ประดิษฐ์ กัลย์จาฤก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ประดิษฐ์ กัลย์จาฤก
เกิด16 มีนาคม พ.ศ. 2470
พงษ์จันทร์ กัลย์จาฤก
จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม
เสียชีวิต11 เมษายน พ.ศ. 2540 (70 ปี)
บิดาวีระ กัลย์จาฤก
มารดาทองคำ กัลย์จาฤก
คู่สมรสสมสุข กัลย์จาฤก
อาชีพผู้ก่อตั้งบ.กันตนา,
นักประพันธ์, ผู้กำกับการแสดง,
ผู้อำนวยการผลิต,
ผู้อำนวยการแสดง,
ผู้ผลิตละครวิทยุ, โทรทัศน์ และภาพยนตร์,
นักแสดงละครวิทยุและโทรทัศน์
นักร้อง, นักแต่งเพลง
นักพากย์
ปีที่แสดงพ.ศ. 2486 - พ.ศ. 2540
ผลงานเด่นละครวิทยุ: หญิงก็มีหัวใจ(2501)
ภาพยนตร์: ผีพยาบาท(2503), เพชรตาแมว(2515), กาเหว่าที่บางเพลง(2537)
ละครโทรทัศน์: บาปบริสุทธิ์(2523)

ประดิษฐ์ กัลย์จาฤก (16 มีนาคม 2470 - 11 เมษายน 2540) เป็นนักประพันธ์, ผู้กำกับการแสดง ผู้อำนวยการผลิต ผู้อำนวยการแสดง ผู้ผลิตละครวิทยุ โทรทัศน์ และภาพยนตร์ นักแสดงละครวิทยุและโทรทัศน์ นักร้อง นักแต่งเพลงนักพากย์ ชาวไทยและผู้ก่อตั้งบริษัทกันตนา

ประวัติ[แก้]

ประดิษฐ์ กัลย์จาฤก เจ้าของฉายา "ราชาโลกบันเทิง"[1][2][3][4] เกิดเมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2470 เป็นทายาทคนสุดท้องต่อจากดวงแข จำนง ศศี และเพ็ญแข ของนายวีระและนางทองคำ กัลย์จาฤก และเป็นบุตรบุญธรรมของขุนพิทักษ์และภรรยา[1] เดิมมีชื่อว่า พงษ์จันทร์ เพื่อให้สอดคล้องกับ จำนง ผู้เป็นพี่ชายแต่ในภายหลังได้เป็น ประดิษฐ์ ในปี พ.ศ. 2485 ตามนโยบายของจอมพล ป. พิบูลสงคราม[5] นอกจากจะเป็นที่รู้จักในฐานะ นักพากย์ นักแสดง ผู้กำกับ ผู้อำนวยการแสดง ผู้ผลิตและผู้อำนวยการผลิตละครวิทยุ, โทรทัศน์และภาพยนตร์แล้ว ท่านยังเป็นนักเขียนที่มีผลงานมากมายอาทิ แฝดล่องหน ปะการังสีดำ ห้องหุ่น ปอบผีฟ้า สุสานคนเป็น คนตาทิพย์ และ เพชรตาแมว เป็นต้น [6][1] แต่ที่สำคัญท่านเป็นผู้ก่อตั้งกันตนา (บ.กันตนา กรุ๊ปในปัจจุบัน) ร่วมกับภรรยาสมสุข กัลย์จาฤก[1][7] ซึ่งมีบุตรด้วยกันรวม 5 คนคือ สิทธานต์ กัลย์จาฤก (เสียชีวิตแล้ว) จาฤก กัลย์จาฤก​ ปนัดดา ธนสถิตย์ อธิการบดี ประธานคณะกรรมการสถาบันกันตนานิรัตติศัย กัลย์จาฤก(เสียชีวิตแล้ว) และจิตรลดา ดิษยนันทน์[1]

การเข้าสู่วงการบันเทิง[แก้]

