ปีใหม่เมือง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพประเพณีปีใหม่เมืองในอดีต

ประเพณีปีใหม่เมือง (ไทยถิ่นเหนือ: ) เป็นประเพณีที่ปรากฏในเดือนเมษายน หรือเดือน 7 เหนือ ประเพณีปีใหม่เมืองเป็นการเปลี่ยนศักราชใหม่ การเอาเดือนเมษายนเป็นเดือนแรกของปีนั้นอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อเรื่องการเปลี่ยนศักราชใหม่ และเป็นโอกาสให้สมาชิกในครอบครัวได้มาอยู่รวมกันเพื่อทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ ดำหัว เล่นน้ำ และขอพรจากผู้ใหญ่อีกด้วย[1]

ช่วงเวลาในปีใหม่เมือง[แก้]

วันสังขานต์ล่อง[แก้]

การนำ "ต้นสังขาร" ลอยน้ำเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์[2]

วันสังขานต์ล่อง ปัจจุบันถือเอาวันที่ 13 เมษายน ของทุกปีเป็นวันสังขานต์ล่อง เป็นวันแรกของกิจกรรมประเพณีปีใหม่เมือง หลังเที่ยงคืนวันที่ 13 เมษายน จะมีการจุดประทัด ยิงปืน เพื่อส่งสังขารหรือไล่สังขาร (จะถือเอาตามเวลาสังขานต์ล่องตามที่บอกในปฏิทินปี๋ใหม่เมืองในปีนั้น เช่นบอกว่าสังขานต์จะล่องเมื่อ 03 นาฬิกา 30 นาที 26 วินาที ชาวบ้านก็จะจุดประทัดเวลานั้นถือว่าไล่สังขานต์) วันนี้สมาชิกในครอบครัวจะทำความสะอาดบ้านเรือน ทั้งบนเรือนและใต้ถุนบ้าน การทำความสะอาดเจ้าที่ ศาลพระภูมิ บางท้องถิ่นจะทำคานหามใส่ดอกไม้ ธูปเทียน ต้นดอก ต้นเทียน เรียกกันว่า “ต้นสังขานต์” แล้วพากันแห่ขบวนเอาคานหามไปลอยน้ำเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ แต่ในบางพื้นที่จะเตรียมเสื้อผ้า (เอาที่เป็นตัวแทน) ในแต่ละคนในครอบครัวไปทำพิธีในวัดวันนี้โดยพับเสื้อผ้าให้เรียบร้อยใส่ในสลุงหรือตะกร้าแล้วนำสตวง (อ่านว่า สะ-ตวง) ไปวางทับอีกทีแล้วไปทำพิธีในวัด เมื่อเสร็จจะเอาผ้าไปสะบัดที่แม่น้ำเชื่อว่าเป็นการสะบัดเคราะห์ บางพื้นที่จะมีการนำเชือกสายสินธ์ุของแต่ละครอบครัวเช่นในครอบครัวมี 5 คนก็นำเชือกมา 5 เส้นมา เชือกนั้นจะชุบน้ำมันเพื่อนำไปเผาเวลาทำพิธี และในวันนี้จะมีการสระเกล้า สระผมของตัวเองตามทิศที่เป็นมงคลซึ่งจะบอกในปฏิทินปี๋ใหม่เมือง วันนี้สมาชิกในครอบครัวจะทำความสะอาดบ้านเรือน ทั้งบนเรือนและใต้ถุนบ้าน บางท้องถิ่นจะทำคานหามใส่ดอกไม้ ธูปเทียน ต้นดอก ต้นเทียน เรียกกันว่า “ต้นสังขาร” แล้วพากันแห่ขบวนเอาคานหามไปลอยน้ำเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์[3][4][5]

วันเน่าหรือวันเนาว์[แก้]

