ปัญหาราชวงศ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กษัตริย์เลออปอลที่ 3 ผู้เป็นตัวแปรหลักในความขัดแย้งทางการเมือง พระบรมฉายาลักษณ์ฉายในปีค.ศ. 1934

ปัญหาราชวงศ์ (ฝรั่งเศส: Question royale, ดัตช์: Koningskwestie) เป็นวิกฤตการเมืองครั้งใหญ่ในเบลเยียม ในช่วงปี ค.ศ. 1945 ถึง 1951 และความขัดแย้งปะทุถึงขีดสุดในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1950 "ปัญหา" ที่เกิดขึ้นนั้นอยู่รายล้อมพระเจ้าเลออปอลที่ 3 แห่งเบลเยียมในเรื่องที่พระองค์จะสามารถกลับประเทศและทรงกลับมามีบทบาทตามรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ท่ามกลางข้อกล่าวหาถึงบทบาทของพระองค์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญเบลเยียมหรือไม่ ปัญหานี้แก้ไขโดยการสละราชบัลลังก์ของกษัตริย์เลออปอลให้แก่สมเด็จพระราชาธิบดีโบดวงแห่งเบลเยียม พระราชโอรส ในปี ค.ศ. 1951

วิกฤตเกิดขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างกษัตริย์เลออปอลที่ 3 และรัฐบาลที่นำโดยนายกรัฐมนตรีอูแบร์ ปิแยร์โลต์ในช่วงกองทัพเยอรมันรุกรานเบลเยียม ค.ศ. 1940 กษัตริย์เลออปอลทรงถูกตั้งข้อสงสัยว่าทรงเห็นอกเห็นใจระบอบเผด็จการและพระองค์ทรงบัญชาการกองทัพเบลเยียมในช่วงสงคราม เมื่อพิจารณาถึงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญของพระองค์ พระองค์จะทรงมีฐานะเป็นผู้บัญชาการทหารที่มีความสำคัญกว่าบทบาทหน้าที่พลเรือนในฐานะประมุขแห่งรัฐ พระองค์ปฏิเสธที่จะละทิ้งกองทัพของพระองค์และปฏิเสธที่จะร่วมรัฐบาลพลัดถิ่นเบลเยียมในฝรั่งเศส การที่กษัตริย์เลออปอลที่ 3 ทรงปฏิเสธที่จะเชื่อฟังคณะรัฐบาลถือเป็นวิกฤตรัฐธรรมนูญ และหลังจากทรงยอมจำนนต่อเยอรมนีในวันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ. 1940 กษัตริย์เลออปอลทรงถูกประณามอย่างแพร่หลาย ในช่วงการยึดครองของเยอรมัน กษัตริย์เลออปอลทรงถูกกักบริเวณในพระราชวังซึ่งพระองค์ทรงได้รับการยกย่องว่าทรงประทับเพื่อรับความทุกข์ทรมานร่วมกับพสกนิกรของพระองค์ ฝ่ายสัมพันธมิตรปลดปล่อยประเทศในปี ค.ศ. 1944 นาซีได้ย้ายพระองค์ไปอยู่เยอรมนี

เมื่อเบลเยียมได้รับการปลดปล่อยแต่พระมหากษัตริย์ยังคงถูกคุมขังอยู่ ได้มีการเลือกเจ้าชายชาลส์ เคานต์แห่งฟลานเดอร์ พระอนุชาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่าพระมหากษัตริย์ "ไม่สามารถปกครองได้อีกต่อไป" ตามรัฐธรรมนูญ ประเทศเกิดความแตกแยกทางการเมืองด้วยปัญหาว่าพระมหากษัตริย์จะสามารถกลับมาทำหน้าที่ได้อีกหรือไม่ และด้วยขบวนการทางการเมืองฝ่ายซ้ายเข้ามาควบคุมการเมือง กษัตริย์เลออปอลจึงทรงลี้ภัยอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ ในปี ค.ศ. 1950 มีการลงประชามติระดับชาติที่จัดขึ้นโดยรัฐบาลใหม่สายกลาง-ขวา เพื่อตัดสินว่ากษัตริย์เลออปอลจะทรงสามารถเสด็จกลับมาได้หรือไม่ แม้ว่าผลการลงประชามติที่ออกมาจะเป็นชัยชนะของฝ่ายนิยมกษัตริย์เลออปอล แต่ก็ทำให้เกิดความแตกแยกในระดับภูมิภาคอย่างรุนแรงระหว่างแฟลนเดอส์ ซึ่งต้องการให้พระมหากษัตริย์กลับมา กับบรัสเซลส์และเขตวัลลูน นั้นต่อต้านพระมหากษัตริย์ กษัตริย์เลออปอลที่ 3 เสด็จกลับเบลเยียมในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1950 พระองค์ได้รับการต้อนรับด้วยการประท้วงขนานใหญ่ในประเทศโดยเฉพาะในเขตวัลลูนและมีการนัดหยุดงานทั่วไป ความไม่สงบดังกล่าวนำมาซึ่งกรรมกร 4 คนถูกสังหารโดยตำรวจในวันที่ 30 กรกฎาคม ด้วยสถานการณ์ที่เลวร้ายลงอย่างรวดเร็วในวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1950 กษัตริย์เลออปอลที่ 3 ทรงประกาศตั้งพระทัยที่จะสละราชบัลลังก์ หลังจากช่วงการเปลี่ยนผ่าน พระองค์สละราชบัลลังก์อย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1951

ภูมิหลัง[แก้]

สถาบันพระมหากษัตริย์และรัฐธรรมนูญ[แก้]

มงกุฎของเบลเยียมเป็นสัญลักษณ์ที่อยู่บนรัฐธรรมนูญในพระบรมราชานุสาวรีย์ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ของกษัตริย์เลออปอลที่ 1

เบลเยียมได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ในปี ค.ศ. 1830 และมีการประกาศจัดตั้งราชาธิปไตยของปวงชนด้วยราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญอันเป็นระบบสองสภาของประชาธิปไตยแบบรัฐสภา รัฐธรรมนูญเบลเยียมแนวเสรีนิยมถูกร่างขึ้นในปี ค.ศ. 1831 ซึ่งบัญญัติในเรื่องของความรับผิดชอบและข้อจำกัดที่กำหนดให้กับพระมหากษัตริย์ แม้ว่าพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐจะถูกจำกัดไม่ให้กระทำการใด ๆ โดยปราศจากความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี แต่พระองค์ก็ได้รับอนุญาตให้มีพระอำนาจควบคุมกองทัพได้อย่างเต็มที่ในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุด ความรับผิดชอบใดที่มีลำดับเหนือกว่าถ้าหากมีข้อขัดแย้งกันก็จะถูกปล่อยให้คลุมเครือ และความคลุมเครือนี้เป็นปัจจัยสำคัญของปัญหาราชวงศ์[1]

