บ้านปาร์คนายเลิศ
บ้านปาร์คนายเลิศ | |
![]() | |
![]() | |
ก่อตั้ง | พ.ศ. 2458 (บ้าน) 19 ธันวาคม พ.ศ. 2558 (พิพิธภัณฑ์) |
---|---|
ที่ตั้ง | ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร |
ประเภท | พิพิธภัณฑ์เชิงประวัติศาสตร์ |
ขนาดผลงาน | 30,000 |
สถาปนิก | พระยาภักดีนรเศรษฐ (เลิศ เศรษฐบุตร) |
บ้านปาร์คนายเลิศ ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Nai Lert Park Heritage Home เป็นพิพิธภัณฑ์เอกชน ตั้งอยู่เลขที่ 2/2 ในซอยสมคิด ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันอยู่ภายใต้การบริหารของ ณพาภรณ์ โพธิรัตนังกูร ทายาทรุ่นที่ 4 กรรมการผู้จัดการบริษัท สมบัติเลิศ จำกัด และเครือนายเลิศ กรุ๊ป[1] เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเพลินจิตซิตี้ โครงการพัฒนาโดยรอบแยกเพลินจิต
ประวัติ
[แก้]พระยาภักดีนรเศรษฐ (เลิศ เศรษฐบุตร) หรือนายเลิศ ซื้อที่ดินมากมายในพระนครและต่อมาได้ขยายพื้นที่ออกไปด้วยการซื้อที่ดินแถวถนนสุขุมวิทในสมัยต้นรัชกาลที่ 6 ซึ่งสมัยนั้นเป็นทุ่งนาที่เรียกว่า ทุ่งบางกะปิ มีราคาเพียงตารางวาละ 8 สตางค์ โดยตั้งใจพัฒนาพื้นที่ประมาณ 60 ไร่ แถวเพลินจิตเป็นบ้านพักตากอากาศ จึงได้ออกแบบเรือนไม้สักหลังใหญ่ไว้อยู่อาศัยใน พ.ศ. 2458 สั่งให้คนขุดคลองสมคิดหน้าบ้านเชื่อมต่อกับคลองแสนแสบ พร้อมจ้างสถาปนิกอิตาเลียนมาออกแบบสวนหย่อนใจ รวมถึงเปิดให้คนทั่วไปเข้าชมในวันอาทิตย์ และให้ลูกเสือเข้ามาพักแรม ในระยะแรกที่ยังไม่แบ่งขายที่ดินครึ่งหนึ่งให้สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทยที่ย้ายออกจากบางรัก มีการขุดสระน้ำใหญ่และชิงช้าให้คนกระโดดน้ำเล่น
ในระยะแรกมีเพียงเรือนไม้สักชั้นเดียวแบบจัตุรมุข ยกพื้นใต้ถุนโล่ง หลังคาปั้นหยายกจั่วซ้อน 3 ชั้น มุงกระเบื้องดินเผาเคลือบ พื้นบ้านเป็นชิ้นไม้สักที่เรียงแนบกัน ไม้ที่ใช้เป็นไม้ที่เหลือจากการสร้างสะพานพระราม 6 (นายเลิศเคยเปิดธุรกิจอู่ต่อเรือเดินสมุทรอยู่ระยะหนึ่ง)
ต่อมาครอบครัวของนายเลิศย้ายมาอาศัยที่บ้านปาร์คเป็นการถาวร จึงต่อเติมเรือนไม้เข้าไปอีกหนึ่งหลังให้เชื่อมต่อกัน นายเลิศเป็นผู้ออกแบบเอง พื้นที่ส่วนหนึ่งของปาร์คยังเคยเป็นอู่รถเมล์ขาว ทั้งใช้จอดและซ่อมบำรุงรถเมล์ เรือเมล์ ทั้งยังมีบ้านพักพนักงานเรียงราย และปั๊มน้ำมันสำหรับเติมรถเมล์ จนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่นายเลิศอายุ 70 ปี บ้านปาร์คนายเลิศซึ่งอยู่ติดกับสถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักร คู่สงครามของญี่ปุ่น ทหารญี่ปุ่นได้บุกเข้ามาในบริเวณบ้านนายกว่า 4 ปี และยังถูกฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีด้วยระเบิดที่พลาดเป้าตกลงมาในปาร์คหลายครั้ง รวมทั้งหมด 22 ลูก ลูกหนึ่งตกตกลงมาหน้าบ้านเป็นหลุมลึก ทางบ้านปาร์คนายเลิศจึงปรับปรุงหลุมนั้นเป็นสระบัว บ้านปาร์คจึงมีหลุมหลบภัยขนาดลึก 10 เมตรไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน ปัจจุบันกลายเป็นบ่อน้ำเล็ก ๆ ระเบิดยังตกลงมาที่เรือนฝั่งตะวันตก บ้านเสียหายทั้งหลังจนพลิกตะแคงขึ้นมา
