ประเทศพม่า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า

ပြည်ထောင်စု သမ္မတ မြန်မာနိုင်ငံတော် (พม่า)
เพลงชาติ
ที่ตั้งของ ประเทศพม่า  (สีเขียว) ในอาเซียน  (สีเทาเข้ม)  —  [คำอธิบายสัญลักษณ์]
ที่ตั้งของ ประเทศพม่า  (สีเขียว)

ในอาเซียน  (สีเทาเข้ม)  —  [คำอธิบายสัญลักษณ์]

เมืองหลวงเนปยีดอ
19°45′N 96°6′E / 19.750°N 96.100°E / 19.750; 96.100
เมืองใหญ่สุดย่างกุ้ง
ภาษาราชการภาษาพม่า
อักษรราชการอักษรพม่า
กลุ่มชาติพันธุ์
([1])
ศาสนา
พุทธ 87.9%
คริสต์ 6.2%
อิสลาม 4.3%
อื่นๆ 1.6%[2]
เดมะนิมชาวพม่า
การปกครองรัฐเดี่ยว ระบบรัฐสภา สาธารณรัฐ
วี่น-มหยิ่น
อองซานซูจี
มหยิ่นซเว
เฮนรี บาน ทียู
สภานิติบัญญัติรัฐสภาแห่งสหภาพ
สภาแห่งชาติ
สภาผู้แทนราษฎรพม่า
ประวัติศาสตร์
23 ธันวาคม 1392
16 ตุลาคม 2053
29 กุมภาพันธ์ 2295
29 กุมภาพันธ์ 2295
4 มกราคม 2491
• รัฐธรรมนูญฉบับใหม่
30 มีนาคม 2554
พื้นที่
• รวม
676,578 ตารางกิโลเมตร (261,228 ตารางไมล์) (39)
3.06
ประชากร
• สำมะโนประชากร 2560
53,582,855[3] (25)
76 ต่อตารางกิโลเมตร (196.8 ต่อตารางไมล์) (125)
จีดีพี (อำนาจซื้อ) 2560 (ประมาณ)
• รวม
$334.856 พันล้าน[4] (53)
$6,139[4] (126)
จีดีพี (ราคาตลาด) 2560 (ประมาณ)
• รวม
$69,322 พันล้าน[4] (70)
$1,299[4] (152)
เอชดีไอ (2560)เพิ่มขึ้น 0.578[5]
ปานกลาง · 145
สกุลเงินจัต (K) (MMK)
เขตเวลาUTC+06:30 (MMT)
ขับรถด้านขวามือ
รหัสโทรศัพท์+95
รหัส ISO 3166MM
โดเมนบนสุด.mm

พม่า[6] หรือ เมียนมา[7] (พม่า: မြန်မာ, [mjəmà], มฺยะหฺม่า) มีชื่อทางการว่า สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า หรือ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (พม่า: ပြည်ထောင်စု သမ္မတ မြန်မာနိုင်ငံတော်, [pjìdàuɴzṵ θàɴməda̯ mjəmà nàiɴŋàɴdɔ̀] ปหฺยี่เด่าง์ซุ ตัมมะดะ มฺยะหฺม่า ไหฺน่หฺงั่นด่อ) เป็นรัฐเอกราชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพรมแดนติดกับอินเดีย บังกลาเทศ จีน ลาว และไทย หนึ่งในสามของพรมแดนพม่าที่มีความยาว 1,930 กิโลเมตรเป็นแนวชายฝั่งตามอ่าวเบงกอลและทะเลอันดามัน ด้วยพื้นที่ 676,578 ตารางกิโลเมตร ประเทศพม่าเป็นประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 40 ของโลก และใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำมะโนของประเทศในปี 2557 เผยว่าประเทศพม่ามีประชากรน้อยกว่าที่คาดการณ์ โดยมีบันทึกประชากร 51 ล้านคน มีเมืองหลวง คือ กรุงเนปยีดอ และนครใหญ่สุด คือ ย่างกุ้ง[1]

อารยธรรมช่วงต้นของประเทศพม่ามีนครรัฐปยูที่พูดภาษาตระกูลทิเบต-พม่าในพม่าตอนบน และราชอาณาจักรมอญในพม่าตอนล่าง ในคริสต์ศตวรรษที่ 9 ชาวพม่าได้เข้าครอบครองบริเวณลุ่มแม่น้ำอิรวดีตอนบน และสถาปนาราชอาณาจักรพุกามในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1050 ภาษาและวัฒนธรรมพม่าพร้อมด้วยศาสนาพุทธนิกายเถรวาทค่อย ๆ ครอบงำในประเทศ อาณาจักรพุกามล่มสลายเพราะการบุกครองของมองโกลและรัฐหลายรัฐกำเนิดขึ้น ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ราชวงศ์ตองอูสร้างเอกภาพอีกครั้ง และช่วงสั้น ๆ เป็นจักรวรรรดิใหญ่สุดในประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้[8] ต้นศตวรรษที่ 19 ราชวงศ์โก้นบองได้ปกครองพื้นที่ประเทศพม่าและควบคุมมณีปุระและอัสสัมในช่วงสั้น ๆ ด้วย บริติชพิชิตพม่าหลังสงครามอังกฤษ-พม่าทั้งสามครั้งในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และประเทศกลายเป็นอาณานิคมบริติช ประเทศพม่าได้รับเอกราชใน ค.ศ. 1948 ช่วงต้นปกครองแบบชาติประชาธิปไตย และหลังรัฐประหารใน ค.ศ. 1962 เป็นการปกครองแบบเผด็จการทหาร แม้เผด็จการทหารสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการใน ค.ศ. 2011 แต่ผู้นำพรรคการเมืองส่วนใหญ่ยังเป็นอดีตนายทหาร

ประเทศพม่าอยู่ภายใต้การต่อสู้ชาติพันธุ์ที่รุนแรง กลุ่มชาติพันธุ์มากมายของพม่าเกี่ยวข้องกับสงครามกลางเมืองที่ดำเนินอยู่ยาวที่สุดสงครามหนึ่งของโลก ระหว่างช่วงนี้ สหประชาชาติและอีกหลายองค์การรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องภายในประเทศ[9][10][11] ใน ค.ศ. 2011 มีการยุบคณะทหารผู้ยึดอำนาจการปกครองอย่างเป็นทางการหลังการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. 2010 และมีการตั้งรัฐบาลในนามพลเรือน แต่อดีตผู้นำทหารยังมีอำนาจภายในประเทศ กองทัพพม่าดำเนินการสละการควบคุมรัฐบาล ร่วมถึงการปล่อยตัวอองซานซูจีและนักโทษทางการเมือง มีการปรับปรุงสิทธิมนุษยชนและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จนนำไปสู่การผ่อนปรนการลงโทษทางการค้าและเศรษฐกิจอื่น ๆ[12][13] ทว่ายังมีการวิจารณ์การปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยโรฮีนจาของรัฐบาลและการสนองต่อการปะทะกันทางศาสนา[14][15][16]

