บุดดา เจ้าชายที่โลกไม่รัก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก บุดดะ)
บุดดา เจ้าชายที่โลกไม่รัก
ปกของมังงะ "บุดดา เจ้าชายที่โลกไม่รัก" ฉบับภาษาอังกฤษ เล่ม 5
ブッダ
(Budda)
แนวอิงประวัติศาสตร์[1]
มังงะ
เขียนโดยโอซามุ เทซูกะ
สำนักพิมพ์อูชิโอะ ชุปปัง
นิตยสารคิโบ โนะ โทโมะ - คอมิกทอม
กลุ่มเป้าหมายเซเน็ง
วางจำหน่ายตั้งแต่กันยายน พ.ศ. 2515ธันวาคม พ.ศ. 2526
จำนวนเล่ม14 (ฉบับภาษาญี่ปุ่น)
8 (ฉบับนานาชาติ)
ภาพยนตร์อนิเมะ
กำกับโดยโคโซะ โมริชิตะ
อำนวยการโดยมาโกโตะ เทซูกะ
เขียนบทโดยเรโกะ โยชิดะ
ดนตรีโดยมิจิรุ โอชิมะ
สตูดิโอเทซูกะโปรดักชัน (อำนวยการผลิต)
โทเอแอนิเมชัน (แอนิเมชัน)
ฉาย28 พฤษภาคม พ.ศ. 2554
ความยาว110 นาที
ภาพยนตร์อนิเมะ
บุดดา เจ้าชายที่โลกไม่รัก 2
กำกับโดยโทชิอากิ โคมูระ
อำนวยการโดยมาโกโตะ เทซูกะ
เขียนบทโดยเรโกะ โยชิดะ
ดนตรีโดยมิจิรุ โอชิมะ
สตูดิโอเทซูกะโปรดักชันส์(อำนวยการผลิต)
โทเอแอนิเมชัน(แอนิเมชัน)
ฉาย8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557
ความยาว90 นาที

บุดดา เจ้าชายที่โลกไม่รัก[a] (ญี่ปุ่น: ブッダโรมาจิBuddaทับศัพท์: บุดดะ; แปลว่า "พุทธะ") เป็นซีรีส์มังงะญี่ปุ่น วาดโดยเทซูกะ โอซามุ ซึ่งเป็นผลงานชิ้นเดียวของเขาที่สร้างขึ้นเพื่อตีความพุทธประวัติของพระสิทธัตถะโคดมพุทธเจ้า ศาสดาผู้ก่อตั้งศาสนาพุทธ ข้อวิจารณ์ที่มังงะเรื่องนี้ได้รับบ่อยครั้งเป็นเรื่องของความกล้าของผู้ประพันธ์ในการตีความพุทธประวัติใหม่ให้แตกต่างจากที่บันทึกไว้ในวงการศาสนา

มังงะเรื่องนี้ได้รับรางวัลบุงเงชุนจู มังงะ อวอร์ด (ญี่ปุ่น: 文藝春秋漫画賞โรมาจิBungeishunjū Manga Shō; "Bungeishunjū Manga Award") ในปี ค.ศ. 1975 (พ.ศ. 2518) และรางวัลไอส์เนอร์อวอร์ด (Eisner Award) ในปี ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547) และ ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548)

ปัจจุบันมังงะเรื่องนี้ยังไม่มีการตีพิมพ์ฉบับลิขสิทธิ์ในประเทศไทย

ภาพรวม[แก้]

มังงะชุด "บุดดา เจ้าชายที่โลกไม่รัก" ของเทะซึกะ โอซะมุ แบ่งเนื้อหาออกเป็น 14 เล่ม ปัจจุบันได้แปลออกเป็นภาษาอังกฤษทุกตอนแล้ว โดยจัดแบ่งเนื้อหาใหม่เป็น 8 เล่ม ซึ่งแต่ละเล่มจะมีการตั้งชื่อเฉพาะกำกับด้วย ดังรายชื่อต่อไปนี้

  1. Kapilavastu (กบิลพัสดุ์)
  2. The Four Encounters (เทวทูตทั้งสี่)
  3. Devadatta (เทวทัต)
  4. The Forest of Uruvela (ป่าอุรุเวลา)
  5. Deer Park (มฤคทายวัน - ป่าสวนกวาง)
  6. Ananda (อานนท์)
  7. Ajatasattu (อชาตศัตรู)
  8. Jetavana (เชตวัน - สวนเจ้าเชต)

