ผลต่อสุขภาพจากเสียง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ผลต่อสุขภาพเพราะเสียง)
การจราจรเป็นแหล่งมลภาวะทางเสียงหลักในเมือง

ผลต่อสุขภาพจากเสียง (อังกฤษ: Noise health effects) เป็นผลต่าง ๆ จากการได้รับเสียงดังจากที่ทำงานหรือที่อื่น ๆ ซึ่งอาจทำให้การได้ยินพิการ เกิดความดันสูง โรคหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ ความรำคาญ และปัญหาในการนอน นอกจากนั้น ปัญหาระบบภูมิคุ้มกัน และความพิการของทารกแรกเกิด อาจมีเหตุจากเสียงดัง[1]

แม้ว่า หูตึงเหตุสูงอายุ (presbycusis) ก็อาจเกิดตามธรรมชาติได้เหมือนกัน[2] แต่ว่าในประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ ปัญหาสะสมจากเสียงก็พอสร้างความเสียหายต่อประชากรเป็นจำนวนมากภายในชั่วชีวิตแล้ว[3][4] การได้รับเสียงดังยังก่ออาการเสียงในหู (tinnitus) ความดันสูง การตีบของหลอดเลือด (vasoconstriction) และปัญหาทางหัวใจหลอดเลือดอื่น ๆ[5]

นอกจากผลเหล่านี้ เสียงดังยังสามารถทำให้เครียด เพิ่มอัตราอุบัติเหตุในที่ทำงาน และก่อความก้าวร้าวและพฤติกรรมต้านสังคมอื่น ๆ[6] แหล่งเสียงที่สำคัญที่สุดคือจากรถยนต์กับเครื่องบิน การฟังเสียงดนตรีดัง ๆ บ่อย ๆ และเสียงจากอุตสาหกรรม ในประเทศนอร์เวย์ เสียงจราจรพบว่า เป็นเหตุต่อความรำคาญเสียงถึง 88% ที่รายงาน[7]

เสียงอาจจะมีผลให้เกิดโรคจิตอีกด้วย เช่น เสียงประทัดอาจทำทั้งสัตว์เลี้ยงสัตว์ป่า หรือบุคคลที่ได้รับความบอบช้ำทางจิตใจให้แตกตื่น (คนที่บอบช้ำทางจิตใจรวมทั้งคนที่ผ่านสงครามมา) แต่เพียงแค่กลุ่มคนเสียงดังก็อาจจะก่อการร้องทุกข์หรือปัญหาพฤติกรรมอื่น ๆ แล้ว แม้ทารกก็ตื่นเสียงได้ง่ายอีกด้วย

ค่าเสียหายทางสังคมเนื่องจากเสียงจราจรในประเทศยุโรป 22 ประเทศอาจมีค่าถึง 4 หมื่นล้านยูโรต่อปีโดยปี 2550 (ประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท) โดยรถโดยสารและรถบรรทุกเป็นเหตุหลักของปัญหา[8] เสียงจราจรอย่างเดียวทำให้สุขภาพของคนเกือบ 1/3 ในเขตยุโรปเสียหาย โดยประชากรยุโรป 1 ใน 5 จะได้รับเสียงตอนกลางคืนเป็นปกติในระดับที่อาจทำให้สุขภาพเสียหายอย่างสำคัญ[9]

เสียงยังเป็นอัตรายต่อระบบนิเวศทั้งทางบกและทางน้ำอีกด้วย[10]

การเสียการได้ยิน[แก้]