วันเน่าหรือวันเนาว์ เป็นวันที่ 14 เมษายน ของทุกปี เป็นวันที่สองของประเพณีปีใหม่เมือง ตามประเพณีแล้ววันนี้เป็น "วันดา" คือวันที่ต้อง เตรียมสิ่งของต่างๆ เพื่อใช้ทำบุญในวันรุ่งขึ้น และตลอดทั้งวัน เด็กๆ บ่าว สาว ผู้เฒ่าผู้แก่ จะพากันไปขนทรายที่แม่น้ำ เข้าวัด เพื่อก่อเป็นเจดีย์ทราย คนล้านนามีความเชื่อเรื่องวันเน่าว่า ถ้าหากผู้ประสงค์จะปลูกเรือนไม้ ให้รีบตัดไม้ภายในวันนี้ เพราะเชื่อว่าไม้จะไม่เน่าและไม่มีมอดหรือปลวกมากินไม้ดังกล่าว ความเชื่อบางประการเกี่ยวกับวันเน่า ไม่ควรด่าทอ เกิดอุบัติเหตุเจ็บตัว สาปแช่งหรือกล่าวคำร้ายต่อกัน ปากจะเน่าจะเหม็น เป็นอัปมงคลไปทั้งปี เชื่อว่าถ้าดุด่าลูกหลานเรื่องใด เด็กจะนิสัยแบบนั้นไปตลอดทั้งปี และในวันนี้จะเป็นวันเตรียมทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับประเพณี เช่นของดำหัว เครื่องทำขึ้นต้าวตังสี่เป็นต้น[6][7][8]

วันพญาวัน[แก้]

ไฟล์:การแห่นำไม้ค้ำไมค้ำยันต้นไม้ในวัด.jpg
การนำ "ไม้ค้ำ" มาค้ำต้นไม้ในวัดหมายถึงการค้ำจูนชีวิต

วันพญาวัน เป็นวันที่ 15 เมษายน ของทุกปี วันที่สามของประเพณีปีใหม่เมือง ถือเป็นวันเถลิงศก เปลี่ยนศักราชเริ่มต้นปีใหม่ วันนี้มีการทำบุญทางศาสนาแต่เช้าตรู่ และอุทิศกุศลไปถึงญาติผู้ล่วงลับ หรือเรียกว่า “ทานขันข้าว” (อ่านเสียงล้านนา “ตานขันเข้า”) หลังจากนั้นนำตุงปักลงบนกองเจดีย์ทราย และคนเฒ่าคนแก่ก็อยู่ร่วมพิธีเวนทานเจดีย์ทราย ถวายช่อตุงปีใหม่ และฟังเทศนาธรรมอานิสงส์ปีใหม่

ช่วงบ่ายเป็นการรดน้ำดำหัว เพื่อขอขมาคนเฒ่าคนแก่ พ่อแม่ ครูอาจารย์ ไปสรงน้ำพระพุทธรูป เจดีย์ วันนี้คนล้านนาจะทัดดอกไม้นามปี เพื่อให้เกิดความเป็นมงคลแก่ชีวิต นอกจากนี้ ยังนิยมเริ่มต้นเรียนศาสตร์ศิลป์ต่างๆ เป็นต้นว่า มนต์คาถา สักยันต์ หรือทำพิธีสืบชะตา ขึ้นบ้านใหม่ ไหว้ครู และในหลายพื้นที่ยังมีกิจกรรมแห่ไม้ค้ำศรี หรือไม้ค้ำโพธิ์ เพื่อสืบต่ออายุพระศาสนา และค้ำชูอุดหนุนให้แก่ชีวิตเจริญรุ่งเรือง[9][10][11]

วันปากปี[แก้]

ไฟล์:การจุดเตียนปู่จา.jpg
การจุดเทียนปู่จา (บูชา)
ไฟล์:การขึ้นต้าวตังสี.jpg
การขึ้นต้าวตังสี่ (พรมสี่หน้า) เพื่อความสิริมงคล

วันปากปี เป็นวันที่ 16 เมษายน ของทุกปี วันที่สี่ของประเพณีปีใหม่ จัดว่าเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งในเทศกาลปีใหม่เมือง ถือเป็นวันแรกของปี วันนี้คนล้านนาจะมารวมตัวกันเพื่อทำบุญเสาใจบ้าน หรือส่งเคราะห์บ้าน บางแห่งอาจจะต่อด้วยพิธีสืบชะตาหมู่บ้าน และพากันไปขอขมา ดำหัว พระเถระผู้ใหญ่ตามวัดต่างๆ ดำหัวผู้อาวุโส ผู้นำชุมชน ในตอนค่ำของวันนี้จะมีการบูชาเทียน สืบชะตา ลดเคราะห์ รับโชค เพื่อให้เกิดความเป็นมงคลแก่ครอบครัว

