ประวัติศาสตร์จังหวัดภูเก็ต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตราประจำจังหวัดภูเก็ต

ประวัติศาสตร์จังหวัดภูเก็ต

เดิมคำว่า ภูเก็ต นั้นใช้คำว่า "ภูเก็จ" อันแปลว่าเมืองแก้ว ตรงกับความหมายเดิมซึ่งชาวทมิฬเรียก มณีคราม ตามหลักฐาน พ.ศ. 1568 ภูเก็ตเป็นที่รู้จักของนักเดินเรือที่ใช้เส้นทางระหว่างจีนกับอินเดีย โดยผ่านแหลมมลายู หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดก็คือ หนังสือภูมิศาสตร์และแผนที่เดินเรือของปโตเลมี เมื่อประมาณ พ.ศ. 700 กล่าวถึงการเดินทางจากแหลมสุวรรณภูมิลงมาจนถึงแหลมมลายู

จากประวัติศาสตร์ไทย ภูเก็ตเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรตามพรลิงก์ ต่อมาจนถึงสมัยอาณาจักรศิริธรรมนคร เรียกเกาะภูเก็ตว่า เมืองตะกั่วถลาง เป็นเมืองที่ 11 ใน 12 เมืองนักษัตร โดยใช้ตราเป็นรูปสุนัข จนถึงสมัยสุโขทัย เมืองถลางไปขึ้นกับเมืองตะกั่วป่า ในสมัยอยุธยา ชาวฮอลันดามาสร้างสถานที่เก็บสินค้าเพื่อรับซื้อแร่ดีบุกจากเมืองภูเก็ต

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้เกิดสงครามเก้าทัพขึ้น พระเจ้าปดุง กษัตริย์ของประเทศพม่าในสมัยนั้น ได้ให้แม่ทัพยกทัพมาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ เช่น ไชยา นครศรีธรรมราช และให้ยี่หวุ่นนำกำลังทัพเรือพล 3,000 คนเข้าตีเมืองตะกั่วป่า เมืองตะกั่วทุ่ง และเมืองถลาง ซึ่งขณะนั้นเจ้าเมืองถลาง (พระยาพิมลอัยาขัน) เพิ่งถึงแก่อนิจกรรม ท่านผู้หญิงจัน ภรรยา และคุณมุก น้องสาว จึงรวบรวมกำลังต่อสู้กับพม่าจนชนะเมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2328 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงจันเป็น ท้าวเทพกระษัตรี และคุณมุกเป็นท้าวศรีสุนทร

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รวบรวมหัวเมืองชายทะเลตะวันตกตั้งเป็น มณฑลภูเก็จ และเมื่อปี พ.ศ. 2476 ได้ยกเลิกระบบมณฑลเทศาภิบาล เปลี่ยนมาเป็น จังหวัดภูเก็ต จนถึงปัจจุบัน

รัตนะ[แก้]

ยุคก่อนประวัติศาสตร์[แก้]

การค้นหาหลักฐานร่องรอยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ในภูเก็ต ไม่ได้พบหลักฐานที่อยู่อาศัย เช่น ถ้ำหรือเพิงผา คงพบแต่เครื่องมือหิน โดยเฉพาะขวานหินขัดหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าขวานฟ้าแต่มีลักษณะไม่สมบูรณ์นัก ที่ได้พบจากเหมืองแร่และใต้พื้นดินที่ทับถมกันมานาน ในเรื่องถิ่นที่อยู่อาศัยในเกาะภูเก็ตนั้นมีความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิศาสตร์มากกว่าพังงาและกระบี่ ซึ่งถ้ำหรือเพิงผาอาจถูกลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ทำลายจนไม่เหลือหลักฐาน

ชนเผ่าดั้งเดิมของภูเก็ตนั้น นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีส่วนใหญ่มีความเห็นว่าชนเผ่าดั้งเดิมที่พบเห็นได้ในปัจจุบันในคาบสมุทรมลายูได้แก่ ชาวซาไก (Sakai) และชาวเลหรือชาวน้ำ (C'hau Nam) ชาวซาไกซึ่งมีลักษณะคล้ายพวกเซมัง (Semang) ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ทางตะวันตกของคาบสมุทรมลายู สันนิษฐานว่าชาวซาไกได้เดินทางมาตั้งถิ่นฐานในบริเวณเกาะถลาง (ภูเก็ต) ต่อมาได้มีชนชาติมอญจากพะโคมาอยู่ในดินแดนแถบนี้คือ พวกเซลัง (Selang หรือ Salon) กลุ่มคนพวกนี้ชำนาญในการดำน้ำ จึงเรียกว่าชาวน้ำ (C'hau Nam) กลุ่มคนพวกนี้ยังอาศัยอยู่ในหลายเกาะแถบอันดามันจนถึงปัจจุบัน แต่ชาวซาไกปัจจุบันไม่พบในจังหวัดภูเก็ต เนื่องจากชาวเผ่านี้รักสงบกลัวคนแปลกหน้า ฉะนั้นเมื่อมีคนต่างเผ่า ต่างหน้าตา อพยพเข้ามาอาศัยมากขึ้น ชาวซาไกก็หนีถอยร่นเข้าป่าลึก ในที่สุดข้ามเขาไปอยู่ในแผ่นดินใหญ่ฟากตะวันออกได้แก่ ตรัง พัทลุง สงขลา ยะลา และนราธิวาส ทำให้ภูเก็ตคงเหลือแต่ชาวเลที่ยังคงดำรงชีวิตอยู่ แต่ตามหลักฐานอาจมีชาวมอญ ชาวอินเดีย ชาวไทย ชาวจีนและชาวพม่าเข้ามาตั้งถิ่นฐานในภูเก็ตด้วยเนื่องจากลักษณะบ้านเรือนในโบราณมีลักษณะเช่นเดียวกับบ้านชาวมอญที่เมืองมะริด และอาจสมรสกันจนเกิดเป็นชนรุ่นใหม่