ประดิษฐ์ กัลย์จาฤก ก้าวเข้าสู่วงการบันเทิงในปี พ.ศ. 2486 ด้วยการเป็นนักร้องในวง ศิลปจาฤก ที่เริ่มเดินสายเปิดการแสดงต่างจังหวัดของพี่สาวเพ็ญแข ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะศิลปินนักร้องนักแสดงในตอนนั้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2489 เมื่อเพ็ญแข กัลย์จาฤกกลับไปยึดการแสดงละครร้องประจำที่เวิ้งนครเขษมและศาลาเฉลิมไทย ประดิษฐ์ก็ตามไปร้องเพลงสลับฉากและเริ่มเป็นนักแสดงที่นั่นด้วยการรับบท 'ทหารยืนเสา' ต่อมาเขาก้าวไปรับจ้างพากย์หนังกลางแปลงให้บริษัทเอเซียภาพยนตร์ ซึ่งในตอนนั้นมีนายเอิบ กันตถาวรเป็นผู้จัดการอยู่ การได้พบและร่วมงานกับนายเอิบจึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของงานละครวิทยุและจุดกำเนิดของชื่อ กันตนา ในเวลาต่อมา หลังจากเป็นนักพากย์ได้ไม่นาน ครูเอิบชอบใจในน้ำเสียงที่กังวานจึงชวนให้ประดิษฐ์มาเล่นละครเป็นพระเอกให้คณะกันตถาวร[1]

บิดาผู้ให้กำเนิดกันตนา[แก้]

ในขณะที่ประดิษฐ์เล่นละครอยู่กับคณะกันตถาวรนั่นเองที่เขาได้พบรักกับสมสุข อินทรทูต (สินสุข) และทั้งคู่ได้สมรสกันเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 และในช่วงเวลานั้นก็เป็นช่วงที่ผงซักฟอกแฟ้บและยาสีฟันคอลเกตเริ่มบุกตลาดเมืองไทยใหม่ๆ ซึ่งทุ่มงบโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อวิทยุอย่างมาก ส่งผลให้กิจการวิทยุไทยเริ่มรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก[8] ครูเอิบจึงสนับสนุนให้ประดิษฐ์ก่อตั้งคณะละครวิทยุขึ้นใหม่อีกคณะหนึ่ง ในปีพ.ศ. 2494 กันตนา จึงได้ถือกำเนิดขึ้นในวงการบันเทิงเมืองไทย[1]

ผลงาน[แก้]

'หญิงก็มีหัวใจ' ของคณะกันตนาจากบทประพันธ์ของประดิษฐ์ กัลย์จาฤก และบทละครวิทยุโดย กุสุมา สินสุข (นามปากกาของภรรยาที่ประดิษฐ์ตั้งให้) เป็นละครวิทยุที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และเป็นจุดเรื่ามต้นของการก้าวสู่งานด้านละครโทรทัศน์ของกันตนา ด้วยการนำเอา 'หญิงก็มีหัวใจ' มาทำเป็นละครโทรทัศน์ ออกอากาศทาง ททบ.7 ขาวดำ (ช่อง5 ปัจจุบัน)[1]

'ผีพยาบาท' เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของกันตนาในการเริ่มก้าวเข้าสู่วงการภาพยนตร์ไทยในปี พ.ศ. 2503 หลังจากนั้นกันตนากลายเป็นผู้ผลิตภาพยนตร์รายใหญ่ ผลิตภาพยนตร์ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องอาทิ ลูกกรอก และเพชรตาแมว นอกจากนั้นบทละครวิทยุของกันตนาอีกหลายต่อหลายเรื่องก็ถูกซื้อเพื่อนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์โดยผู้ผลิตภาพยนตร์และละครโทรทัศน์อีกหลายราย [9]

