ป้อมพระจุลจอมเกล้า
ป้อมพระจุลจอมเกล้า | |
---|---|
ส่วนหนึ่งของฐานทัพเรือกรุงเทพ | |
ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ในประเทศไทย | |
เรือหลวงแม่กลอง ที่ตั้งปลดประจำการในป้อมพระจุลจอมเกล้า ภาพในปี พ.ศ. 2562 | |
ประเภท | ป้อมปราการ |
ข้อมูล | |
ควบคุมโดย | กองทัพเรือไทย |
เปิดสู่ สาธารณะ | ใช่ |
สภาพ | ยังใช้งานอยู่ |
เว็บไซต์ | pomprachul |
ประวัติศาสตร์ | |
สร้าง | มีนาคม พ.ศ. 2427 |
สร้างสำหรับ | เป็นป้อมยุทธนาวี |
สร้างโดย | พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
สถาปนิก | พระยาชลยุทธโยธินทร์ |
การใช้งาน | พิพิธภัณฑ์ |
วัสดุ | รากฐานเป็นก้อนหินขนาดใหญ่ เสริมด้วยไม้ซุงวางเป็นชั้น ก่ออิฐถือปูนโครงเหล็กด้านบน |
การต่อสู้/สงคราม | วิกฤติการณ์ ร.ศ. 112 |
ข้อมูลสถานี | |
ผู้บัญชาการ ปัจจุบัน | ว่าที่ นาวาเอก จตุรงค์ ชมภู |
ชื่อที่ขึ้นทะเบียน | ป้อมพระจุลจอมเกล้า |
ขึ้นเมื่อ | 23 มิถุนายน พ.ศ. 2566 |
เป็นส่วนหนึ่งของ | โบราณสถานในเขตจังหวัดสมุทรปราการ |
เลขอ้างอิง | 0000202 |
เป็นป้อมปราการที่ใช้เป็นที่ยิงต่อสู้กับเรือรบฝรั่งเศสในวิกฤติการณ์ ร.ศ. 112 |
ป้อมพระจุลจอมเกล้า หรือเรียกสั้น ๆ ว่า "ป้อมพระจุล" เป็นป้อมปราการทางน้ำ ตั้งอยู่ที่ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ สร้างขึ้นเมื่อใด ไม่พบหลักฐานแน่ชัด แต่คาดว่าสร้างขึ้นในราวเดือน มีนาคม พ.ศ. 2427[1] ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อป้องกันการรุกรานจากอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งเป็นชัยภูมิเหมาะสม หากมีเรือรบของข้าศึกบุกเข้ามาทางปากน้ำ ป้อมแห่งนี้สร้างเป็นป้อมปืนใหญ่แบบตะวันตก และได้ติดตั้งปืนใหญ่อาร์มสตรอง 152/32 มม. (6 นิ้ว) จำนวน 7 กระบอก เป็นอาวุธหลักของป้อม ทำให้ป้อมนี้เป็นป้อมปราการของสยามที่ทันสมัยมากที่สุดในเวลานั้น
ป้อมพระจุลจอมเกล้า นอกจากจะเป็นป้อมที่พระองค์ทรงดำริให้สร้างขึ้นแล้ว พระองค์ยังได้ทรงมาทดลองยิงปืนเสือหมอบด้วยพระองค์เอง ในเช้าวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2436[2] ป้อมพระจุลยังได้ใช้เป็นที่ยิงต่อสู้กับเรือรบฝรั่งเศสในวิกฤติการณ์ ร.ศ. 112 โดยมีพลเรือตรี พระยาชลยุทธโยธินทร์ เป็นผู้อำนวยการป้องกันปากแม่น้ำเจ้าพระยา
