ปลากระทิงไฟ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปลากระทิงไฟ
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Synbranchiformes
วงศ์: Mastacembelidae
สกุล: Mastacembelus
สปีชีส์: M.  erythrotaenia
ชื่อทวินาม
Mastacembelus erythrotaenia
(Bleeker, 1850)
ชื่อพ้อง
  • Macrognathus erythrotaenia (Bleeker, 1850)
  • Mastacembelus argus Günther, 1861

ปลากระทิงไฟ (อังกฤษ: Fire spiny eel) ปลาน้ำจืดพื้นเมืองของไทยชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mastacembelus erythrotaenia อยู่ในวงศ์ปลากระทิง (Mastacembelidae) มีรูปร่างเหมือนปลาในวงศ์นี้ทั่วไป กล่าวคือ รูปร่างยาวคล้ายงูหรือปลาไหล แต่ท้ายลำตัวส่วนที่อยู่ค่อนไปทางหางจะมีลักษณะแบนข้าง และส่วนหัวหรือปลายปากจะยื่นยาวและแหลม จะงอยปากล่างจะยื่นยาวกว่าจะงอยปากบน ตามีขนาดเล็ก ครีบหลัง ครีบทวาร และหางจะเชื่อมต่อติดกันเป็นครีบเดียว โดยครีบหลังตอนหน้าจะมีขนาดเล็กมากและลักษณะเป็นหยักคล้ายกับฟันเลื่อย หากไม่สังเกตจะมองไม่เห็น โดยปลายหางมีลักษณะมนโค้ง ปลายค่อนข้างแหลม ไม่มีหนามใต้ตาเช่นปลากระทิงชนิดอื่น ๆ มีหนามแหลมขนาดเล็กตลอดทั้งความยาวลำตัวช่วงบนไว้เพื่อป้องกันตัว ปลากระทิงไฟจะมีรูปร่างป้อมแต่มีขนาดยาวกว่าปลากระทิง (M. armatus) ซึ่งเป็นปลาที่อยู่ในสกุลเดียวกัน

มีขนาดเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 60 เซนติเมตร พบใหญ่ที่สุดถึง 1 เมตร พบได้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทุกประเทศจนถึงอินโดนีเซีย สำหรับในประเทศไทยพบได้ในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ในภาคกลางและภาคใต้

ปลากระทิงไฟ มีลักษณะเด่นคือ เป็นปลาที่มีสีสันและลวดลายสวยงามมาก อันเป็นที่มาของชื่อ โดยพื้นลำตัวมีสีน้ำตาลเข้มจนถึงดำสนิทและประแต้มด้วยแถบสีแดงสดเป็นเส้นๆ และเป็นจุด ๆ ลักษณะคล้ายกับเส้นประ โดยลายนี้จะคาดตามความยาวจากหัวจรดหางหัวค่อนข้างแหลม ซึ่งสีของครีบจะกลมกลืนกับสีพื้นลำตัวและบริเวณขอบครีบด้านนอกเป็นสีแดงหรือสีส้ม บริเวณแนวโคนครีบมีจุดกลมสีแดงประแต้มตลอดแนวซึ่งจุดและลายแถบสีแดงเหล่านี้ขณะที่ปลายังเล็กจะเป็นสีน้ำตาลอมส้มหรือเหลือง เมื่อปลาโตขึ้นจุดและแถบลายเหล่านี้สีก็จะเข้มขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นสีแดงหรือสีแดงอมส้มในที่สุด แต่ปลาส่วนใหญ่สีแดงสดจะเข้มจัดเฉพาะบริเวณลำตัวส่วนที่อยู่ค่อนไปทางหัว ส่วนลาย ที่อยู่ค่อนไปทางหางโดยมากจะเป็นสีแดงส้มหรือสีน้ำตาลส้ม พบน้อยตัวมากที่มีลายสีแดงเพลิงทั้งตัว

สำหรับลวดลายและสีสันทั้งหมดนี้ ยังแตกต่างกันออกไปตามแต่ละท้องที่ สำหรับปลาที่พบในพื้นที่ภาคใต้จะมีลวดลายและสีสันแตกต่างออกไป ซึ่งภาษาใต้จะเรียกปลาชนิดนี้ว่า "กระทิงลายดอก" หรือ "กระทิงลายดอกไม้"

มีพฤติกรรมหากินในเวลากลางคืน โดยมักชอบหลบอยู่ใต้ซากไม้ใต้น้ำเพื่อรออาหาร ซึ่งได้แก่ ปลาขนาดเล็กและสัตว์น้ำขนาดเล็กทั่วไป

จากสีสันที่สวยงาม จึงนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม แต่สำหรับสถานะในธรรมชาติ มีแนวโน้มว่าใกล้สูญพันธุ์เนื่องจากถูกจับจากธรรมชาติมากเกินไป

อ้างอิง[แก้]

  1. Vidthayanon, C. (2012). "Mastacembelus erythrotaenia". The IUCN Red List of Threatened Species. IUCN. 2012: e.T180888A1673971. doi:10.2305/IUCN.UK.2012-1.RLTS.T180888A1673971.en. สืบค้นเมื่อ 14 January 2018.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]