ความเชื่อบางประการเกี่ยวกับวันปากปี ชาวล้านนาจะกิน “แกงขนุน” หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า “แก๋งบ่าหนุน” กันทุกครอบครัว เพราะเชื่อว่าจะหนุนชีวิตให้เจริญก้าวหน้า ทั้งนี้เหตุผลของการทานแกงขนุนดังกล่าว อาจจะมาจากชื่อขนุน ที่มีความหมายถึงการเกื้อหนุน ค้ำจุน ครอบครัวให้เจริญรุ่งเรืองหรือตลอดปีของคนล้านนา และในตอนเย็นในบางพื้นที่ (บางพื้นที่อาจไม่กระทำ) จะมีการขึ้นต๊าวตังสี่หรือท้าวทั้งสี่ (เทพสี่องค์อันหมายถึงท้าวจตุโลกบาลซึ่งปกครองรักษาในทิศทั้งสี่) มีลักษณะเป็นเสามีไม้ขัดกันเป็นสี่มุม แต่ละมุมจะมีใบตองที่ใส่เครื่องบูชาทั้งสี่ด้านหรือเรียกว่า ควัก ในทางภาษาล้านนา รวมทั้งที่ด้านล่างบนพื้นดินก็จะมีอีกหนึ่งอันเพื่อบูชาพระแม่ธรณี เชื่อว่าจะเกิดสิริมงคต่อบ้าน การกระทำนี้จะทำกันเป็น หม้ง หรือแปลว่า บ้านที่อาศัยร่วมกันใกล้เคียงที่ไม่มีรั้วกั้นเหมือนเป็นวงเดียวกัน ถ้ามีรั้วกั้นจะถือว่าอีก หม้ง แต่ละหม้งก็จะมีต้าวตังสี่อยู่ ผู้ที่กระทำพิธีภาคเหนือเรียก ปู๋จ๋านหรือมัคทายกนั้นเองและในวันนี้จะมีการบูชาเทียนปีใหม่ในช่วงค่ำขึ้นมาอีกเวลา จะเป็นพิธีกรรมในส่วนของครอบครัวที่จะกระทำกันในบ้านเรือนของตน พิธีกรรมดังกล่าวคือ การจุดเทียนบูชาบ้านเรือนหรือคนล้านนาเรียกว่า ต๋ามเตียนปู่จาพระเจ้า โดยเทียนดังกล่าวจะมีอยู่สามเล่ม คือ เทียนบูชาลดเคราะห์ เทียนบูชาสืบชะตา และเทียนบูชาโชคลาภ โดยมีการปลุกเสกโดยพระหรือมัคทายก (ปู่จ๋าน) บางท้องถิ่นจะมีการ "ต๋ามขี้สายเท่าอายุ" (การจุดเส้นไฟเท่าจำนวนอายุ) ขี้สายหรือเส้นไฟนี้จะทำมาจากเส้นด้ายพื้นเมือง นำไปชุบขี้ผึ้งหรือไขมัน หรือน้ำมันมะพร้าว ปัจจุบันนิยมชุบน้ำมันพืชที่ใช้ในครัวเพราะง่ายดี พอค่ำลง ก็จะเอาขี้สายเท่าอายุไปจุดบูชาที่ลานพระธาตุเจดีย์ในวัด หรืออาจจุดที่ลานทรายหน้าพระวิหาร ตรงที่สายตาพระเจ้าตก หรืออาจจุดที่ลานบ้านของตัวเองก็ได้ การต๋ามขี้สายเท่าอายุนี้ บางท่านก็ว่า เป็นการเผาอายุสังขารเก่าให้พ้นไป บางท่านก็ว่าเป็นการเผาเสนียดจัญไร อุบาทว์ อาถรรพณ์ ขึดขวงต่างๆ ที่ติดตัวเรามาให้หมดสิ้นไป บางท้องถิ่นก็ให้เพิ่มขี้สายไปอีกเส้นหนึ่ง ถือว่าเป็นการสืบชะตาตัวเรา ให้รุ่งเรืองรุ่งโรจน์ประดุจเปลวไฟในปีใหม่ที่มาถึงนี้ [12]

การขอขมา ดำหัวแบบล้านนา[แก้]