พระมหากษัตริย์พระองค์แรกคือ พระเจ้าเลออปอลที่ 1 แห่งเบลเยียม ทรงยอมรับเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญแต่พระองค์ทรงพยายามใช้โอกาสจากความคลุมเครือนี้ในการเพิ่มพระราชอำนาจของพระองค์อย่างละเอียดรอบคอบ สิ่งนี้ดำเนินต่อในรัชกาลถัดไป แม้ว่าจะประสบความสำเร็จเพียงเล็กน้อยก็ตาม[2]

กษัตริย์เลออปอลที่ 3[แก้]

พระเจ้าเลออปอลที่ 3 แห่งเบลเยียมครองราชย์ในปี ค.ศ. 1934 หลังจากพระเจ้าอัลแบร์ที่ 1 พระราชบิดาเสด็จสวรรคตด้วยอุบัติเหตุขณะทรงปีนเขา กษัตริย์อัลแบร์ที่ 1 ทรงได้รับพระสมัญญานามว่า "กษัตริย์อัศวิน" (Knight King; roi-chevalier หรือ koning-ridder) ด้วยทรงได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่ชาวเบลเยียมจากการที่ทรงบัญชาการกองทัพเบลเยียมในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (ค.ศ. 1914 - 1918) ซึ่งหลายประเทศตกอยู่ภายใต้การยึดครองของเยอรมนี รัชสมัยของกษัตริย์เลออปอลที่ 3 ต้องประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่และความปั่นป่วนทางการเมืองจากพวกฝ่ายซ้ายจัดและฝ่ายขวาจัด ในช่วงวิกฤตนี้กษัตริย์เลออปอลที่ 3 มีประประสงค์ที่จะขยายพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์[3] พระองค์จึงถูกสงสัยอย่างกว้างขวางว่าทรงมีความคิดทางการเมืองแบบเผด็จการและเอียงขวา[4] ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1936 กษัตริย์เลออปอลทรงเป็นผู้สนับสนุนหลักของ "นโยบายความเป็นอิสระ" ของเบลเยียมต่อประเทศเป็นกลางในช่วงที่นาซีเยอรมนีขยายอำนาจและดินแดนอย่างแข็งกร้าวเพิ่มมากขึ้น[5]

การรุกรานของเยอรมันและการยึดครอง ค.ศ. 1940 - 1944[แก้]

ในวันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1940 กองทัพเยอรมันบุกเบลเยียมที่เป็นกลางโดยไม่มีการประกาศสงครามอย่างเป็นทางการ กษัตริย์เลออปอลที่ 3 เสด็จไปยังป้อมบรีนดองก์ ศูนย์บัญชาการกองทัพเบลเยียมใกล้เมืองเมเคอเลิน เพื่อควบคุมกองทัพ พระองค์ปฏิเสธที่จะแจ้งต่อรัฐสภาเบลเยียมก่อน ดังเช่นในสมัยของกษัตริย์อัลแบร์ที่ 1 ซึ่งทรงเคยทำมาก่อนในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง[6] ความรวดเร็วในการรุกคืบของกองทัพเยอรมันใช้ยุทธวิธีใหม่คือ บลิทซ์ครีค ผลักดันกองทัพเบลเยียมไปทางตะวันตก แม้ว่ากองทัพฝรั่งเศสและอังกฤษจะเข้ามาช่วยก็ตาม ในวันที่ 16 พฤษภาคม รัฐบาลเบลเยียมออกจากกรุงบรัสเซลส์[7]

การแตกหักระหว่างพระมหากษัตริย์และรัฐบาล[แก้]

ภาพปัจจุบันของปราสาทวิลนานเดลในมณฑลฟลานเดอร์ตะวันตก ซึ่งเป็นที่พบปะสุดท้ายของพระมหากษัตริย์และรัฐบาลในวันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 1940

ไม่นานหลังจากเกิดสงคราม พระมหากษัตริย์และรัฐบาลเริ่มไม่ลงรอยกัน เมื่อรัฐบาลได้โต้แย้งว่าการรุกรานของเยอรมนีเป็นการละเมิดความเป็นกลางของเบลเยียมและทำให้เบลเยียมต้องร่วมฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่สอง กษัตริย์เลออปอลทรงโต้แย้งว่าเบลเยียมยังคงเป็นกลางและไม่มีพันธะใด ๆ นอกเหนือจากการปกป้องพรมแดนเท่านั้น กษัตริย์เลออปอลทรงคัดค้านไม่อนุญาตให้กองทัพอังกฤษและฝรั่งเศสเข้ามาในพรมแดนเบลเยียมเพื่อสู้รบเคียงข้างกองทัพเบลเยียม ด้วยการทำเช่นนั้นจะเป็นการละเมิดความเป็นกลาง[7]

ในวันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 1940 กษัตริย์เลออปอลทรงให้ผู้แทนอาวุโสของรัฐบาลเข้าเฝ้าเป็นครั้งสุดท้ายที่ปราสาทวิลนานเดลในมณฑลฟลานเดอร์ตะวันตก การพบปะครั้งนี้ถูกอ้างถึงหลายครั้งว่าเป็นชนวนเหตุของปัญหาราชวงศ์และเป็นการแตกหักระหว่างพระมหากษัตริย์และรัฐบาล[8] รัฐมนตรีสี่คนในการเข้าเฝ้าครั้งนี้ได้แก่ อูแบร์ ปิแยร์โลต์, ปอล-อ็องรี สปัก, อ็องรี เดนิส และอาเทอร์ ฟานเดอพอเทิน[8] ในที่ประชุมมีการต่อสู้ที่นองเลือดอยู่เบื้องหลังคือ ยุทธการที่แม่น้ำลิส (ค.ศ. 1940) รัฐบาลเบลเยียมเตรียมพร้อมที่จะต่อสู้กับกองทัพเยอรมนีต่อไปจึงลี้ภัยไปยังฝรั่งเศส[7] พวกเขากราบทูลขอให้กษัตริย์ทรงติดตามไปด้วย เหมือนสมเด็จพระราชินีนาถวิลเฮลมินาแห่งเนเธอร์แลนด์และแกรนด์ดัชเชสชาร์ล็อตแห่งลักเซมเบิร์ก กษัตริย์ทรงปฏิเสธข้อโต้แย้งของรัฐบาลและทรงทำให้จุดยืนของพระองค์ยากลำบากมากขึ้น พระองค์ปฏิเสธที่จะเสด็จออกจากแผ่นดินเบลเยียมและกองทัพของพระองค์ในแฟลนเดอส์ไม่ว่าจะต้องสูญเสียมากแค่ไหน รัฐมนตรีบางคนจึงสงสัยว่าข้าราชบริพารของกษัตริย์เลออปอลกำลังลอบเจรจากับเยอรมัน[7] การประชุมสิ้นสุดโดยไม่มีข้อตกลงใด ๆ และรัฐบาลเบลเยียมออกเดินทางไปยังฝรั่งเศส[9]