ปัจจุบัน ป้อมพระจุลจอมเกล้าขึ้นตรงกับฐานทัพเรือกรุงเทพ และได้ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ พ.ศ. 2536 เพื่อเป็นราชานุสรณ์และรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทยอย่างหาที่เปรียบไม่ได้ และกองทัพเรือได้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์เปิดให้ประชาชนเข้าชมด้วย ป้อมพระจุลจอมเกล้าจึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดสมุทรปราการ
ประวัติ
[แก้]สืบเนื่องจากการเข้ามาของอิทธิพลชาติตะวันตกที่มาล่าอาณานิคมแถบเอเซีย อินโดจีน และการเปิดประเทศญี่ปุ่น ในสมัยรัชกาลที่ 4 นำโดยสหรัฐอเมริกา ทำให้เกิดความเชื่อที่ว่า "คนเอเซีย สู้ฝรั่งไม่ได้" แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า สยามจะไม่มีการป้องกันเกิดขึ้น แม้ว่าป้อมบนสองฟากแม่น้ำเจ้าพระยาเดิม ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 - รัชกาลที่ 4 จะรวมกันแล้วกว่า 20 ป้อม แต่ก็ยังเป็นป้อมโบราณที่ติดตั้งปืนใหญ่แบบเก่า รวมถึงยุทธวิธีที่แต่เดิมใช้รบทางน้ำมาเป็นระยะเวลายาวนานของสยาม นั่นคือการใช้โซ่ขึงปิดทางน้ำทำให้เรือไม่สามารถเคลื่อนไปได้ แต่กลวิธีไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป เมื่อ เรือกำปั่นของฝรั่ง หรือ เรือกลไฟ ซึ่งสามารถเคลื่อนที่ได้ด้วยถ่านหิน ที่ไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานลมเหมือนแต่ก่อน นอกจากนี้กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ที่ปรึกษาราชการแผ่นดินของพระเจ้าอยู่หัว ก็ได้กล่าวไว้ว่า "ทางเรือ ไทยยังจะสู้รบฝรั่งเศสไม่ได้"[3] จึงเป็นเหตุผลโดยรวมที่ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นความสำคัญ รับสั่งให้เตรียมการป้องกันกำลังทางเรือให้ดียิ่งขึ้น โดยพระองค์พระทานเงินส่วนพระองค์เป็นจำนวน 10,000 ชั่ง (800,000 บาท) เพื่อให้เร่งการสร้างป้อม และซื้ออาวุธเพื่อป้องกันพระนคร ด้วยความมุ่งมั่นของพระองค์ที่จะดำรงไว้ซึ่งเอกราชของชาติ ให้หลุดพ้นจากการเข้าแทรกแทรงของชาติตะวันตก ตามที่ทรงพระราชหัตถเลขาถึงเสนาบดีสภาในวันที่ 10 เมษายน ร.ศ.112 (พ.ศ. 2436) ใจความตอนหนึ่งว่า
....ฉันรู้ตัวชัดอยู่ว่า ถ้าความเป็นเอกราชของกรุงสยามได้สุดสิ้นไปเมื่อใด ชีวิตฉันก็คงจะสุดสิ้นไปเมื่อนั้น...