ยุคอาณาจักรตามพรลิงก์ และอาณาจักรศิริธรรมนคร (ศรีวิชัย)[แก้]

ตราประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช แสดงภาพตราสิบสองนักษัตรล้อมพระบรมธาตุเจดีย์

อาณาจักรตามพรลิงก์และอาณาจักรศิริธรรมนครมีความสำคัญต่อภูเก็ตค่อนข้างมาก เนื่องจากศูนย์กลางของอาณาจักรอยู่แถบภาคใต้มีอำนาจครอบคลุมคาบสมุทรมลายูโดยตลอดเป็นเวลาถึง 600 ปีระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12-18 แต่ไม่มีโบราณวัตถุของสมัยศรีวิชัยในภูเก็ต แต่ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในแถบนี้อย่างมั่นคง

หลักฐานทางโบราณคดีเช่น ตำนาน พงศาวดาร ตลอดจนประวัติศาสตร์ ได้กล่าวถึงตำนานเมืองนครศรีธรรมราชก็ได้ระบุว่าในบรรดาเมืองสิบสองนักษัตรของนครศรีธรรมราชโบราณนั้น"เมืองตะกั่วถลาง"เป็นเมืองลำดับที่ 11 ชื่อว่า"เมืองสุนัขนาม"หรือเมืองประจำปีจอ มีตราประจำเมืองเป็นรูปสุนัข และผู้ปกครองภูเก็ตสมัยนั้นได้ถือรูปสุนัขมายกย่องนับถือ ซึ่งเมืองนี้อาจตั้งอยู่ที่อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต มีตำบลหนึ่งทางตะวันตกชื่อว่า ตำบลกมลา แต่ชาวบ้านโบราณเรียกว่า "บ้านกราหม้า" มีความหมายว่าหมู่บ้าน"ตราหมา"ซึ่งตรงกับตราประจำเมือง"สุนัขนาม"ในอดีต

จากหมู่บ้านกมลามามีพื้นที่ราบกว้างใหญ่ติดต่อเข้าสู่ภูเก็จฝั่งตะวันออก ในระหว่างฟากตะวันตกกับฟากตะวันออกของที่ราบนี้ มีหมู่บ้านชื่อว่า"บ้านมานิค"ซึ่งมาจากคำภาษาทมิฬโบราณ แปลว่า ทับทิม หรือ แก้ว มีการสันนิษฐานว่าเป็นชื่อผันแปรมาจากคำว่า "มนิกกิมัม"ในจารึกภาษาทมิฬที่พบจากอำเภอตะกั่วป่าใกล้ๆกับเทวรูปในศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไวษณพนิกายซึ่งถูกทิ้งอยู่ในเขาพระนารายณ์นานมาแล้ว คำว่า "มนิกกิมัม"แปลว่า"เมืองทับทิม" หรือ "เมืองแก้ว"

หลังจากนั้น ทมิฬโจฬะได้เข้าครอบครองอาราจักรตามพรลิงก์ จากพ.ศ. 1586 จนถึง พ.ศ. 1602 เป็นเวลาประมาณ 34 ปี กษัตริย์แห่งตามพรลิงก์สามารถขับไล่พวกทมิฬโจฬะออกไปได้สำเร็จ แล้วตั้งศิริธรรมนครขึ้นเป็นศูนย์กลางแห่งใหม่ของอาณาจักรไทยภาคใต้ สามรถดำรงอิสรภาพนานประมาณ 220 ปีก็ต้องสูญเสียเอกราชให้แก่อาณาจักรสุโขทัยในปีพ.ศ. 1823

สมัยอาณาจักรสุโขทัย[แก้]

พ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งอาณาจักรสุโขทัย

พ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งอาณาจักรสุโขทัยทรงแผ่พระราชอาณาเขตออกกว้างขวางครอบคลุมพื้นที่ประเทศไทยภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางได้เป็นส่วนใหญ่ แล้วแผ่อำนาจลงมาทางใต้ และมีชัยชนะเหนืออาณาจักรศิริธรรมนครในพ.ศ. 1825