กษัตริย์เลออปอลทรงเจรจาหยุดยิงกับกองทัพเยอรมนีในวันที่ 27 พฤษภาคม ค.ศ. 1940 และกองทัพเบลเยียมได้ยอมจำนนอย่างเป็นทางการในวันต่อมา กษัตริย์เลออปอลทรงกลายเป็นเชลยศึกและทรงถูกกักบริเวณแต่ในพระราชวังลาเกินใกล้บรัสเซลส์[10] ด้วยความโกรธแค้นที่พระมหากษัตริย์เพิกเฉยต่อรัฐบาลและทรงเจรจายอมแพ้โดยไม่ปรึกษา นายกรัฐมนตรีปิแยร์โลต์จึงกล่าวสุนทรพจน์อย่างโกรธเกรี้ยวผ่านเรดิโอปารีส ประณามกษัตริย์เลออปอลที่ 3 และประกาศความตั้งใจของรัฐบาลที่จะร่วมต่อสู้เคียงข้างฝ่ายสัมพันธมิตร[10] นักการเมืองฝรั่งเศสโดยเฉพาะปอล แรโน ตำหนิกษัตริย์เลออปอลที่ 3 ว่าทรงทำให้เกิดยุทธการที่ฝรั่งเศสอันหายนะและประณามพระองค์อย่างโกรธเกรี้ยวว่า "กษัตริย์อาชญากร" (roi-félon)[11]

กษัตริย์เลออปอลในช่วงการยึดครองของเยอรมนี[แก้]

"เกียรติของกองทัพ ศักดิ์ศรีของราชบัลลังก์ และสิ่งที่ดีงามของประเทศห้ามไม่ให้ข้าพเจ้าติดตามรัฐบาลออกไปจากเบลเยียม"

เจตจำนงทางการเมืองของกษัตริย์เลออปอลที่ 3 ในปีค.ศ. 1944[12]

เบลเยียมยอมจำนนในวันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ. 1940 ต้องอยู่ภายใต้การยึดครองของเยอรมนีและมีการจัดตั้งการปกครองทางทหารในเบลเยียมและฝรั่งเศสตอนเหนือภายใต้การบังคับบัญชาของนายพลอเล็กซานเดอร์ ฟอน ฟาลเคินเฮาเซินในการปกครองประเทศ ข้าราชการชาวเบลเยียมถูกสั่งให้ประจำอยู่ในตำแหน่งเพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถทำงานต่อไปได้และพยายามปกป้องประชาชนจากอำนาจของเยอรมนี[13]

ด้วยการพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสและการจัดตั้งระบอบการปกครองที่นิยมเยอรมันอย่าง ฝรั่งเศสเขตวีชี ทำให้มีการเชื่อกันอย่างกว้างขวางว่าเยอรมนีอาจจะได้ชัยชนะในสงคราม กษัตริย์เลออปอลทรงได้รับการยกย่องว่าเป็น "มรณสักขี" หรือสัญลักษณ์แห่งความเข้มแข็งของชาติ ตรงกันข้ามกับรัฐบาลที่ถูกมองว่ายึดมั่นในอุดมการณ์มากกว่าผลประโยชน์ของชาวเบลเยียม ในวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1940 ผู้แทนอาวุโสจากศาสนจักรโรมันคาทอลิกในเบลเยียม พระคาร์ดินัลยอแซ็ฟ-เอิร์นเนสต์ ฟัน รูอีได้ส่งจดหมายศิษยาภิบาลเรียกร้องให้ชาวเบลเยียมทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกับพระมหากษัตริย์[14] บุคคลอื่น ๆ ในคณะผู้ติดตามของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อ็องรี เดอ มาน นักสังคมนิยมอำนาจนิยม เชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยล้มเหลวและเมื่อสงครามสิ้นสุดจะเห็นว่าพระมหากษัตริย์จะเป็นผู้ปกครองรัฐเบลเยียมแบบเผด็จการ[15]

ภาพปัจจุบันของพระราชวังลาเกิน ที่ซึ่งกษัตริย์เลออปอลทรงถูกกักบริเวณในช่วงการยึดครอง

แม้จะทรงถูกกักบริเวณแต่พระองค์ยังทรงดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพระองค์เอง พระองค์เชื่อว่าเยอรมนีจะได้รับชัยชนะ ระเบียบใหม่ (ลัทธินาซี)จะถูกสถาปนาในยุโรป และในฐานะที่ทรงเป็นบุคคลทางการเมืองจากเบลเยียมที่มีศักดิ์สูงสุดในยุโรปที่ถูกยึดครอง พระองค์สามารถเจรจากับเจ้าหน้าที่เยอรมันได้ กษัตริย์เลออปอลทรงติดต่อกับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และทรงพยายามที่จะประชุมเขา[16] ฮิตเลอร์ยังคงไม่สนใจและไม่เชื่อใจกษัตริย์ แต่ในวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 1940 กษัตริย์เลออปอลประสบความสำเร็จในการเข้าประชุมแต่เป็นเรื่องที่ไม่สำคัญอะไรที่แบร์คโฮฟ[17]

แรงสนับสนุนของกษัตริย์เลออปอลในเบลเยียมลดลงอย่างรวดเร็วในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1941 เมื่อมีข่าวสู่สาธรณชนว่ากษัตริย์อภิเษกสมรสใหม่กับลิเลียน เบลส์[18] การเสกสมรสครั้งนี้ไม่เป็นที่นิยมอย่างฝังรากลึกในหมู่สาธารณชนชาวเบลเยียม[a] ภาพลักษณ์ "กษัตริย์นักโทษ" (roi prisonnier) ซึ่งทรงแบ่งปันความทุกข์ทรมานของเชลยสงครามชาวเบลเยียม ถูกทำลายลงและความนิยมของพระองค์ลดลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในเขตวัลลูน ซึ่งเป็นเขตที่นักโทษชาวเบลเยียมส่วนใหญ่ยังคงถูกคุมขัง[18][20] ความเห็นหลักของสาธารณชนมองว่ากษัตริย์ไม่เต็มพระทัยที่จะมีพระราชดำรัสต่อต้านการยึดครองของเยอรมนี[19]