ประเทศพม่าอุดมด้วยหยก อัญมณี น้ำมัน แก๊สธรรมชาติและทรัพยากรแร่อื่น ๆ ใน ค.ศ. 2013 จีดีพี (ราคาตลาด) อยู่ที่ 56,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจีดีพี (อำนาจซื้อ) อยู่ที่ 221,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[4] ช่องว่างรายได้ของประเทศพม่ากว้างที่สุดประเทศหนึ่งในโลก เพราะเศรษฐกิจสัดส่วนใหญ่ถูกผู้สนับสนุนอดีตรัฐบาลทหารควบคุม[17][18] ใน ค.ศ. 2014 จากดัชนีการพัฒนามนุษย์ (HDI) ประเทศพม่ามีระดับการพัฒนามนุษย์ต่ำ โดยจัดอยู่อันดับที่ 148 จาก 188 ประเทศ[5]

ประวัติศาสตร์

ประวัติศาสตร์ของพม่านั้นมีความยาวนานและซับซ้อน มีประชาชนหลายเผ่าพันธุ์เคยอาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้ เผ่าพันธุ์เก่าแก่ที่สุดที่ปรากฏได้แก่ชาวมอญ ต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ 13 ชาวพม่าได้อพยพลงมาจากบริเวณพรมแดนระหว่างจีนและทิเบต เข้าสู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำอิรวดี และได้กลายเป็นชนเผ่าส่วนใหญ่ที่ปกครองประเทศในเวลาต่อมา ความซับซ้อนของประวัติศาสตร์พม่ามิได้เกิดขึ้นจากกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในดินแดนพม่าเท่านั้น แต่เกิดจากความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านอันได้แก่ จีน อินเดีย บังกลาเทศ ลาว และไทย

มอญ

มนุษย์ได้เข้ามาอาศัยอยู่ในดินแดนของประเทศพม่าเมื่อราว 11,000 ปีมาแล้ว แต่กลุ่มชนแรกที่สามารถสร้างอารยธรรมเป็นเอกลักษณ์ของตนได้ในดินแดนพม่าก็คือชาวมอญ ชาวมอญได้อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้เมื่อราว 2,400 ปีก่อนพุทธกาล และได้สถาปนาอาณาจักรสุธรรมวดี อันเป็นอาณาจักรแห่งแรกขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 2 ณ บริเวณใกล้เมืองท่าตอน (Thaton) ชาวมอญได้รับอิทธิพลของศาสนาพุทธผ่านทางอินเดียในราวพุทธศตวรรษที่ 2 ซึ่งเชื่อว่ามาจากการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช บันทึกของชาวมอญส่วนใหญ่ถูกทำลายในระหว่างสงคราม วัฒนธรรมของชาวมอญเกิดขึ้นจากการผสมเอาวัฒนธรรมจากอินเดียเข้ากับวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของตนเองจนกลายเป็นวัฒนธรรมลักษณะลูกผสม ในราวพุทธศตวรรษที่ 14 ชาวมอญได้เข้าครอบครองและมีอิทธิพลในดินแดนตอนใต้ของพม่า

ปยู

ชาวปยูเข้ามาอาศัยอยู่ในดินแดนประเทศพม่าตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 4 และได้สถาปนานครรัฐขึ้นหลายแห่ง เช่นที่ พินนาคา (Binnaka) มองกะโม้ (Mongamo) อาณาจักรศรีเกษตร (Sri Ksetra) เปียทะโนมโย (Peikthanomyo) และฮะลีนจี (Halingyi) ในช่วงเวลาดังกล่าว ดินแดนพม่าเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้าระหว่างจีนกับอินเดีย จากเอกสารของจีนพบว่า มีเมืองอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของชาวปยู 18 เมือง และชาวปยูเป็นชนเผ่าที่รักสงบ ไม่ปรากฏว่ามีสงครามเกิดขึ้นระหว่างชนเผ่าปยู ข้อขัดแย้งมักยุติด้วยการคัดเลือกตัวแทนให้เข้าประลองความสามารถกัน ชาวปยูสวมใส่เครื่องแต่งกายที่ทำจากฝ้าย อาชญากรมักถูกลงโทษด้วยการโบยหรือจำขัง เว้นแต่ได้กระทำความผิดอันร้ายแรงจึงต้องโทษประหารชีวิต ชาวปยูนับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท เด็ก ๆ ได้รับการศึกษาที่วัดตั้งแต่อายุ 7 ขวบจนถึง 20 ปี

นครรัฐของชาวปยูไม่เคยรวมตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่นครรัฐขนาดใหญ่มักมีอิทธิพลเหนือนครรัฐขนาดเล็กซึ่งแสดงออกโดยการส่งเครื่องบรรณาการให้ นครรัฐที่มีอิทธิพลมากที่สุดได้แก่ศรีเกษตร ซึ่งมีหลักฐานเชื่อได้ว่า เป็นเมืองโบราณที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศพม่า ไม่ปรากฏหลักฐานว่าอาณาจักรศรีเกษตรถูกสถาปนาขึ้นเมื่อใด แต่มีการกล่าวถึงในพงศาวดารว่ามีการเปลี่ยนราชวงศ์เกิดขึ้นในปีพุทธศักราช 637 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอาณาจักรศรีเกษตรต้องได้รับการสถาปนาขึ้นก่อนหน้านั้น มีความชัดเจนว่า อาณาจักรศรีเกษตรถูกละทิ้งไปในปีพุทธศักราช 1199 เพื่ออพยพย้ายขึ้นไปสถาปนาเมืองหลวงใหม่ทางตอนเหนือ แต่ยังไม่ทราบอย่างแน่ชัดว่าเมืองดังกล่าวคือเมืองใด นักประวัติศาสตร์บางท่านเชื่อว่าเมืองดังกล่าวคือเมืองฮะลีนจี อย่างไรก็ตามเมืองดังกล่าวถูกรุกรานจากอาณาจักรน่านเจ้าในราวพุทธศตวรรษที่ 15 จากนั้นก็ไม่ปรากฏหลักฐานกล่าวถึงชาวปยูอีก

อาณาจักรพุกาม

แผนที่ทวีปเอเชียใน พ.ศ. 1743 แสดงถึงขอบเขตอาณาจักรต่าง ๆ (พุกามอยู่ใกล้กับเลขที่ 34 ทางขวา)