ภูเก็จ ซึ่งเป็นบริวารของนครศรีธรรมราชในลักษณะของ"เมืองประเทศราช" กล่าวคือ ทางสุโขทัยมิได้ส่งเชื้อพระวงศ์หรือข้าราชการลงมาปกครองหากแต่ปล่อยให้เจ้านครศรีธรรมราชปกครองอยู่เช่นเดิม โดยต้องจัดส่ง"ส่วย"เป็นเครื่องราชบรรณาการต่อกรุงสุโขทัยอย่างสม่ำเสมอมิให้ขาดตอน "ส่วย"ซึ่งมีความสำคัญในสมัยนั้นจากนครศรีธรรมราชและภูเก็จก็คือ ดีบุก ที่สุโขทัยต้องการมากสำหรับการหล่อพระพุทธรูปและเทวรูปทองสัมฤทธิ์ ทองสัมฤทธิ์ที่ใช้หล่อพระพุทธรูปและเทวรูปต่างๆนั้นต้องใช้ดีบุกผสมกับทองแดงหรือทองคำ สุโขทัยสามารถชนะนครศรีธรรมราชก็เท่ากับว่าได้แหล่งดีบุกแหล่งใหญ่เข้าไว้ในอำนาจการสร้างศิลปะทางปฏิมากรรมด้วยทองสัมฤทธิ์จึงขยายตัวอย่างรวดเร็วและอย่างมีคุณค่า

ผลจากการที่สุโขทัยเข้าปกครองภาคใต้ หรือศิริธรรมนครและเมืองบริวารในฐานะเมืองประเทศราช จากพ.ศ. 1823 - พ.ศ. 1921รวมเวลาประมาณ 98 ปี ทำให้ได้แลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมระหว่างภาคใต้และภาคอื่นๆในอาณาจักรทำให้มีการผสมผสานกลมกลืนกัน เป็นพื้นฐานให้สามรถรวมกันเข้าเป็นอาณาจักรไทยในเวลาต่อมา ภูเก็จหรือเกาะถลางในสมัยนั้นเป็นที่รู้จักและสนใจของชาวไทย ตลอดจนชาวต่างชาติมากขึ้นด้วย ทำให้เกิดการพัฒนาทางประวัติศาสตร์ทั้งในด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ และสังคมในเวลาต่อมา

สมัยกรุงศรีอยุธยา ชาวต่างประเทศในภูเก็ต และเหตุการณ์สำคัญต่างๆ[แก้]

กรุงสุโขทัย มีอำนาจปกครองเหนือดินแดนนครศรีธรรมราช และหัวเมืองต่างๆทางคาบสมุทรมลายูเพียง 98 ปีก็สูญเสียเอกราชให้แก่อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา เมื่อปีพ.ศ. 1921ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) แห่งกรุงศรีอยุธยา ภูเก็จได้ตกเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยาเช่นเดียวกับเมืองอื่นๆ ในสมัยอยุธยาชื่อภูเก็ต ยังมิได้ปรากฏขึ้นในทางราชการไทยมีแต่เพียงชื่อ เกาะถลาง เมืองถลางเท่านั้น แต่เอกสารหลักฐานบางฉบับเรียกว่า เกาะภูเก็ต เมืองภูเก็ต เกาะแห่งนี้ชาวต่างประเทศรู้จักกันในชื่อ จังซีลอน หรือ อุยังซาลอน ชาวต่างประเทศได้เดินทางเข้ามาในภูเก็ตมากในสมัยนี้ ส่วนมากจะเป็นการค้าขายสินค้าต่างๆแลกกับแร่ดับุกและของป่านานาประเภท รวมทั้งทรัพยากรทางทะเลเช่น อำพันทอง ไข่มุก เป็นต้น ชาวต่างประเทศพวกนั้นได้แก่

ชาวหมา[แก้]

ชาวจีน ชาวจีนได้เข้ามายังเกาะถลางเมื่อใดไม่ปรากฏแน่ชัด แต่มีการสันนิษฐานว่าเข้ามาในยุคอาณาจักรตามพรลิงก์ ดินแดนคาบสมุทรมลายูเป็นศูนย์กลางของการติดต่อค้าชายระหว่างจีนและอินเดีย คนจีนอาจจะรู้จักถลางในสมัยนั้น และยังคงเดินทางแสวงโชคในการค้าขายกับชาวพื้นเมืองจนตกลงใจตั้งรกรากอยู่ที่เมืองนี้ เป็นชนวนให้ญาติมิตรทางจีนค่อยๆเดินทางมาสมทบเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ดังที่ เจรินีได้เขียนไว้ว่า เมื่อเมืองถลางสิ้นสุดเจ้าเมืองฝรั่งชาวยุโรปลงแล้ว ชาวจีนก็ได้เป็นเจ้าเมืองแทนในช่วง 30 ปี หลังจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จสวรรคตแล้วในพ.ศ. 2231 คือประมาณพ.ศ. 2261 เป็นต้นมา จนกระทั่งถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ปรากฏว่าคนจีนได้ร่วมทำการค้าแร่ดีบุกกับท้าวเทพกระษัตรีมีถึงกัปตันฟรานซิส ไลท์ ก็ระบุถีงชาวจีนที่คุมแร่ดีบุกจากถลางไปยังปีนัง