ปี พ.ศ. 2519 ประดิษฐ์และสมสุข ก่อตั้ง "คณะส่งเสริมศิลปิน" เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตหน้าใหม่ใด้เข้ามาผลิตละครทางเลือกใหม่แนวสร้างสรรค์สังคม ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 คณะส่งเสริมศิลปินมีผลงานละครหลายเรื่องที่โดดเด่น โดยเฉพาะละครชุดเรื่อง '38 ซอย 2' และ 'บาปบริสุทธิ์' ที่กลายเป็นตำนานในประวัติศาสตร์วงการโทรทัศน์ไทย[9][8]

ปี พ.ศ. 2523 ประดิษฐ์ก่อตั้งบริษัท กันตนา วีดีโอ โปรดักชั่น จำกัด และดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการบริษัท[10] บุกเบิกริเริ่มการผลิตละครโทรทัศน์ และโฆษณา ด้วยระบบ วิดีโอ และนอกจากนั้นยังเป็นบริษัทแรกที่ผลิตสารคดีสั้นที่มีความยาว 1-3 นาทีเรื่องแรกๆของวงการโทรทัศน์ไทยคือสารคดีเรื่อง 'โลกกว้างทางแคบ' ชุด 'เรื่องกินเรื่องใหญ่'[11]

เพื่อรองรับการขยายธุรกิจบันเทิง รวมไปถึงธุรกิจการผลิตสปอตโฆษณาด้วยระบบวิดีโอ จึงมีการก่อสร้างสำนักงานบริษัทกันตนา ณ ถนนรัชดาภิเษก ในปี พ.ศ. 2527 พร้อมกันกับบริษัทในเครืออีกหลายบริษัท[9]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2532 เปิดตัวบริษัท กันตนา โมชั่นพิคเจอร์ หรือ กันตนาภาพยนตร์ โดยสร้าง "แม่เบี้ย" เป็นภาพยนตร์ประเดิมบริษัท ต่อด้วยเรื่อง วิมานมะพร้าว และเปิดมิติใหม่ให้วงการภาพยนตร์ไทยในปี พ.ศ. 2536 ด้วยภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์แฝงปรัชญา จากผลงานกำกับการแสดงของบุตรชายคนเล็ก นิรัตติศัย กัลย์จาฤก เรื่อง กาเหว่าที่บางเพลง ซึ่งเป็นภาพยนตร์ใช้ทุนสร้าง 50 ล้านบาทจึงได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งสร้างความภูมิใจให้แก่ประดิษฐ์เป็นอย่างมาก[1][9]

ปี พ.ศ. 2533 บริษัท กันตนา จำกัด ร่วมกับบริษัท โตเอะ จำกัด จากประเทศญี่ปุ่น จัดตั้งบริษัท กันตนาแอนิเมชั่น ขึ้นเพื่อผลิตงานแอนนิเมชั่นป้อนตลาดทั้งในประเทศและระดับสากล[11]

ปี พ.ศ. 2534 ผลิตสารคดีแฝดสยาม รายการโทรทัศน์สารคดีกึ่งละคร (Docu-drama) ความยาว 26 ตอน นำเสนอชีวประวัติของอิน-จัน แฝดสยามที่มีตัวติดกันส่วนหน้าอก ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 โดยประดิษฐ์ กัลย์จาฤก เป็นผู้ดำเนินรายการในสตูดิโอ รศ.ธงทอง จันทรางศุ , นัฎฐา ลอยด์ เป็นผู้ค้นหาร่องรอยในสหรัฐอเมริกา และ ดวงดาว จารุจินดา เป็นผู้ค้นหาร่องรอยในประเทศไทย โดยได้รับรางวัลเมขลา ประเภทสารคดีเชิงอัตชีวประวัติดีเด่น และ รางวัลโทรทัศน์ทองคำ ประเภทสารคดีบันทึกเหตุการณ์เรื่องยาวดีเด่น ประจำปี 2534 ต่อมา กันตนาได้ผลิตสารคดีต่อเนื่องในขณะเดียวกันอีกหลายเรื่อง อาทิ เสรีไทย คนจีนบนแผ่นดินสยาม และภาพแรกในชีวิต

รางวัลเกียติยศ[แก้]