  • การดำหัวแบบล้านนา จะไม่เหมือนการรดน้ำ ดำหัว แบบของภาคกลางหรืออื่นๆ กล่าวคือ การทำแบบล้านนาจะมีเอกลักษณ์เฉพาะที่สืบทอดกันมายาวนาน ตั้งแต่สมัยอาณาจักรล้านนา มานานแล้ว การดำหัว ในความหมายทั่วไปของชาวล้านนา หมายถึงการ สระผม แต่ในพิธีกรรมโดยในช่วงปีใหม่นี้ หมายถึงการชำระล้างสิ้งอันเป็นการอัปมงคล ในชีวิตไปจากร่างกายตน เพื่อพร้อมรับเตรียมในปีใหม่นั้น ด้วยการใช้ส้มป่อย เป้นการสระ ตลอดจนนำส้มป่อยไปมอบแก่คนที่ตนนับถือ เพื่อเป็นการขอขมา ขอบคุณหรือแสดงความเคารพ
  • การดำหัวตนเอง คือหัวหน้าครอบครัวทำพิธีเสกเป่าน้ำขมิ้นส้มป่อย ด้วยคาถาที่สิริมงคล แล้วนำน้ำส้มป่อยมา ลูบศีรษะ
  • การดำหัวผู้น้อย เช่นบุตรหลาน โดยจะนำน้ำขมิ้นส้มป่อย ลูบศีรษะ โดยทำหลังจากข้อที่ 1 เสร็จแล้ว
  • การดำหัวผู้ใหญ่ เช่น พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ คนที่นับถือ โดยจะนำน้ำขมิ้นส้มป่อยพร้อมสิ่งของและเครื่องสักการะ ไปมอบแด่ที่ตนนับถือ เพื่อเป็นการขอขมาโทษที่ได้ล่วงเกิน เมื่อผู้ใหมญ่ได้รับแล้ว ท่านจะเอามือจุ่มน้ำขมิ้นส้มป่อยมาลูบศีรษะและอาจสลัดใส่ผู้ที่ไปดำหัวคล้ายการประพรมน้ำมนต์ พร้อมให้พร ซึ่งการกระทำในข้อนี้ จะแตกต่างกับ สงกรานต์แบบไทยที่ทำคือเอามามารดมือผู้ใหญ่ แต่แบบล้านนาจะกระทำอีกแบบหนึ่งดังข้างต้น[13]

คำปั๋นปอน (ให้พร) ปี๋ใหม่เมือง[แก้]

เองวังโหนตุและอัจจะในวันนี้ก่อเป๋นวันดี ดิถีวิเศษเหตุว่าสังขานปีเก่าก่อข้ามป้นไปแล้ว ปี๋ใหม่แก้วก่อมาฮอดมาเติง เจ้าตังหลายก่อบ่ละฮีตฮอยอดีตประเวณีอันเป๋นมาล่วงมาแล้วแต่ป๋างก่อน เจ้าตังหลายก็บ่ผ่อนเสียยังศรัทธา จึงได้น้อมนำมายังสุกัณธาโทตกะตานวัตถุตังหลายเหล่านี้มาถวยเป๋นตาน เพื่อจักขอสูมาโต๊ดผู้ข้าก่อโผดอโหสิกรรม แม่นว่าเจ้าตังหลายได้กระทำยะเป๋นตางดีตางจ๊อบ จุ่งหื้อสมประกอบมโนปณิธาน จุ่งหื้อมีตีฆาอายุยืนยิ่ง โรคภัยสิ่งหื้อหนีไกล๋ หื่อมีวรรณใสจื้นบาน เป๋นตี้ฮักและตี้ปอใจ๋หังคนอื่นตี้หัน หื้อมีความสุขกุเมื่อกุยาม กายิกาสุข เจ๋ตายิก่าสุขพร่ำพร้อม หื้อมีก๋ำลังอุนหนุนเตื่อมแถ้ง จะไปเหี่ยวแห้งกุประก๋าร หื้อสมดังกำปอนวานกล่าวไว้ สมดังนึกได้กุประการเตี่ยงแต้ดีหลี สัพปีตีโยวิวัชสันตุ สัพปะโลโก๋วินัสสันตุ มาเต๋ ภะวะตวั๋นตราโย สุขี ตีฆายุโก๋ ภะวะอภิวาตะนะ สีลิสนิสจั๋ง วุฑฒาปะจ๋ายิโน จั๊ตตาโร ธรรมมา วิชตันติ อายุ วัณโณ สุขขัง พลัง ฯ

ข้อมูลอื่น ๆ เพิ่มเติม[แก้]