ชาวพม่าเป็นชนเผ่าจากทางตอนเหนือที่ค่อย ๆ อพยพแทรกซึมเข้ามาสั่งสมอิทธิพลในดินแดนประเทศพม่าทีละน้อย กระทั่งปีพุทธศักราช 1392 จึงมีหลักฐานถึงอาณาจักรอันทรงอำนาจซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เมือง "พุกาม" (Pagan) โดยได้เข้ามาแทนที่ภาวะสุญญากาศทางอำนาจภายหลังจากการเสื่อมสลายไปของอาณาจักรชาวปยู อาณาจักรของชาวพุกามแต่แรกนั้นมิได้เติบโตขึ้นอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กระทั่งในรัชสมัยของพระเจ้าอโนรธา (พ.ศ. 1587–1620) พระองค์จึงสามารถรวบรวมแผ่นดินพม่าให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันสำเร็จ และเมื่อพระองค์ทรงตีเมืองท่าตอนของชาวมอญได้ในปีพุทธศักราช 1600 อาณาจักรพุกามก็กลายเป็นอาณาจักรที่เข้มแข็งที่สุดในดินแดนพม่า อาณาจักรพุกามมีความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าจานสิตา (พ.ศ. 1624–1655) และพระเจ้าอลองสิธู (พ.ศ. 1655–1710) ทำให้ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 17 ดินแดนในคาบสมุทรสุวรรณภูมิเกือบทั้งหมดถูกครอบครองโดยอาณาจักรเพียงสองแห่ง คืออาณาจักรเขมรและอาณาจักรพุกาม

อำนาจของอาณาจักรพุกามค่อย ๆ เสื่อมลง ด้วยเหตุผลหลักสองประการ ส่วนหนึ่งจากการถูกเข้าครอบงำโดยของคณะสงฆ์ผู้มีอำนาจ และอีกส่วนหนึ่งจากการรุกรานของจักรวรรดิมองโกลที่เข้ามาทางตอนเหนือ พระเจ้านรสีหบดี (ครองราชย์ พ.ศ. 1779–1830) ได้ทรงนำทัพสู่ยุนนานเพื่อยับยั้งการขยายอำนาจของมองโกล แต่เมื่อพระองค์แพ้สงครามที่งาซองจาน (Ngasaunggyan) ในปีพุทธศักราช 1820 ทัพของอาณาจักรพุกามก็ระส่ำระสายเกือบทั้งหมด พระเจ้านรสีหบดีถูกพระราชโอรสปลงพระชนม์ในปีพุทธศักราช 1830 กลายเป็นตัวเร่งที่ทำให้อาณาจักรมองโกลตัดสินใจรุกรานอาณาจักรพุกามในปีเดียวกันนั้น ภายหลังสงครามครั้งนี้ อาณาจักรมองโกลก็สามารถเข้าครอบครองดินแดนของอาณาจักรพุกามได้ทั้งหมด ราชวงศ์พุกามสิ้นสุดลงเมื่อมองโกลได้แต่งตั้งรัฐบาลหุ่นขึ้นบริหารดินแดนพม่าในปีพุทธศักราช 1832

อังวะและหงสาวดี

หลังจากการล่มสลายของอาณาจักรพุกาม พม่าได้แตกแยกออกจากกันอีกครั้ง ราชวงศ์อังวะซึ่งได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากอาณาจักรพุกามได้ถูกสถาปนาขึ้นที่เมืองอังวะในปีพุทธศักราช 1907 ศิลปะและวรรณกรรมของพุกามได้ถูกฟื้นฟูจนยุคนี้กลายเป็นยุคทองแห่งวรรณกรรมของพม่า แต่เนื่องด้วยอาณาเขตที่ยากต่อป้องกันการรุกรานจากศัตรู เมืองอังวะจึงถูกชาวไทใหญ่เข้าครอบครองได้ในปีพุทธศักราช 2070

สำหรับดินแดนทางใต้ ชาวมอญได้สถาปนาอาณาจักรของพวกตนขึ้นใหม่อีกครั้งที่หงสาวดี โดยมะกะโทหรือพระเจ้าฟ้ารั่ว เป็นจุดเริ่มต้นยุคทองของมอญ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนานิกายเถรวาทและศูนย์กลางทางการค้าขนาดใหญ่ในเวลาต่อมา

ราชวงศ์ตองอู

อาณาเขตของราชวงศ์ตองอู สมัยพระเจ้าบุเรงนอง (สีเขียว)
พระเจ้าบุเรงนอง "พระมหากษัตริย์พม่าจากราชวงศ์ตองอู"

พระเจ้าเมงจีโย ได้รวบรวมชาวพม่าที่หลงเหลืออยู่อย่างกระจัดกระจาย โดยสถาปนาเมืองตองอูขึ้นเป็นราชธานี เมืองตองอูเข้มแข็งขึ้นมาในรัชสมัยของ พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ พระโอรสของพระองค์ (ครองราชย์ พ.ศ. 2074–2093) และได้แผ่อาณาเขตของอาณาจักรขยายไปรอบด้าน เช่น แปร, พะสิม อังวะ, ยะไข่ และที่สำคัญที่สุดคือ หงสาวดี อันเป็นอาณาจักรเดิมของชาวมอญ

ในช่วงระยะเวลานี้ ได้มีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่เกิดขึ้นในภูมิภาค ชาวไทใหญ่มีกำลังเข้มแข็งเป็นอย่างมากทางตอนเหนือ การเมืองภายในอาณาจักรอยุธยาเกิดความไม่มั่นคง ในขณะที่โปรตุเกสได้เริ่มมีอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสามารถเข้าครอบครองมะละกาได้ การเข้ามาของบรรดาพ่อค้าชาวยุโรป ทำให้พม่ากลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง การที่พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ได้ตีและย้ายเมืองหลวงจากตองอูมาอยู่ที่เมืองหงสาวดีซึ่งเป็นเมืองของชาวมอญ เหตุผลส่วนหนึ่งก็เนื่องด้วยทำเลทางการค้าและการกดให้ชาวมอญอยู่ภายใต้อำนาจ พระเจ้าบุเรงนอง (ครองราชย์ พ.ศ. 2094–2124) ซึ่งเป็นพระเทวัน (พี่เขย) ของพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ ได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อมาและสามารถเข้าครอบครองอาณาจักรต่าง ๆ รายรอบได้ อาทิ มณีปุระ (พ.ศ. 2103) อยุธยา (พ.ศ. 2112) ในรัชสมัยของพระองค์พม่ามีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลที่สุด อย่างไรก็ตาม ทั้งมณีปุระและอยุธยา ต่างก็ประกาศตนเป็นอิสระภายในเวลาต่อมาไม่นาน