การพ่ายแพ้ของเยอรมนีต่อรัสเซียในแนวรบด้านตะวันออกหลังปี ค.ศ. 1942 กษัตริย์ทรงเตรียมการยุติสงคราม พระองค์ทรงให้จัดทำเอกสารที่เรียกว่า เจตจำนงทางการเมือง (Testament Politique) ซึ่งชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมของพระองค์เองภายใต้การยึดครองและให้รายละเอียดเกี่ยวกับการแทรกแซงของพระองค์ เพื่อช่วยเหลือเชลยสงครามชาวเบลเยียมและแรงงานที่ถูกเนรเทศ แต่กษัตริย์เลออปอลยังทรงประณามการดำเนินงานของรัฐบาลเบลเยียมพลัดถิ่น (ประจำการในลอนดอนหลังเดือนตุลาคม ค.ศ. 1940) ในวันที่ 7 มิถุนายน ค.ศ. 1944 จากเหตุการณ์การยกพลขึ้นบกที่นอร์ม็องดี กษัตริย์เลออปอลทรงถูกนำพระองค์ไปยังเยอรมนี[20] พระองค์ได้รับการปลดปล่อยจากกองทัพอเมริกันในวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ. 1945[21]

สมัยผู้สำเร็จราชการและวิกฤตในระยะแรก ค.ศ. 1944 - 1949[แก้]

กษัตริย์เลออปอลที่ 3 "ไม่สามารถปกครองได้อีกต่อไป" ค.ศ. 1944[แก้]

เจ้าชายชาลส์ เคานต์แห่งฟลานเดอร์ ทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในปีค.ศ. 1944

หลังจากฝ่ายสัมพันธมิตรยกพลขึ้นบกที่นอร์ม็องดี จึงก้าวเข้าไปในพรมแดนเบลเยียมในวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1944 กองทัพเยอรมันมีการต่อต้านเพียงเล็กน้อยและภายในวันที่ 4 กันยายน ฝ่ายสัมพันธมิตรก็เข้ายึดครองบรัสเซลส์ได้ ในขณะที่ส่วนอื่นของเบลเยียมได้รับการปลดปล่อยในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1945 ในวันที่ 8 กันยายน ค.ศ. 1944 รัฐบาลเบลเยียมพลัดถิ่นได้กลับคืนสู่บรัสเซลส์และได้รับการต้อนรับจากประชาชนอย่างเฉยเมย[22] แม้ว่าพระมหากษัตริย์ไม่ได้ประทับอยู่ในประเทศ แต่เจตจำนงทางการเมืองของพระองค์ได้ถูกนำเสนอต่อรัฐบาลที่เพิ่งกลับมาตามที่พระองค์ประสงค์และในไม่ช้าก็มีการเผยแพร่ต่อสาธารณชน[22] ในขณะเดียวกันร่างเอกสารเจตจำนงได้ถูกส่งมายังสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 แห่งสหราชอาณาจักร และแอนโทนี อีเดน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ข้อความดังกล่าวทำให้เกิดความแตกแยกภายในรัฐบาลซึ่งส่วนใหญ่ถูกซ่อนไว้ในช่วงสงคราม[23]

ในยามที่พระมหากษัตริย์ยังคงเป็นเชลยของเยอรมนี จึงไม่มีใครต่อต้านแนวคิดในการจัดตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในวันที่ 20 กันยายน ค.ศ. 1944 มีการจัดประชุมรัฐสภา และมีการใช้มาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญ[b] ประกาศว่าพระมหากษัตริย์ "ไม่สามารถปกครองได้อีกต่อไป" (dans l'impossibilité de régner)[24] เจ้าชายชาลส์ เคานต์แห่งฟลานเดอร์ พระอนุชาผู้รักสันโดษของกษัตริย์เลออปอลได้รับการเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในวันถัดมา[20] การดำเนินการเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัญหาราชวงศ์ถูกผลักออกไป แทนที่ด้วยปัญหาเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งรัฐบาลได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับเรื่องเหล่านี้[24][26] เมื่อเบลเยียมอยู่ภายใต้การบริหารกิจการของกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรจนกระทั่งมีการฟื้นฟูการบริหารงานของรัฐบาล การต่อต้านของอังกฤษที่มีต่อการเสด็จกลับประเทศของกษัตริย์เลออปอลได้กลายเป็นประเด็นปัญหาที่มีความยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น[27]

การฟื้นตัวทางการเมืองและการกลับมาของปัญหาราชวงศ์[แก้]

เพียงเวลาไม่นานหลังจากเบลเยียมได้รับการปลดปล่อย ประเทศอยู่ในช่วงของกระบวนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการฟื้นตัวทางการเมืองก็เริ่มขึ้น ระบอบพรรคการเมืองดั้งเดิมถูกทำลายจากสงครามและการยึดครอง กลุ่มอุดมการณ์ทางการเมืองทั้งสองได้สรังพรรคการเมืองของพวกเขาเอง ฝ่ายสังคมนิยมจัดตั้งพรรคสังคมนิยมเบลเยียม (PSB-BSP) ส่วนฝ่ายคาทอลิกและอนุรักษืนิยมจัดตั้งพรรคสังคมคริสเตียน (PSC-CVP)[28] การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดในช่วงยุคหลังการปลดปล่อยคือ คลื่นแรงของพรรคคอมมิวนิสต์เบลเยียม ซึ่งกลายเป็นพรรคการเมืองลำดับที่สามในระบอบการเมืองเบลเยียมจนถึปีค.ศ. 1949 ได้ถูกแทนที่ด้วยพรรคเสรีนิยมเป็นการชั่วคราว[28] ขบวนการวัลลูนเกิดขึ้นอีกครั้งหลังสงคราม โดยพยายามส่งเสริมวัฒนธรรมและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของพื้นที่ประชากรพูดภาษาฝรั่งเศสทางตอนใต้ ช่วงเวลาดังกล่าวมีการปฏิรูปสหภาพแรงงานตามมาด้วยการจัดตั้งสหภาพขนาดใหญ่ที่เป็นหนึ่งเดียว คือ สหพันธ์แรงงานแห่งเบลเยียม (Fédération générale du Travail de Belgique หรือ Algemeen Belgisch Vakverbond; FGTB-ABVV) ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1945 และมีสมาชิกทั่วประเทศถึง 248,000 คน[29] แต่ถึงกระนั้นในปีค.ศ. 1947 โครงสร้างทางการเมืองของรัฐเบลเยียมมีเสถียรภาพ[30]

วิลลา เลอ ราโปซีแยร์ ในเพลญี-ฌ็อมเบซี สวิตเซอร์แลนด์ ที่ซึ่งกษัตริย์เลออปอลประทับในช่วงปีค.ศ. 1945 - 1950 ขณะทรงลี้ภัย