มีเตอร์ระดับเสียง (sound level meter) เป็นเครื่องมือพื้นฐานในการวัดเสียง

กลไกการเสียการได้ยินเกิดจากความบอบช้ำต่อ stereocilia ของคอเคลีย ซึ่งเป็นโครงสร้างหลักเต็มไปด้วยน้ำของหูชั้นใน ใบหูบวกกับหูชั้นกลางจะขยายความดันเสียงถึง 20 เท่า จึงเป็นความดันเสียงในระดับสูงที่เข้ามาถึงคอเคลียแม้จะเกิดจากเสียงในอากาศที่ไม่ดังมาก เหตุโรคของคอเคลียก็คือ สารมีออกซิเจนที่มีฤทธิ์ (reactive oxygen species) ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการตายเฉพาะส่วนกับอะพอพโทซิสที่เกิดจากเสียงของ stereocilia[11] การได้รับเสียงดัง ๆ มีผลต่าง ๆ กันต่อบุคคลกลุ่มต่าง ๆ บทบาทของสารมีออกซิเจนที่มีฤทธิ์อาจชี้วิธีการป้องกันและรักษาความเสียหายต่อการได้ยิน และชี้โครงสร้างต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกัน[11]

เสียงดังเป็นเหตุให้โครงสร้างในคอเคลียบอบช้ำ ซึ่งทำให้เสียการได้ยินอย่างแก้ไม่ได้[12] เสียงดังในพิสัยความถี่โดยเฉพาะสามารถทำให้เซลล์ขนของคอเคลียที่ตอบสนองที่ความถี่นั้น ๆ เสียหาย และดังนั้น จะลดสมรรถภาพของหูในการได้ยินเสียงที่ความถี่นั้น ๆ ในอนาคต[13] แต่ว่า เสียงดังในพิสัยความถี่ไหนก็ตาม ก็ยังมีผลไม่ดีต่อการได้ยินของมนุษย์ตลอดทุกพิสัย[14] เพราะหูชั้นนอก (คือส่วนที่สามารถมองเห็นได้) บวกกับหูชั้นกลาง จะขยายเสียงประมาณ 20 เท่าแล้วก่อนจะถึงหูชั้นใน[15]

หูตึงเหตุสูงอายุ (presbycusis)[แก้]

การเสียการได้ยินมักจะเลี่ยงไม่ได้เมื่อสูงอายุขึ้น แม้ว่า ชายสูงอายุที่ได้รับเสียงดัง ๆ จะไวเสียงน้อยกว่าอย่างสำคัญเทียบกับชายที่ไม่ได้รับ แต่ว่า ความแตกต่างจะลดลงไปเรื่อย ๆ และกลุ่มทั้งสองจะไม่แตกต่างกันเลยโดยอายุ 79 ปี[2] หญิงที่ได้รับเสียงดังในอาชีพจะไม่ไวเสียงต่างจากหญิงที่ไม่ได้รับ และก็ยังได้ยินเสียงได้ดีกว่ากลุ่มชายที่ไม่ได้รับเสียงดังด้วย เนื่องจากเสียงดนตรีและเสียงจากสิ่งแวดล้อมที่หนวกหู เยาวชนในสหรัฐอเมริกาจะมีอัตราความพิการทางการได้ยินเป็น 2.5 เท่าของพ่อแม่ปู่ย่าตายาย โดยจะมีคนพิการถึงประมาณ 50 ล้านคนโดยปี 2050[3]

งานศึกษาปี 2533 ในเรื่องผลทางสุขภาพและการเสียการได้ยิน ติดตามคนเผ่า Maaban ในประเทศกานา ผู้ได้รับเสียงเพราะการคมนาคมและอุตสาหกรรมน้อย โดยเปรียบเทียบอย่างมีระบบกับคนรุ่นเดียวกัน (cohort) ในสหรัฐ แล้วพิสูจน์ว่า ความสูงอายุเป็นเหตุการเสียการได้ยินเพียงเล็กน้อยจนเกือบไม่มีนัยสำคัญ แต่มีเหตุมาจากการได้รับเสียงค่อนข้างดังอย่างเรื้อรังจากสิ่งแวดล้อม[12]

ผลต่อระบบหลอดเลือดหัวใจ[แก้]

เสียงสัมพันธ์กับปัญหาสุขภาพทางหลอดเหลือดหัวใจอย่างสำคัญ[16] ในปี 2542 องค์การอนามัยโลกสรุปว่า หลักฐานที่มีแสดงสหสัมพันธ์อ่อน ๆ ระหว่างการได้ยินเสียงมากกว่า 67-70 dB(A) นาน ๆ กับความดันโลหิตสูง[17] งานศึกษาปี 2546 แสดงว่า เสียงดังกว่า 50 dB(A) ตอนกลางคืนจะเพิ่มความเสี่ยงกล้ามเนื้อหัวใจตายเหตุขาดเลือด เพราะเพิ่มการผลิตคอร์ติซอล (ฮอร์โมนเครียด) อย่างเรื้อรัง[18][19][20]