ชาวโปรตุเกส ชาวโปรตุเกสได้เข้ามาสู่กรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2054 ในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2ดังมีจดหมายเหตุของฝรั่งเศสที่ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2229 ที่ว่า"...แต่ไหนแต่ไรมา ไม่เคยมีนักพรตของศาสนามาอยู่ในเมืองนี้เลย เว้นแต่มิชชั่นนารี ชาวโปรตุเกสซึ่งได้เล่าเรียนในโรงเรียนของเราที่กรุงศรีอยุธยาคนเดียวเท่านั้น มิชชั่นนารีคนนี้ได้มาอยู่เมืองภูเก็ตได้ 3 ปีแล้วและได้กลับไปเย 15 ปีมาแล้ว..." แสดงว่ามีชาวโปรตุเกสในภูเก็ตเพียงคนเดียว แต่เชื้อสายของชาวโปรตุเกสยังคงมีอยู่ในเมืองถลาง ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2แห่งกรุงศรีอยุธยาพ.ศ. 2054 จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์พ.ศ. 2452 ผสมกลมกลืนจนกลายเป็นคนไทยในที่สุด

ชาวฮอลันดา ประมาณ พ.ศ. 2146 ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช บริษัท วี.โอ.ซี.ของชาวฮอลันดาได้เข้ามาสู่ประเทศไทย โดยมาตั้งสถานีการค้าที่เมืองปัตตานีก่อนแล้วส่งทูตไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในพ.ศ. 2147 เป็นผลให้ได้เปิดสถานีการค้าขึ้นที่กรุงศรีอยุธยา นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี ไทรบุรี และภูเก็ต (ถลาง) สินค้าที่ชาวฮอลันดาต้องการ ได้แก่ ไม้ฝาง หนังสัตว์ ขี้ผึ้ง น้ำตาล รังนก ไม้กฤษณา และดีบุก

การซื้อแร่ดีบุกของชาวฮอลันดาในภูเก็ตครั้งนั้น เป็นไปอย่างขาดความเป็นธรรม จึงถูกชาวภูเก็ตและชาวมลายูทำการต่อต้านโดยเผาสถานีสินค้าและฆ่าฟันชาวฮอลันดาตายหมดสิ้น เป็นผลให้ชาวฮอลันดาต้องออกจากเกาะภูเก็ตไป

ชาวอังกฤษ ชาวอังกฤษได้เข้ามายังกรุงศรีอยุธยาครั้งแรกเมื่อประมาณ พ.ศ. 2160 ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมแห่งกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่ปรากฏว่าได้มาทำการค้าที่เมืองถลางแต่ประการใด คงทำการค้าอยู่ในกรุงศรีอยุธยา แล้วไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากถูกกีดกันจากชาวญี่ปุ่นและชาวฮอลันดา ประกอบกับเจ้าหน้าที่ในบริษัทการค้าของอังกฤษที่กรุงศรีอยุทธยาทุจริตต่อบริษัทจนทำให้ขาดทุนอย่างมากจึงต้องล้มเลิกไปเมื่อพ.ศ. 2165

อังกฤษกลับเข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยาอีกครั้งหนึ่งในพ.ศ. 2227 แต่อังกฤษก็ไม่ได้เข้ามาซื้อขายแร่ดีบุกในเกาะถลาง เนื่องจากเกาะถลางมีเจ้าเมืองเป็นชาวฝรั่งเศสชื่อ เรเน ชาร์บอนโน (Rene Charbonneau) ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ให้เป็นเจ้าเมืองถลางตั้งแต่พ.ศ. 2224 การค้าแร่ดีบุกบนเกาะถลาง จึงอยู่ภายใต้ฝรั่งเศส อังกฤษได้รับอนุญาตให้ชื้อแร่ดีบุกที่เมืองไชยา ชุมพร และพัทลุง

อัศวินแห่งโชมงต์ทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสารจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แด่สมเด็จพระนารายณ์

อังกฤษกลับมามีบทบาทสำคัญในเมืองถลางอีกครั้งหนึ่ง เมื่อกัปตันฟรานซิส ไลต์ได้เข้ามาตั้งสถานีการค้าขึ้นที่บ้านท่าเรือในสมัยกรุงธนบุรีคือเมื่อพ.ศ. 2315 ในช่วงที่เมืองถลางรู้จักกันอย่างแพร่หลายแล้ว

ชาวฝรั่งเศสชาวฝรั่งเศสเข้ามาสู่กรุงศรีอยุธยาเมื่อพ.ศ. 2216 ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งเป็นผลให้กรุงศรีอยุธยาแต่งตั้งชาวฝรั่งเศสชื่อ เรเน ชาร์บอนโน (Rene Charbonneau) มาเป็นเจ้าเมืองถลางระหว่างพ.ศ. 2224 - พ.ศ. 2228 และแต่งตั้ง มองซิเออร์ บิลลี่ (Sieur de Billi) เป็นเจ้าเมืองต่อจากชาร์บอนโนจนสิ้นสุดรัชกาลของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ครั้นสมเด็จพระเพทราชาขึ้นครองราชสมบัติ กรุงศรีอยุธยาได้เป็นปริปักษ์ต่อฝรั่งเศสอย่างรุนแรงเป็นเหตุให้นายทหารฝรั่งเศสชื่อ นายพลเดฟาสจ์ (Desfarges) นำกำลังเรือรบจำนวน 4 ลำ มายึดเกาะถลางระหว่างพ.ศ. 2231 - พ.ศ. 2232 ปรากฏรายละเอียด อยู่ในเอกสารทั้งจดหมายเหตุฝ่ายฝรั่งและฝ่ายไทย