เมื่อต้องเผชิญกับการก่อกบฏจากเมืองขึ้นหลายแห่ง ประกอบกับการรุกรานของโปรตุเกส กษัตริย์แห่งราชวงศ์ตองอูจำเป็นต้องถอนตัวจากการครอบครองดินแดนทางตอนใต้ โดยย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่เมืองอังวะ พระเจ้าอโนเพตลุน พระนัดดาของพระเจ้าบุเรงนอง สามารถรวบรวมแผ่นดินพม่าให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอีกครั้งในพุทธศักราช 2156 พระองค์ตัดสินใจที่จะใช้กำลังเข้าต่อต้านการรุกรานของโปรตุเกส พระเจ้าทาลุน ผู้สืบทอดราชบัลลังก์ ได้ฟื้นฟูหลักธรรมศาสตร์ของอาณาจักรพุกามเก่า แต่พระองค์ทรงใช้เวลากับเรื่องศาสนามากเกินไป จนละเลยที่จะใส่ใจต่ออาณาเขตทางตอนใต้ ท้ายที่สุด หงสาวดี ที่ได้รับการสนับสนุนจากฝรั่งเศสซึ่งตั้งมั่นอยู่ในอินเดีย ก็ได้ทำการประกาศเอกราชจากอังวะ จากนั้นอาณาจักรของชาวพม่าก็ค่อย ๆ อ่อนแอลงและล่มสลายไปในปีพุทธศักราช 2295 จากการรุกรานของชาวมอญ

ราชวงศ์โก้นบอง

ราชวงศ์โก้นบอง หรือ ราชวงศ์อลองพญา ได้รับการสถาปนาขึ้นและสร้างความเข้มแข็งจนถึงขีดสุดได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว พระเจ้าอลองพญาซึ่งเป็นผู้นำที่ได้รับความนิยมจากชาวพม่า ได้ขับไล่ชาวมอญที่เข้ามาครอบครองดินแดนของชาวพม่าได้ในปี พ.ศ. 2296 จากนั้นก็สามารถเข้ายึดครองอาณาจักรมอญทางใต้ได้ในปี พ.ศ. 2302 ทั้งยังสามารถกลับเข้ายึดครองกรุงมณีปุระได้ในช่วงเวลาเดียวกัน หลังจากเข้ายึดครองตะนาวศรีพระองค์ได้ยาตราทัพเข้ารุกรานอยุธยา แต่ต้องประสบความล้มเหลวเมื่อพระองค์สวรรคตระหว่างการสู้รบ พระเจ้ามังระ (ครองราชย์ พ.ศ. 2306 – 2319) พระราชโอรส ได้โปรดให้ส่งทัพเข้ารุกรานอาณาจักรอยุธยาอีกครั้งในปี พ.ศ. 2309 ซึ่งประสบความสำเร็จในปีถัดมา ในรัชสมัยนี้แม้จีนจะพยายามขยายอำนาจเข้าสู่ดินแดนพม่า แต่พระองค์ก็สามารถยับยั้งการรุกรานจากจีนได้ทั้งสี่ครั้ง (ช่วงปี พ.ศ. 2309–2312) ทำให้ความพยายามในการขยายพรมแดนของจีนทางด้านนี้ต้องยุติลง ในรัชสมัยของพระเจ้าปดุง (ครองราชย์ พ.ศ. 2324–2362) พระโอรสอีกพระองค์หนึ่งของพระเจ้าอลองพญา พม่าต้องสูญเสียอำนาจที่มีเหนืออยุธยาไป แต่ก็สามารถผนวกดินแดนยะไข่ และตะนาวศรีเข้ามาไว้ได้ในปี พ.ศ. 2327 และ 2336 ตามลำดับ ในช่วงเดือนมกราคมของปี พ.ศ. 2366 ซึ่งอยู่ในรัชสมัยของพระเจ้าจักกายแมง (ครองราชย์ พ.ศ. 2362–2383) ขุนนางชื่อมหาพันธุละ นำทัพเข้ารุกรานแคว้นมณีปุระและอัสสัมได้สำเร็จ ทำให้พม่าต้องเผชิญหน้าโดยตรงกับอังกฤษที่ครอบครองอินเดียอยู่ในขณะนั้น

สงครามกับอังกฤษและการล่มสลายของราชอาณาจักร

ไฟล์:Supayalat.jpg
พระเจ้าธีบอ และพระนางศุภยาลัต
ภาพเจดีย์ชเวดากอง วาดโดยศิลปินชาวอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ. 2368

สืบเนื่องจากการพยายามขยายอำนาจของอังกฤษ กองทัพอังกฤษได้เข้าทำสงครามกับพม่าในปี พ.ศ. 2367 สงครามระหว่างพม่าและอังกฤษครั้งที่หนึ่ง (พ.ศ. 2367–2369) ยุติลงโดยอังกฤษเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ ฝ่ายพม่าจำต้องทำสนธิสัญญายันดาโบกับอังกฤษ ทำให้พม่าต้องสูญเสียดินแดนอัสสัม, มณีปุระ, ยะไข่ และตะนาวศรีไป ซึ่งอังกฤษก็เริ่มต้นตักตวงทรัพยากรต่าง ๆ ของพม่านับแต่นั้นเพื่อเป็นหลักประกันสำหรับวัตถุดิบที่จะป้อนสู่สิงคโปร์ สร้างความแค้นเคืองให้กับทางพม่าเป็นอย่างมาก กษัตริย์องค์ต่อมาจึงทรงยกเลิกสนธิสัญญายันดาโบ และทำการโจมตีผลประโยชน์ของฝ่ายอังกฤษทั้งต่อบุคคลและเรือ เป็นต้นเหตุให้เกิดสงครามระหว่างพม่าและอังกฤษครั้งที่สอง ซึ่งก็จบลงโดยชัยชนะเป็นของอังกฤษอีกครั้ง หลังสิ้นสุดสงครามครั้งนี้อังกฤษได้ผนวกดินแดนทางใต้เข้าไว้กับตน โดยเรียกดินแดนดังกล่าวใหม่ว่าพม่าตอนล่าง สงครามครั้งนี้ก่อให้เกิดการปฏิวัติครั้งใหญ่ในพม่า เริ่มต้นด้วยการเข้ายึดอำนาจโดยพระเจ้ามินดง (ครองราชย์ พ.ศ. 2396–2421) จากพระเจ้าพุกามแมง (ครองราชย์ พ.ศ. 2389–2396) ซึ่งเป็นพระเชษฐาต่างพระชนนี พระเจ้ามินดงพยายามพัฒนาประเทศพม่าเพื่อต่อต้านการรุกรานของอังกฤษ พระองค์ได้สถาปนามัณฑะเลย์ ซึ่งยากต่อการรุกรานจากภายนอกขึ้นเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะหยุดยั้งการรุกรานจากอังกฤษได้

