ปลานิล (สกุล)
ปลานิล | |
---|---|
ปลาในสกุล Oreochromis ไม่ทราบชนิด (Oreochromis sp.) | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Actinopterygii |
อันดับ: | Perciformes |
วงศ์: | Cichlidae |
วงศ์ย่อย: | Pseudocrenilabrinae |
เผ่า: | Tilapiini |
สกุล: | Oreochromis Günther, 1889 |
ชนิดต้นแบบ | |
Oreochromis hunteri Günther, 1889 | |
ชนิด | |
|
ปลานิล (อังกฤษ: Tilapia) เป็นชื่อสกุลของปลาน้ำจืดในวงศ์ปลาหมอสี (Cichilidae) พบกระจายพันธุ์ในทวีปแอฟริกาจนถึงภูมิภาคตะวันออกกลาง ใช้ชื่อสกุลว่า Oreochromis (/ออ-เร-โอ-โคร-มิส/)
โดยที่มาของสกุลนี้ อัลเบิร์ต กึนเธอร์ นักสัตววิทยาชาวเยอรมันได้ตั้งสกุลนี้ขึ้นในปี ค.ศ. 1889 โดยมีลักษณะทางอนุกรมวิธานของสกุลนี้โดยย่อ คือ มีลำตัวป้อมสั้นและแบนข้าง เกล็ดเป็นแบบบางเรียบ มีเส้นข้างลำตัวที่ไม่สมบูรณ์ 2 เส้น มีฟัน 2 หรือหลายแถวที่ขากรรไกรบนและล่าง รูปร่างของฟันแตกต่างกันไปตามแต่ละชนิด ครีบหลังมีก้านครีบเดี่ยวที่เป็นซี่แข็งปลายแหลม จำนวน 14-17 ก้าน ครีบก้นมีก้านครีบเดี่ยวที่เป็นซี่แข็งปลายแหลมจำนวน 3 ก้าน คอดหางมีความกว้างและความยาวใกล้เคียงกัน มีกระดูกสันหลัง 29-32 ข้อ
ต่อมาในปี ค.ศ. 1915 จอร์จ อัลเบิร์ต บุนเลเยอร์ นักสัตววิทยาและนักอนุกรมวิธานชาวเบลเยี่ยมได้ตั้งสกุล Tilapia ขึ้น และได้รวมปลาหลายสกุลในวงศ์นี้เข้ามาอยู่ในสกุลนี้ รวมทั้งสกุลปลานิลนี้ด้วย ซึ่งทำให้ครั้งหนึ่งปลาที่อยู่ในสกุลนี้ใช้ได้ชื่อชื่อสกุลว่า Tilapia นำหน้าชื่อชนิดกัน และกลายเป็นชื่อพ้องในเวลาต่อมา
ต่อมาในปี ค.ศ. 1983 อีเทลเวนน์ เทรวาวาส นักมีนวิทยาชาวอังกฤษได้ศึกษาลักษณะของปลาในสกุล Tilapia เห็นว่าสกุลปลานิลที่กึนเธอร์ตั้งขึ้นมานั้น มีลักษณะทางอนุกรมวิธานที่มีข้อจำกัดเฉพาะและเหมาะสมมากกว่า จึงได้ให้ใช้ชื่อสกุลนี้ตราบมาจนปัจจุบัน โดยปรากฏเป็นผลงานในหนังสือชื่อ Tilapia fishes of the genera Sarotherodon, Oreochromis and Danakilia[1]
โดยปัจจุบันพบปลาที่อยู่ในสกุลปลานิลนี้มากกว่า 30 ชนิด มีชนิดที่สำคัญ ๆ ได้แก่ ปลานิล (Oreochromis miloticus), ปลาหมอเทศ (O. mossambicus), ปลาหมอเทศข้างลาย (O. aureus) เป็นต้น ซึ่งเป็นปลาเศรษฐกิจที่สำคัญของทวีปแอฟริกาและในอีกหลายภูมิภาคทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย
อ้างอิง
[แก้]- ↑ สมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์. สาระน่ารู้ ปลาน้ำจืดไทย เล่ม ๒. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2547. 257 หน้า. หน้า 160. ISBN 974-00-8738-8
ดูเพิ่ม
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Oreochromis ที่วิกิสปีชีส์