เหตุการณ์สำคัญในภูเก็ต สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย[แก้]

เจ้าเมืองถลางถูกประหารชีวิต[แก้]

เกิดขึ้นในตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา รัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา มีเจ้าเมืองถลางคนหนึ่งชื่อ พระยาสุรินทราชา (จอมสุริน) เจ้าเมืองผู้นี้ตั้งเมืองอยู่ที่บ้านลี้พอนคือ บ้านลิพอนในปัจจุบัน พงศาวดารเมืองถลาง ในประชุมพงศาวดารหอสมุดแห่งชาติได้กล่าวถึงคำให้การของชาวถลางเมื่อ พ.ศ. 2384 ได้ให้ความย้อนหลังขึ้นไปในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายคือเหตุการณ์ครั้งนั้นคงเกิดขึ้นประมาณพ.ศ. 2233 หรือ พ.ศ. 2234 ซึ่งอยู่ในรัชสมัยของพระเพทราชาและทรงทำการปราบชาวฝรั่งเศสและผู้เอาใจฝรั่งเศสอย่างรุนแรง พงศาวดารเมืองกล่าวว่า"...ฝ่ายบ้านลี้พอนจอมสุรินคิดมิชอบ จะตั้งตัวเป็นใหญ่ มีตราออกมาให้จับจอมสุรินฆ่าเสีย เพราะเป็นโทษขบถต่อแผ่นดินสิ้นเชื้อผู้ดีเมืองถลางว่าง พระยาถลางคางเซ้ง ชาวกรุงออกมาเป็นเจ้าเมือง..."

เจรินี ได้กล่าวไว้ในหนังสือ"เค้าเงื่อนประวัติศาสตร์ถลาง" (Historical Retrospect of Junkceylon Island) ว่า หลังจากฝรั่งเศสได้รับการแต่งตั้งจากกรุงศรีอยุธยา 2 คน ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช การเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยในระยะต่อมาก็ได้ชาวจีนได้รับการแต่งตั้งมาเป็นเจ้าเมืองถลาง เป็นข้อสันนิษฐานว่าน่าจะเป็น พระยาถลางคางเซ้งในคำให้การของชาวถลางในพงศาวดารถลาง ราชทินนามน่าจะเป็นพระยาสุรินทราชาตามยศและตำแหน่งเดิม แต่ชาวบ้านนิยมเรียกระบุชื่อเพื่อมิให้สับสน

ชาวถลางปล้นเรืออังกฤษ[แก้]

เกิดขึ้นในปลายรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศซึ่งราชการบ้านเมืองในกรุงศรีอยุธยาอ่อนแอลง เนื่องจากการแย่งชิงราชบัลลังก์ระหว่างพระเจ้าเอกทัศกับสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร และมีการสงครามระหว่างพม่าเข้ามาติดพันอีกด้วย ความระส่ำระสายในแผ่นดินจึงเกิดไปทั่ว ตามจดหมายเหตุชาวฝรั่งเศสชื่อ มองซิเออร์ บรีโกต์เขียนถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศของฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2305 ความตอนหนึ่งว่า

เมืองแตร์แฟม (Terre Ferme) ในจดหมายฉบับนี้ เป็นภาษาฝรั่งเศสและแปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า dry land, mainland, solid ground ซึ่งสัณนิฐานว่า น่าจะเป็นบ้านดอน หรือไม่ก็เป็นตัวเมืองภูเก็ตในปัจจุบัน เพราะมีคลองสายใหญ่และลึกพอที่จะให้เรือเทียบท่าได้ เมืองภูเก็ตในฉบับนี้คือเมืองถลางทั้งหมด ส่วนเมืองโตยอง (Teyon) สันนิษฐานว่าคือ"บ้านตลาดนั่งยอง" ตำบลฉลองในปัจจุบัน ซึ่งสมัยก่อนมีคลองใหญ่และลึกเช่นเดียวกับบ้านท่าแครง

ตระกูลของท้าวเทพกระษัตรี (ปลายอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา)[แก้]

ท้าวเทพกระษัตรีเป็นบุตรีของจอมร้างบ้านเคียน เจ้าเมืองถลางในสมัยนั้น ซึ่งมีการเกี่ยวดองทางเครือญาติกับพระปลัด (หนู) เมืองนครศรีธรรมราช พงศาวดารได้กล่าวไว้ว่า เจ้าเมืองถลางจอมร้าง มีพี่ช่ยร่วมบิดาต่างมารดาอยู่คนหนึ่งชื่อ จอมเฒ่าบ้านดอน เป็นเจ้าเมืองถลางบ้านดอน สองพี่น้องมีความรักใคร่กลมเกลียวมาก จอมเฒ่ายังมีชื่อที่ชาวถลางเรียกขานไว้คือ จอมทองคำ จอม่ทองคำน่าจะเป็นชื่อจริงบเพราะมีบุตรชายชื่อ ทองพูน ได้เป็นพระยาถลางหลังจากเมืองถลางชนะศึกพม่า ปีพ.ศ. 2328 แล้ว