ในช่วงสมัยผู้สำเร็จราชการช่วงแรก ทั้งปิแยร์โลต์และรัฐบาลของอาคีล ฟัน อักเคอร์ พยายามหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญหน้าปัญหาการเสด็จกลับมาของกษัตริย์เลออปอลที่ 3 แม้จะมีการเรียกร้องจากฝ่ายคอมมิวนิสต์ นักสังคมนิยมบางคนและฝ่ายสหภาพการค้าที่ต้องการให้พระมหากษัตริย์สละราชบัลลังก์ในเดือนเมษายน และพฤษภาคม ค.ศ. 1945[31] ไม่นานหลังจากมีการปล่อยกษัตริย์เลออปอลออกจากที่คุมขัง นายกรัฐมนตรีฟัน อักเคอร์และผู้แทนรัฐบาล ได้เดินทางไปยังสโตรพ ประเทศออสเตรียภายใต้การยึดครองของฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อเจรจากับกษัตริย์เลออปอล มีการประชุมกันในช่วงวันที่ 9 ถึง 11 พฤษภาคม ค.ศ. 1945 ฟัน อักเคอร์ยืนยันว่าพระองค์จะต้องทรงประกาศต่อสาธารณชนว่าทรงสนับสนุนฝ่ายสัมพันธมิตร และความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา[31][32] แต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้[31] ในขณะเดียวกันกษัตริย์เลออปอลทรงย้ายไปประทับที่เพลญี-ฌ็อมเบซี (ใกล้เจนีวา) ในสวิตเซอร์แลนด์ ด้วยทรงอ้างว่าทรงมีพระอาการใจสั่นทำให้การเจรจาต่อไปหรือการที่จะทรงกลับไปใช้ชีวิตทางการเมืองย่อมเป็นไปไม่ได้[33][34]

ในเบลเยียม การถกเถียงทางการเมืองเกี่ยวกับปัญหาราชวงศ์ยังคงดำเนินต่อไปและเพิ่มมากขึ้นหลังสงคราม และยังคงเป็นหัวข้อถกเถียงยอดนิยมในสื่อสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะในหนังสือพิมพ์นิยมฝรั่งเศสอย่าง เลอ ซัวร์ ในการเลือกตั้งทั่วไปในเบลเยียม ค.ศ. 1949[c] พรรค PSC-CVP มีการรณรงค์หาเสียงด้วยแนวคิดนิยมเจ้า สนับสนุนกษัตริย์เลออปอล[33] ผลการเลือกตั้งได้พลิกโฉมภูมิทัศน์ทางการเมือง ฝ่ายคอมมิวนิสต์ถูกวางแนวทางไว้[d] และพรรค PSB-BSP สูญเสียที่นั่งให้กับทั้งพรรคเสรีนิยมและพวกคาทอลิก ฝ่ายคาทอลิกได้รับเสียงข้างมากในวุฒิสภาและได้รับเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นชัยชนะที่ดีที่สุดนับตั้งแต่สงคราม[33] กัสต็อง ไอส์เคินได้เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้ารัฐบาลผสมเสรีนิยม-คาทอลิก พรรคการเมืองทั้งสองพรรคในรัฐบาล (รวมถึงกษัตริย์เลออปอลเอง) สนับสนุนการจัดทำประชามติเพื่อให้พระมหากษัตริย์กลับมา ซึ่งจะกลายเป็นจุดสนใจทางการเมือง[33]

จุดเดือดของวิกฤต ค.ศ. 1950[แก้]

การออกเสียงประชามติเดือนมีนาคม ค.ศ. 1950[แก้]

รัฐบาลของไอส์เคินเห็นชอบให้จัดทำการออกเสียงประชามติระดับประเทศ เพื่อให้เป็น "การพิจารณาที่แพร่หลาย" (consultation populaire หรือ volksraadpleging) และกำหนดเป็นวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 1950[37] นับเป็นการออกเสียงประชามติครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองเบลเยียมและมีความตั้งใจให้เป็นกรณีศึกษา การรณรงค์คะแนนเสียงเป็นไปอย่างเข้มข้นทั้งสองฝ่าย มีการหยุดชะงักในการลงคะแนนโพลล์เล็กน้อย และมีการถกเถียงกันอยู่เป็นปกติ[38]

ผลการออกเสียงประชามติไม่ชี้ขาด ฝ่ายที่ต้องการให้กษัตริย์เลออปอลกลับมาได้ชัยชนะเพียงร้อยละ 58 ของเสียงส่วนใหญ่ในประเทศ โดยได้คะแนนนำ 7 มณฑลจากทั้งหมด 9 มณฑลในเบลเยียม แต่การลงคะแนนเสียงมีการแตกแยกในภูมิภาคอย่างมาก[38] ในแฟลนเดอส์ ออกคะแนนเสียงให้กษัตริย์เลออปอลกลับมาถึงร้อยละ 72 แต่ในเขตการเลือกตั้งกรุงบรัสเซลส์ ฝ่ายนิยมกษัตริย์เลออปอลได้คะแนนเสียงไปเพียงร้อยละ 48 ในเขตวัลลูนออกคะแนนเสียงให้ฟื้นฟูกษัตริย์เพียงร้อยละ 42[39] ผลลัพธ์ท้ายสุดคิดเป็นร้อยละแบ่งตามมณฑล ได้แก่[39]

*เสียงข้างมากในเขตการเลือกตั้งแวร์วีแยส์ลงมติเห็นชอบให้กษัตริย์กลับมา **เสียงข้างมากในเขตการเลือกตั้งนามูร์ต่อต้านการกลับมาของกษัตริย์

ผลการเลือกตั้งได้ทำให้บางคนเกิดความกังวล ดังเช่น สปักมองว่าการออกคะแนนเสียงนี้จะไม่ชี้ชัดไปในทางใดทางหนึ่งและอาจทำให้เกิดการแบ่งแยกประเทศตามภูมิภาคและภาษา ในวันที่ 13 มีนาคม นายกรัฐมนตรีไอส์เคินเดินทางไปยังเพลญี-ฌ็อมเบซี เพื่อกราบทูลโน้มน้าวให้กษัตริย์เลออปอลที่ 3 สละราชบัลลังก์[40] ปอล ฟัน เซลันด์และสปัก สองอดีตนายกรัฐมนตรีพยายามเป็นตัวแทนเจรจาข้อตกลงใหม่ให้กษัตริย์เลออปอลสละราชบัลลังก์แก่พระราชโอรส[40] ในวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1950 กษัตริย์เลออปอลทรงประกาศตั้งพระทัยที่จะมอบพระราชอำนาจของพระองค์เป็นการชั่วคราว[40] นักการเมืองหลายคนในพรรค PSC–CVP ตระหนักถึงผลประชามติทำให้พวกเขาสูญเสียเสียงข้างมากในรัฐสภาอันจะเป็นการบ่อนทำลายการปรองดองระดับชาติรอบองค์พระมหากษัตริย์ ตราบใดที่พันธมิตรแนวร่วมเสรีนิยมไม่เต็มใจที่ยอมรับการกลับมาของกษัตริย์[41]

กษัตริย์เลออปอลเสด็จนิวัติเบลเยียม[แก้]

ประชาชนฝ่ายนิยมกษัตริย์เลออปอลในเมืองคอร์ทไรค์ มณฑลฟลานเดอร์ตะวันตก ชุมนุมสนับสนุนการกลับมาของกษัตริย์ในปีค.ศ. 1950