โครงเรื่อง[แก้]

ในชมพูทวีปสมัยโบราณ ผู้คนจำนวนมากต้องทนทุกข์เวทนาจากภัยแล้ง ความอดอยาก ภัยสงคราม และความอยุติธรรมในระบบวรรณะของศาสนาพราหมณ์ หลายชีวิตที่ร้อยเรียงเข้าด้วยกันจากจิตอันเป็นทุกข์ ได้ถูกชักจูงให้มาพบกันด้วยการประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้เดินทางสู่แสวงหาทางจิตวิญญาณจนสามารถตรัสรู้เป็น "พุทธะ" หรือ "ผู้รู้แจ้ง" และได้เพียรนำมาซึ่งการฟื้นฟูจิตใจของมหาชนในท่ามกลางยุคสมัยแห่งความสิ้นหวัง

ตัวละคร[แก้]

หมายเหตุ: ชื่อตัวละครที่เป็นบุคคลจริงในประวัติศาสตร์พุทธศาสนา ในที่นี้จะเขียนตามรูปคำที่ใช้ทั่วไปในภาษาไทย ส่วนตัวละครอื่นที่มีการแต่งเสริมเพิ่มเติมในเรื่อง จะคงรูปอักษรโรมันกำกับไว้ด้วย

สิทธัตถะ โคตมะ (พระศากยมุนีพุทธเจ้า)
ตัวละครผู้เป็นแกนหลักของมังงะชุดนี้ มีชาติกำเนิดเป็นเจ้าชายในศากยวงศ์ผู้สูญเสียพระมารดาไปหลังการประสูติของพระองค์ไม่นาน พระองค์ได้เจริญวัยขึ้นมาพร้อมกับความเบื่อหน่ายในชีวิตอันทรงอภิสิทธิ์แห่งความเป็นเจ้าชาย และได้ตัดสินพระทัยออกจากพระราชวังและออกบวชเป็นสมณะ พากเพียรพยายามฝ่าฟันอุปสรรคและบำเพ็ญเพียรต่างๆ อย่างยิ่งยวดจนกระทั่งบรรลุถึงการตรัสรู้ที่ป่าอุรุเวลา และได้ชื่อว่า "พุทธะ" (ผู้รู้แจ้ง) นับแต่นั้นเป็นต้นมา หลังจากนั้นพระองค์จึงออกเดินทางประกาศศาสนาแก่คนทั้งหลายตราบจนดับขันธ์ปรินิพพาน

สมณะและพุทธสาวก[แก้]