โดยประเพณีไทยโบราณนั้น เมื่อผู้ชายเข้าพิธีสมรส ก็จะต้องไปอยู่บ้านฝ่ายหญิง หม่อมศรีภักดีภูธรบุตรจอมนายกองเมืองตะกั่วทุ่งเมื่อเข้าพิธีสมรสกับคุณจัน (นามเดิมของท้าวเทพกระษัตรี) บุตรีจอมร้างบ้านตะเคียนเมืองถลาง จึงต้องมาอยู่บ้านของฝ่ายภรรยา ซึ่งเป็นการเหมาะสมเนื่องจากจะได้ช่วยราชการเมืองของจอมร้าง ในขณะที่สูงอายุ แต่มีเพียงบุตรีคนโตคือคุณจันเท่านั้นที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการปกครองบ้านเมืองเพราะบุตรชายคือ คุณอาดและคุณเรืองยังอยู่ในวัยเด็กมาก ไม่อาจช่วยงานราชการได้ แต่หม่อมศรีภักดีภูธรบุญน้อย พอมีบุตรกับคุณจันได้ 2 คนคือ คุณปรางบุตรีและคุณเทียน หม่อมศรีภักดีถึงแก่กรรม คุณจันจึงตกเป็นพุ่มหม้าย

ขณะนั้นกรุงศรีอยุธยากำลังระส่ำระสายด้วยการผลัดแผ่นดินจากสมเด็จพระเจ้าบรมโกศเป็นพระเจ้าอุทุมพร แล้วเปลี่ยนเป็นพระเจ้าเอกทัศและกลับเปลี่ยนเป็นพระเจ้าอุทุมพรอีกครั้งหนึ่ง เพื่อทำการสู้ศึกกับพม่า ซึ่งยกทัพเข้ามาโจมตีกรุงศรีอยุธยายืดเยื้อติดต่อกันนับตั้งแต่พ.ศ. 2301 จนถึงพ.ศ. 2310 อันเป็นปีที่กรุงศรีอยุธยาล่มสลาย

ปัญหาในเมืองถลาง[แก้]

พระยาพิมลขัน เจ้าเมืองกระบุรี ซึ่งมีบรรดาศักดิ์เพียงเป็นพระกระในครั้งนั้น หนีศึกพม่าลงมาเข้ากับเจ้านครศรีธรรมราชคนใหม่ เจ้านครฯจึงส่งให้มาช่วยราชการเมืองถลางแทนหม่อมศรีภักดีที่ถึงแก่อนิจกรรมลง โดยตอนนั้นคุณหญิงจันตกเป็นพุ่มหม้าย พระกระได้รับสถาปนาขึ้นเป็นพระยาพิมลอัยา (ขัน) และได้สมรสกับคุณหญิงจันในเวลาต่อมา (พ.ศ. 2314)

เมื่อสิ้นบุญจอมร้างบ้านเคียน ก็เกิดปัญหาเรื่องมรดกในเมืองถลาง ว่าผู้ใดควรจะได้สืบทายาทความเป็นเจ้าเมืองต่อไป พระยาพิมลขันว่าที่สามีคุณหญิงจันซึ่งได้ช่วยราชการมานานพอควรและสูงด้วยวัยวุฒิ สมควรแก่เจ้าเมืองถลางในครั้งนั้น แต่เนื่องจากไม่ใช่ทายาทสายตรงของจอมร้าง ซึ่งมีบุตรชาย 2 คน และมีหลานชายคือ คุณเทียน ผู้มีสายสกุลของหม่อมศรีภักดี สายสกุลเมืองนคร คุณหญิงจันไม่ยอมให้มรดกเมืองถลางตกอยู่กับพระยาพิมลว่าที่สามีใหม่ เพราะเกรงข้อครหาที่ว่าหลงใหลว่าที่สามียิ่งกว่าน้องชายร่วมสายโลหิตเดียวกันคือ คุณอาด และคุณเรือง เป็นเหตุให้พระยาพิมลขันเกิดความน้อยใจจึงแยกตัวจากถลางไปยังนครศรีธรรมราชอีกครั้ง และได้ย้ายไปยังเมืองพัทลุง