เสียงรถในถนนก็พอทำให้เส้นเลือดแดงที่ออกจากหัวใจตีบแล้ว ซึ่งทำให้ความเกิดความดันโลหิตสูง และก็มีประชากรบางกลุ่มที่เสี่ยงเรื่องนี้มากกว่า ซึ่งอาจจะเกิดจากความรำคาญเสียงซึ่งเพิ่มระดับอะดรีนาลีน ซึ่งจุดชนวนการทำให้เส้นเลือดตีบ หรืออาจเกิดจากปฏิกิริยาแบบเครียด ผลอื่น ๆ ของเสียงดังรวมทั้งปวดศีรษะ ความล้า แผลในกระเพาะอาหาร และอาการรู้สึกหมุน ที่เกิดเพิ่มขึ้น[15]

ความเครียด[แก้]

งานวิจัยที่บริษัทผลิตฉนวนกันเสียงจ้างให้ทำแสดงว่า ในสหราชอาณาจักร ผู้ประสบความวุ่นวายในครอบครัวถึง 1/3 อ้างว่า งานเลี้ยงเสียงดังทำให้ตนนอนไม่หลับหรือเครียดภายใน 2 ปีท่ผ่านมา ประมาณ 1/11[21] ของผู้ประสบความวุ่นวายอ้างว่า เสียงเช่นนั้นทำให้ตนรำคาญหรือเครียดอย่างเรื้อรัง ประชากรมากกว่า 1.8 ล้านคนอ้างว่า เพื่อนบ้านเสียงดังทำให้ชีวิตเป็นทุกข์และไม่สามารถอยู่อย่างเป็นสุขที่บ้านตัวเองได้ ผลเสียของเสียงต่อสุขภาพอาจเป็นปัญหาสำคัญทั่วสหราชอาณาจักร โดยมีสถิติว่าคนอังกฤษกว่า 17.5 ล้านคน (คือ 38% ของประเทศ) ถูกรบกวนโดยเพื่อนบ้านภายใน 2 ปีที่ผ่านมา และสำหรับประชากรเกือบ 7% นี่จะเป็นปัญหาประจำ[22]

ความแพร่หลายของปัญหามลพิษเสียงยังได้การยืนยันจากสถิติที่ตรวจเทียบกับการแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ในเขต งานวิจัยแสดงว่าในช่วงระหว่างเมษายน 2551-2552 สภาจังหวัดอังกฤษต่าง ๆ ได้รับการแจ้งความ 315,838 รายเกี่ยวกับเสียงดังจากบ้านส่วนตัว ซึ่งมีผลให้เจ้าหน้าที่รักษาสิ่งแวดล้อมทั่วราชอาณาจักรต้องยื่นใบสั่งให้ลดเสียง หรือให้ใบสั่งปรับตามกฎหมายของสกอตแลนด์[22] ส่วนเทศบาลนครเวสต์มินสเตอร์[23] เป็นเขตที่ได้รับการแจ้งความต่อหัวประชากรมากที่สุดเขตหนึ่งในสหราชอาณาจักร คือ 9,814 รายการเกี่ยวกับเสียง ซึ่งเท่ากับ 42.32 รายต่อประชากร 1,000 คน ส่วนเทศบาลที่มีการแจ้งความมากที่สุด 8 เทศบาลแรกอยู่ในนครลอนดอน

ความรำคาญ[แก้]

