ผีกะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ผีกะคน เป็นผีพื้นบ้านทางภาคเหนือ ผีพวกนี้จะมีลักษณะคล้ายผีปอบ คือเข้าสิงในคน และชอบกินของสดของคาว

คนที่เลี้ยงผีกะ เป็นคนที่มีวิชาอาคม เล่นคุณเล่นของ ผีกะจะถูกเลี้ยงไว้ในหม้อดิน โดยมีผ้ายันต์สีขาวปิดปากหม้อไว้ โดยจะวางไว้บนเพดานบ้าน เจ้าของจะเซ่นผีกะด้วยไข่ดิบวันละฟอง

ผีกะ แต่เดิมคนที่เริ่มนำมาเผยแพร่ คือพวกลิเก หรือพวกนักดนตรี ที่แสดงการละเล่น เรียกว่าผีกะพระ-นาง ผีกะชนิดนี้มีลักษณะคล้ายวอกหรือค่าง ตัวเล็ก ๆ สองตัว มักจะนั่งบนบ่าคนเลี้ยง ผีกะชนิดนี้มีคุณประโยชน์ตรงที่ หากใครเลี้ยงไว้ไม่ว่านักแสดงจะขี้เหร่แค่ไหน พอตกกลางคืนมันจะเลียหน้า ทำให้ยิ่งดึกยิ่งงดงาม การเลี้ยงผีกะจึงเป็นแฟชั่นของนักแสดงทางภาคเหนือในช่วงหนึ่งและเริ่มแพร่หลายสู่ภาคเหนือในจังหวัดต่าง ๆ จนกระทั่งแยกเป็นหลายชนิด ผีกะมีคุณอนันต์แต่ก็มีโทษมหันต์ หากใครเลี้ยงไม่ดี ปล่อยให้ผีกะอด ๆ อยาก ๆ มันก็จะทำให้เจ้าของกลายสภาพเป็นกึ่งคนกึ่งภูติ ชอบสิงสู่ชาวบ้านกินตับไตไส้พุง ต้องหาหมอผีมาไล่ออกไปเป็นประจำ

ชนิดของผีกะ[แก้]