หลังสงคราม นายเลิศสร้างเรือนไม้ขึ้นใหม่แทนของเดิม ดังสังเกตได้จากเรือนที่บูรณะจะสีอ่อนกว่า เพราะใช้ไม้แดงและไม้เต็งแทนไม้สัก และใช้เงิน 1 แสนบาทในการซ่อมแซม หลังจากนายเลิศและคุณหญิงสิน ภักดีนรเศรษฐ ผู้เป็นภรรยาเสียชีวิตลง ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ ก็อาศัยอยู่ที่บ้านปาร์คนายเลิศจวบจนสิ้นอายุขัย[2]
เมื่อ พ.ศ. 2526 มีการกันที่ดินบางส่วนสร้างเป็นโรงแรม ที่ดินบางส่วนของบ้านปาร์คนายเลิศ ถูกเฉือนขายออกไป
หลังจากท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อปี พ.ศ. 2553 ทายาทเห็นว่าควรเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็กให้คนทั่วไปเข้าชมในรูปแบบบ้านมรดก Heritage Home แต่เนื่องจากสภาพของอาคารบ้านทรุดโทรมลง ในปี พ.ศ. 2555 กลุ่มนายเลิศจึงปรับปรุงบ้านปาร์คนายเลิศให้เป็นพิพิธภัณฑ์เอกชน เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2558[3] หลังจากนั้นมีการขายอาคารโรงแรมให้กับบริษัท บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก จำกัด เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ ในช่วงปี พ.ศ. 2559[4]
การจัดแสดง
[แก้]อาคารโบราณที่บ้านปาร์คนายเลิศแห่งนี้ ถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน อาคารหนึ่งสร้างขึ้นเพื่อใช้อยู่อาศัย กับอีกอาคารหนึ่งสร้างขึ้นเฉพาะเพื่อเป็นห้องนอน ในยุคปัจจุบัน ก็ได้มีการบูรณะปรับระดับความสูงของเรือนทั้ง 2 ขึ้นประมาณหนึ่งเมตรครึ่ง เพื่อให้เป็นประโยชน์มากขึ้นกับการใช้สอย และหลังจากการปรับปรุงบ้านเสร็จสิ้นจึงเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์รวมถึง สถานที่แห่งนี้ก็ยังใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีสำคัญ ๆ อย่างพิธีหมั้น หรือพิธีแต่งงานแบบไทย[5]
ภายในบ้านปาร์คนายเลิศจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนจัดแสดง เรือนผู้หญิง ที่จะจัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาของบ้านปาร์คนายเลิศ ชีวประวัติของคนในครอบครัว ข้าวของเครื่องใช้ ของสะสม และเครื่องแต่งกาย อีกส่วนคือ เรือนท่านเจ้าคุณ จัดแสดงเครื่องเคลือบลายคราม ห้องพระ และเครื่องครัว โดยสิ่งจัดแสดงทั้งหมดจะถูกจัดวางในตำแหน่งเดิมดังที่เคยเป็น[6]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "บ้านปาร์คนายเลิศ เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์เต็มรูปแบบ เริ่มตั้งแต่วันนี้ 8 มีนาคม 2563". กรุงเทพธุรกิจ.
- ↑ "บ้านปาร์คนายเลิศ : เรือนไม้สักร้อยกว่าปีใจกลางเพลินจิต ของนักธุรกิจเจ้าของกิจการ รถเมล์ขาวนายเลิศ". เดอะคลาวด์.
- ↑ "เปิด 'บ้านปาร์คนายเลิศ' จากเรือนไม้สักโบราณอายุ 100 ปี สู่พิพิธภัณฑ์ล้ำค่าใจกลางกรุง". แนวหน้า. 5 มกราคม 2016. สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2025.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "เปิดแน่ ปีนี้ "อมัน นายเลิศ" โรงแรม-เรสซิเดนซ์สุดหรู ย่านวิทยุ-เพลินจิต บนที่ดินประวัติศาสตร์". ไทยรัฐ.
- ↑ "ชมมรดกบ้านเมืองร้อน ณ พิพิธภัณฑ์บ้านปาร์คนายเลิศ กับ คุณวทัญญู เทพหัตถี รองประธานจัดงานสถาปนิก'64". The Association of Siamese Architects under the Royal Patronage.
- ↑ "บ้านปาร์คนายเลิศ". ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).