เพราะว่าความเครียดบางอย่างจะขึ้นอยู่กับลักษณะเสียงนอกจากความดัง อาจจะต้องพิจารณาความรำคาญเสียงว่ามีผลต่อสุขภาพอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น เสียงสนามบินมักจะน่ารำคาญมากกว่าเสียงจราจรแม้ดังเท่ากัน[24] กลุ่มประชากรต่าง ๆ รำคาญเสียงไม่ต่างกัน แต่แหล่งเสียงตลอดจนความไวเสียงของบุคคลจะมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อความรำคาญ[25] แม้เสียงดังแค่ 40 dB(A) (คือประมาณเท่าตู้เย็นหรือในห้องสมุด)[26] ก็สามารถสร้างความรำคาญจนถึงกับต้องแจ้งความได้แล้ว[27] และขีดเสียงที่กวนการนอนก็อยู่เพียงแค่ 45 dB(A) หรือต่ำกว่านั้น[28]

ปัจจัยเสียงอื่น ๆ ที่มีผลต่อความรำคาญรวมทั้งความเชื่อเกี่ยวกับการป้องกันเสียง ความจำเป็นของแหล่งเสียง และปัจจัยที่ไม่เกี่ยวกับเสียง[29] ยกตัวอย่างเช่น ในที่ทำงาน เสียงพูดโทรศัพท์และเสียงคุยกันของเพื่อนร่วมงานอาจน่ารำคาญได้โดยขึ้นอยู่กับเรื่องที่คุย ระดับความรำคาญและความสัมพันธ์ระหว่างระดับเสียงกับผลทางสุขภาพ ยังสามารถแปรตามคุณภาพความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงาน ตลอดจนระดับความเครียดที่เกิดจากงาน[30][31] หลักฐานว่าการเปลี่ยนแปลงของเสียงที่พึ่งเริ่มเร็ว ๆ นี้ หรือเสียงที่มีอยู่แล้วในระยะยาว อะไรมีผลมากกว่ากัน ก็ยังไม่ชัดเจน[29]

การประเมินความรำคาญมักใช้ตัวกรองตามน้ำหนัก (weighting filter) ซึ่งพิจารณาความถี่เสียงบางพิสัยว่า สำคัญกว่าพิสัยอื่น ๆ แล้วแต่ว่ามนุษย์ได้ยินได้ดีแค่ไหน ตัวกรองตามน้ำหนักเก่า คือ dB(A) ตามที่ได้กล่าวถึงแล้ว จะใช้อย่างกว้างขวางในสหรัฐอเมริกา แต่เป็นระบบที่ประเมินผลของความถี่เสียงใกล้ ๆ 6 กิโลเฮิรตซ์และความถี่ต่ำมาก ๆ น้อยเกินไป ส่วนตัวกรอง ITU-R 468 noise weighting จะนิยมใช้กว่าในยุโรป การกระจายเสียงจะต่างกันขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างเช่น เสียงความถี่ต่ำมักจะไปได้ไกลกว่า ดังนั้น ตัวกรองที่ต่างกัน เช่น dB(B) และ dB(C) ก็อาจต้องใช้ในกรณีโดยเฉพาะ ๆ

นอกจากนั้นแล้ว งานศึกษาแสดงว่า เสียงใกล้ ๆ บ้าน (รวมทั้งจากอะพาร์ตเมนต์ใกล้ ๆ กัน และเสียงภายในอะพาร์ตเมนต์หรือบ้านตัวเอง) สามารถทำให้รำคาญและเครียด เนื่องจากเวลาที่ใช้อยู่ในบ้านมาก ซึ่งสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อความซึมเศร้า โรคทางจิตเวชอื่น ๆ[32][33] ไมเกรน และแม้แต่ความเครียด[33] ในที่ทำงาน มลพิษเสียงมักจะเป็นปัญหาเมื่อดังเกินกว่า 55 dB(A) งานศึกษาบางงานแสดงว่า ผู้ทำงานประมาณ 35%-40% บอกว่าเสียงที่ 55-60 dB(A) น่ารำคาญมาก[30]

ระเดับเสียงในเยอรมนีที่จัดเป็นมาตรฐานว่าเป็นงานเครียด อยู่ที่ 55 dB(A)[34] แต่ว่า ถ้าเสียงมีอยู่เป็นประจำ ขีดที่ผู้ทำงานทนได้จะต่ำกว่า 55 dB(A)[30]

