ประวัติศาสตร์รัฐอานธรประเทศ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพสลักหินพระพุทธเจ้าผจญมารในเมืองอมราวดี

รัฐอานธรประเทศเป็นรัฐในอินเดีย ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2499 มีเมืองไฮเดอราบาดเป็นเมืองหลวง กลุ่มชนส่วนใหญ่พูดภาษาเตลูกู

ยุคโบราณ[แก้]

กลุ่มชนที่พูดภาษาเตลูกูนี้ เรียกว่าพวกอานธระ อาศัยในบริเวณลุ่มแม่น้ำกฤษณาและแม่น้ำโคทาวารีมานานกว่า 2,000 ปี คัมภีร์พราหมณ์กล่าวว่าชนพวกนี้เป็นพวกทัสยุที่มิใช่อารยัน ในรามายณะกล่าวว่าเป็นคนพื้นเมืองดั้งเดิมอยู่ในป่าชื่อทัณฑกะ ทางใต้ของเทือกเขาวินธัย คัมภีร์ภาษาบาลีเรียกชนกลุ่มนี้ว่าพวกอันธกะ ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พวกอานธระนี้ตั้งอาณาจักรอยู่ติดกับแคว้นมคธก่อนจะตกมาอยู่ใต้อำนาจของอาณาจักรมคธ และรับนับถือพระพุทธศาสนาในสมัยนั้นด้วย

หลังจากพระเจ้าอโศกมหาราชสวรรคตแล้ว ชาวอานธระได้พยายามตั้งตัวเป็นอิสระอีกครั้ง โดยผู้นำชื่อสีมุกได้ประกาศอิสรภาพและต่อสู้กับพวกมคธจนสามารถปลงพระชนม์พระเจ้ากาณวะ กษัตริย์ราชวงศ์เมารยะได้ พระเจ้าสีมุกจึงสถาปนา[[อาณาจักรอานธระ ตั้งเมืองหลวงที่เมืองอมราวตี แต่ครองราชย์เพียง 3 ปีก็สวรรคต พระโอรสนามว่าสาตกรณิได้ขึ้นครองราชย์ต่อมาใน พ.ศ. 518 พร้อมกับสถาปนาราชวงศ์สาตวาหนะ ซึ่งในยุคนี้เป็นยุคที่พุทธศาสนารุ่งเรืองมาก ราชวงศ์สาตวาหนะปกครองอานธระจนถึงราว พุทธศตวรรษที่ 16 กษัตริย์ราชวงศ์จาลุกยะตะวันออกได้แผ่อำนาจเข้ามาปกครองดินแดนส่วนใหญ่ของอานธระ มีกวีชื่อนันนยะแปลมหาภารตะจากภาษาสันสกฤตเป็นภาษาเตลูกูในสมัยนี้

การขยายอำนาจของมุสลิม[แก้]

ต่อมา ใน พุทธศตวรรษที่ 18 – 20 กษัตริย์ราชวงศ์กากตียะได้ปกครองอานธระทำให้อานธระมีความเข้มแข็ง แผ่อิทธิพลทั้งทางทหารและการค้าออกไปอย่างกว้างขวาง ในสมัยนี้ มุสลิมได้เริ่มแผ่อิทธิพลเข้ามาในอานธระ เข้ายึดเมืองวรังคัลได้ ทำให้อำนาจของราชวงศ์นี่สิ้นสุดลงเมื่อ พ.ศ. 1967 แต่ชาวอานธระก็ได้ตั้งราชวงศ์ใหม่ขึ้นปกครองทางใต้ของวรังคัลเรียกอาณาจักวิชัยนคร อาณาจักรนี้สามารถต้านทานการรุกรานของมุสลิมไว้ได้ระยะหนึ่ง จนถึง พ.ศ. 2108 จึงถูกพวกมุสลิมยึดครองได้สำเร็จ

กุลี ชาห์ นายทหารชาวตุรกีได้สร้างเมืองโคลโกณฑาขึ้นที่ตำแหน่งเดิมของเมืองวรังคัล สุลต่านมะห์มูด กาวานได้ตั้งให้เขาเป็นผู้สำเร็จราชการปกครองชาวอานธระ ต่อมาเขาได้ตั้งตัวเป็นสุลต่าน ก่อตั้งราชวงศ์กุตุบชาฮี ปกครองเมืองเป็นอิสระเมื่อ พ.ศ. 2061 และทหารจากแคว้นนี้ก็เป็นหนึ่งในทหารมุสลิมที่โจมตีอาณาจักรวิชัยนครจนแตกพ่าย ต่อมา ได้ย้ายเมืองหลวงไปที่ไฮเดอราบัดใน พ.ศ. 2132 ใน พ.ศ. 2229 อาณาจักรโคลโกณฑาตกอยู่ใต้อำนาจของราชวงศ์โมกุล แต่ต่อมาในสมัยจักรพรรดิออรังเซบได้ผ่อนปรนให้ปกครองตนเอง และเรียกว่ารัฐไฮเดอราบัด

อาณานิคมและได้รับเอกราช[แก้]

สมัยอาณานิคม

เมื่อชาติตะวันตกแผ่ขยายอำนาจเข้ามาในอินเดีย รัฐไฮเดอราบัดได้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของฝรั่งเศส และต่อมากลายเป็นอาณานิคมอังกฤษเช่นเดียวกับบริเวณอื่นๆของอินเดีย ชาวอานธระได้เข้าร่วมในการเรียกร้องเอกราชของอินเดียเช่นเดียวกับชาวอินเดียอื่นๆ หลังจากที่อินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษ นิซามแห่งรัฐไฮเดอราบาดไม่ยอมรวมเข้ากับอินเดีย ประชาชนส่วนใหญ่จึงลุกขึ้นก่อความไม่สงบ รัฐบาลจึงส่งกำลังเข้ายึดครองและยุบรัฐไฮเดอราบาดไปในเดือนกันยายน พ.ศ. 2491 และนำดินแดนส่วนนี้ไปรวมกับรัฐมัทราส (ทมิฬนาฑูในปัจจุบัน)

ชาวอานธระไม่พอใจ และต้องการแยกออกมาตั้งรัฐของตนเอง แต่รัฐบาลกลางปฏิเสธ ผู้นำชาวอานธระคนหนึ่งคือโปรติ ศรีรมูลุได้อดอาหารประท้วงจนถึงแกความตายใน พ.ศ. 2496 รัฐบาลกลางจึงยอมจัดตั้งรัฐอานธระขึ้นเมื่อ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2496 และต่อมาได้ขยายอาณาเขตโดยความร่วมมือของกลุ่มขนที่พูดภาษาเดียวกัน รวมดินแดนส่วนใหญ่ของรัฐไฮเดอราบาดเดิม ตั้งเป็นรัฐอานธระประเทศเมื่อ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 จนถึงปัจจุบัน

อ้างอิง[แก้]

  • อดิศักดิ์ ทองบุญ. อานธระประเทศ ใน สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่: เอเชีย เล่ม 1 อักษร A-B ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กทม.ราชบัณฑิตยสถาน. 2539. หน้า 144 - 148

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]