สิ่งที่น่าสนใจในป้อมพระจุลจอมเกล้า
[แก้]ปืนเสือหมอบ
[แก้]ปืนเสือหมอบหรือปืนใหญ่อาร์มสตรอง เป็นปืนใหญ่ขนาด 152/32 มม. สร้างโดยบริษัท เซอร์ ดับบลิวจี อาร์มสตรอง (วิลเลี่ยม จอร์จ อาร์มสตรอง) ปัจจุบันคือ บริษัท วิคเกอร์ อาร์มสตรอง เอ็นจิเนียริ่ง ประเทศอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดซื้อด้วยพระราชทานเงินพระคลังข้างที่ ซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ จำนวน 10 กระบอก (ติดตั้งที่ป้อมพระจุลจอมเกล้าจำนวน 7 กระบอก และติดตั้งที่ป้อมผีเสื้อสมุทรจำนวน 3 กระบอก) เมื่อ พ.ศ. 2436 เพื่อใช้ประจำการในป้อมพระจุลจอมเกล้า ลักษณะเด่นคือปืนนี้ถูกติดตั้งในหลุมปืนโดยเฉพาะ การยกปืนเมื่อทำการยิง ใช้ระบบไฮโดรนิวเมติก (hydro - pneumatic) เป็นระบบกันสะเทือน ตัวแปรคือน้ำ-อากาศ เมื่อยิงไปแล้วปืนจะหมอบลง ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ ปืนเสือหมอบ ที่รู้จักกันทั่วไป ในวิกฤติการณ์ ร.ศ. 112 ปืนเสือหมอบเหล่านี้ก็ได้ใช้การต่อสู้กับกองเรือฝรั่งเศสด้วย นอกจากนี้ยังเป็นปืนใหญ่บรรทุกท้ายรุ่นแรกที่มีใช้ในกองทัพเรือ
- นิวเมติกส์ นิวเมติก หรือ นิวแมติกส์ Pneumatic เป็นศาสตร์แห่งการเปลี่ยนแปลงพลังงานจากอากาศไปเป็นพลังงานกล (ก้านสูบ กระบอกสูบเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเป็นเส้นตรง หรือหมุนเป็นเส้นรอบวงกลม) โดยใช้ลมอัดเป็นตัวกลาง คำว่า ไฮดรอ และ นิวเมติกส์ มาจากภาษากรีกคือไฮโดร (hydro) หมายถึง น้ำ Pneumatic (นิวเมติกส์) บางครั้งเรียกว่า Pnuema (นิวเม, นิวมา) แปลว่า อากาศ ลมพัด
เรือหลวงแม่กลอง
[แก้]เรือหลวงแม่กลอง เป็นเรือรบประเภทเรือปริเกต (เคเก) ต่อที่อู่เรืออุระงะ เมืองโยะโกะซุกะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ พ.ศ. 2479 ขึ้นระวางประจำการเมื่อ พ.ศ. 2480 และปลดระวางประจำการเมื่อ พ.ศ. 2539 รวมระยะเวลาประจำการ 59 ปี นับว่าเป็นเรือรบที่ประจำการยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์กองทัพเรือไทย และเป็นเรือรบที่มีความเก่าแก่เป็นอันดับ 2 ของโลก[4] ได้ผ่านการใช้งานในหน้าที่สำคัญหลายครั้ง เช่น เคยใช้เป็นเรือพระที่นั่งในรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 ร่วมรบในสงครามมหาเอเชียบูรพา และใช้เป็นเรือฝึกของทหารเรือ ปัจจุบันกองทัพเรือได้ดำเนินการอนุรักษ์และปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์เรือรบไทย เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสงานฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 50 ปี พุทธศักราช 2539 ตั้งอยู่ที่บริเวณริมน้ำปากอ่าวแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่ใกล้กับพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5
-
ปืนเสือหมอบ
-
ทางเดินภายในป้อมพระจุลจอมเกล้า
-
ทางเดินภายในป้อมพระจุลจอมเกล้า
-
พิพิธภัณฑ์เรือหลวงแม่กลอง
อ้างอิง
[แก้]- ↑ คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย, รายงานการประชุมเสนาบดีสภา รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาคที่ 2. พระราชหัตถเลขาลงวันที่ 10 เมษายน ร.ศ.112, หน้า 52
- ↑ แหล่งเดิม. พระราชหัถเลขาฯ ถึงเสนาบดีสภา ลงวันที่ 27 พฤษภาคม ร.ศ. 112, หน้า 318
- ↑ จิราภรณ์ สถาปนะวรรธนะ. เล่มเดิม. หน้า 436
- ↑ เรือหลวงแม่กลอง เรือรบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดลำหนึ่งของไทย
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- ภาพถ่ายทางอากาศของ ป้อมพระจุลจอมเกล้า
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ ป้อมพระจุลจอมเกล้า
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์