ปลาหมอคางดำ
ปลาหมอคางดำ | |
---|---|
![]() | |
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ ![]() | |
โดเมน: | ยูแคริโอตา Eukaryota |
อาณาจักร: | สัตว์ Animalia |
ไฟลัม: | สัตว์มีแกนสันหลัง Chordata |
ชั้น: | ปลาที่มีก้านครีบ Actinopterygii |
อันดับ: | Cichliformes |
วงศ์: | Cichlidae |
สกุล: | Sarotherodon (Rüppell, 1852) |
สปีชีส์: | Sarotherodon melanotheron |
ชื่อทวินาม | |
Sarotherodon melanotheron (Rüppell, 1852) | |
ชื่อพ้อง[2] | |
|
ปลาหมอคางดำ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Sarotherodon melanotheron) เป็นปลาน้ำกร่อยในวงศ์ปลาหมอสี มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกาตะวันตก มีลักษณะคล้ายกับปลาหมอเทศหรือปลาหมอสี เพียงแต่บริเวณใต้คางมีสีดำ เมื่อโตเต็มวัยจะมีขนาดยาวถึง 8 นิ้ว หรือมากกว่านั้น[3]
ลักษณะ
[แก้]ปลาหมอคางดำมีสีซีด เฉดสีต่างกันไป เช่น สีฟ้าอ่อน ส้ม และเหลืองทอง ปกติจะมีจุดสีเข้มใต้คางเมื่อโตเต็มวัย นอกจากนี้มักมีสีเข้มที่ขอบหลังเหงือกและปลายครีบอ่อนของครีบหลัง ลำตัวมักมีลายเส้น จุด หรือด่าง ที่ไม่สม่ำเสมอ มีปากเล็กซึ่งมีฟันขนาดเล็กหลายร้อยซี่ เรียงกัน 3-6 แถว ปลาตัวผู้และตัวเมียมีความแตกต่างกันเล็กน้อย ปกติหัวของปลาตัวผู้จะใหญ่กว่าหัวของปลาตัวเมียเล็กน้อย บ้างอาจมีสีทองที่แผ่นปิดเหงือก[4] ครีบหลังมีก้าน 15-17 ก้าน และก้านครีบอ่อน 10-12 ก้าน ครีบก้นมีก้าน 3 ก้าน และก้านครีบอ่อน 8-10 ก้าน ความยาวคอดหาง (caudal peduncle) ประมาณ 0.6 ถึง 0.9 เท่าของความลึก สามารถเจริญเติบโตได้ยาวสุดถึง 28 เซนติเมตร (11 นิ้ว) แต่ปกติจะยาวถึงประมาณ 17.5 เซนติเมตร (6.9 นิ้ว)[5]
การกระจายตัว
[แก้]ปลาหมอคางดำมีถิ่นกำเนิดในแอฟริกาตะวันตกตั้งแต่ประเทศมอริเตเนียจนถึงประเทศแคเมอรูน และได้มีการนำเข้าสู่หลายประเทศในเอเชีย สหรัฐอเมริกา และยุโรป นอกจากนี้ปลาหมอคางดำได้กลายเป็นสัตว์รุกรานในรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐ[6], ประเทศไทย[7] และประเทศฟิลิปปินส์[8]
ถิ่นอาศัยและชีววิทยา
[แก้]ปลาหมอคางดำสามารถทนต่อความเค็มสูงได้ พบได้มากในบริเวณป่าชายเลน และสามารถเข้าไปอาศัยในน้ำจืด เช่น ปากแม่น้ำ และน้ำเค็มได้ ในแอฟริกาทางตะวันตกจะพบได้เฉพาะในทะเลสาบน้ำกร่อยและปากแม่น้ำ โดยมีจำนวนมากในป่าชายเลน ปลาหมอคางดำมักอยู่รวมเป็นฝูง และส่วนใหญ่จะออกหากินในเวลากลางคืน แม้ว่าจะกินอาหารในเวลากลางวันบ้าง อาหารหลักได้แก่ สาหร่ายและเศษซากพืช รวมถึงหอยสองฝาและแพลงก์ตอนสัตว์ โดยกินแบบคาบอาหารขึ้นมาและกลืนเป็นคำ (ไม่มีซี่เหงือก)
ปลาหมอคางดำวางไข่ใกล้ชายฝั่งในน้ำตื้น ตัวเมียจะเกี้ยวพาราสีตัวผู้ ขุดหลุม และเป็นฝ่ายนำการผสมพันธุ์ ในที่สุดตัวผู้จะตอบสนองในลักษณะอยู่นิ่งและสร้างพันธะคู่ผสมกัน ปลาหมอคางดำเป็นปลาที่ตัวผู้ฟักไข่ในปาก แต่พบว่าตัวเมียของสายพันธุ์หนึ่งในประเทศกานาก็สามารถฟักไข่ในปากได้ด้วย[9]
ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น
[แก้]รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐฯ
[แก้]เชื่อว่าปลาหมอคางดำถูกนำเข้ามาในรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา ผ่านการหลุดรอดจากการค้าสัตว์น้ำ แม้จะมีข้อสงสัยว่ามีการปล่อยโดยเจตนาอยู่บ้าง ในบางพื้นที่ ปลาหมอคางดำอาจคิดเป็น 90% ของมวลชีวภาพของปลาทั้งหมด ปลาหมอคางดำสามารถแพร่กระจายโรคให้และแข่งขันกับปลาพื้นถิ่นได้ ในฮาวายอาจเรียกปลาชนิดนี้ว่า "ปลาหมอสีน้ำเค็ม" (saltwater tilapia) เนื่องจากสามารถอยู่รอดและอาจกระทั่งผสมพันธุ์ในน้ำทะเลล้วนได้ ในฮาวายพบได้ตามชายหาดที่กำบังและในทะเลสาบรอบ ๆ โออาฮู และอาจรวมถึงเกาะอื่น ๆ ปลาชนิดนี้ถือเป็นสัตว์รังควานในคลองและอ่างเก็บน้ำของฮาวาย เนื่องจากขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว แข่งขันกับสายพันธุ์อื่นในพื้นที่ และมักตายในจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น ใน ค.ศ. 1991 ที่ทะเลสาบวิลสันบนเกาะโออาฮู เกิดโรคติดเชื้อราซึ่งทำให้ปลาหมอสีตายประมาณ 20,000 ตัว ส่วนใหญ่เป็นปลาหมอคางดำ เชื่อว่าเป็นตัวแทนไม่เกิน 0.5% ของประชากรปลาหมอสีทั้งหมดในทะเลสาบ[10]
ประเทศฟิลิปปินส์
[แก้]ไม่มีบันทึกถึงวิธีที่ปลาหมอคางดำถูกนำเข้ามาสู่แหล่งน้ำของฟิลิปปินส์ แต่เชื่อว่าอาจมาจากการค้าสัตว์น้ำและถูกปล่อยสู่ธรรมชาติในแหล่งน้ำใกล้จังหวัดบาตาอันและจังหวัดบูลาคันเมื่อประมาณ ค.ศ. 2015 ปลาชนิดนี้ถือเป็นภัยคุกคามต่อบ่อปลา เนื่องจากขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว ทำให้พื้นที่สำหรับปลาชนิดอื่นลดลง โดยเฉพาะพื้นที่สำหรับการเพาะพันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเล อ่าวมะนิลาซึ่งอยู่ใกล้กับจังหวัดบาตาอันและจังหวัดบูลาคันก็สามารถพบปลาหมอคางดำได้ แม้ว่าจะไม่ใช่น้ำจืดก็ตาม ตามที่มีการพบว่าเป็นหนึ่งในปลาที่ถูกพัดขึ้นมาบนชายฝั่งบาสเอโก เมื่อวันที่ 17 กันยายน ค.ศ. 2020
ประเทศไทย
[แก้]ในประเทศไทย ปลาหมอคางดำถูกนำเข้ามาจากกานาเมื่อ พ.ศ. 2553 โดยบริษัทเอกชน เพื่อทดลองเลี้ยง โดยได้รับอนุญาตจากกรมประมง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ แม้ว่าจะมีการแจ้งเหตุความเสียหายต่อกรมประมงไปแล้ว แต่เมื่อ พ.ศ. 2555 กรมประมงเพิ่งได้รับรายงานการแพร่กระจายเป็นครั้งแรกในพื้นที่ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
ใน พ.ศ. 2566 ปลาหมอคางดำเป็นสายพันธุ์ที่ถูกห้ามนำเข้ามาในประเทศ จากการสำรวจพบว่าปลาชนิดนี้กำลังแพร่กระจายพันธุ์อย่างรวดเร็วในภาคกลาง โดยพบมากเป็นพิเศษในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และสมุทรปราการ และยังมีรายงานการพบเห็นที่จังหวัดชุมพรด้วย[11]
ใน พ.ศ. 2567 ปลาหมอคางดำกลายเป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากพบการระบาดรุนแรงในหลายพื้นที่มากขึ้นเรื่อย ๆ สร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาและกุ้งจำนวนมาก รัฐบาลประกาศว่าจะกำจัดปลาหมอคางดำให้สิ้นซาก หนึ่งในวิธีควบคุมประชากรปลาที่นิยมใช้คือ การปล่อยปลานักล่า เช่น ปลากะพงขาว ลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ มีรายงานว่าปลาหมอคางดำสามารถปรับตัวให้ดำรงชีวิตในน้ำกร่อยบริเวณชายฝั่งหรือปากแม่น้ำได้เป็นอย่างดี การระบาดครั้งใหญ่ของปลาหมอคางดำคุกคามสิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่นและชนิดใกล้สูญพันธุ์บริเวณแหลมแม่พิมพ์และทะเลสาบสงขลา นอกจากนี้ยังพบว่าปลาหมอคางดำรุกรานแหล่งน้ำในเขตชานเมืองและใจกลางกรุงเทพมหานครด้วย[12][13][14][15]
อนุกรมวิธาน
[แก้]ปลาหมอคางดำเคยถูกจัดแบ่งออกเป็นสามสปีชีส์ย่อย แต่ปัจจุบันผู้จัดจำแนกบางรายถือว่าเป็นสปีชีส์ที่มีเพียงสปีชีส์ย่อยเดียว
