ข้ามไปเนื้อหา

ปลาหมอมายา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปลาหมอมายา
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
โดเมน: Eukaryota
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Cichliformes
วงศ์: Cichlidae
สกุล: Mayaheros
สปีชีส์: M.  urophthalmus
ชื่อทวินาม
Mayaheros urophthalmus
(Günther, 1862)
ชื่อพ้อง
  • Heros urophthalmus (Günther, 1862)
  • Cichlasoma urophthalmum

ปลาหมอมายา (สเปน: cíclido maya) หรือ ปลาดอกหมากเม็กซิโก (mojarra mexicana) เป็นปลาชนิดหนึ่งในวงศ์ปลาหมอสี (Cichlidae) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mayaheros urophthalmus

การกระจายพันธุ์

[แก้]

ปลาหมอมายาพบได้ในอเมริกากลาง โดยมีถิ่นกำเนิดอยู่แถบชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกของมีโซอเมริกาเขตร้อน ตั้งแต่ทางตะวันออกของเม็กซิโกลงไปจนถึงนิการากัว[1] มีรายงานการพบปลาชนิดนี้เป็นครั้งแรกในอุทยานแห่งชาติเอเวอร์เกลดส์ รัฐฟลอริดา สหรัฐ ใน พ.ศ. 2526 และทุกวันนี้ได้กลายเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นชนิดหนึ่งในฟลอริดาตอนใต้[2]

ถิ่นที่อยู่

[แก้]

ปลาหมอมายาอาศัยอยู่ในที่ลุ่มชื้นแฉะน้ำจืด ป่าชายเลน ทะเลสาบ แม่น้ำ โขดหินชายฝั่ง ทะเลสาบน้ำเค็มชายฝั่ง ชะวากทะเล และเกาะชายฝั่ง ปลาตัวเต็มวัยชอบอาศัยอยู่ตามทะเลสาบน้ำเค็มชายฝั่งและแม่น้ำ และอาจอยู่รอดได้ในสภาพน้ำเค็ม[3] ปลาชนิดนี้สามารถพบได้ในบริเวณที่มีออกซิเจนสูงใกล้กับพืชใต้น้ำและเหนือพื้นโคลน แม้จะชอบแหล่งน้ำที่มีออกซิเจนละลายอยู่อย่างน้อย 3.5 มิลลิกรัมต่อลิตร แต่ก็สามารถอยู่รอดได้ในสภาวะพร่องออกซิเจนอย่างรุนแรงเนื่องจากปรับตัวให้เข้ากับปริมาณออกซิเจนได้ดี โดยจะเคลื่อนไหวน้อยลงมากในแหล่งน้ำที่มีปริมาณออกซิเจนต่ำ และอาจอยู่รอดได้แม้กระทั่งในสภาวะที่แทบไม่มีออกซิเจนนานถึงสองชั่วโมง[4] นอกจากนี้ยังพบในหลุมยุบบางแห่งที่คาบสมุทรยูกาตันของเม็กซิโกซึ่งถือเป็นเรื่องผิดปกติ

ปลาหมอมายาในอุทยานแห่งชาติเอเวอร์เกลดส์
ปลาหมอมายากับปลาเทศบาล (Hypostomus plecostomus)

ลักษณะทางกายภาพ

[แก้]

ปลาหมอมายามีความยาวได้ถึง 39.4 เซนติเมตร (15.5 นิ้ว)[3] เป็นปลาขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งในวงศ์ปลาหมอสี ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะใกล้เคียงกัน ลำตัวมีรูปร่างรี แบนราบด้านข้าง ส่วนหัวเรียวสอบไปทางปาก หัวและคอมีสีออกแดงโดยเฉพาะในปลาที่อายุน้อย ครีบมีก้าน ครีบหางรวมถึงส่วนนิ่มของครีบหลังและครีบก้นมักมีสีออกแดงไม่มากก็น้อย ลำตัวมีสีพื้นเป็นสีน้ำตาลอมเหลืองถึงน้ำตาลอมเทาซึ่งจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้มในช่วงผสมพันธุ์ และมีแถบสีดำอมเขียว 6–7 แถบพาดตามขวาง ไล่จากฐานครีบอกไปจนถึงฐานครีบหาง บริเวณคอดหางมีจุดสีดำขนาดใหญ่ซึ่งเป็นที่มาของชื่อวิทยาศาสตร์ urophthalmus (มาจาก ουρά ซึ่งแปลว่า 'หาง' และ οφθαλμός ซึ่งแปลว่า 'ตา' ในภาษากรีก)[5] เนื่องจากปลาชนิดนี้มีพื้นที่กระจายพันธุ์ค่อนข้างกว้าง จึงอาจมีสีสันแตกต่างกันไปและอาจแตกต่างจากที่อธิบายไปข้างต้น