ผลสำคัญจากเสียงอย่างหนึ่งก็คือทำให้ได้ยินเสียงพูดได้น้อยลง แม้สมองมนุษย์จะสามารถชดเชยเสียงพื้นหลังเมื่อพูด ด้วยกระบวนการที่เรียกว่า Lombard effect ที่มนุษย์จะเน้นคำพูดมากขึ้นอย่างไม่ตั้งใจ แต่ว่า กระบวนการนี้ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาความชัดเจนของสิ่งที่สื่อทั้งหมดเมื่ออยู่ในที่เสียงดัง

พัฒนาการทางกายของด็ก[แก้]

สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐพิมพ์จุลสารในปี 2521 ที่แสดงว่า มีสหสัมพันธ์ระหว่างเสียงดังกับเด็กคลอดตัวเล็ก (โดยใช้มาตรฐานขององค์การอนามัยโลกที่ 2.5 กิโลกรัม) และกับอัตราความพิการของทารกแรกเกิดเพิ่มขึ้นในสถานที่หญิงมีครรภ์ต้องได้รับเสียงดัง เช่นที่สนามบิน ความพิการรวมทั้งปากแหว่ง เพดานปากโหว่ และความพิการของกระดูกสันหลัง[15]

ตามนักวิชาการของรายงานนั้น "มีหลักฐานเพียงพอว่า สิ่งแวดล้อมมีบทบาทในการกำหนดรูปร่าง พฤติกรรม และหน้าที่ของร่างกายในสัตว์ รวมทั้งมนุษย์ เริ่มตั้งแต่ปฏิสนธิ ไม่ใช่เพียงตั้งแต่คลอด สัตว์ในครรภ์สามารถได้ยินเสียงและตอบสนองด้วยการเคลื่อนไหวหรือการเปลี่ยนอัตราหัวใจเต้น" เสียงดังมีผลมากที่สุดในระหว่าง 15-60 วันหลังปฏิสนธิ ซึ่งเป็นช่วงที่อวัยวะภายในหลัก ๆ และระบบประสาทกลางจะพัฒนาขึ้น[15] ผลทางพัฒนาการภายหลังจะเกิดขึ้นถ้าเสียงดังทำให้เส้นเลือดของมารดาตีบแล้วลดการไหลเวียนของเลือด และดังนั้น จึงลดออกซิเจนและสารอาหารไปยังทารก

การมีน้ำหนักน้อยและเสียง ยังสัมพันธ์กับระดับฮอร์โมนบางอย่างที่ต่ำในมารดาอีกด้วย ฮอร์โมนเหล่านี้เชื่อว่ามีผลต่อการเติบโตของทารกและเป็นตัวบ่งชี้การผลิตโปรตีนที่ดี ความแตกต่างของฮอร์โมนมารดาในที่เสียงดังและในที่เงียบจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อใกล้คลอดขี้นเรื่อย ๆ[15]

อย่างไรก็ดี ในงานศึกษาปี 2543 ซึ่งทบทวนงานศึกษาในเรื่องน้ำหนักแรกเกิดและการได้รับเสียงชี้ว่า แม้ว่า งานศึกษาแล้ว ๆ มาอาจจะแสดงว่า เมื่อหญิงได้รับเสียงเกิน 65 dB เนื่องจากเครื่องบิน น้ำหนักแรกเกิดจะลดลงหน่อยหนึ่ง แต่ว่า งานศึกษาหลังจากนั้นในหญิงชาวไต้หวัน 200 คนซึ่งวัดการได้รับเสียงโดยเฉพาะสำหรับแต่ละคน ๆ ไม่พบความสัมพันธ์ที่มีนัยสำคัญระหว่างการได้รับเสียงกับน้ำหนักแรกเกิดหลังจากปรับตัวแปรกวนที่สมควร เช่น ระดับชั้นทางสังคม น้ำหนักเพิ่มของมารดาระหว่างตั้งครรภ์ เป็นต้น[1]

พัฒนาการทางประชาน[แก้]