ตลอดเวลากว่า 50 ปีที่ประดิษฐ์ กัลย์จาฤก ได้เป็นผู้บุกเบิกอยู่ในวงการบันเทิงไทยเขาได้รับรางวัลเกียติยศถึง 16 รางวัลจากการทุ่มเทให้กับครอบครัวและการสร้างสรรค์สาระบันเทิง รวมไปถึงกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ต่างๆอีกมากมาย ในปี พ.ศ. 2526 ประดิษฐ์ ได้รับรางวัลสื่อมวลชนแคทอลิกแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้ผลิตรายการสร้างสรรค์ดีเด่นและทรงคุณค่าต่อสังคมไทย โดยได้รับพระราชทานรางวัลจากพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 ต่อมาในปี พ.ศ. 2532 ได้รับรางวัลสังข์เงิน โดยสมาคมนักประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย สาขาวิทยุโทรทัศน์ ให้เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมภาคกลาง (กรุงเทพมหานคร) สาขาศิลปและการช่างฝีมือ จากนั้น เมื่อปี พ.ศ. 2536 ได้รับรางวัลเมขลาเกียรติยศ ในฐานะบุคคลสร้างสรรค์คุณประโยชน์แก่งวงการโทรทัศน์ และนอกจากนั้นในปี พ.ศ. 2539 ประดิษฐ์ยังได้รับพระราชทานปริญญากิตติมศักดิ์ศิลปศาสตร์บัณฑิต สาขาวิทยุและโทรทัศน์ จากสถาบันราชภัฏสวนดุสิต อีกด้วย[1]ประดิษฐ์ประสบความสำเร็จได้ด้วยการปฏิบัติตามบัญญัติ 9 ประการคือ รักเกียรติ มั่นคง ตรงเวลา สามัคคี มีสัจจะ มานะอดทน สนงาน สร้างสรรค์ และมนุษย์สัมพันธ์[10]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 'เส้นทางชีวิต ประดิษฐ์ กัลย์จาฤก' , อนุสรณ์งาน พระราชทานเพลิงศพนายประดิษฐ์ กัลย์จาฤก, 2540
  2. 'King of Entertainment', ผู้จัดการรายสัปดาห์, ปีที่ 7, ฉบับที่ 348
  3. 'เจ้าพ่อวงการโทรทัศน์', เดลินิวส์, 12 เมษายน 2540
  4. 'Thai Show Business Giant', Bangkok Post, May 14,1996
  5. จากบทสัมภาษณ์ในรายการ สี่ทุ่มสแควร์ เมื่อปี พ.ศ. 2536
  6. '60 ปีกันตนา 60 บทประพันธ์คัดสรร ประดิษฐ์ -สมสุข กัลย์จาฤก', กรุงเทพฯ, บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด, 2555
  7. ประวัตินิรัตติศัย กัลย์จาฤกที่ Nangdee.com
  8. 8.0 8.1 ""กันตนา" เก้าอี้สามขาในโลกธุรกิจบันเทิงตราบเท่าที่ยังเข้าใจโลกของการเปลี่ยนแปลง.…THE SHOW MUST GO ON". นิตยสารผู้จัดการ. December 1986. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-22. สืบค้นเมื่อ 22 April 2021.
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 "62 ปี 'กัลย์จาฤก' ได้เวลาเจเนเรชั่น 3". ผู้จัดการสุดสัปดาห์ โดย ผู้จัดการรายวัน. August 2003. สืบค้นเมื่อ 31 October 2017.[ลิงก์เสีย]
  10. 10.0 10.1 "ประดิษฐ์ กัลย์จาฤก กับ บัญญัติ 9 ประการในชีวิต". นิตยสารผู้จัดการ. December 1986. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-03-01. สืบค้นเมื่อ 31 October 2017.
  11. 11.0 11.1 อรวรรณ บัณฑิตกุล (July 2003). "52 ปีกันตนากรุ๊ป". นิตยสารผู้จัดการ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-22. สืบค้นเมื่อ 31 October 2017.