เทวทัต
หนึ่งในสาวกรุ่นแรกของพระพุทธเจ้า ชาติกำเนิดเป็นบุตรของพันทกะแห่งโกลิยวงศ์ และเป็นพี่ชายต่างบิดาของอานนท์ ชะตากรรมที่เลวร้ายในวัยเด็กจากการถูกข่มเหงรังแกและต้องพลัดพรากจากครอบครัวส่งผลให้เขามีนิสัยเห็นแก่ตนเองและมีความทะเยอทะยานอย่างไม่สิ้นสุด เมื่อโตขึ้นเขาได้เดินทางสู่อาณาจักรมคธ และรับราชการเป็น 1 ในเสนาบดีของราชสำนักมคธ จนกระทั่งได้เป็นที่ปรึกษาคนสนิทของเจ้าชายอชาตศัตรู ต่อมาเทวทัตได้รู้จักกับพระพุทธเจ้าผ่านทางตัตตะ ผู้ซึ่งเขาได้ชักนำให้เป็นยอดขุนพลของอาณาจักร และได้โกนศีรษะออกบวชเป็นสมณะในสำนักของพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าไม่มอบอำนาจการปกครองสงฆ์แก่เทวทัต เขาจึงพยายามทุกอย่างเพื่อช่วงชิงสาวกมาจากพระพุทธเจ้า จงถึงกับวางแผนการสังหารพระพุทธเจ้าแต่ล้มเหลว ภายหลังเขาได้เสียชีวิตเพราะถูกยาพิษโดยอุบัติเหตุ ซึ่งก่อนที่จะหมดลมหายใจนั้น เขาได้เป็นเผยสาเหตุที่เกลียดชังพระพุทธเจ้าว่า เขาอยากจะเป็นอย่างที่พระพุทธเจ้าเป็นแต่ไม่ว่าอย่างไรเขาก็ไม่อาจจะทำให้สำเร็จได้เลย
อานนท์
น้องชายต่างบิดาของเทวทัต เมื่อแรกเกิดไม่นานนั้นพ่อของเขาได้เสียชีวิตระหว่างการหลบหนีจากการกวาดล้างชาวศากยะโดยอาณาจักรโกศล แต่อานนท์มีชีวิตอยู่ต่อมาด้วยความคุ้มครองของมาร ผู้ซึ่งต้องการให้อานนท์เป็นผู้ลงมือสังหารพระพุทธเจ้าเพราะมารนั้นมิอาจเอาชนะพระพุทธเจ้าเองได้ เมื่อแม่ของอานนท์ถูกกองทัพโกศลฆ่าตาย เขาจึงเกิดความชิงชังมนุษย์ และใช้ชีวิตด้วยการเป็นโจรและฆ่าคนเพื่อเป็นการล้างแค้นมาตลอด กระทั่งเมื่อพระพุทธเจ้าได้ช่วยชีวิตอานนท์ไว้ในคราวเผชิญหน้ากับอุรุเวละกัสสปะ เขาจึงออกติดตามพระพุทธเจ้าและกลายเป็นอุปัฎฐากคนสนิทของพระองค์ แม้ว่าหลังจากนั้นเขาจะต้องเผชิญกับภาพหลอนของคนที่ตนเองเคยสังหารตามรังควานอยู่ตลอดก็ตาม
อุรุเวละกัสสปะ
สารีบุตร
โมคคัลลานะ
ตัตตะ (Tatta)
หนึ่งในตัวละครในจินตนาการที่ถูกเสริมเข้ามาในเรื่องนี้ พื้นเพเดิมเป็นโจรในวรรณะจัณฑาล ซึ่งมีสถานะต่ำยิ่งกว่าวรรณะศูทร ในวัยเด็กนั้นเขาอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติมาก และมีความสามารถในการยึดครองร่างของสัตว์ป่า แม่และน้องสาวของตัตตะถูกกองทัพโกศลฆ่าตายหลังจากที่เขาได้เป็นเพื่อนกับชาปราไม่นาน ต่อมาเมื่อชาปราและแม่ถูกทหารอาณาจักรโกศลประหารชีวิต เขาจึงสาบานว่าจะล้างแค้นต่ออาณาจักรโกศลให้ได้ เมื่อเขาเป็นผู้ใหญ่ก็ได้เป็นหัวหน้าของโจรทั้งหลายในภูเขา และพยายามผูกสัมพันธ์กับเจ้าชายสิทธัตถะเพื่อปูทางไปสู่การล้างแค้นอาณาจักรโกศล ภายหลังเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เขาจึงได้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าโดยปฏิเสธที่จะบวชเป็นภิกษุเพราะเขาไม่ต้องการที่จะโกนศีรษะ แต่ว่าความแค้นที่เขามีต่ออาณาจักรโกศลนั้นยังคงฝังแน่นในใจ แม้พระพุทธเจ้าจะพยายามสั่งสอนให้เขารู้จักการให้อภัยก็หาสำเร็จไม่ ในบั้นปลายตัตตะได้เข้าร่วมกับกองทัพศากยวงศ์ซึ่งต้องการจะแก้แค้นต่อการฆ่าล้างโคตรชาวศากยะโดยพระเจ้าวิฑูฑภะแห่งโกศล และเสียชีวิตระหว่างการเผชิญหน้าต่อกองทัพแคว้นโกศล
เธพะ (Dhepa)
สมณะผู้ออกเดินทางแสวงหาโมกขธรรมร่วมกับเจ้าชายสิทธัตถะในระยะหนึ่งก่อนที่จะแยกทางกันในภายหลัง เนื่องจากเจ้าชายสิทธัตถะไม่พอใจแนวทางปฏิบัติของเธพะ ภายหลังเธพะได้กลายเป็นศิษย์แห่งพระพุทธเจ้า

อาณาจักรมคธ[แก้]