คุณอาด บุตรจอมร้าง ผู้เป็นน้องชายของคุญหญิงจันก็ได้รับการยกย่องขึ้นเป็นเจ้าเมือง ชาวบ้านเรียกว่า"พระยาถลาง (อาด)" ส่วนน้องชายที่ชื่อเรือง ก็ได้เป็นพระพลจางวานด่าน (เรือง)ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเจ้าเมืองถลาง แต่ว่าราชการไม่นานถูกโจรยิงเสียชีวิต โจรสลัดแขกชาวไทรบุรีได้บุกเข้ายึดเมืองถลางไว้ระยะหนึ่งแต่ชาวถลางเชื้อสายไทยไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจแขกไทรบุรี จึงทำการส้องสุมกำลังไว้ที่บ้านสาคูและบ้านไม้ขาว และยึดเมืองคินมาได้สำเร็จภายในคืนเดียว ซึ่งเป็นคืนวันสารทของชาวถลาง มีการชุมนุม แห่กระจาดพืชพันธุ์ผลไม้ และอาหารแห้งไปทำบุญ โดยซ่อนอาวุธในกระจาดและภาพสัตว์ต่างๆ รวมกำลังกันจู่โจมที่พักเจ้าเมืองชาวไทรบุรี ฝ่ายแขกตั้งตัวไม่ทันจึงเร่งรีบลงเรือหนีไป การขับไล่แขกมลายูครั้งนี้ พระยายกบัตร (ชู) เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ในครั้งนี้ จึงได้รับแต่งตั้งจากเจ้านครศรีธรรมราชที่แข็งเมืองต่อกรุงศรีอยุธยาให้เป็นเจ้าเมืองถลาง ชื่อว่า"พระยาถลาง (ชู)"

สมัยกรุงธนบุรี[แก้]

เมื่อกรุงศรีอยุธยาล่มสลายในปีพ.ศ. 2310 ก่อให้เกิดความแตกแยกกันขึ้นในระหว่างข้าราชการและขุนนาง ฝ่ายเมืองนครศรีธรรมราชนั้น เจ้าพระยานครพระยาไชยาธิเบศร์ก็ถูกเรียกตัวเข้าไปช่วยราชการงานศึกที่กรุงศรีอยุธยา แล้วถึงแก่อนิจกรรมไม่ได้กลับมาที่นครศรีธรรมราชอีก พระปลัด (หนู)จึงเห็นเป็นโอกาสเหมาะที่จะประกาศอิสรภาพแก่นครศรีธรรมราช ซึ่งเคยเป็นเมืองอิสระแต่ครั้นโบราณกาล จึงตั้งตนเป็นใหญ่ขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2307 และได้เกลี้ยกล่อมหัวเมืองปักษ์ใต้ให้เข้าเป็นพวกด้วย

ต้นรัชสมัยธนบุรีและการค้นพบแหล่งแร่ดีบุก[แก้]

ครั้งล่วงปีพ.ศ. 2312 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงตีชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราชได้ โปรดให้เจ้านราสุริยวงศ์มาเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชในปีนั้นมีการเปลี่ยนเจ้าเมืองในเมืองบริวารของนครศรีธรรมราชหลายคน

พระยาราชกปิตัน ฟรานซิส ไลท์

การค้าแร่ดีบุกนั้น ปรากฏว่า ชาวอังกฤษชื่อ กัปตันฟรานซิส ไลท์ พ่อค้าในสังกัดบริษัทอินเดียตะวันออก ได้นำเรือกำปั่นแวะเวียนมาทำการค้าขายที่เมืองถลางตั้งแต่ปีพ.ศ. 2315 จนได้แต่งงานกับฆญิงสาวชาวถลางลูกครึ่งโปรตุเกสชื่อ มาร์ตินา โรเซลล์ กัปตันฟรานซิส ไลท์ได้สร้างที่พักอาศัยและสำนักงานที่บ้านท่าเรือ

ระหว่างปีพ.ศ. 2312 ถึง พ.ศ. 2314 พระยาพิมลขันถูกกุมตัวเอาตัวเข้าไปรับราชการที่ธนบุรี คุณหญิงจันตกพุ่มหม้ายอยู่ที่เมืองถลางในฐานะสามัญชน พร้อมด้วยน้องสาวชื่อ มุก ลูกสาวคนโตชื่อ ปราง และบุตรชายคนโตชื่อ เทียน ต้องพยายามกอบกู้ชื่อเสียงฐานะที่เคยรุ่งเรืองแล้วกลับถดถอยลง ด้วยการค้าดีบุกกับชาวต่างชาติ โดยผ่านเจ้าเมืองถลาง

เมื่อปีพ.ศ. 2314 - พ.ศ. 2315 กับตันฟรานซิส ไลท์ ได้เข้าไปขอพระบรมราชานุญาตจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เพื่อตั้งสำนักงานผูกขาดแร่ดีบุกเมืองถลางที่บ้านท่าเรือ ซึ่งก็ได้รับพระบรมราชานุญาต เนื่องจากพระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระราชดำริที่จะฟื้นฟูฐานะเมืองไทยหลังสงคราม ซึ่งประสบปัญหาข้าวยากหมากแพง การค้าแร่ดีบุกจึงเป็นหนทางช่วยเหลืออันมีประโยชน์อย่างแท้จริงทางหนึ่ง ฝ่ายพระยาพิมลนั้น ขณะรับราชการทรงเป็นผู้จงรักภักดีทำให้พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงไว้วาวพระทัยมาก จึงโปรดให้พระยาพิมลขันออกมากำกับดูแลการค้าแร่ระหว่างเมืองถลางกับกัปตันฟรานซิส ไลท์ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2314 สืบมาจนได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองถลาง ในปีพ.ศ. 2319 จึงได้กลับมายังถลางใช้ชีวิตร่วมกับคุณหญิงจันและมีบุตรด้วยกัน เป็นบุตรหญิงชื่อ ทอง ซึ่งต่อมาได้นำเข้าไปถวายตัวในรัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเมื่อพ.ศ. 2330 โปรดสถาปนาเป็นเจ้าจอมมารดาทอง ประสูติพระธิดาพระองค์หนึ่ง พระนามว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงอุบล เมื่อพ.ศ. 2334