ผีกะได้แตกสาขาออกเป็นหลายชนิด ดังต่อไปนี้

ผีกะพระ-นาง
ผีกะต้นฉบับดั้งเดิม ไม่มีใครรู้ว่ามาจากที่ไหน แต่เป็นที่นิยมเลี้ยงกัน เพื่อให้มันเรียกคนดูมาชม ทำให้คนดูหลงใหลในการแสดงของนักแสดงคนนั้น ๆ แม้ว่ากลางวันจะขี้เหร่แค่ไหน แต่ตอนกลางคืนผีกะสามารถทำให้นักแสดงคนนั้น ๆ สวยหรือหล่อหยาดฟ้ามาดินได้
ผีกะดง
จากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ บอกว่าผีกะดงนี้ มีอยู่จริงในนิทานพื้นบ้าน ในอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ ผีกะชนิดนี้มีความดุร้าย วิ่งไวดุจลมพัด มักออกหากินเป็นฝูงในยามพลบค่ำ แต่น้ำลายของผีกะชนิดนี้วิเศษมาก สามารถรักษาอาการบาดเจ็บได้ทุกชนิด ทำให้ร่างกายมีความคงกระพันชาตรี ดังมีเรื่องเล่าว่า มีชายหนุ่มผู้หนึ่ง หลงรักลูกสาวของคหบดีในตัวเมือง แต่พ่อตาไม่ชอบเพราะว่าชายหนุ่มจน และจัดการให้ลูกสาวของตนแต่งงานกับชายหนุ่มที่มั่งคั่ง ฝ่ายเจ้าบ่าวเองก็ทราบเรื่องของเจ้าสาวดี จึงส่งคนมาทำร้ายคนรักของเจ้าสาว และหิ้วไปทิ้งในป่า ชายหนุ่มสะบักสะบอม เจ็บทั้งกายและใจ แต่ก็ไม่อาจเคลื่อนไหวได้ ได้แต่ปลงต่อความตาย รอให้สัตว์ร้ายในป่ามากิน ประจวบกับเวลานั้น มีฝูงผีกะดงกำลังออกหากิน ลูกฝูงผีกะจับขาชายหนุ่มเพื่อลากไปเป็นอาหาร ชายหนุ่มนิ่งเงียบปลงต่อชีวิต หัวหน้าผีกะแปลกใจมาก จึงห้ามลูกฝูงและสอบถามเรื่องราว ชายหนุ่มเล่าเรื่องให้ฟังทั้งหมด หัวหน้าผีกะเห็นใจ จึงบอกว่า หากชายหนุ่มยอมนับถือพวกตนเป็นผีประจำตระกูล จะช่วยให้ชายหนุ่มได้สมหวัง ชายหนุ่มตอบตกลง ผีกะจึงพากันรุมเลียตัวของชายหนุ่ม ด้วยอานุภาพน้ำลายบาดแผลจากการถูกทำร้ายหายสนิท ฝูงผีกะพาชายหนุ่มนั่งบนบ่า บุกบ้านแต่งงาน ลูกน้องของเจ้าบ่าวรุมทุบ รุมฟาดชายหนุ่ม แต่ก็ไม่อาจทำร้ายชายหนุ่มได้แม้ปลายขน เพราะฝูงผีกะดงกำบังตาไว้ และถีบลูกน้องจนกระเด็นตกเรือนกันหมด พวกผีกะพาเจ้าบ่าวและเจ้าสาวออกมาโดยสะดวก หัวหน้าผีกะให้ทองคำและสมบัติที่พวกตนเฝ้ารักษาไว้ ชายหนุ่มปฏิบัติตามคำสัญญาและนับถือผีกะเป็นผีประจำตระกูลตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ผีกะอาคม
การเรียนวิชาอาคมในสมัยโบราณ ครูจะหวงวิชามาก ดังนั้นก่อนการเรียนจะต้องมีการขึ้นครูก่อนเสมอเพื่อให้อาคมนั้นสามารถรักษาผู้เรียนได้ มีคนบางคนที่เรียนอาคมโดยไม่ได้ขึ้นครูก่อน จึงโดนคำสาปที่ครูสาปแช่งไว้ในปั๊บหรือตำรานั้น ๆ ทำให้กลายเป็นผีกะ ผีกะชนิดนี้จะสิงสู่ในตัวผู้เรียนโดยไม่รู้ตัว แต่ยามค่ำคืนมันจะออกไปหาอาหาร โดยแปลงตัวให้เหมือนหน้าร่างกายที่มันสิงอยู่ ผีกะชนิดนี้เป็นผีกะที่มีพลังเยอะมากจัดการกับมันได้ยาก
ผีกะตระกูล
ผีกะอีกสายหนึ่งที่มีคุณอนันต์เช่นกัน ผีกะชนิดนี้เป็นที่นิยมเลี้ยงแพร่หลายของชาวภาคเหนือ วิธีสังเกตว่าบ้านไหนเลี้ยงผีกะ ให้ดูนาของบ้านนั้น ๆ ไม่ว่านานั้นจะอยู่ที่ดอนหรือที่ลุ่ม ไม่ว่าฝนจะแล้งหรือฝนจะขาด นาของบ้านที่เลี้ยงผีกะจะอุดมสมบูรณ์เสมอ ไม่มีแมลงมากวน ไม่มีโรคระบาด ผีกะชนิดนี้เลี้ยงดีมีคุณมาก ถ้าเลี้ยงไม่ดีผีจะออกหากินสิงสู่ชาวบ้าน เมื่อโดนหมอผีไล่ มันก็จะประจานผู้เลี้ยงทำให้อับอายขายขี้หน้าชาวบ้าน
ผีกะตายโหง
คนบางคนเมื่อตายโหง จิตใจยังพะวกพะวนกับโลก จึงสิงสู่ในที่ ๆ ตนตาย แต่เพราะความยึดถือในกายว่าตนยังไม่ตาย เมื่อไม่ได้กินอะไรนานๆเข้า มันหิวกระหาย จึงสิงสู่คนผู้มีจิตอ่อนแอทำให้กลายเป็นผีกะโดยไม่รู้ตัว
นกเค้าผีกะ
ผีกะชนิดนี้มีทูตเป็นนกเค้าแมว สังเกตได้ง่ายว่าหากจะมีผีกะมาเยือนหมู่บ้านไหน กลางคืนคืนนั้นจะมีนกเค้าแมวมาร้องดังไปทั่วหมู่บ้าน

อ้างอิง[แก้]