการ ผู้ซุ่มส่วนใหญ่รับว่า ที่ซุ่มเพราะเห็นว่า เพียงติดตามอยู่เฉย ๆ ก็พอแล้ว[9] บุคคลยังเลือกซุ่มเพื่อคอยสังเกตตัวอย่างไว้เป็นแนวประพฤติในโอกาสที่เข้ามีส่วนร่วมอย่างเปิดเผยแล้ว จะได้ไม่สร้างข้อความซ้ำซ้อน หรือเข้าใจหัวข้อพูดคุยได้ดีขึ้น เป็นต้น[2] อนึ่ง ผู้ซุ่มบางคนเห็นว่า จำเป็นต้องเรียนรู้เกี่ยวกับประชาคมนั้น ๆ เสียก่อน นี้จึงเป็นเหตุผลที่มีผู้ซุ่มอยู่ในส่วนสนับสนุนทางเทคนิคมากเป็นสองเท่าของผู้ซุ่มในส่วนอื่น [9]

นักวิจัยเห็นว่า พฤติกรรมต่าง ๆ ในสภากาแฟออนไลน์ เช่น การอ่าน การเขียน และการควบคุมเว็บไซต์ เกิดจากแรงจูงใจต่าง ๆ กันไป ผู้ซุ่มโดยแท้นั้นมักมีแรงจูงใจเป็นความคิดเห็นที่ว่า ประชาคมแห่งนั้นเป็นสถานที่เดียวที่เขาจะพบเจอเนื้อหาดังประสงค์ ขณะที่ผู้ควบคุมเว็บไซต์และผู้เขียนมักมีแรงจูงใจเป็นหน้าที่หรือความรู้สึกซึ่งติดมากับประชาคมนั้น [14]

อ้างอิง[แก้]

  1. Bishop, J. (กรกฎาคม 2007). "Increasing participation in online communities: A framework for human–computer interaction". Computers in Human Behavior. 23 (4): 1881–1893. doi:10.1016/j.chb.2005.11.004.
  2. 2.0 2.1 Dennen V. (กรกฎาคม 2008). "Pedagogical lurking: Student engagement in non-posting discussion". Computers in Human Behavior. 24 (4): 1624–1633. doi:10.1016/j.chb.2007.06.003.
  3. Nielsen, Jakob (9 ตุลาคม 2006). "Participation Inequality: Encouraging More Users to Contribute". ISSN 1548-5552. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 ธันวาคม 2012. สืบค้นเมื่อ 23 ตุลาคม 2012.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 Rafaeli S, Ravid G, Soroka V (5 มกราคม 2004). De-lurking in virtual communities: a social communication network approach to measuring the effects of social and cultural capital. Proceedings of the 37th Hawaii International Conference on System Sciences. doi:10.1109/HICSS.2004.1265478. S2CID 14195611.
  5. Burke M, Marlowe C, Lento T (10 เมษายน 2010). Social Network Activity and Social Well-Being. ACM Special Interest Group on Computer–Human Interaction Proceedings. doi:10.1145/1753326.1753613. S2CID 207178564.
  6. Tan, V. M. (พฤษภาคม 2011). Examining the posters and lurkers: Shyness, Sociability, and cummunity-related attributes as predictors of SNS participation online status (PDF) (master's thesis). The Chinese University of Hong Kong.
  7. "Lurker Definition". Merriam Webster.
  8. Nguyen, Binh. "lurkftp". Hacking-Lexicon / Linux Dictionary V 0.16.
  9. 9.0 9.1 9.2 Nonnecke B.; Andrews D.; Preece, J. (มกราคม 2006). "Non-public and public online community participation: needs, attitudes and behavior". Electronic Commerce. 6 (1): 7–20. doi:10.1007/s10660-006-5985-x.
  10. Bishop, J. (มกราคม 2009). Increasing Membership In Online Communities: The Five Principles Of Managing Virtual Club Economies. Third International Conference on Internet Technologies and Applications (ITA 09). pp. 12–20.
  11. Jensen C, King S, Kuechler V (กุมภาพันธ์ 2011). Joining Free/Open Source Software Communities: An Analysis of Newbies’ First Interactions on Project Mailing Lists. Proceedings of the 44th Hawaii International Conference on System Sciences. doi:10.1109/HICSS.2011.264.
  12. Nonnecke B. (มีนาคม 2000). Lurking in email-based discussion lists (PDF) (Doctoral dissertation). South Bank University.
  13. Zhang W, Storck J (2001). Peripheral members in online communities (PDF). Americas Conference on Information Systems. S2CID 155008527.
  14. Bateman P, Gray P, Butler B (ธันวาคม 2011). "The Impact of Community Commitment on Participation in Online Communities". Information Systems Research. 22 (4): 841–854. doi:10.1287/isre.1090.0265. S2CID 43544681.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]