ข้ามไปเนื้อหา

ผักกาดขาวหยก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ผักกาดขาวหยก
ศิลปินไม่ทราบ
ปีศตวรรษที่ 19
ประเภทประติมากรรมหยกเจไดต์
มิติ18.7 cm × 9.1 cm (7.4 นิ้ว × 3.6 นิ้ว)
สถานที่พิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งชาติ ไทเป

ผักกาดขาวหยก (จีน: 翠玉白菜; พินอิน: Cuìyù Báicài; เป่อ่วยยี: Chhùi-ge̍k Pe̍h-chhài) เป็นประติมากรรมแกะสลักจากหยกเจไดต์เป็นรูปรูปหัวผักกาดขาวที่ในใบมีตั๊กแตนหนวดสั้นและตั๊กแตนหนวดยาวพรางตัวอยู่ในใบ ของสะสมของพิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งชาติ ในไทเป ประเทศไต้หวัน[1]

ประติมากรรมนี้ได้รับความนิยมอย่างมากในบรรดานักท่องเที่ยวที่ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ จนมักถูกเข้าใจผิดว่าได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติแห่งชาติ แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นโบราณวัตถุสำคัญ ซึ่งมีระดับความสำคัญรองลงมา เท่านั้น[2] ผักกาดขาวหยกได้รับการยอมรับให้เป็นผลงานชิ้นเอก "ที่มีชื่อเสียงที่สุด" ของพิพิธภัณฑ์[3][4] และหนึ่งในสามสมบัติเอกแห่งพิพิธภัณฑ์ ร่วมกับ หินรูปเนื้อ และ เหมากงติ่ง[5] รวมถึงได้รับการคัดเลือกจากสาธารณชนให้เป็นชิ้นงานที่สำคัญที่สุดของทั้งพิพิธภัณฑ์[6]

ลักษณะ

[แก้]

ผักกาดขาวหยกมีขนาดยาว 18.7 เซนติเมตร กว้าง 9.1 เซนติเมตร หนา 5.07 เซนติเมตร[1] ถือว่าเป็นขนาดที่ "พอกับมือคน"[3]

ลักษณะใบหยักเป็นคลื่น ความโปร่งแสงซึ่งเกิดจากการผสมสีธรรมชาติของหยกหลายสีเข้าด้วยกันจนเกิดสีสันต่าง ๆ เหมือนกับผักกาดขาว[1] แกะสลักมาจากหยกเจไดต์ครึ่งขาวครึ่งเขียวซึ่งมีตำหนิเช่นรอยแตกและคราบจุดสีอยู่ รอยตำหนิเ่านี้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของประติมากรรมในฐานะเส้นใบของผักกาด[6]

มีการตีความว่าผักกาดขาวนี้แทนคุณธรรมของสตรีโดยก้านสีขาวแทนความบริสุทธิ์ ใบสีเขียวแทนความร่ำรวยและความเจริญพันธุ์ ส่วนตั๊กแตนแทนเด็ก ๆ หรือลูกหลาน[1][3] กระนั้น จากการศึกษาชิ้นงานทางวิชาการพบว่าการตีความที่ว่านี้มีข้อผิดพลาดอยู่ บทกวีจากหนังสือกวี มีการกล่าวถึงแมลง "zhongsi" ซึ่งตีความเป็นอุปมาถึงการมีบุตรหลานมากในวัฒนธรรมจีน และเป็นสัญลักษณ์มงคลถึงการมีบุตรหลานมาก จากการวิเคราะห์และการตีคสามบทกวีนี้ แมลง "zhongsi" น่าจะหมายถึงตั๊กแตนโลคัสตา (migratory locust) กระนั้น ขนาดตัวของตั๊กแตนหนวดสั้นบนประติมากรรมนี้มีขนาดเล็กเกินไปกว่าจะเป็นตั๊กแตนโลคัสตา ในชณะที่ตั๊กแตนหนวดยาวนั้นเป็นที่แน่ใจว่าคือจิ้งหรีดพุ่มไม้จีน (Chinese bush cricket; Gampsocleis gratiosa) ซึ่งไม่ใช่แมลง "zhongsi" แน่ ๆ ในทางกลับกัน จิ้งหรีดพุ่มไม้จีนเป็นแมลงส่งเสียงที่เลี้ยงเพาะพันธุ์โดยมนุษย์และใช้งานในสมัยราชวงศ์ชิงเพื่อสร้างความบันเทิงให้กับแขกในงานเลี้ยงรับรองของวังหลวง ทั้งหมดนี้หมายความว่า ตั๊กแตนที่ปรากฏบนประติมากรรมผักกาดขาวหยกนี้ ไม่ได้เป็นอุปมาถึงความเจริญพันธุ์ตามที่นิยมตีความกัน[7]

ประวัติศาสตร์

[แก้]

ไม่เป็นที่ทราบถึงประติมากรผู้สร้างสรรค์ประติมากรรมนี้ ปรากฏการนำมาจัดแสดงครั้งแรกที่วังย่งเหอในพระราชวังต้องห้าม ซึ่งในเวลานั้นใช้งานเป็นที่พำนักของมเหสีจิ่นของจักรพรรดิกวังซฺวี่แห่งราชวงศ์ชิง นางน่าจะได้รับประติมากรรมนี้มาเป็นส่วนหนึ่งของสินสอดจากการแต่งงานกับจักรพรรดิในปี 1889[1][3] หลังราชวงศ์ชิงล่มสลาย จีนเกิดการปฏิวัติ ประติมากรรมนี้ตกทอดมายังพิพิธภัณฑ์พระราชวังของพระราชวังต้องห้าม ต่อมา ของสะสมหลักของพิพิธภัณฑ์ซึ่งรวมถึงประติมากรรมชิ้นนี้ รอดพ้นจากภัยสงครามกับญี่ปุ่นครั้งที่สองในสงครามโลกครั้งที่สองและสงครามกลางเมืองจีน ก่อนที่ในท้ายที่สุดจะถูกขนย้ายมายังพิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งชาติที่ไต้หวันในสมัยรัฐบาลสาธารณรัฐจีนลี้ภัยมายังเกาะไต้หวัน

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 Jadeite Cabbage with Insects at the National Palace Museum website. Retrieved 20 November 2010.
  2. 江昭倫,故宮副院長馮明珠:不反對翠玉白菜、肉形石升級為國寶,中央廣播電台,2009-03-26[ลิงก์เสีย]
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 Leslie Hook. "The Jade Cabbage" Wall Street Journal. 27 July 2007. Retrieved 20 November 2010.
  4. Ewbank, Anne (2017-12-06). "Why a Jade Cabbage is One of Taiwan's Most Treasured Artifacts". Atlas Obscura. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-12-13. สืบค้นเมื่อ 2025-04-17.
  5. 倪再沁 (2007). "神畫的形塑—論故宮三寶". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-11-03. สืบค้นเมื่อ 2025-04-15.
  6. 6.0 6.1 Sam Ju. "The Crystallization of the Jadeite Cabbage." เก็บถาวร 2016-08-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Translated by David Smith. Taiwan Panorama. October 2009. p. 83. Retrieved 20 November 2010.
  7. Akey C. F. Hung (15 July 2014). "The two insects on the Jadeite Cabbage" (ภาษาจีน).

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]