เมื่อเด็กเล็ก ๆ ได้รับเสียงดังเรื่อย ๆ ที่รบกวนการพูด ก็อาจจะมีปัญหาการพูดหรือการอ่าน เพราะว่า การได้ยินไม่สมบูรณ์ โดยเด็ก ๆ จะพัฒนาการเข้าใจคำพูดจนกระทั่งถึงวัยรุ่น หลักฐานแสดงว่าเมื่อเด็กเรียนในห้องเรียนที่เสียงดังกว่า ก็จะมีปัญหาเข้าใจคำพูดมากกว่าเด็กที่เรียนในที่ ๆ เงียบกว่า[35]

ในงานศึกษาของมหาวิทยาลัยคอร์เนลปี 2536 เด็กที่ได้ยินเสียงดังในที่ ๆ เรียนมีปัญหาในการแยกแยะคำพูด และมีพัฒนาการทางประชานที่ล่าช้าหลายอย่าง[36] รวมทั้งปัญหาการเขียนแบบ dysgraphia ซึ่งมักสัมพันธ์กับตัวสร้างความเครียดในห้องเรียน เสียงดังยังมีหลักฐานว่า ทำสุขภาพของเด็กเล็ก ๆ ให้เสีย เช่น เด็กจากบ้านที่เสียงดังบ่อยครั้งมีอัตราการเต้นหัวใจที่สูงกว่าอย่างสำคัญ (โดยเฉลี่ย 2 ครั้งต่อนาที) เทียบกับเด็กจากบ้านที่เงียบกว่า[37]

กฎหมาย[แก้]

กฎหมายควบคุมเสียงมักจะกำหนดเสียงนอกอาคารมากที่สุดระหว่าง 60-65 dB(A) ในขณะที่องค์กรความปลอดภัยทางอาชีพจะแนะนำว่า ระดับเสียงที่ควรได้รับมากที่สุด ก็คือ 85-90 dB(A) ต่ออาทิตย์ (40 ชม.) และในทุก ๆ 3 dB(A) ที่เพิ่มขึ้น เวลาที่ได้รับควรลดลงครึ่งหนึ่ง เช่น 20 ชม. ต่ออาทิตย์ที่ 88 dB(A) บางครั้ง การลดลงครึ่งหนึ่งจะใช้ในทุก ๆ 5 dB(A) ที่เพิ่มขึ้น แต่ว่า วรรณกรรมทางสุขภาพแสดงว่า กฎนี้ไม่เพียงพอเพื่อป้องกันการเสียการได้ยินและผลทางสุขภาพอื่น ๆ เมื่อเร็ว ๆ นี้ สหรัฐอเมริกาได้เริ่มใช้โปรแกรม "ซื้อเสียงเบา" (Buy Quiet) เพื่อต่อสู้กับการได้รับสียง เป็นโปรแกรมที่สนับสนุนให้ซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือที่เงียบกว่า เพื่อจูงใจให้ผู้ผลิตออกแบบอุปกรณ์ที่เบาเสียงกว่า[38]

สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐไม่ได้ตั้งกฎจำกัดระดับเสียงภายในที่อยู่อาศัย แต่ก็แนะนำระดับต่าง ๆ ในคู่มือ Model Community Noise Control Ordinance ซึ่งจัดพิมพ์ในปี 2518 ยกตัวอย่างเช่น ระดับเสียงที่แนะนำภายในบ้านก็คือให้เท่ากับหรือน้อยกว่า 45 dB[39][40]

การควบคุมมลพิษเสียงภายในบ้านไม่ได้รับเงินทุนจากรัฐบาลกลางสหรัฐโดยส่วนหนึ่งก็เพราะว่า ไม่สามารถตกลงกันได้ให้ชัดเจนในเรื่องเหตุที่เสียงมีผลเป็นความเสี่ยงต่อสุขภาพ เพราะว่า บ่อยครั้ง นี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับใจด้วย และเพราะเสียงไม่ได้ทิ้งร่องรอยความเสียหายให้ตรวจได้ทางกาย ยกตัวอย่างเช่น การเสียการได้ยินอาจจะเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ ได้รวมทั้งอายุ ไม่ใช่เพราะได้ยินเสียงดังเพียงอย่างเดียว[41][42] แต่ว่ารัฐบาลระดับรัฐและระดับเทศบาลในสหรัฐก็ยังสามารถกำหนดกฎเกี่ยวกับเสียงภายในบ้าน เช่นเสียงรบกวนเพื่อนบ้าน[41][43]