รัชสมัยต่อมา พระเจ้าธีบอ (ครองราชย์ พ.ศ. 2421–2428) ซึ่งเป็นพระโอรสของพระเจ้ามินดง ทรงมีบารมีไม่พอที่จะควบคุมราชอาณาจักรได้ จึงทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นไปทั่วในบริเวณชายแดน ในที่สุดพระองค์ได้ตัดสินพระทัยยกเลิกสนธิสัญญากับอังกฤษที่พระเจ้ามินดงได้ทรงกระทำไว้ และได้ประกาศสงครามกับอังกฤษเป็นครั้งที่สามในปี พ.ศ. 2428 ผลของสงครามครั้งนี้ทำให้อังกฤษสามารถเข้าครอบครองดินแดนประเทศพม่าส่วนที่เหลือเอาไว้ได้ทั้งหมด

เอกราช

พม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษในปี พ.ศ. 2429 และระยะก่อนการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เล็กน้อย ญี่ปุ่นได้เข้ามามีบทบาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้ติดต่อกับพวกทะขิ่น ซึ่งเป็นองค์กรของนักชาตินิยมในพม่า มีออง ซาน ผู้นำของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยย่างกุ้งเป็นหัวหน้า พวกทะขิ่นเข้าใจว่าญี่ปุ่นจะสนับสนุนการประกาศอิสรภาพของพม่าจากอังกฤษ แต่เมื่อญี่ปุ่นยึดครองพม่าได้แล้วกลับพยายามหน่วงเหนี่ยวมิให้พม่าประกาศเอกราช และได้ส่งอองซานและพวกทะขิ่นประมาณ 30 คน เดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อรับคำแนะนำในการดำเนินการเพื่อเรียกร้องอิสรภาพจากอังกฤษ

เมื่อคณะของอองซานได้เดินทางกลับพม่าใน พ.ศ. 2485 อองซานได้ก่อตั้ง องค์การสันนิบาตเสรีภาพแห่งประชาชนต่อต้านฟาสซิสต์ (Anti-Fascist Peoples Freedom League : AFPFL) เพื่อต่อต้านญี่ปุ่นอย่างลับ ๆ องค์การนี้ภายหลังได้กลายเป็นพรรคการเมือง ชื่อ พรรค AFPFL เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว อองซานและพรรค AFPFL ได้เจรจากับอังกฤษ โดยอังกฤษยืนยันที่จะให้พม่ามีอิสรภาพปกครองตนเองภายใต้เครือจักรภพ และมีข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำพม่าช่วยให้คำปรึกษา แต่อองซานมีอุดมการณ์ที่ต้องการเอกราชอย่างสมบูรณ์ อังกฤษได้พยายามสนันสนุนพรรคการเมืองอื่น ๆ ขึ้นแข่งอำนาจกับพรรค AFPFL ของอองซานแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ จึงยินยอมให้พรรค AFPFL ขึ้นบริหารประเทศโดยมีอองซานเป็นหัวหน้า อองซานมีนโยบายสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และต้องการเจรจากับรัฐบาลอังกฤษโดยสันติวิธี จึงทำให้เกิดความขัดแย้งกับฝ่ายนิยมคอมมิวนิสต์ในพรรค AFPFL อองซานและคณะรัฐมนตรีอีก 6 คน จึงถูกลอบสังหาร เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2490 ขณะที่เดินออกจากที่ประชุมสภา ต่อมาตะขิ้นนุหรืออู นุ ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทนและมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2490 โดยอังกฤษได้มอบเอกราชให้แก่พม่าแต่ยังรักษาสิทธิทางการทหารไว้ 4 มกราคม พ.ศ. 2491 อังกฤษจึงได้มอบเอกราชให้แก่พม่าอย่างสมบูรณ์

การปกครองโดยทหาร

การประท้วงต่อต้านรัฐบาลในพม่า พ.ศ. 2550

ใน พ.ศ. 2501 ประเทศพม่าประสบความล้มเหลวในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ นอกจากนั้น สันนิบาตเสรีภาพประชาชนต่อต้านฟาสซิสต์ยังแตกแยกออกเป็นสองส่วน กลุ่มหนึ่งนำโดยอู นุและติน อีกกลุ่มนำโดยบะส่วยและจอเย่ง แม้อูนุจะประสบความสำเร็จในการนำประชาธิปไตยเข้าสู่ยะไข่โดยอูเซนดา แต่เกิดปัญหากับชาวปะโอ ชาวมอญ และชาวไทใหญ่ ปัญหาเหล่านี้ทำให้รัฐสภาไม่มีเสถียรภาพ แม้อูนุจะผ่านการลงมติไม่ไว้วางใจโดยได้รับการสนับสนุนจากแนวร่วมสหชาติ

กองทัพได้เจรจาปัญหาเกี่ยวกับพรรคคอมมิวนิสต์พม่ากับรัฐบาลของอูนุ ทำให้อูนุเชิญเน วิน ผู้บัญชาการทหารเข้ามาจัดตั้งรัฐบาล กลุ่มแนวร่วมสหชาติถูกจับกุม 400 คน และมี 153 คนถูกส่งไปยังหมู่เกาะโกโกในทะเลอันดามัน ในกลุ่มที่ถูกจับกุมมีอองทาน พี่ชายของอองซานด้วย หนังสือพิมพ์ Botahtaung Kyemon Rangoon Daily ถูกสั่งปิด

รัฐบาลของเน วินประสบความสำเร็จในการทำให้สถานการณ์มั่นคงและเกิดการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2503 ซึ่งพรรคสหภาพของอูนุได้เสียงข้างมาก แต่เสถียรภาพไม่ได้เกิดขึ้นนาน เมื่อขบวนการสหพันธ์ฉานนำโดยเจ้าส่วยใต้ เจ้าฟ้าเมืองยองห้วยที่เป็นประธานาธิบดีคนแรกของพม่า ต้องการสิทธิตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2490 ที่ขอแยกตัวออกไปได้เมื่อรวมตัวเป็นสหภาพครบสิบปี เน วินพยายามลดตำแหน่งเจ้าฟ้าของไทใหญ่โดยแลกกับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ใน พ.ศ. 2502 ในที่สุด เน วินได้ก่อรัฐประหารในวัที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2505 อูนุและอีกหลายคนถูกจับกุม เจ้าส่วยใต้ถูกยิงเสียชีวิต เจ้าจาแสง เจ้าฟ้าเมืองตี่บอหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยที่จุดตรวจใกล้ตองจี

มีการปฏิวัติระดับชาติเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศพม่า เมื่อ พ.ศ. 2531 การปฏิวัติเริ่มในวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2531 (ค.ศ. 1988) และจากวันที่นี้ (8-8-88) ทำให้เหตุการณ์นี้มักเป็นที่รู้จักในชื่อ "การก่อการปฏิวัติ 8888" ประเทศพม่าปกครองด้วยพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า ที่มีพรรคการเมืองเดียวมาตั้งแต่ พ.ศ. 2505 การปกครองเน้นชาตินิยมและรัฐเข้าควบคุมการวางแผนทุกประการ การลุกฮือเริ่มต้นจากนักศึกษาในเมืองย่างกุ้งเมื่อ 8 สิงหาคม ข่าวการประท้วงของนักศึกษาได้แพร่กระจายไปทั่วประเทศ[19] ต่อมามีประชาชนเรือนแสนที่เป็นพระภิกษุ เยาวชน นักศึกษา แม่บ้านและหมอ ออกมาประท้วงต่อต้านระบอบการปกครอง รัฐบาลได้มีคำสั่งให้สลายฝูงชนด้วยอาวุธ ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก[20] ในวันที่ 18 กันยายน เกิดการรัฐประหารและทหารได้กลับมาปกครองประเทศอีกครั้ง มีการจัดตั้งสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ ซึ่งเป็นองค์กรที่เปลี่ยนรูปมาจากพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า หลังจากที่ได้ประกาศกฏอัยการศึก ได้เกิดการประท้วงที่รุนแรงขึ้น นักศึกษา พระสงฆ์และนักเรียนราวพันคนถูกสังหาร และมีประชาชนอีก 500 คนถูกฆ่าในการประท้วงนอกสถานทูตสหรัฐอเมริกา นักศึกษาบางส่วนได้หลบหนีเข้ามาในประเทศไทย[19][21][22] ในขณะที่ในพม่ารายงานว่ามีผู้เสียชีวิต 350 คน[23][24] ในวันที่ 21 กันยายน รัฐบาลได้เข้ามาปกครองประเทศและขบวนการต่อต้านได้สลายตัวไปในเดือนตุลาคม เมื่อสิ้นปี พ.ศ. 2531 เชื่อว่าผู้เสียชีวิตร่วมหมื่นคนและสูญหายอีกจำนวนมากจากปฏิบัติการทางทหารระหว่างการก่อการปฏิวัติ

การประท้วงเพื่อต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าที่นำโดยคณะพระภิกษุสงฆ์ แม่ชี นักศึกษาและประชาชน ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2550 จากการไม่พอใจของประชาชนต่อการประกาศขึ้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเกือบเท่าตัว และขึ้นราคาก๊าซหุงต้มถึง 5 เท่าอย่างฉับพลันโดยมิได้ประกาศแจ้งบอกของรัฐบาลทหารพม่า[25] การประท้วงเริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยมา จนถึงวันที่ 5 กันยายน มีการชุมนุมประท้วงที่วัดแห่งหนึ่งในเมืองปะโคะกู ทางตอนกลางของประเทศ เจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมและมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก รวมทั้งพระสงฆ์จำนวน 3 รูป สื่อมวลชนบางแห่งเรียกเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า Saffron Revolution หรือ การปฏิวัติผ้ากาสาวพัสตร์[26][27]

คณะพระภิกษุ ซึ่งเป็นสถาบันที่ได้รับความเคารพอย่างสูงจากชาวพม่า ประกาศ "ปฐม นิคหกรรม" ไม่รับบิณฑบาตจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลทหารพม่า ทหาร และครอบครัว และเรียกร้องให้ทางการพม่า ขอโทษองค์กรสงฆ์อย่างเป็นทางการภายในวันที่ 17 กันยายน แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง ภิกษุสงฆ์จึงเริ่มเข้าร่วมการประท้วงด้วยตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน เมื่อรวมผู้ประท้วงแล้วมากกว่า 1 แสนคน การประท้วงต่อต้านรัฐบาลเผด็จการครั้งนี้จึงนับว่าเป็นการประท้วงต่อต้านครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่การประท้วงเมื่อปี พ.ศ. 2531 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตกว่า 3,000 คน ในการใช้กำลังทหารเข้าสลายการประท้วง[28]

ภูมิศาสตร์

ประเทศพม่า ซึ่งมีพื้นที่ทั้งหมด 676,578 ตารางกิโลเมตร เป็นประเทศใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แผ่นดินใหญ่ (หรือคาบสมุทรอินโดจีน) และใหญ่เป็นอันดับที่ 40 ของโลก ตั้งอยู่ระหว่างละติจูด 9° และ 29° เหนือ และลองติจูด 92° และ 102° ตะวันออก

ประเทศพม่ามีพรมแดนติดต่อกับบังกลาเทศยาว 271 กิโลเมตร (168 ไมล์) ติดกับอินเดียทางตะวันตกเฉียงเหนือยาว 1,468 กิโลเมตร (912 ไมล์) พรมแดนทางเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือติดต่อกับทิเบตและมณฑลยูนนานของจีนยาว 2,129 กิโลเมตร (1,323 ไมล์) ติดกับลาวยาว 238 กิโลเมตร (148 ไมล์) และติดกับไทยยาว 2,416 กิโลเมตร (1,501 ไมล์) พม่ามีแนวชายฝั่งต่อเนื่องตามอ่าวเบงกอลและทะเลอันดามันทางตะวันตกเฉียงใต้และใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่ของพรมแดนทั้งหมด[29]

การแบ่งเขตการปกครอง

ประเทศพม่าแบ่งเขตการปกครองในระดับภูมิภาคออกเป็น 7 เขต (region) สำหรับพื้นที่ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์พม่า และ 7 รัฐ (states) สำหรับพื้นที่ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อย และ 1 ดินแดนสหภาพ ได้แก่

เขตการปกครองของประเทศพม่า
เขต တိုင်းဒေသကြီး
ชื่อ เมืองหลวง พื้นที่ (ตารางกิโลเมตร) ประชากร (พ.ศ. 2557)
1. เขตซะไกง์ ซะไกง์ 93,704.8 5,325,347[30]
2. เขตตะนาวศรี ทวาย 44,344.9 1,408,401[30]
3. เขตพะโค (หงสาวดี) พะโค (หงสาวดี) 39,402.3 4,867,373[30]
4. เขตมะกเว มะกเว 44,820.6 3,917,055[30]
5. เขตมัณฑะเลย์ มัณฑะเลย์ 37,945.6 6,165,723[30]
6. เขตย่างกุ้ง ย่างกุ้ง 10,276.7 7,360,703[30]
7. เขตอิรวดี พะสิม 35,031.8 6,184,829[30]
รัฐ ပြည်နယ်
ชื่อ เมืองหลวง พื้นที่ (ตารางกิโลเมตร) ประชากร (พ.ศ. 2557)
1. รัฐกะชีน มยิจีนา 89,041.8 1,689,441[30]
2. รัฐกะยา ลอยกอ 11,731.5 286,627[30]
3. รัฐกะเหรี่ยง พะอาน 30,383 1,574,079[30]
4. รัฐชาน ตองจี 155,801.3 5,824,432[30]
5. รัฐชีน ฮ่าค่า 36,018.8 478,801[30]
6. รัฐมอญ เมาะลำเลิง 12,296.6 2,054,393[30]
7. รัฐยะไข่ ซิตเว 36,778.0 3,188,807[30]
ดินแดนสหภาพ
ชื่อ เมืองหลวง พื้นที่ (ตารางกิโลเมตร) ประชากร (พ.ศ. 2557)
1. ดินแดนสหภาพเนปยีดอ เนปยีดอ 7,054 1,160,242[30]

