บุณโณวาทคำฉันท์
บุณโณวาทคำฉันท์ | |
---|---|
กวี | พระมหานาค วัดท่าทราย |
ประเภท | วรรณคดีพระพุทธศาสนา |
คำประพันธ์ | ฉันท์และกาพย์ |
ยุค | สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ |
![]() |
บุณโณวาทคำฉันท์ เป็นวรรณกรรมประเภทฉันท์และกาพย์ แต่งโดยพระมหานาค วัดท่าทราย สันนิษฐานว่าแต่งในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ[1] มีเนื้อหาเกี่ยวกับตำนานพระพุทธบาทตามคัมภีร์ในพุทธศาสนากล่าวถึงพระพุทธเจ้าเสด็จโปรดพระสัจพันธดาบศซึ่งอาศัยอยู่เชิงเขาสัจพันธบรรพต ใกล้เมืองสุนาปรันตะ พระพุทธเจ้าได้ประทับรอยพระพุทธบาทไว้ที่เชิงเขาสัจพันธบรรพตและงานสมโภชรอยพระพุทธบาท ซึ่งจากพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยามีบันทึกเหตุการณ์ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศว่า มีการสมโภชพระพุทธบาทขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2293 จึงสันนิษฐานว่าแต่งราว พ.ศ. 2293–2301
รูปแบบคำประพันธ์ประกอบด้วยฉันท์และกาพย์ประเภทต่าง ๆ ได้แก่ อินทรวิเชียรฉันท์ 11 โตฎกฉันท์ 12 วสันตดิลกฉันท์ 14 มาลินีฉันท์ 15 สัททุลวิกกีฬิตฉันท์ 19 และสัทธราฉันท์ 21 ส่วนคำประพันธ์ประเภทกาพย์ ได้แก่ กาพย์ฉบัง 16 และกาพย์สุรางคนางค์ 28
บุณโณวาทคำฉันท์ให้ข้อมูลด้านสังคมวัฒนธรรมสมัยอยุธยา โดยเฉพาะข้อมูลด้านมหรสพและการละเล่นในงานสมโภช อย่างละครในเรื่องอิเหนา การแสดงหุ่น โมงครุ่ม ระบำ โขน ไต่ลวด ฯลฯ การแสดงดังกล่าวเป็นมหรสพโบราณที่ยังปรากฏในปัจจุบัน นอกจากนั้นยังมีบทพรรณนาความยิ่งใหญ่ของขบวนพยุหยาตรา บทพรรณนาความงามของพระมณฑปและรมณียสถานรอบพระพุทธบาท ทัศนียภาพอันงดงามของธรรมชาติ เป็นต้น[2]
บุณโณวาทคำฉันท์มีการตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2466
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "บุณโณวาทคำฉันท์". นามานุกรมวรรณคดีไทย.
- ↑ "คำอธิบาย บุณโณวาทคำฉันท์". วัชรญาณ.