ในวันที่ 29 เมษายน ค.ศ. 1950 เจ้าชายชาลส์ ผู้สำเร็จราชการทรงยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ พระองค์ตั้งพระทัยที่จะป้องกันการจัดตั้งรัฐบาลพรรค PSC-CVP ที่จะมีฟัน เซลันด์เป็นผู้นำรัฐบาล เขาเป็นผู้นิยมกษัตริย์เลออปอลอย่างแข็งขัน ซึ่งอาจจะทำให้กษัตริย์เลออปอลเสด็จกลับมาโดยไม่มีข้อแม้ใดๆ[42] การเลือกตั้งทั่วไปในเบลเยียม ค.ศ. 1950 ทำให้พรรค PSC-CVP ได้รับเสียงข้างมากทั้งในรัฐสภาและวุฒิสภา[e] ทำให้กลายเป็นรัฐบาลใหม่พรรคเดียวภายใต้การนำของฌ็อง ดูวิวซารต์[42]

การดำเนินการแรกของรัฐบาลดูวิวซารต์คือการออกร่างพระราชบัญญัติเพื่อให้การ "การไร้ความสามารถในการปกครอง" ของพระมหากษัตริย์ต้องสิ้นสุดลง ในวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ. 1950 กษัตริย์เลออปอลที่ 3 เสด็จนิวัติเบลเยียมเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1944 และดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ต่อไป[42]

การนัดหยุดงานทั่วประเทศและการสละราชบัลลังก์[แก้]

แผ่นโลหะจารึกทื่กราซ-ฮอโลญนีใกล้เมืองลีแยฌ รำลึกเหตุการณ์ที่แรงงาน 4 คนถูกตำรวจภูธรยิงเสียชีวิตในวันที่ 30 กรกฎาคม ค.ศ. 1950

ในปี ค.ศ. 1949 ขบวนการ FGTB–ABVV ได้ลงมติงบประมาณพิเศษจำนวน 10 ล้านฟรังก์เบลเยียม เพื่อจัดตั้งคณะกรรมาธิการปฏิบัติการร่วม (Comité d'action commune) ในการสนับสนุนการนัดหยุงานทั่วประเทศเพื่อต่อต้านการกลับมาของกษัตริย์ สหภาพแรงงานเป็นผู้นำในการต่อต้านในฤดูร้อน ปี ค.ศ. 1950 อังเดร เรนาร์ด ผู้นำสหภาพการค้าชาววัลลูน เรียกร้องให้มีการ "จลาจล" และ "ปฏิวัติ" ในหนังสือพิมพ์ลา วัลลูนนี (La Wallonie) ไม่นานหลังกษัตริย์เสด็จนิวัติในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1950[43] นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ตั้งข้อสังเกตว่า "กลิ่นอายของการปฏิวัติอยู่ในอากาศ" ซึ่งนักชาตินิยมชาววัลลูนยังมีการเรียกร้องให้มีการแยกเขตวัลลูนออกจากเบลเยียมในทันทีและสร้างสาธารณรัฐ[44]

การนัดหยุดงานทั่วประเทศในปี ค.ศ. 1950 เริ่มจากอุตสาหกรรมเหมืองถ่านหินในมณฑลแอโนและแพร่ขยายไปอย่างรวดเร็ว ในไม่ช้าคนงานก็หยุดงานทั่วเขตวัลลูน บรัสเซลส์และที่หยุดงานน้อยกว่าคือที่แฟลนเดอส์ ท่าเรือแอนต์เวิร์ปหนึ่งในสถานที่สำคัญได้รับผลกระทบและประเทศแทบจะเป็นอัมพาต[43] ในวันที่ 30 กรกฎาคม แรงงาน 4 คนถูกยิ่งเสียชีวิตโดยกองตำรวจภูธร (เบลเยียม) ที่กราซ-ฮอโลญนีใกล้เมืองลีแยฌและความรุนแรงก็ทวีมากขึ้น[45][46] ฝ่ายนิยมกษัตริย์เลออปอลในรัฐบาลเรียกร้องให้รัฐบาลมีจุดยืนที่แข็งกร้าวมากขึ้น แต่ก็พบว่าพรรคพวกของตนเป็นคนกลุ่มน้อย แม้แต่ในพรรค PSC-CVP เอง ความผิดหวังที่ไม่มีอะไรคืบหน้า รัฐบาลจึงขู่ว่าจะประกาศลาออก "ทั้งคณะ"[44]

เมื่อสถานการณ์ทวีความรุนแรงมากขึ้น สมาพันธ์นักโทษทางการเมืองแห่งชาติและผู้พึ่งพิง (Confédération nationale des prisonniers politiques et des ayants droit, Nationale Confederatie van Politieke Gevangenen en Rechthebbenden, หรือ CNPPA–NCPGR) อันเป็นองค์กรที่เป็นตัวแทนของนักโทษการเมืองที่ถูกคุมขังในช่วงที่เยอรมนียึดครอง เสนอที่จะเป็นตัวกลางการเจรจากับฝ่ายต่าง ๆ เนื่องจากองค์กรนี้เป็นที่เคารพนับถือจากทุกฝ่าย[47] องค์กร CNPPA–NCPGR ประสบความสำเร็จในการเกลี้ยกล่อมทั้งพระมหากษัตริย์และรัฐบาลให้เปิดการเจรจาอีกครั้งในวันที่ 31 กรกฎาคม ในตอนเที่ยงของวันที่ 1 สิงหาคม กษัตริย์เลออปอลทรงประกาศตั้งพระทัยที่จะสละราชบัลลังก์อย่างเป็นทางการแก่เจ้าชายโบดวง พระราชโอรส เพื่อหลีกเลี่ยวความขัดแย้งอันนองเลือด[44] เจ้าชายโบดวงทรงมีพระชนมายุ 19 พรรษา ทรงได้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ด้วยพระอิสริยยศ "พระวรราชกุมาร" (Prince Royal) ในวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1950[48]

การสืบราชบัลลังก์ของกษัตริย์โบดวง ค.ศ. 1951[แก้]

กษัตริย์โบดวง พระบรมฉายาลักษณ์ฉายในปีค.ศ. 1960 ซึ่งทรงสืบราชบัลลังก์ต่อจากกษัตริย์เลออปอลในปีค.ศ. 1951

กษัตริย์เลออปอลที่ 3 ทรงมีพระราชหัตถเลขาสละราชบัลลังก์ในวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1950 แต่ก็มีการไกล่เกลี่ยให้มีการเตรียมตัวเจ้าชายโบดวง พระราชโอรสเป็นเวลาหนึ่งปี[49] เจ้าชายโบดวงทรงถูกมองจากพรรคการเมืองต่าง ๆ ว่าเป็นตัวเลือกที่พวกเขายอมรับได้ ภายใต้กฎหมายในวันที่ 11 สิงหาคม อำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินของกษัตริย์จะถูกถ่ายโอนไปยังเจ้าชายโบดวงก่อนที่จะมีการสละราชบัลลังก์อย่างเป็นทางการ กษัตริย์เลออปอลที่ 3 สละราชบัลลังก์อย่างเป็นทางการในวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1951 พระราชโอรสสืบราชบัลลังก์ในวันถัดมา[44]