เมืองใหญ่สุด 10 อันดับแรก

การเมืองการปกครอง

ประเทศพม่าเผชิญกับหนึ่งในสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อที่สุดท่ามกลางกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอยู่มากมายซึ่งยังแก้ไม่ตก ตั้งแต่ พ.ศ. 2505 ถึง 2554 ประเทศพม่าอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร คณะผู้ยึดอำนาจการปกครองถูกยุบอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2554 หลังการเลือกตั้งทั่วไปใน พ.ศ. 2553 และมีการตั้งรัฐบาลพลเรือนในนามแทน แต่ทหารยังมีอิทธิพลอยู่มาก สหประชาชาติและอีกหลายองค์การได้รายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบในพม่า รวมทั้งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การข่มขืน แรงงานเด็ก ทาส การค้ามนุษย์ และการขาดเสรีภาพในการพูด ในช่วงปีหลัง พม่าและผู้นำทหารได้ผ่อนปรนต่อนักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยและกำลังพัฒนาความสัมพันธ์อย่างช้า ๆ กับมหาอำนาจและสหประชาชาติ

เศรษฐกิจ

นครย่างกุ้ง

ประเทศพม่าอุดมไปด้วยทรัพยากร แต่เศรษฐกิจพม่าเป็นหนึ่งในเศรษฐกิจด้อยพัฒนาที่สุดในโลก จีดีพีของพม่าอยู่ที่ 42,953 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเติบโตด้วยอัตราเฉลี่ยร้อยละ 2.9 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำสุดในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดาและอีกหลายประเทศได้กำหนดการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อพม่า

ระบบสาธารณสุขของพม่าเป็นหนึ่งในระบบสาธารณสุขที่เลวร้ายที่สุดในโลก องค์การอนามัยโลกจัดอันดับพม่าไว้อันดับที่ 190 ซึ่งเป็นอันดับสุดท้าย ประเทศพม่ามี เกษตรกรรม เป็นอาชีพหลัก เขตเกษตรกรรมคือบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดี แม่น้ำสะโตง แม่น้ำทวาย-มะริด ปลูกข้าวเจ้า ปอกระเจา อ้อย และพืชเมืองร้อนอื่น ๆ ส่วนเขตฉาน อยู่ติดแม่น้ำโขงปลูกพืชผักจำนวนมาก ทำเหมืองแร่ ภาคกลางตอนบนมีน้ำมันปิโตรเลียม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขุดแร่ หิน สังกะสี และภาคตะวันออกเฉียงใต้ ทำเหมืองดีบุกทางตอนใต้เมืองมะริดมีเพชรและหยกจำนวนมาก การทำป่าไม้ มีการทำป่าไม้สักทางภาคเหนือ ส่งออกขายและล่องมาตามแม่น้ำอิรวดีเข้าสู่ย่างกุ้ง อุตสาหกรรม กำลังพัฒนา อยู่บริเวณตอนล่าง เช่น ย่างกุ้ง และ มะริด และทวาย เป็นอุตสาหกรรมต่อเรือเดินสมุทรที่ใหญ่ของพม่า

สกุลเงิน

สกุลเงินของประเทศพม่า คือ จัต (Kyat) อัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 48 จัตต่อ 1 บาท[31] หรือประมาณ 1,508 จัตต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ[32] (ข้อมูลเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562)

ประชากรศาสตร์

เชื้อชาติ

เชื้อชาติในประเทศพม่า
(ประมาณการคร่าว ๆ)
เชื้อชาติ เปอร์เซ็นต์
พม่า
  
68%
ไทใหญ่
  
9%
กะเหรี่ยง
  
7%
ยะไข่
  
3.5%
จีน
  
2.5%
เชื้อชาติอื่น ๆ
  
2.5%
มอญ
  
2%
กะชีน
  
1.5%
อินเดีย
  
1.25%
กะยา
  
0.75%

จำนวนประชากรประมาณ 53,582,855 คน มีชาติพันธุ์พม่า 68% ไทใหญ่ 9% กะเหรี่ยง 7% ยะไข่ 4% จีน 2.50% เชื้อชาติอื่น ๆ 2.50% มอญ 2% กะชีน 1.50% อินเดีย 1.25% คะยา 0.75%

ศาสนา

ศาสนาในประเทศพม่า[33]
พุทธ
  
87.9%
คริสต์
  
6.2%
อิสลาม
  
4.3%
ฮินดู
  
0.5%
พื้นบ้าน
  
0.8%
อื่น ๆ
  
0.2%
ไม่นับถือศาสนา
  
0.1%

ในปี ค.ศ. 2014[34] ประเทศพม่ามีประชากรที่นับถือศาสนา แบ่งได้ดังนี้ ศาสนาพุทธ 87.9% ศาสนาคริสต์ 6.2% ศาสนาอิสลาม 4.3% ศาสนาฮินดู 0.5% ศาสนาพื้นบ้านพม่า 0.8% อื่น ๆ 0.2% และไม่นับถือศาสนา 0.1%

ภาษา

นอกจากภาษาพม่า ซึ่งเป็นภาษาทางการแล้ว พม่ามีภาษาหลักที่ใช้งานในประเทศถึงอีก 18 ภาษา[35] โดยแบ่งตามตระกูลภาษาได้ดังนี้

วัฒนธรรม

วัฒนธรรมของพม่าได้รับอิทธิพลทั้งจากมอญ จีน อินเดีย มาช้านาน ดังสะท้อนให้เห็นในด้านภาษา ดนตรี และอาหาร สำหรับศิลปะของพม่านั้นได้รับอิทธิพลจากวรรณคดีและพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทมาตั้งแต่ครั้งโบราณ ในปัจจุบันนี้วัฒนธรรมพม่ายังได้รับอิทธิพลจากตะวันตกมากขึ้น ซึ่งเห็นได้ชัดจากเขตชนบทของประเทศ ด้านการแต่งกายของพม่าทั้งชายและหญิงนิยมนุ่งโสร่ง เรียกว่า โลนจี (longyi) ส่วนการแต่งกายแบบโบราณเรียกว่า ลูนตะยาอะเชะ (lun taya acheik)