พิมพิสาร
เจ้าผู้ปกครองอาณาจักรมคธ ผู้ซึ่งอัสสชิได้ทำนายว่าจะถูกโอรสของตนเองสังหาร คำทำนายดังกล่าวได้ทรมานพระเจ้าพิมพิสารไว้ตลอดชีวิต ภายหลังเจ้าชายอชาตศัตรูผู้ถูกพระเทวทัตล่อลวงได้ยึดบัลลังก์ของพระเจ้าพิมพิสาร และจับพระองค์กับขังไว้ในหอสูงเดียวกับที่พระองค์เคยจองจำอชาตศัตรูไว้ในฐานพยายามฆ่าพระพุทธเจ้า และที่นั้นเอง พระเจ้าพิมพิสารก็ได้จบชีวิตลงจากการถูกอดอาหาร
อชาตศัตรู
พระโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร รัชทายาทแห่งแคว้นมคธ ผู้ซึ่งถูกทำนายว่าจะลอบปลงพระชมน์พระราชบิดา ทรงไม่พอพระทัยในพระพุทธเจ้าจึงได้ลอบยิงธนูใส่ทำให้พระเจ้าพิมพิสารเกี้ยวลงโทษด้วยการจับขังไว้ในหอคอย ต่อมาถูกพระเทวทัตล่อลวงได้ยึดบัลลังก์ของพระเจ้าพิมพิสาร และจับขังไว้ในหอสูงเดียวกับที่พระองค์เคยจองจำ ต่อมาเกิดสำนึกผิดแต่แก้ไขอะไรไม่ได้เลยแต่ได้ไปขอขมาและนับถือต่อพระพุทธเจ้าโดยมีชีวิกแพทย์หลวงเป็นผู้ชักนำ ต่อมาในภายหลังพระองค์ทรงถูกพระโอรสลอบปลงพระชนม์เหมือนที่พระองค์ปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสาร
ชีวก
แพทย์หลวงและรัฐบุรุษในราชสำนักมคธ

อาณาจักรโกศล[แก้]

ปเสนทิ
เจ้าผู้ปกครองอาณาจักรโกศล พระองค์ได้เสกสมรสกับหญิงในวรรณะศูทรจากกรุงกบิลพัสดุ์ผู้หนึ่ง ซึ่งทางฝ่ายศากยวงศ์มอบให้โดยลวงว่าเป็นหญิงในวรรณะกษัตริย์ หลังจากพระองค์ทราบได้ความจริงจึงได้กรีฑาทัพเข้ายึดครองกรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อพระองค์คัดค้านเจ้าชายวิทูฑภะผู้เป็นพระโอรสในการปลดปล่อยเมืองกบิลพัสดุ์ วิทูฑภะจึงจับพระองค์จองจำเสียโดยกล่าวอ้างว่าพระองค์เสียจริต ไม่สมควรแก่การปกครองบ้านเมือง ในที่คุมขังนั้น พระเจ้าปเสนทิค่อยๆ ทรุดโทรมลงทั้งทางกายและทางใจจนกระทั่งพระพุทธเจ้าได้โน้มน้าวใจวิทูฑภะให้ปล่อยพระบิดาของตนออกมาได้ หลังจากนั้นไม่นานพระองค์ก็สิ้นชีวิตอย่างน่าเวทนา
วิฑูฑภะ
โอรสของพระเจ้าปเสนทิ หลังได้รับรู้ความจริงเรื่องชาติกำเนิดของมารดาตน พระองค์ได้ขับไล่พระมารดาของตนให้ไปอยู่กับกลุ่มทาสและภายหลังได้สั่งให้ฆ่าเธอเสียเมื่อเกิดโรคระบาดในหมู่ทาสขึ้น และด้วยการหลอกลวงผู้เป็นพระบิดา วิฑูฑภะได้เริ่มทำการกวาดล้างโคตรวงศ์ของพระศากยมุนีพุทธเจ้า จนกระทั่งได้หยุดมือลงเมื่อพระพุทธเจ้าได้แสดงให้วิฑูฑภะเห็นว่า สิ่งที่พระองค์ได้ทำลงไปมีแต่จะคอยตอกย้ำความรู้สึกเลวร้ายที่พระองค์เองเท่านั้น ในบางครั้งพระองค์ถูกเรียกว่า วิทูรย์ราชกุมาร (Prince Crystal) เนื่องจากพระองค์ได้ใช้แก้วไพทูรย์มาตกแต่งศิราภรณ์ของพระองค์เอง
เชตะ
เจ้าชายผู้เป็นโอรสของพระเจ้าอชาตศัตรู ผู้ยกสวนของตนเองเป็นอารามในพุทธศาสนา อันได้ชื่อต่อมาว่า "เชตวนาราม"
ชาปรา (Chapra)
ตัวละครในจินตนาการที่ถูกเสริมเข้ามาในมังงะเรื่องนี้ ชาติกำเนิดเดิมของเขาเป็นทาสในวรรณะศูทรผู้ตัดสินใจจะสร้างชีวิตที่ดีกว่าเดิมให้แก่ตนเอง ชาปราได้ช่วยชีวิตแม่ทัพผู้มีชื่อเสียงแห่งอาณาจักรโกศลไว้และได้รับการเลี้ยงดูเป็นบุตรบุตรธรรมเพราะเข้าใจว่าเขาเป็นเด็กกำพร้าในวรรณะกษัตริย์ เมื่อเจริญวัยขึ้น ชาติกำเนิดของชาปราได้ถูกเปิดเผยจากการปรากฏตัวของแม่ที่แท้จริงของชาปรา และนำมาซึ่งความขัดแย้งในชีวิตของเขา ชาปราตัดสินใจพาแม่ของตนหลบหนีไปด้วยกันหลังจากสถานะที่แท้จริงของพวกเขาถูกเปิดเผย และถูกทหารของอาณาจักรโกศลสังหารในบั้นปลาย