ระหว่างที่คุณหญิงจันและครอบครัสทำการค้าที่เมืองถลางนั้น คุณเทียน ผู้เป็นบุตรได้ค้นพบแหล่งดีบุกขนาดใหญ่ในบริเวญป่าดงดิบอันอุดมด้วยแม่น้ำลำธาร บริเวณนี้อยู่ที่ บ้านตะปำ (สะปำ) พระยาพิมลขันเห็นว่าเป็น ผลประโยชน์แก่แผ่นดินอย่างที่ไม่เคยมีปรากฏมาก่อนจึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีตามประเพณี ส่งผลให้คุณเทียนได้รับการแต่งตั้งเป็น เจ้าเมืองภูเก็จ มีราชทินนามว่า เมืองภูเก็ต ส่วนคุณหญิงจันเมื่อบุตรทำความดีความชอบ จึงได้รับการเลื่อนขึ้นเป็น ท่านผู้หญิงจัน

บรรดาศักดิ์และการค้าดีบุก[แก้]

ครั้นล่วงถึงปี พ.ศ. 2319 เจ้านราสุริยวงศ์ ผู้ครองนครศรีธรรมราชถึงแก่พิราลัย สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเห็นว่าเจ้านครที่ถูกนำตัวไปธนบุรีประพฤติดีตลอดด้วยความจงรักภัคดี พระองค์จึงสถาปนาเจ้านครขึ้นเป็นเจ้าประเทศราชครองเมืองนครศรีธรรมราช โปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาอินทวงศา อัครมหาเสนาบดี ออกมาพระราชทานมอบเมืองให้เจ้านคร เสร็จแล้วโปรดให้อยู่ชำระว่ากล่าวเร่งรัดส่วยอากรในเมืองนครและทั่วแคว้น

เจ้พระยาอินทวงศา มาตั้งวังอยู่ที่ปากพระฝั่งเมืองตะกั่วทุ่ง เพื่ออดูแลเร่งรัดภาษีดีบุก อันเป็นภาษีสำคัญของหัวเมืองฝั่งตะวันตก พระยาพิมลขันซึ่งเคยภักดีต่อเจ้านครแต่เดิม ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ใหม่ตามตำแหน่งเจ้าเมืองถลางว่า "พระยาสุรินทราชา (พระยาพิมลขัน) " ในการกลับมาของพระยาสุรินทราชา (พระยาพิมลขัน) นั้น ได้แต่งตั้งกรมการเมืองถลางขึ้นใหม่หลายคนและมีตำแหน่ง "พระยาทุกขราช" หรือตำแหน่งที่ปรึกษาหรือปลัดเมือง ในสมัยนั้นคือ พระยาทุกขราช (ทองพูน) บุตรจอมเฒ่าผู้มีอำนาจเสมอเมืองถลางที่บ้านดอน พระยาทุกขราช (ทองพูน) เป็นปลัดเมืองถลางอยู่ระหว่างพ.ศ. 2319 จนถึง พ.ศ. 2327 ซึ่งต่อมาได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าพระยาฦๅราชนิกูลธรรมไตรโลก ข้าหลวงผู้มีอำนาจสำเร็จราชการหัวเมืองฝั่งตะวันตกในสมัยรัตนโกสินทร์ ให้ขึ้นเป็น ผู้ว่าราชการเมืองถลางแทนพระยาสุรินทราชา (พระยาพิมลขัน) ซึ่งถูกถอนจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

เมืองถลางปีพ.ศ. 2320 ถึง พ.ศ. 2325 มีการค้าขายดีบุกเป็นอันมาก การซื้อหาอาวุธปืนจากต่างประเทศ โดยใช้ดีบุกเป็นสินค้าแลกเปลี่ยน

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์[แก้]

กบฏอั้งยี่[แก้]

1 มูลเหตุที่ผลักดันให้กรรมกรจีนก่อการกบฏขึ้นที่เมืองภูเก็ตเมื่อปี พ.ศ. 2419 นั้นมีอยู่หลายประการเช่น ราคาดีบุกตกต่ำ นโยบายการคลังที่ตึงตัวของรัฐบาล ราคาประมูลภาษีอากรสูงเกินไปและ กรรมกรจีนไม่ได้รับความเป็นธรรม เป็นต้น

อ้างอิง[แก้]

  • ประสิทธิ ชิณการณ์, ถลาง ภูเก็ต และภูเก็ต, ISBN 974-92938-7-8

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]