การคมนาคม

สถานีรถไฟย่างกุ้ง

การขนส่งทางบก ได้แก่ ทางถนนและทางรถไฟ ทางถนน ถนนในพม่าส่วนใหญ่ขนานไปกับภูเขาและแม่น้ำ ทอดไปตามความยาวของประเทศ เช่นเดียวกับทางรถไฟ ถนนสายต่าง ๆ ที่สำคัญมีดังนี้ ถนนสายพม่า เป็นถนนสายสำคัญที่เชื่อมต่อระหว่างย่างกุ้งกับเมืองคุนหมิง ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของจีน มีความยาวในเขตพม่าถึงเมืองหมูแจ้ ประมาณ 1,160 กิโลเมตร และมีความยาวในเขตจีนจากหมูแจ้ถึงคุนหมิง ประมาณ 90 กิโลเมตร ถนนสายนี้ผ่านเมืองต่าง ๆ คือ หงสาวดี-ตองอู-ปยินมะนา-เมะทีลา-มัณฑะเลย์-เมเบียงกอดเต็ก-ตี่บอ-ล่าเสี้ยว-แสนหวี-หมูแจ้ รวมความยาวทั้งสิ้นประมาณ 2,140 กิโลเมตร ใช้การทุกฤดูกาล ส่วนทางรถไฟของพม่าได้เปิดดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2481

การขนส่งทางน้ำ การคมนาคมขนส่งทางน้ำภายในประเทศ นับว่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศพม่าเป็นอย่างมาก และยังเป็นเส้นทางคมนาคมหลักมาตั้งแต่อดีต เนื่องจากพื้นที่บริเวณปากแม่น้ำอิรวดีมีทางน้ำอยู่มากมาย และเป็นเขตที่มีประชาชนพลเมืองอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุด ประกอบกับเส้นทางถนนและทางรถไฟยังมีจำกัด

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 "The World Factbook – Burma". cia.gov. สืบค้นเมื่อ 4 May 2016.
  2. http://myanmar.unfpa.org/sites/default/files/pub-pdf/UNION_2-C_religion_EN_0.pdf
  3. http://www.worldometers.info/world-population/myanmar-population/
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 "Burma (Myanmar)". World Economic Outlook Database. International Monetary Fund.
  5. 5.0 5.1 "2016 Human Development Report" (PDF). United Nations Development Programme. 2016. สืบค้นเมื่อ 21 March 2017. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่สมเหตุสมผล มีนิยามชื่อ "HDI" หลายครั้งด้วยเนื้อหาต่างกัน
  6. "คนสวีเดน หรือ คนสวีดิช". สำนักราชบัณฑิตสภา. แสงจันทร์ แสนสุภา. สืบค้นเมื่อ 28 มีนาคม 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  7. "ราชบัณฑิตฯ-กอ.รมน.ให้ใช้ "โรฮีนจา" แทน "โรฮิงญา"". สปริงนิวส์. 8 พฤษภาคม 2558. สืบค้นเมื่อ 8 พฤษภาคม 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. Lieberman, p. 152
  9. "Burma". Human Rights Watch. สืบค้นเมื่อ 6 July 2013.
  10. "Myanmar Human Rights". Amnesty International USA. สืบค้นเมื่อ 6 July 2013.
  11. "World Report 2012: Burma". Human Rights Watch. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 June 2013. สืบค้นเมื่อ 6 July 2013. {{cite web}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |deadurl= ถูกละเว้น แนะนำ (|url-status=) (help)
  12. Madhani, Aamer (16 November 2012). "Obama administration eases Burma sanctions before visit". USA Today.
  13. Fuller, Thomas; Geitner, Paul (23 April 2012). "European Union Suspends Most Myanmar Sanctions". The New York Times.
  14. Greenwood, Faine (27 May 2013). "The 8 Stages of Genocide Against Burma's Rohingya | UN DispatchUN Dispatch". Undispatch.com. สืบค้นเมื่อ 13 April 2014.
  15. "EU welcomes "measured" Myanmar response to rioting". Retuer. 11 June 2012.
  16. "Q&A: Communal violence in Burma". BBC. สืบค้นเมื่อ 14 October 2013.
  17. Eleven Media (4 September 2013). "Income Gap 'world's widest'". The Nation. สืบค้นเมื่อ 15 September 2014.
  18. McCornac, Dennis (22 October 2013). "Income inequality in Burma". Democratic Voice of Burma. สืบค้นเมื่อ 15 September 2014.
  19. 19.0 19.1 Ferrara (2003), pp. 313
  20. Aung-Thwin, Maureen. (1989). Burmese Days. Foreign Affairs.
  21. Fogarty, Phillipa (7 August 2008). Was Burma's 1988 uprising worth it?. BBC News.
  22. Wintle (2007)
  23. Ottawa Citizen. 24 September 1988. pg. A.16
  24. Associated Press. Chicago Tribune. 26 September 1988.
  25. http://www.manager.co.th/IndoChina/ViewNews.aspx?NewsID=9500000100787 พม่าอ้างขึ้นราคาน้ำมันเพื่อแบ่งเบาภาระประเทศ
  26. "Military junta threatens monks in Burma".
  27. "100,000 Protestors Flood Streets of Rangoon in "Saffron Revolution"".
  28. http://www.voanews.com/thai/2007-09-20-voa2.cfm พระสงฆ์หลายร้อยรูปในพม่า เดินขบวนประท้วงรัฐบาลทหารเป็นครั้งที่ 2
  29. [1], Geography of Myanmar.
  30. 30.00 30.01 30.02 30.03 30.04 30.05 30.06 30.07 30.08 30.09 30.10 30.11 30.12 30.13 30.14 The Union Report: Census Report Volume 2. The 2014 Myanmar Population and Housing Census. Nay Pyi Taw: Ministry of Immigration and Population. 2015. p. 12.
  31. https://www.curvert.com/th/thb-mmk/1
  32. https://www.curvert.com/th/mmk-usd/1
  33. Pew Research Center's Religion & Public Life Project: Burma. Pew Research Center. 2010.
  34. [2] Religion in Myanmar
  35. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน). นิทรรศการถาวร กลุ่มชาติพันธุ์ และโบราณคดี (ชั้น 5)

บรรณานุกรม

  • Lieberman, Victor B. (2003). Strange Parallels: Southeast Asia in Global Context, c. 800–1830, volume 1, Integration on the Mainland. Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-80496-7.
  • Myint-U, Thant (2006). The River of Lost Footsteps—Histories of Burma. Farrar, Straus and Giroux. ISBN 978-0-374-16342-6.

ดูเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น

รัฐบาล

ข้อมูลทั่วไป

เศรษฐกิจ

การเกษตร

การค้า

สิ่งแวดล้อม