กรุงกบิลพัสดุ์[แก้]

สุทโธทนะ
กษัตริย์แห่งแคว้นสักกะ พระราชบิดาของเจ้าชายสิทธัตถะ หลังการประสูติพระโอรส พระองค์ได้ฟังคำทำนายว่าพระโอรสของพระองค์จะออกบวชและตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า พระองค์จึงทำทุกวิถีทางเพื่อต้องการให้พระราชโอรสของพระองค์ครองราชบังลังก์ให้ได้
มายา
พระมารดาของเจ้าชายสิทธัตถะ สิ้นชีวิตหลังประสูติเจ้าชายสิทธัตถะไม่นานนัก
ปชาบดี
พระขนิษฐาของมายา หลังจากพระเชษฐินีสิ้นพระชนม์ก๋ได้อภิเษกกับสุทโธทนะ ทรงรักเจ้าชายสิทธัตถะเทียบเท่าพระโอรสของตน
ยโสธรา
เจ้าหญิงผู้เลอโฉมซึ่งตกหลุมรักในเจ้าชายสิทธัตถะ เจ้าชายสิทธัตถะได้เสกสมรสด้วยกับนางอย่างไม่เต็มใจนัก ทั้งสองมีโอรสองค์หนึ่งคือราหุล เจ้าชายสิทธัตถะได้ลาจากพระนางไปในวันที่ราหุลประสูตินั้นเอง
ราหุล
พระโอรสของเจ้าชายสิทธัตถะ และยโสธรา ทรงถูกพระราชบิดาทอดทิ้งไปออกผนวชตั้งแต่ทรงประสูติ ต่อมาในภายหลังได้เข้ามาบวชเป็นสามเณรองค์แรกในพระพุทธศานา
พันทกะ (Bandaka)
นายขมังธนูผู้ทะเยอทยานในวรรณะกษัตริย์แห่งโกลิยวงศ์ เขาหลงรักในเจ้าหญิงยโสธราและได้สู้กับเจ้าชายสิทธัตถะเพื่อให้ได้สิทธิ์ในการเสกสมรสเจ้าหญิงยโสธรา หลังเจ้าชายสิทธัตถะออกบวช เขาได้โน้มน้าวให้พระเจ้าสุทโธทนะแต่งตั้งให้เขาเป็นรัชทายาทแห่งศากยวงศ์ แต่ก็ยังคงล้มเหลวในการเอาชนะใจเจ้าหญิงยโสธรา เขาจึงไปแต่งงานกับหญิงท้วมผู้สูงศักดิ์นางหนึ่ง ภายหลังได้เสียชีวิตในการรบกับกองทัพผู้รุกรานจากอาณาจักรโกศล

ตัวละครอื่นๆ[แก้]