ชีววิทยา

[แก้]

โดยปกติแล้วปลาหมอมายาไม่ชอบย้ายถิ่นและพอใจที่จะอาศัยอยู่ในถิ่นเดิม[6] ปลาหมอมายาต้องการอุณหภูมิต่ำสุดประมาณ 14 องศาเซลเซียส (57 องศาฟาเรนไฮต์) ในการมีชีวิตรอด[7] ในถิ่นกำเนิด ปลาชนิดนี้อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่มีอุณหภูมิ 18–34 องศาเซลเซียส (64–93 องศาฟาเรนไฮต์) แต่ช่วงอุณหภูมิที่เหมาะที่สุดอยู่ที่ 28–33 องศาเซลเซียส (82–91 องศาฟาเรนไฮต์)[8]

ปลาหมอมายาสามารถอยู่รอดได้ในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย โดยทนต่อการผันแปรความเค็มได้ในช่วงตั้งแต่ 0–40 ส่วนในหนึ่งพันส่วน[9] การทดลองกับปลาที่เลี้ยงไว้แสดงให้เห็นว่าพวกมันทนต่อการเพิ่มความเค็มอย่างฉับพลันได้สูงสุดถึง 15 ส่วนในหนึ่งพันส่วน[10] ปลาหมอมายายังทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อกับชีวิตได้ในช่วงกว้างและมีทักษะการล่าเหยื่อที่หลากหลาย ทำให้สามารถจับเหยื่อที่หนีเร็วได้ประมาณร้อยละ 20 โดยอาศัยการยื่นกรามออกไปได้ถึงร้อยละ 6.8 ในขณะกินเหยื่อ[11]

ปลาชนิดนี้ยังเป็นสัตว์กินไม่เลือก โดยกินสิ่งมีชีวิตจากกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่แตกต่างกันหลายชนิด[12] อย่างไรก็ตาม ปลาชนิดนี้มีความเสี่ยงต่อการขาดสารอาหารเนื่องจากต้องการอาหารที่เป็นสัตว์ในสัดส่วนค่อนข้างสูง[9] อาหารของปลาหมอมายามีตั้งแต่สัตว์น้ำ สัตว์พวกกุ้งกั้งปู หอย และแมลงที่มีขนาดเล็กกว่า ไปจนถึงสาหร่ายและซากพืช[2][13]

การสืบพันธุ์

[แก้]

ปลาหมอมายามีนิสัยดุร้ายและหวงอาณาเขตในช่วงผสมพันธุ์[3] เป็นปลาที่ปกป้องลูกจากนักล่าอย่างแข็งขันและออกลูกหลายครอกต่อปี ปลาชนิดนี้จับคู่ผสมพันธุ์แบบผัวเดียวเมียเดียวแล้ววางไข่บนพื้นท้องน้ำ พ่อปลาแม่ปลาช่วยกันเฝ้าดูแลลูกปลานานถึง 6 สัปดาห์ พฤติกรรมเหล่านี้เด่นชัดมากเมื่อเทียบกับปลาชนิดอื่น ๆ ในสกุล Mayaheros ปลาหมอมายาในเม็กซิโกมีฤดูวางไข่ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงพฤศจิกายน โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงกันยายนซึ่งตรงกับช่วงที่แหล่งน้ำมีอุณหภูมิอย่างน้อย 24 องศาเซลเซียส[9] ลูกปลาดูเหมือนจะปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมน้ำไหลได้ดีและมีพฤติกรรมตอบสนองต่อแรงโน้มถ่วงของโลก โดยว่ายลงสู่ด้านล่างทันทีที่ฟักออกจากไข่ แล้วเกาะติดกับพื้นท้องน้ำด้วยต่อมเมือกสามคู่[9]

ความสัมพันธ์กับมนุษย์

[แก้]

ในถิ่นกำเนิด ปลาหมอมายาจัดเป็นปลาเบญจพรรณ (ปลาเศรษฐกิจที่ใช้สำหรับการบริโภค) ด้วยเหตุนี้จึงเป็นพื้นฐานของการประมงในระดับภูมิภาคและมีการนำไปเพาะเลี้ยง เช่นเดียวกับในสัตว์หลายชนิด ปลาที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติมักมีสีแดงสดกว่าปลาที่เลี้ยงในพื้นที่จำกัด แต่ก็สามารถช่วยรักษาสีสันได้บ้างด้วยการให้อาหารสดและอาหารที่มีวิตามินเอซึ่งจะสลายเป็นบีตา-แคโรทีนในตัวปลา