ดูเพิ่ม[แก้]

เชิงอรรถและอ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Passchier-Vermeer W, Passchier WF (2000). "Noise exposure and public health". Environ. Health Perspect. 108 Suppl 1: 123–31. doi:10.2307/3454637. JSTOR 3454637. PMC 1637786. PMID 10698728.
  2. 2.0 2.1 Rosenhall, U; Pedersen, K; Svanborg, A (1990). "Presbycusis and noise-induced hearing loss". Ear Hear. 11 (4): 257–63. doi:10.1097/00003446-199008000-00002. PMID 2210099.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  3. 3.0 3.1 Schmid, RE (2007-02-18). "Aging nation faces growing hearing loss". CBS News. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-15. สืบค้นเมื่อ 2007-02-18.
  4. Senate Public Works Committee, Noise Pollution and Abatement Act of 1972, S. Rep. No. 1160, 92nd Cong. 2nd session
  5. "Noise: Health Effects and Controls" (PDF). University of California, Berkeley. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-09-25. สืบค้นเมื่อ 2007-12-22.
  6. Kryter, Karl D. (1994). The handbook of hearing and the effects of noise: physiology, psychology, and public health. Boston: Academic Press. ISBN 0-12-427455-2.
  7. "About Norwegian Association Against Noise". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-05-10. สืบค้นเมื่อ 2017-05-10.
  8. "Traffic noise reduction in Europe" (PDF). August 2007. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05.
  9. "Noise". WHO. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-08-26.
  10. "Impact Of Man-made Noise - Whale Acoustics". whaleacoustics.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-12-22. สืบค้นเมื่อ 2017-05-19.
  11. 11.0 11.1 Henderson, D; Bielefeld, EC; Harris, KC; Hu, BH (2006). "The role of oxidative stress in noise-induced hearing loss". Ear Hear. 27 (1): 1–19. doi:10.1097/01.aud.0000191942.36672.f3. PMID 16446561.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  12. 12.0 12.1 Rosen, S; Olin, P (1965). "Hearing Loss and Coronary Heart Disease" (PDF). Bull N Y Acad Med. 41 (10): 1052–1068.{{cite journal}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  13. "Preventing Hearing Damage When Listening With Headphones" (PDF). สืบค้นเมื่อ 2017-05-11.
  14. "High-Frequency Hearing Loss Incurred by Exposure to Low-Frequency Noise". dtic.mil. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-04-24.
  15. 15.0 15.1 15.2 15.3 15.4 "Noise: A Health Problem" (PDF). United States Environmental Protection Agency, Office of Noise Abatement and Control, Washington. August 1978. สืบค้นเมื่อ 2017-05-17.
  16. Ising, H; Babisch, W; Kruppa, B (1999). "Noise-Induced Endocrine Effects and Cardiovascular Risk". Noise Health. 1 (4): 37–48. PMID 12689488.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  17. Berglund, B; Lindvall, T; Schwela, D; Goh, KT (1999). "World Health Organization: Guidelines for Community Noise". World Health Organization.{{cite web}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  18. Maschke, C (2003). "Stress Hormone Changes in Persons exposed to Simulated Night Noise". Noise Health. 5 (17): 35–45. PMID 12537833. สืบค้นเมื่อ 2007-12-22.
  19. Franssen, EA; van Wiechen, CM; Nagelkerke, NJ; Lebret, E (2004). "Aircraft noise around a large international airport and its impact on general health and medication use". Occup Environ Med. 61 (5): 405–13. doi:10.1136/oem.2002.005488. PMC 1740783. PMID 15090660.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  20. Lercher, P; Hörtnagl, J; Kofler, WW (1993). "Work noise annoyance and blood pressure: combined effects with stressful working conditions". Int Arch Occup Environ Health. 65 (1): 23–8. doi:10.1007/BF00586054. PMID 8354571.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  21. "How Noisy Neighbours Blight Millions of Lives". The Daily Express.