พรหมัน (Brahman)
จิตวิญญาณสูงสุดในสากลจักรวาล มักปรากฏตัวต่อหน้าเจ้าชายสิทธัตถะบ่อยครั้งในรูปลักษณ์ชายชราผู้มีร่างกายเหี่ยวย่น และได้ชี้ให้เจ้าชายได้เห็นหนทางที่ทำให้เกิดทุกข์ เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะได้ตรัสรู้ ดวงจิตนี้จึงได้ขนานนามพระองค์ว่า "พุทธะ" ต่อมาหลังการละสังขารของพระพุทธเจ้า พรหมันได้นำทางพระพุทธเจ้าเป็นการส่วนตัวไปสู่โลกหลังความตาย ซึ่งเป็นที่ๆ พรหมันสัญญาว่าจะเปิดเผยสิ่งที่รออยู่แก่ผู้สามารถข้ามพ้นความตายมาได้
อสิตะ
หัวหน้าคณะนักสิทธิ์ ผู้พยากรณ์ว่าจักมีมหาบุรุษลงมาเกิดในโลก และจะได้เป็นมหาศาสดาหรือมหาจักรพรรดิราชในทางใดทางหนึ่ง และจักเป็นผู้ช่วยโลกให้พ้นจากความทุกข์ เขาได้พบกับเจ้าชายสิทธัตถะเมื่อแรกประสูติและมอบพรจากพระอินทร์และพระพรหมแก่ราชกุมารองค์นั้น และเป็นอาจารย์ของนรทัตตะ ผู้ซึ่งต่อมาเขาได้สาปให้ใช้ชีวิตเยี่ยงสัตว์ป่าเป็นเวลายาวนานหลายปี
นรทัตตะ (Naradatta)
นักบวชผู้เป็นศิษย์ของอสิตะ ซึ่งถูกส่งให้ไปสืบข่าวการอุบัติของมหาบุรุษในช่วงต้นเรื่อง และถูกสาปให้ใช้ชีวิตเยี่ยงสัตว์ จากการที่ได้ทำลายชีวิตสัตว์หลายชีวิตเพื่อช่วยมนุษย์เพียงคนเดียว ต่อมาได้เป็นผู้สั่งสอนของเทวทัตในวัยเยาว์ ในบั้นปลายเขาได้คืนสติกลับเป็นมนุษย์และได้รับการอภัยในบาปที่ตนก่อก่อนที่จะสิ้นใจ
มิคาอิลา (Migaila)
นางโจรผู้ที่เจ้าชายสิทธัตถะหลงรักในช่วงต้นเรื่อง ดวงตาของนางถูกพระเจ้าสุทโธทนะทำลายเพราะเรื่องที่เจ้าชายสิทธัตถะต้องการจะแต่งงานกับนางด้วย ยังผลให้หลังจากนั้นนางต้องตาบอดไปชั่วชีวิต ต่อมานางได้เป็นภรรยาของทัตตะและมีลูกด้วยกันหลายคน
อัสสชิ
บุตรของนายพรานล่าสัตว์ที่สิทธัตถะและสมณะเธพะได้พบระหว่างการออกเดินทางแสวงหาโมกขธรรม รูปลักษณ์ของตัวละครตัวนี้ถูกหยิบยืมมาจากตัวละครชื่อ ชะระคุ โฮะสึเกะ ในเรื่อง "เจ้าหนูสามตา" อันเป็นผลงานอีกเรื่องหนึ่งของเทซูกะ โอซามุ
ลตา (Lata)
ยตละ (Yatala)
สุชาดา
อหิงสกะ
วิสาขา
มาร

ภาพยนตร์[แก้]

บุดดา เจ้าชายที่โลกไม่รัก
ภาพประชาสัมพันธ์
กำกับโมะริชิตะ โคโซ
อำนวยการสร้างโตเอแอนิเมชัน
นักแสดงนำฮิเดทากะ โยชิโอกะ
มาซาโตะ ซาไค
อิคุเอะ โอทานิ
นานะ มิซึกิ
ผู้บรรยายซายูริ โยชินางะ
ดนตรีประกอบ"Scarlet Love Song" โดย X-Japan
ผู้จัดจำหน่ายโตเอ, วอร์เนอร์บราเธอร์สพิคเจอร์ส
วันฉาย28 พฤษภาคม พ.ศ. 2554
ความยาว111 นาที
ประเทศญี่ปุ่น ญี่ปุ่น
ภาษาญี่ปุ่น

