ผักเขียด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ผักเขียด
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Monocots
ไม่ได้จัดลำดับ: Commelinids
อันดับ: Commelinales
วงศ์: Pontederiaceae
สกุล: Monochoria
สปีชีส์: M.  vaginalis
ชื่อทวินาม
Monochoria vaginalis
(Burm.f.) C.Presl ex Kunth
ต้นขาเขียด

ผักเขียด หรือ ขาเขียด (ชื่อวิทยาศาสตร์: Monochoria vaginalis) เป็นพืชชนิดหนึ่งจัดเป็นวัชพืชน้ำ พบทั่วไปในบริเวณที่มีน้ำขัง หนอง คลอง บึง ชื่อเรียกอื่น ๆ ได้แก่ ขากบขาเขียด ผักเป็ด ผักเผ็ด ผักริ้น ผักหิน ผักฮิ้น ผักฮิ้นน้ำ ผักขี้เขียด กันจ้อง ผักลิ่น ผักลิ้น ริ้น ผักอีฮิน ผักอีฮินใหญ่ในภาษาอีสาน และขี้ใต้ในภาษาใต้[1]

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์[แก้]

ผักเขียดเป็นวัชพืชที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ มีลักษณะคล้ายผักตบชวาแต่ขนาดเล็กกว่า ลำต้นตั้งตรง มีเหง้าอยู่ใต้ดิน มีไหลสั้น ๆ และรากฝอยสีน้ำตาลแดงจำนวนมาก ใบลักษณะเป็นใบเดี่ยวรูปหัวใจคล้ายผักตบชวาแต่เล็กกว่า เส้นของใบโค้งขนานไปตามความยาวของใบ ใบกว้าง 2–45 มิลลิเมตร ยาว 9–85 มิลลิเมตร ออกสลับกันที่โคน สีเขียวอ่อน ก้านใบยาวและอวบน้ำ โคนก้านใบแผ่ออกเป็นกาบหุ้มใบที่อ่อนกว่า ด้านในของก้านใบมีเยื่อบางสีขาว ออกดอกเป็นช่อ กลีบสีม่วง ทางก้านใบ มีดอกย่อย 6–15 ดอก ผลมีขนาดยาวประมาณ 1 เซนติเมตร เมล็ดสีน้ำตาล ขยายพันธุ์โดยใช้รากและเมล็ด

ประโยชน์[แก้]

ทางเกษตร[แก้]

เลี้ยงสัตว์ ทำปุ๋ยหมัก

ทางอาหาร[แก้]

ยอดอ่อน ใบอ่อนและดอก จะออกในช่วงหน้าฝนใช้รับประทานเป็นผัก นิยมรับประทานทั้งต้น มักเก็บช่วง 2–3 อาทิตย์แรกเท่านั้น หลังจากนั้นต้นจะแก่ รับประทานไม่อร่อย วิธีรับประทานเป็นอาหาร จะรับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริก หรือกับแกงรสจัดของภาคใต้ หรืออาหารรสจัดประเภท ลาบ ยำ ก้อย ส้มตำได้ นอกจากนี้ยังนำไปแกงส้ม แกงกับปลา หรือเนื้อหมู

ทางยา[แก้]

ใบของผักเขียด นำมาคั้นน้ำรับประทาน แก้ไอ ขับปัสสาวะ ตำพอกฝี หรือรับประทานใบสดจะมีสรรพคุณ ช่วยลดความร้อนในร่างกาย

รสและประโยชน์ต่อสุขภาพ[แก้]

ผักเขียดมีรสจืด เย็น เหมาะรับประทานเพื่อลดความร้อนในร่างกาย

ผักเขียด 100 กรัม ให้พลังงานต่อร่างกาย 13 กิโลแคลอรี[2]ประกอบด้วย

เส้นใย แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก วิตามินเอ วิตามินบีหนึ่ง วิตามินบีสอง ไนอาซิน วิตามินซี
0.8 กรัม 13 มิลลิกรัม 6 มิลลิกรัม 6 มิลลิกรัม 3000 IU 0.04 มิลลิกรัม 0.10 มิลลิกรัม 0.1 มิลลิกรัม 18 มิลลิกรัม

การแพร่ระบาดทางระบบนิเวศ[แก้]

ระบาดในนาข้าวประเภทนาดำและนาหว่านน้ำตม

การป้องกันกำจัด[แก้]

เนื่องจากผักเขียดชอบสภาพน้ำขัง การล่อให้งอกจึงต้องให้มีน้ำขังเล็กน้อยและปล่อยให้งอก 1–2 สัปดาห์ แล้วจึงไถกลบทำลาย[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. วิเคราะห์คอลัมนิสต์ 30 03 59
  2. บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่[1] เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  3. องค์ความรู้เรื่องข้าวสำนักวิจัยและพัฒนา กรมการข้าว เก็บถาวร 2016-07-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]