ไฟล์:น้ำขมิ้นส้มป่อยล้านนา.jpg
น้ำขมิ้นส้มป่อย)
ไฟล์:ตุงปี๋ใหม่เมืองล้านนา.jpg
ตุงปีใหม่เมือง
  • สิ่งที่จะเกี่ยวข้องกับประเพณีนี้เป็นอย่างมากคือ ดอกสารภี ผลของส้มป่อยที่ตากแห้งแล้ว และน้ำอบ (มีก็ได้ไม่มีก็ได้) ที่กล่าวมานี้จะใช้ผสมแช่น้ำเพื่อให้เกิดกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณะของประเพณีนี้อย่างเห็นได้ชัด จะนำไปใช้เช่น สรงน้ำพระ การขอขมา รดน้ำดำหัว เป็นต้น จึงถือเป็นสิ่งสำคัญในประเพณีนี้ทุกวันจนถึงวันปากปี (น้ำขมิ้นส้มป่อยยังมีการใช้ในหลายโอกาส เช่นการไหว้ครู การขอขมาสิ่งต่างๆเช่นผี ล้างสิ่งอัปมงคล การเดินออกจากป่าช้าแล้วต้องนำน้ำขมิ้นส้มป่อยล้างแขน ขาหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเพื่อล้างอัปมงคล เป็นต้น)
  • ตุงที่ใช้ในการไปวัด ส่วนใหญ่จะใช้ตุงเทวดา (ตุงเตวดา) ตุงนักษัตร ตุงไส้หมู (หรือตุงไส้ช้างหรือไส้จ้าง ตามท้องที่ถิ่นเรียก) เป็นต้น
  • ต้นไม้ที่เกี่ยวข้องกันตุงบางประเภท (กรณีตุงต้องใช้ห้อย) ต้นเขือง เป็นมงคล
  • สตวง (อ่านว่า สะ ตวง) คือกาบต้นกล้วยที่นำมาทำเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสแล้วเสียบไม้แทงตรงกลางเพื่อให้กาบกล้วยอยู่ตัวเป็นสี่เหลี่ยม ข้างในจะใส่ ข้าวเหนียวนึ่งสุก ข้าวเกรียบ กล้วย ใบหมากใบพลู ตุงเทวดา (บางพื้นที่) อ้อย เป็นต้น ถือเป็นเครื่องบูชา
  • ขวั๊ก คือใบตองที่ทำเป็นสี่เหลี่ยมขนาดพอเท่าฝ่ามือ ข้างในจะบรรจุเครื่องบูชาคล้ายสตวงแต่เพิ่มเอาแกงส้มแกงหวาน (คือการนำเอาผักมาผัดรวมกัน เช่น ใบตำลึง ยอดมะขามเป็นต้นนำมาผัดกับพริกกับเกลือ แต่ไม่ใช่นำมากิน) ด้วย
  • ปฏิทินปีใหม่เมือง หรือ ปักกะตืนปี๋ใหม่เมือง ที่เป็นปฏิทินบ่งบอกสิ่งที่เกี่ยวข้องต่างๆเช่น การพยากรณ์ ฝนในปี การทำนายดวง นางสงกรานต์ ฯลฯ[14][15]

พื้นที่เด่นในการจัดงานปีใหม่เมือง[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-08-14. สืบค้นเมื่อ 2013-07-07.
  2. http://www.autobacs.co.th/calendar/guide/ชวนกันเที่ยว-เดือนเมษายน-สงกรานต์แม่แจ่ม[ลิงก์เสีย]
  3. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-08-14. สืบค้นเมื่อ 2013-07-07.
  4. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-28. สืบค้นเมื่อ 2013-07-07.
  5. http://www.openbase.in.th/node/649[ลิงก์เสีย]
  6. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-08-14. สืบค้นเมื่อ 2013-07-07.
  7. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-28. สืบค้นเมื่อ 2013-07-07.
  8. http://www.openbase.in.th/node/649[ลิงก์เสีย]
  9. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-08-14. สืบค้นเมื่อ 2013-07-07.
  10. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-28. สืบค้นเมื่อ 2013-07-07.
  11. http://www.openbase.in.th/node/649[ลิงก์เสีย]
  12. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-06-07. สืบค้นเมื่อ 2014-04-12.
  13. https://www.facebook.com/134776203266856/photos/pb.134776203266856.-2207520000.1427768089./803522459725557/?type=3&theater
  14. http://www2.it.mju.ac.th/dbresearch/raen/index.php/2011-01-31-04-09-04/art-lanna1/413-art-lanna2[ลิงก์เสีย]
  15. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-08-14. สืบค้นเมื่อ 2013-07-07.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]