ประตูชัยเวลลิงตัน

พิกัด: 51°30′9″N 0°9′3″W / 51.50250°N 0.15083°W / 51.50250; -0.15083
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

51°30′9″N 0°9′3″W / 51.50250°N 0.15083°W / 51.50250; -0.15083

ประตูชัยเวลลิงตัน

ประตูชัยเวลลิงตัน หรือซุ้มเวลลิงตัน (อังกฤษ: Wellington Arch) หรือเรียกชื่ออื่นว่าประตูชัยรัฐธรรมนูญ (Constitution Arch) หรือประตูชัยสวนกรีนพาร์ก (Green Park Arch) เป็นประตูชัยตั้งที่ด้านตะวันออกเฉียงใต้ของสวนไฮด์พาร์ก กลางกรุงลอนดอน สร้างระหว่าง พ.ศ. 2369 - 2374 ในบริเวณใกล้กับที่ตั้งปัจจุบัน ต่อมาได้มีการชะลออาคารมาตั้งไว้ ณ ที่ตั้งปัจจุบันเมื่อ พ.ศ.2425-2426 ด้านบนแต่เดิมมีอนุสาวรีย์ของดยุกแห่งเวลลิงตันคนที่ 1 ขี่ม้า ต่อมาถูกเปลี่ยนเป็นรูปหล่อควอดรีกา หรือเทพีทรงรถม้าสี่ตัว อนุสาวรีย์เดิมที่เป็นทหารขี่ม้าถูกย้ายไปที่ตั้งใหม่ ตัวประตูชัยประกอบด้วยซุ้มโค้งพร้อมประตูโลหะเปิดปิดได้่ ต่างจากประตูชัยวงเวียนดาวที่กรุงปารีส ซึ่งไม่มีประตูโลหะ ด้านในกลวงเช่นเดียวกัน

ประตูชัยเวลลิงตันตั้งใกล้กับคฤหาสน์แอปสลีย์ ซึ่งเป็นบ้านของดยุกแห่งเวลลิงตันคนที่ 1 ปัจจุบันสถานที่ทั้งสองดูแลโดยสำนักงานศิลปากรแห่งชาติอังกฤษ เปิดให้ผู้คนทั่วไปเข้าชม

ประวัติ[แก้]

ภาพพิมพ์สมัย พ.ศ. 2370 แสดงแบบของประตูชัยเวลลิงตันที่ต้องการให้ทำแต่เดิม
ควอดริกา

ในปี พ.ศ. 2368 สมเด็จพระราชาธิบดีจอร์จที่สี่แห่งสหราชอาณาจักร มีพระราชบัญชาให้จัดสร้างประตูชัยเวลลิงตันและประตูชัยมาร์เบิลอาร์ชเพื่อฉลองชัยชนะของสหราชอาณาจักรเหนือฝรั่งเศสในสงครามนโปเลียน โดยให้ประตูชัยเวลลิงตันเป็นประตูเมืองลอนดอนชั้นในด้านตะวันตก ผู้ที่มาจากเนินรัฐธรรมนูญหรือคอนสติติวชันฮิลล์ (Constitution Hill) จะต้องผ่านประตูนี้ นอกจากนี้ยังถือว่าบ้านเลขที่ 1 กรุงลอนดอน หรือคฤหาสน์แอปสลีย์ตั้งอยู่บริเวณเดียวกัน เมื่อได้เวลาอันเหมาะแล้ว สถาปนิกชื่อเดซิมัส เบอร์ตัน (Decimus Burton) ออกแบบลักษณะประตูแบบคอรินเทียน โดยเดิมทีจะให้ผนวกกับประตูสวนไฮด์พาร์ด มีช่องเดียว[1] สร้่างไม่ประณีตนักและตัดส่วนประกอบออกไปมาก ด้วยว่าพระมหากษัตริย์ทรงใช้จ่ายในการบำรุงพระราชวังบักกิงแฮมมาก ในชั้นต้นเคยมีการวางแผนให้ตัวประตูชัยประดับด้วยรูปปั้นเหล่าทหาร สิงโต ด้านในกลวง ด้านบนสุดเป็นรูปหล่อเทพีทรงรถม้าสี่ตัว[1]

เนื่องจากประตูชัยของเดิมไม่มีสิ่งใดวางไว้เป็นเครื่องยอด ในปี พ.ศ.2389 ประตูชัยเวลลิงตันได้กลายเป็นฐานวางรูปหล่อด้วยทองแดงของอาร์เทอร์ เวลสลีย์ ผู้ดำรงตำแหน่งดยุคแห่งเวลลิงตันคนที่ 1 นายกรัฐมนตรี และแม่ทัพ มีขนาดสูง 28 ฟุต (8.53 เมตร) และหนักถึง 40 ตันยาว (40.62 เมตริกตัน) นับเป็นรูปหล่อขี่ม้าขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยมีมา ทว่าก็ไม่สวยงามและมีคำวิจารณ์มาก [2] ต่อมาในปี พ.ศ. 2425 - 2426 ถนนบริเวณดังกล่าวถูกขยาย ทำให้ต้องชะลอประตูชัยมายังที่ตั้งใหม่จากที่เคยเป็นทางเข้าสวนไฮด์ปาร์ก ที่ตั้งใหม่นี้เองที่เป็นถนนราชวิถีมุ่งไปยังพระราชวังบักกิงแฮม รูปหล่อของดยุกแห่งเวลลิงตันคนที่ 1 ถูกย้ายไปยังตำบลออลเดอร์ชอต อำเภอรัชมัวร์ จังหวัดแฮมป์เชอร์ รูปหล่อขนาดย่อลง สร้างโดยโจเซฟ เอดการ์ เบิห์ม (Joseph Edgar Boehm) ถูกนำมาจัดวางใกล้กับประตูชัยแทน อาเดรียน โจนส์ (Adrian Jones) ออกแบบรูปหล่อควอดริกา หรือเทพีไนกีทรงรถม้าสี่ตัวตามที่สถาปนิกคนเดิมได้ตั้งปนิธานไว้ ครั้นเรียบร้อยแล้วจึงนำมาติดตั้งแทนรูปหล่อที่ถอดออกไป [3]

ด้านในของประตูชัยมีลักษณะกลวง เคยใช้เป็นสถานีตำรวจจนถึง พ.ศ. 2535 ต่อมาถูกโอนให้เป็นสมบัติของสำนักงานศิลปากรแห่งชาติเมื่อ พ.ศ. 2542 ด้านในเป็นนิทรรศการและดาดฟ้าสำหรับสังเกตการณ์[4] ซีกหนึ่งของประตูชัยทำเป็นท่อระบายอากาศของถนนที่ขุดใต้ดินบริเวณนั้น[5]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Elmes, James (1827). Metropolitan Improvements in the Nineteenth Century. London: Jones and Co. p. 134.
  2. Campbell Dixon, Anne. "Anne Campbell Dixon explores the history of Wellington Arch, which has just been reopened after a long-overdue restoration Making a grand entrance once again". Telegraph Travel. สืบค้นเมื่อ 30 August 2012.
  3. "The Wellington Statue and Hyde Park Corner". Daily News (London). 28 March 1884.
  4. http://www.english-heritage.org.uk/visit/places/wellington-arch/things-to-do/#Section1
  5. Ian Mansfield (6 January 2014), Hyde Park Corner’s Massive Hidden Ventilation Shaft (IanVisits blog)