สามสปีชีส์ย่อย ได้แก่
- S.m. heudelotii (Duméril, 1861)
- S.m. leonensis (Thys van den Audenaerde, 1971) ประเทศไลบีเรียและประเทศเซียร์ราลีโอน[16]
- S.m. melanotheron Rüppell, 1852 ประเทศโกตดิวัวร์ถึงทางตอนใต้ของประเทศแคเมอรูน
การนำมาใช้ประโยชน์
[แก้]มนุษย์จับปลาหมอคางดำเพื่อนำมาบริโภค และเพาะพันธุ์สำหรับการค้าสัตว์น้ำ[1]

อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 Lalèyè, P. (2020). "Sarotherodon melanotheron". IUCN Red List of Threatened Species. 2020: e.T182038A58328597. doi:10.2305/IUCN.UK.2020-2.RLTS.T182038A58328597.en. สืบค้นเมื่อ 19 November 2021.
- ↑ Froese, Rainer and Pauly, Daniel, eds. (2018). "Sarotherodon melanotheron" in FishBase. October 2018 version.
- ↑ สวทช, นิตยสารสาระวิทย์ โดย (2024-07-16). "ปลาหมอคางดำ บทเรียนของปลาต่างถิ่นเพื่อธุรกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ". นิตยสารสาระวิทย์ โดย สวทช.
- ↑ "Blackchin Tilapia (Sarotherodon melanotheron) Ecological Risk Screening Summary" (PDF). U.S. Fish and Wildlife Service. 1 October 2012. สืบค้นเมื่อ 9 February 2019.
- ↑ "Blackchin Tilapia (Sarotherodon melanotheron) Ecological Risk Screening Summary" (PDF). U.S. Fish and Wildlife Service. 1 October 2012. สืบค้นเมื่อ 9 February 2019.
- ↑ Masterson, J. (30 April 2007). "Sarotherodon melanotheron". Smithsonian Marine Station at Fort Pierce. Smithsonian Marine Station. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-10-18. สืบค้นเมื่อ 29 January 2015.
- ↑ "พบปลาหมอสีคางดำที่แพร่ระบาดหนัก ถูกนำเข้าเพื่อปรับปรุงสายพันธุ์". Thai PBS. 2017-07-11. สืบค้นเมื่อ 2017-07-18.
- ↑ Sotelo, Yolanda (2013-07-06). "'Gloria' an abomination in Bataan fishponds". INQUIRER.net (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2020-09-19.
- ↑ Eyeson, K. N. (July 1992). "Residual biparental oral-brooding in the blackchin fish, Sarotherodon melanotheron Ruppell". Journal of Fish Biology (ภาษาอังกฤษ). 41 (1): 145–146. doi:10.1111/j.1095-8649.1992.tb03177.x. ISSN 0022-1112.
- ↑ "Blackchin Tilapia (Sarotherodon melanotheron) Ecological Risk Screening Summary" (PDF). U.S. Fish and Wildlife Service. 1 October 2012. สืบค้นเมื่อ 9 February 2019.
- ↑ "มุมการเมือง". Thai PBS. 2023-11-17. สืบค้นเมื่อ 2023-11-17.
- ↑ "Govt seeks source of alien fish influx in 16 Thai provinces". Bangkok Post. 21 July 2024. สืบค้นเมื่อ 25 July 2024.
- ↑ Wancharoen, Supoj (2024-07-13). "More 'alien' fish found in Bangkok". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 2024-07-16.
- ↑ "พบ 'หมอคางดำ' ระบาดเต็มคลองใกล้หาดระยอง 'ประมง' จ่อแก้ปัญหาด้วย 'กะพงขาว'". Daily News. 2024-07-12. สืบค้นเมื่อ 2024-07-16.
- ↑ "เตือนภัย!ปลาหมอคางดำห่วงทำลายพันธุ์สัตว์น้ำเลสาบ". SongkhlaFocus. 2024-07-01. สืบค้นเมื่อ 2024-07-16.
- ↑ Lalèyè, P. (2010). "Sarotherodon melanotheron ssp. leonensis". IUCN Red List of Threatened Species. 2010: e.T183111A8037523. สืบค้นเมื่อ 9 February 2019.