การลอบสังหารจูเลียน ลาโฮต์[แก้]

อนุสาวรีย์รำลึกจูเลียน ลาโฮต์

ในวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1950 กษัตริย์โบดวงทรงประกอบพิธีสัตย์ปฏิญาณต่อรัฐธรรมนูญภายในรัฐสภา บุคคลที่ไม่ปรากฏชื่อที่นั่งอยู่บริเวณฝั่งพรรคคอมมิวนิสต์ได้ตระโกนว่า "สาธารณรัฐจงเจริญ!" การขัดจังหวะพระมหากษัตริย์ครั้งนี้สร้างความเจ็บแค้นแก่ผู้จงรักภักดี[50] มีการสงสัยอย่างกว้างขวางว่า เจ้าของเสียงปริศนาคือ จูเลียน ลาโฮต์ ผู้นำคอมมิวนิสต์ที่มีชื่อเสียงซึ่งเคยเป็นหนึ่งในผู้ต่อต้านการกลับมาของกษัตริย์เลออปอล หนึ่งสัปดาห์ต่อมา (18 สิงหาคม) ลาโฮต์ถูกยิงเสียชีวิตโดยมือสังหารที่ไม่สามารถระบุได้ บริเวณนอกบ้านของเขาในเซอแร็ง มณฑลลีแยฌ[50] การลอบสังหารสร้างความตกตะลึงแก่สังคมเบลเยียมมาก มีผู้เข้าร่วมงานศพของลาโฮต์กว่า 200,000 คน[50] แม้ว่าไม่มีใครถูกดำเนินคดีในข้อหาฆาตกรรม แต่ก็มีการสงสัยว่าอาจเป็นฝีมือของสมาคมนิยมกษัตริย์เลออปอลอย่าง "Ligue Eltrois" หรือ "กลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์เบลเยียม" (Bloc anticommuniste belge) ซึ่งเป็นกลุ่มที่เชี่ยวชาญงานด้านรักษาความปลอดภัย[51]

ผลที่ตามมาและความสำคัญ[แก้]

กษัตริย์โบดวงในปีค.ศ. 1962

ผลที่ตามมาของปัญหาราชวงศ์ ได้ถูกเปลี่ยนไปเป็นประเด็นปัญหาการเมืองอื่น ในวันที่ 17 กันยายน ค.ศ. 1950 รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีโยแซ็ฟ พอเลียนได้ประกาศตั้งใจที่จะส่งอาสาสมัครทหารเบลเยียมไปร่วมรบในสงครามเกาหลี[52] มีการเจรจาเกี่ยวกับสนธิสัญญาป้องกันประชาคมยุโรปตามมา และในช่วงกลางทศวรรษที่ 1950 เบลเยียมจมอยู่ในวิกฤตทางการเมืองครั้งใหม่ หรือที่เรียกว่า สงครามโรงเรียนครั้งที่สอง เกี่ยวกับโลกิยานุวัติทางการศึกษา (แยกศาสนาออกจากการศึกษา)[53] ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1960 กษัตริย์โบดวงทรงแจ้งต่อนายกรัฐมนตรีกัสต็อง ไอส์เคินว่าพระองค์ไม่ไว้วางพระทัยในรัฐบาลและทรงขอให้เขาลาออก นายกรัฐมนตรีไอส์เคินปฏิเสธและท้าทายพระมหากษัตริย์ทรงอุทธรณ์ตามมาตรา 65 ของรัฐธรรมนูญและเพิกถอนอำนาจของคณะรัฐมนตรีโดยฝ่ายเดียว ด้วยความเกรงว่าอาจทำให้เกิดปัญหาราชวงศ์ขึ้นมาอีกครั้ง กษัตริย์โบดวงจึงทรงยอมแพ้ต่อนายกรัฐมนตรี[54]

นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่อธิบายว่า ปัญหาราชวงศ์เป็นเหตุการณ์ที่สำคัญในการฟื้นตัวของเบลเยียมหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายนิยมกษัตริย์เลออปอลและฝ่ายต่อต้านกษัตริย์เลออปอลนำไปสู่การจัดตั้งพรรคสังคมนิยมและพรรคคาทอลิกขึ้นใหม่ตั้งแต่ก่อนสงคราม[30] ปัญหาราชวงศ์เป็นเหตุการณ์ที่สำคัญในความขัดแย้งทางภาษาและเชื้อชาติของเบลเยียม นอกจากนี้ยังเป็นจุดจบของสถาบันเบลเยียมในลักษณะสหภาพซึ่งอาจทำให้ความขัดแย้งระหว่างภูมิภาครุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งก่อตัวมาจากปัญหาราชวงศ์[55] นอกจากนี้ความล้มเหลวของพรรค PSC-CVP ที่พยายามทำตามความต้องการของชาวเฟลมิชในการกระตุ้นให้เกิดการกลับมาของกษัตริย์เลออปอล เพื่อต้องการเสียงสนับสนุนจากพรรคสหภาพประชาชน อันเป็นพรรคชาตินิยมขบวนการเฟลมิชหลังค.ศ. 1954[56] ในเขตวัลลูน มรดกของสหภาพการค้าและการเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบสังคมนิยมในช่วงการนัดหยุดงานทั่วประเทศเป็นการปูทางไปสู่การกำเนินใหม่ของขบวนการวัลลูนฝ่ายซ้าย ในที่สุดกลายเป็นเหตุการณ์การนัดหยุดงานทั่วประเทศเบลเยียม ค.ศ. 1960-1961[56]

คดีการลอบสังหารลาโฮต์ยังไม่ได้รับการคลี่คลาย และยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในฐานะการฆาตกรรมทางการเมืองเพียงครั้งเดียวในประวัติศาสตร์เบลเยียม นอกจากนี้คือเหตุการณ์การลอบสังหารอังเดร คูลส์ นักการเมืองฝ่ายสังคมนิยมในปีค.ศ. 1991 ฝ่ายนิยมกษัตริย์เลออปอลถูกสงสัยแต่ก็ไม่มีการดำเนินคดีใดๆ ในภายหลัง จากการสืบสวนของนักประวัติศาสตร์อย่างรูดี ฟัน ดุร์สแลร์และเอเยง เฟอฮูแยร์ มีการระบุชื่อของผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนสังหาร[57] และมีรายงานครั้งสุดท้าย ส่งให้กับรัฐบาลเบลเยียมในปีค.ศ. 2015[58]

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ[แก้]