ปลาหมอมายาเป็นปลาหมอสีที่นักวิทยาศาสตร์สนใจศึกษามากที่สุดชนิดหนึ่งในเขตชีวภาพนีโอทรอปิคัล (แคริบเบียน อเมริกากลาง และอเมริกาใต้)[9] โดยเฉพาะในท้องถิ่นต่าง ๆ บริเวณคาบสมุทรยูกาตันทางตะวันออกเฉียงใต้ของเม็กซิโก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการศึกษาวิจัยปลาชนิดนี้อย่างเข้มข้นที่สุด[4]

ในไทย ปลาหมอมายาเป็นปลาที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน และเพาะเลี้ยงในประเทศ ร่วมกับปลาและสัตว์น้ำอื่น ๆ อีกหลายชนิด เช่น ปลาหมอบัตเตอร์ (Heterotilapia buttikoferi), ปลาหมอคางดำ (Sarotherodon melanotheron) เป็นต้น[14][15]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Miller, R.R. (1966): Geographical Distribution of Central American Freshwater Fishes. Copeia, 1966 (4): 773-802.
  2. 2.0 2.1 Bergmann, Gaddy T.; Motta, Philip J. (2005). "Diet and morphology through ontogeny of the nonindigenous Mayan cichlid Cichlasoma (Nandopsis) urophthalmus (Günther 1862) in southern Florida". Environmental Biology of Fishes. 72 (2): 205–211. doi:10.1007/s10641-004-1480-1. S2CID 7750210.
  3. 3.0 3.1 3.2 Froese, Rainer and Pauly, Daniel, eds. (2016). "Cichlasoma urophthalmum" in FishBase. January 2016 version.
  4. 4.0 4.1 Gamboa-Pérez, H.C. & Schmitter-Soto, J.J. (1999): Distribution of cichlid fishes in the littoral of Lake Bacalar, Yucatan Peninsula. Environmental Biology of Fishes, 54 (1): 35-43.
  5. "Discover Fish - Mayaheros urophthalmus". Florida Museum.
  6. Faunce, C.H. & Lorenz, J.J. 2000. Reproductive Biology of the Introduced Mayan cichlid, Cichlasoma urophthalmus, Within an Estuarine Mangrove Habitat of Southern Florida. Environmental Biology of Fishes, 58 (2): 215-225.
  7. Stauffer, J.R.Jr. & Boltz, S.E. (1994): Effect of Salinity on the Temperature Preference and Tolerance of Age-0 Mayan Cichlids. Transactions of the American Fisheries Society, 123 (1): 101-107.
  8. Martinez-Palacios, C.A., Chavez-Sanchez, M.C. & Ross, L.G. (1996): The effects of water temperature on food intake, growth and body composition of Cichlasoma urophthalmus (Günther) juveniles. Aquaculture Research, 27 (6): 455-461.
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 Martínez-Palacios, C.A., Chávez-Sánchez, C. & Olvera Novoa, M.A. (1993): The potential for culture of the American Cichlidae with emphasis on Cichlasoma urophthalmus. In: Muir, J.F. & Roberts, R.J. (Eds.), Recent advances in aquaculture. Vol. 4., Blackwell, Oxford, England.
  10. Martinez-Palacios, C.A., Ross, L.G. & Rosado-Vallado, M. (1990): The effects of salinity on the survival and growth of juvenile Cichlasoma urophthalmus. Aquaculture, 91 (1-2): 65-75.
  11. Hulsey, C.D. & García de León, F.J. (2005): Cichlid jaw mechanics: linking morphology to feeding specialization. Functional Ecology, 19 (3): 487-494.
  12. Martinez-Palacios, C.A. & Ross, L.G. (1988): The feeding ecology of the Central American cichlid Cichlasoma urophthalmus (Gunther). Journal of Fish Biology, 33 (5): 665-670.
  13. "Cichlasoma urophthalmus (Mayan Cichlid) — Seriously Fish".
  14. "ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๖๔" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 138 (พิเศษ 130 ง): 8. 17 มิถุนายน 2564.
  15. "ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๖๔" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 138 (พิเศษ 130 ง): 9. 17 มิถุนายน 2564.