  22. 22.0 22.1 Clout, Laura. "How noisy neighbours millions of lives". Express.co.uk.
  23. "London is home to the noisiest neighbours". The Evening Standard. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-05-28. สืบค้นเมื่อ 2017-05-19.
  24. Miedema and Oudshoorn 2001 cited in "Hypertension and exposure to noise near airports". Medscape.
  25. Miedema, HME; Vos, H (1999). "Demographic and attitudinal factors that modify annoyance from transportation noise". Journal of the Acoustical Society of America. 105 (6): 3336–44. doi:10.1121/1.424662.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  26. "Noise Facts and Figures!" (PDF). Chiltern District Council. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-09-05. สืบค้นเมื่อ 2007-12-13.
  27. Gelfand, Stanley A (2001). Essentials of Audiology. New York: Thieme Medical Publishers. ISBN 1-58890-017-7.
  28. Walker, JR; Fahy, Frank (1998). Fundamentals of noise and vibration. London: E & FN Spon. ISBN 0-419-22700-8.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  29. 29.0 29.1 Field, JM (1993). "Effect of personal and situational variables upon noise annoyance in residential areas". Journal of the Acoustical Society of America. 93 (5): 2753–63. doi:10.1121/1.405851. สืบค้นเมื่อ 2007-12-13.
  30. 30.0 30.1 30.2 Passchier-Vermeer, W; Passchier, W.F. (March 2000). "Noise exposure and public health" (PDF). Environment Health Perspectives. 108 (1): 123–131. doi:10.2307/3454637. JSTOR 3454637. PMC 1637786. PMID 10698728.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  31. Halpern, David (1995). Mental health and the built environment: more than bricks and mortar?. Taylor & Francis. ISBN 0-7484-0235-7.
  32. Pichot, P. (March 1992). "Noise, sleep and behavior". Bulletin de l'Academie nationale de médecine. 176 (3): 393–9.
  33. 33.0 33.1 Niemann, H; และคณะ (2006). "Noise-induced annoyance and morbidity results from the pan-European LARES study". Noise Health. 8 (31): 63–79. doi:10.4103/1463-1741.33537. PMID 17687182.
  34. Stellman, Jeanne Mager (1998). Encyclopedia of occupational health and safety. International Labour Organization. ISBN 92-2-109203-8.
  35. Nelson, Peggy B. (1959). "Sound in the Classroom". ASHRAE journal. 45 (2): 22–25.
  36. Wakefield, Julie (June 2002). "Learning the Hard Way". Environmental Health Perspectives. 110 (6).
  37. Goran, Belojevic; และคณะ (2008). "Urban Road Traffic Noise and Blood Pressure and Heart Rate in Preschool Children". Environment International. 34 (2): 226–231. doi:10.1016/j.envint.2007.08.003. PMID 17869340.
  38. "CDC - Buy Quiet - NIOSH Workplace Safety and Health Topics". cdc.gov.
  39. Williams, Luanne Kemp; Langley, Rick L. (2000). Environmental Health Secrets. Philadelphia: Elsevier Health Sciences. ISBN 1-56053-408-7.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  40. "EPA Identifies Noise Levels Affecting Health and Welfare". 1972-04-02.
  41. 41.0 41.1 Schmidt, Charles W. (January 2005). "Noise that Annoys: Regulating Unwanted Sound". Environmental Health Perspectives. 113 (1): A42–A44. doi:10.1289/ehp.113-a42.
  42. Staples, Susan L. (February 1996). "Human response to environmental noise: Psychological research and public policy". American Psychologist. 51 (2): 143–150. doi:10.1037/0003-066X.51.2.143. PMID 8746149.
  43. Leighton, Paul (2009-04-14). "Beverly considers rules to quiet loud parties". The Salem News. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-04-20. สืบค้นเมื่อ 2017-05-19.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]