ปีสากลแห่งป่าไม้

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พ.ศ. 2554 เป็นปีที่สหประชาชาติประกาศให้เป็นปีสากลแห่งป่าไม้[1] เพื่อสร้างความตระหนักและเสริมการจัดการ การอนุรักษ์และการพัฒนาป่าไม้ทุกประเภทอย่างยั่งยืนเพื่อประโยชน์แห่งชนรุ่นปัจจุบันและชนรุ่นหลัง

เบื้องหลัง[แก้]

ป่าไม้เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาอย่างยั่งยืนระดับโลก ตามการประเมินของธนาคารโลก พลโลกมากกว่า 1,600 ล้านคนอาศัยป่าในการดำรงชีพ และราว 300 ล้านคนอาศัยอยู่ในป่า[1] อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ป่าไม้เป็นแหล่งการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน โดยมูลค่าผลิตภัณฑ์ป่าไม้โลกที่ค้าขายกันในระดับระหว่างประเทศประเมินไว้ที่ 327,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติประเมินว่า โลกเสียพื้นที่ป่าไม้ 130,000 กม.2 ทุกปี จากการตัดไม้ทำลายป่า การเปลี่ยนป่าไม้เป็นพื้นที่การเกษตร, การตัดไม้อย่างไม่บันยะบันยัง, การปฏิบัติการจัดการที่ดินอย่างไม่สมเหตุสมผล และการตั้งถิ่นฐานมนุษย์เป็นสาเหตุทั่วไปที่สุดสำหรับการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้

ตามข้อมูลของธนาคารโลก การตัดไม้ทำลายป่าเป็นเหตุให้ปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกมากถึง 20% ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดปรากฏการณ์โลกร้อน องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติประเมินว่าป่าไม้และดินป่าไม้ของโลกกักเก็บคาร์บอนมากกว่าหนึ่งล้านล้านตัน สองเท่าของปริมาณที่พบในบรรยากาศ ธนาคารโลกประเมินว่าป่าไม้เป็นที่อยู่อาศัยของสปีชีส์ราวสองในสามของโลกทั้งใบ และการตัดไม้ทำลายป่าฝนเขตร้อนปิดอาจเป็นเหตุให้สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพถึง 100 สปีชีส์ต่อวัน

ตามข้อมูลของสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) และพันธมิตรระดับโลกว่าด้วยการฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าไม้ "ทั่วโลกมีพื้นที่ป่าไม้ที่สูญเสียหรือคุณภาพเลวลงมากกว่าหนึ่งพันล้านเฮกตาร์ที่สามารถฟื้นฟูได้"

อ้างอิง[แก้]