ในปี พ.ศ. 2553 ได้มีการประกาศดัดแปลงมังงะสร้างเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันไตรภาคในชื่อเรื่อง "เทซูกะ โอซามุ โนะ บุดดะ" (ญี่ปุ่น: 手塚治虫のブッダทับศัพท์: Tezuka Osamu no Budda; "เรื่องพระพุทธเจ้า ฉบับของเทซูกะ โอซามุ") โดยบริษัทโตเอแอนิเมชัน กำกับภาพยนตร์โดย โมะริชิตะ โคโซ และจัดจำหน่ายโดยบริษัทโตเอและวอร์เนอร์บราเธอร์สพิคเจอร์ส กำหนดออกฉายภาคแรกในชื่อตอน "อากาอิ ซาบาคุ โยะ! อุตซึกูชิกุ" (ญี่ปุ่น: 赤い砂漠よ!美しくทับศัพท์: Akai Sabaku yo! Utsukushiku; "ทะเลทรายสีแดงอันแสนงาม") ในวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ซึ่งตรงกับช่วงของการเฉลิมฉลองครบ 750 ปี ชาตกาลแห่งพระภิกษุชินรัน โชนิน ผู้ก่อตั้งนิกายโจโดชินชู หรือนิกายสุขาวดีใหม่ ในพุทธศาสนานิกายมหายาน[2] ส่วนเพลงประกอบของภาพยนตร์เรื่องนี้ได้แก่เพลง "Scarlet Love Song" ขับร้องโดยวง X-Japan

เนื้อหาของแอนิเมชั่นเรื่อง "เทซูกะ โอซามุ โนะ บุดดะ - อากาอิ ซาบาคุ โยะ! อุตซึกูชิกุ" จะกล่าวถึงช่วงปฐมวัยของพระพุทธเจ้าครั้งยังเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ซึ่งพานพบกับชีวิตที่สมบูรณ์พูนสุขแห่งวรรณะกษัตริย์ ตรงกันข้ามชีวิตกับคู่ขนานของลูกทาสที่ชื่อชาปรา ซึ่งพยายามต่อสู้ดิ้นรนให้ตนเองได้อยู่ในฐานะที่สูงขึ้นและพ้นจากชีวิตอันยากลำบากแร้นแค้นโดยปิดบังชาติกำเนิดในวรรณะศูทรของตนไว้ นอกจากนี้ยังกล่าวถึงความรักของเจ้าชายสิทธัตถะกับนางโจรสาวชื่อมิคาอิลาซึ่งถูกกีดกันโดยพระเจ้าสุทโธทนะ

"เทซูกะ โอซามุ โนะ บุดดะ - อากาอิ ซาบาคุ โยะ! อุตซึกูชิกุ" เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศญี่ปุ่นทั้งหมด 279 แห่ง เปิดตัว 2 วันแรก (28-29 พ.ค. 2554) ด้วยรายได้ 137,921,400 เยน[3]

สำหรับในประเทศไทย ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวนำเข้ามาฉายโดยบริษัทมงคลเมเจอร์ ในเครือสหมงคลฟิล์ม และมีกำหนดการฉายในวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ในโรงภาพยนตร์เครือเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ ในชื่อเรื่องภาษาไทยว่า บุดดา เจ้าชายที่โลกไม่รัก [4]

ผู้ให้เสียงพากย์[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

หมายเหตุ[แก้]

  1. ชื่อเรื่องภาษาไทยของภาพยนตร์อนิเมะดัดแปลง

อ้างอิง[แก้]

  1. "Tezuka's Buddha Anime Film Project to Be Trilogy". Anime News Network. สืบค้นเมื่อ 2019-09-30.
  2. http://www.animenewsnetwork.com/news/2010-07-19/tezuka-buddha-precure-redline-film-trailers-posted
  3. 『パイレーツ・オブ・カリビアン』がV2で独走態勢に!『プリンセストヨトミ』『ブッダ』も初登場で好発進!!【 シネマトゥデイ 2011年5月31日
  4. http://www.majorcineplex.com/movie_detail.php?mid=946

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]