  1. พระมเหสีองค์แรกของกษัตริย์เลออปอลที่ 3 คือ อัสตริดแห่งสวีเดน ซึ่งทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์สิ้นพระชนม์ในปีค.ศ. 1935 แต่พระนางยังคงได้รับความนิยมสูงในหมู่สาธารณชน ในทางกลับกันเบลส์ไม่ได้มียศเป็นชนชั้นสูงและมาจากแฟลนเดอส์ ถูกมองว่าเป็นพวก ผู้ดีใหม่ และอิทธิพลทางการเมืองของเธอที่มีต่อกษัตริย์เป็นเรื่องที่ไม่น่าไว้วางใจ[19]
  2. การแก้ไขรัฐธรรมนูญในภายหลังได้มีการเปลี่ยนแปลงมาตรา "การไร้ความสามารถในการปกครอง" จากเดิมคือมาตรา 82 มาเป็นมาตรา 93 ในปัจจุบัน[24] ข้อความในมาตราดังกล่าวยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงและถูกบังคับใช้อีกครั้งเป็นเวลา 24 ชั่วโมงในปีค.ศ. 1990 เพื่อให้มีการผ่านร่างกฎหมายการทำแท้งโดยไม่ต้องผ่านการลงพระปรมาภิไธยของกษัตริย์โบดวง[25]
  3. The การเลือกตั้งทั่วไปในเบลเยียม ค.ศ. 1949 เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกของเบลเยียมที่มีการให้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไปอย่างเต็มที่ ด้วยมีการขยายสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งแก่ผู้หญิงชาวเบลเยียมทุกคนในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1948[35]
  4. พรรคคอมมิวนิสต์เบลเยียมได้รับคะแนนเสียงลดลงจากร้อยละ 12.68 เหลือเพียงร้อยละ 7.48 ในการเลือกตั้งทั่วไปปีค.ศ. 1949 ในปีค.ศ. 1954 ได้รับคะแนนเสียงเพียงร้อยละ 3.57 และไม่เคยได้รับอิทธิพลทางการเมืองกลับคืนมาอีกเลย[36]
  5. พรรค PSC–CVP ได้รับเสียงข้างมากทั้งสองสภาในการเลือกตั้งปี 1950 และเป็นรัฐบาลพรรคเดียวครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์การเมืองเบลเยียม[42]

รายการอ้างอิง[แก้]

  1. Mabille 2003, p. 38.
  2. Witte, Craeybeckx & Meynen 2009, pp. 45–7.
  3. Witte, Craeybeckx & Meynen 2009, p. 189.
  4. Le Vif 2013.
  5. Witte, Craeybeckx & Meynen 2009, p. 209.
  6. Van den Wijngaert & Dujardin 2006, p. 17.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 Van den Wijngaert & Dujardin 2006, p. 18.
  8. 8.0 8.1 Mabille 2003, p. 37.
  9. Van den Wijngaert & Dujardin 2006, pp. 18–9.
  10. 10.0 10.1 Van den Wijngaert & Dujardin 2006, p. 19.
  11. Van den Wijngaert & Dujardin 2006, p. 19, 103.
  12. Dumoulin, Van den Wijngaert & Dujardin 2001, p. 197.
  13. Van den Wijngaert & Dujardin 2006, pp. 19–20.
  14. Van den Wijngaert & Dujardin 2006, pp. 26.
  15. Van den Wijngaert & Dujardin 2006, pp. 26–7.
  16. Van den Wijngaert & Dujardin 2006, p. 27.
  17. Van den Wijngaert & Dujardin 2006, pp. 27–8.
  18. 18.0 18.1 Van den Wijngaert & Dujardin 2006, p. 28.
  19. 19.0 19.1 Conway 2012, p. 32.
  20. 20.0 20.1 20.2 Mabille 2003, p. 39.
  21. Van den Wijngaert & Dujardin 2006, pp. 28–9.
  22. 22.0 22.1 Van den Wijngaert & Dujardin 2006, p. 106.
  23. Van den Wijngaert & Dujardin 2006, pp. 106–7.
  24. 24.0 24.1 24.2 Van den Wijngaert & Dujardin 2006, p. 109.
  25. Witte, Craeybeckx & Meynen 2009, p. 266.
  26. Conway 2012, pp. 141–3.
  27. The Independent 1996.
  28. 28.0 28.1 Van den Wijngaert & Dujardin 2006, p. 111.
  29. Van den Wijngaert & Dujardin 2006, p. 112.
  30. 30.0 30.1 Conway 2012, p. 12.
  31. 31.0 31.1 31.2 Witte, Craeybeckx & Meynen 2009, p. 240.
  32. Conway 2012, p. 139.
  33. 33.0 33.1 33.2 33.3 Witte, Craeybeckx & Meynen 2009, p. 241.
  34. Van den Wijngaert & Dujardin 2006, p. 125.
  35. Mabille 2003, p. 43.
  36. Conway 2012, p. 232-3.
  37. Van den Wijngaert & Dujardin 2006, p. 139.
  38. 38.0 38.1 Van den Wijngaert & Dujardin 2006, p. 140.
  39. 39.0 39.1 Van den Wijngaert & Dujardin 2006, p. 141.
  40. 40.0 40.1 40.2 Van den Wijngaert & Dujardin 2006, p. 142.
  41. Van den Wijngaert & Dujardin 2006, pp. 142–3.
  42. 42.0 42.1 42.2 42.3 Van den Wijngaert & Dujardin 2006, p. 143.
  43. 43.0 43.1 Van den Wijngaert & Dujardin 2006, p. 144.
  44. 44.0 44.1 44.2 44.3 Witte, Craeybeckx & Meynen 2009, p. 242.
  45. "Zaait nu zelfs de koning verdeeldheid tussen zijn onderdanen? Gesprekken van over de taalgrens". De Morgen. 30 October 1999. สืบค้นเมื่อ 28 July 2019.
  46. "Police kill 3, wound mayor in Liege riot". Bluefield Daily Telegraph (ภาษาอังกฤษ). Associated Press. 31 July 1950. สืบค้นเมื่อ 28 July 2019 – โดยทาง Newspaperarchive.com.
  47. Van den Wijngaert & Dujardin 2006, p. 145.
  48. Van den Wijngaert & Dujardin 2006, pp. 145–6.
  49. Mabille 2003, p. 41.
  50. 50.0 50.1 50.2 Gérard-Libois & Lewin 1992, p. 148.
  51. Gérard-Libois & Lewin 1992, p. 147.
  52. Gérard-Libois & Lewin 1992, p. 173.
  53. Mabille 2003, pp. 44–5.
  54. Young 1965, p. 326.
  55. Conway 2012, p. 253.
  56. 56.0 56.1 Conway 2012, p. 265.
  57. Gérard-Libois & Lewin 1992, pp. 147–8.
  58. RTBF 2015.

บรรณานุกรม[แก้]

ศึกษาเพิ่มเติม[แก้]

เว็บไซต์อ้างอิง[แก้]