ข้ามไปเนื้อหา

บายบิต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
Bybit
ประเภทตลาดแลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซี
ที่ตั้งดูไบ, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ก่อตั้งเมื่อพ.ศ. 2561; 7 ปีที่แล้ว (2561)
บุคลากรสำคัญเบน โจว (Ben Zhou; CEO)
เว็บไซต์bybit.com

บายบิต (Bybit) คือบริษัทศูนย์แลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซีที่มีฐานอยู่ในดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์[1] บริษัทกล่าวอ้างว่ามีผู้ใช้งานมากกว่า 60 ล้านคนทั่วโลก[1]

ประวัติ

[แก้]

บายบิตก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2561 โดยเบน โจว (Ben Zhou) ผู้ประกอบการจากสิงคโปร์ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร[1][2]

ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566 กองทรัพย์สินในคดีล้มละลายของบริษัทเอฟทีเอ็กซ์ (FTX bankruptcy estate) ได้ฟ้องบายบิตเป็นเงินเกือบ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ[3] โดยกล่าวหาว่ามิรานา (Mirana) ซึ่งเป็นแผนกการลงทุนของบายบิต ให้ความสำคัญกับการถอนเงินจากตลาดแลกเปลี่ยนของเอฟทีเอ็กซ์ ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ท่ามกลางความกังวลเรื่องสภาพคล่อง และถอนเงินเกือบ 500 ล้านดอลลาร์ก่อนที่การถอนเงินจะถูกระงับ[3] คำร้องในคดีดังกล่าวอ้างว่าบายบิตใช้สินทรัพย์ของเอฟทีเอ็กซ์เพื่อเร่งการถอนเงิน ปิดกั้นเอฟทีเอ็กซ์ไม่ให้เรียกคืนเงิน 125 ล้านดอลลาร์ และลดมูลค่าโทเค็นหลายสิบล้านดอลลาร์ผ่านระบบนิเวศ BitDAO[3] เอฟทีเอ็กซ์ยังโต้แย้งว่าการแลกเปลี่ยน (swap) โทเค็นกับบริษัทซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี อลาเมดา (Alameda) ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 ถูกยกเลิกในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 เมื่อ BitDAO ปรับโครงสร้างโทเค็นใหม่ ซึ่งจำกัดสิทธิในการไถ่ถอน ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 สินทรัพย์เป้าหมายในคำฟ้องมีมูลค่า 953 ล้านดอลลาร์[3]

การถูกแฮ็กในปี พ.ศ. 2568

[แก้]

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ 2568 บายบิตได้ประกาศว่าถูกแฮ็ก[4] มูลค่าของคริปโทเคอร์เรนซีที่ถูกขโมยไปมีขนาด 400,000 อีเธอเรียม[5] ซึ่งประมาณค่าเท่ากับ 1.5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งทำให้เป็นการแฮ็กศูนย์แลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซีครั้งใหญ่ที่สุดจนถึงปัจจุบัน[4] บริษัทวิเคราะห์บล็อคเชนอย่าง อาร์คัม อินเทลลิเจนต์ (Arkham Intelligence) และเอลลิปติค (Elliptic) อ้างว่าพวกเขาสามารถติดตามการแฮ็กพบว่าเชื่อมโยงไปยังกลุ่มลาซารัส (Lazarus Group) ซึ่งเป็นกลุ่มแฮกเกอร์ที่เป็นภัยคุกคามอย่างต่อเนื่องขั้นสูง และเชื่อมโยงกับเกาหลีเหนือ[5]

การให้การสนับสนุน

[แก้]

ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564 บายบิตได้ให้การสนับสนุนองค์กรอีสปอร์ตของยูเครน นาตุส วินเชเร (Natus Vincere, NAVI) ในข้อตกลง 3 ปี โดยเป็นพันธมิตรแพลตฟอร์มคริปโตอย่างเป็นทางการซึ่งมีตราสัญลักษณ์อยู่บนชุดแข่งขัน[6] ไม่นานหลังจากนั้นบายบิตก็ได้ลงนามในข้อตกลง 3 ปีที่คล้ายกันกับสโมสรอีสปอร์ตของเดนมาร์ก แอสตราลิส (Astralis) โดยมีตราสัญลักษณ์บนชุดแข่งเช่นกัน[7]

ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 บายบิตได้กลายเป็นผู้สนับสนุนหลักของทีมฟุตบอลทีมชาติอาร์เจนตินาผ่านข้อตกลง 2 ปีกับสมาคมฟุตบอลอาร์เจนตินา (AFA) โดยมีตราสัญลักษณ์บนเสื้อผ้าฝึกซ้อมก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022[8]

ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2565 บายบิตได้เข้าร่วมกับฟอร์มูลาวัน ในฐานะผู้สนับสนุนทีมออเรเคิลเร็ดบุลเรซซิง โดยมีข้อตกลงเป็นพันธมิตรหลายปี ซึ่งมีมูลค่า 150 ล้านดอลลาร์ในช่วง 3 ปี การสนับสนุนดำเนินไปตลอดฤดูกาล 2022 ถึง 2023 และได้สิ้นสุดลงหลังจบฤดูกาล 2024 โดยข้อตกลงร่วมกัน[9]

สถานะทางกฎหมาย

[แก้]

แคนาดา

[แก้]

ในปี พ.ศ. 2564 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ออนแทรีโอ (Ontario Securities Commission, OSC) ได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินการไปที่การแลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซีที่ไม่ได้ลงทะเบียน โดยพบว่าบายบิตเสนอบริการซื้อขายให้กับผู้อยู่อาศัยในออนแทรีโอโดยไม่ได้ลงทะเบียน หลังจากให้ความร่วมมือกับ OSC บายบิตก็บรรลุข้อตกลงในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 โดยจ่ายคืนทรัพย์สินจากรายได้และจ่ายค่าใช้จ่ายในการสืบสวนประมาณ 2.5 ล้านดอลลาร์แคนาดา และตกลงที่จะหยุดการเปิดบัญชีใหม่และการนำเสนอผลิตภัณฑ์ในออนแทรีโอ[10][11]

ญี่ปุ่น

[แก้]

บายบิตต้องเผชิญกับการดำเนินการทางกฎหมายจากสำนักงานบริการทางการเงิน (金融庁, FSA) เนื่องจากดำเนินการโดยไม่ได้ลงทะเบียนอย่างถูกต้อง ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 FSA ได้เตือนบายบิตเกี่ยวกับการอนุญาตให้ผู้มีถิ่นพำนักในญี่ปุ่นทำการซื้อขายแม้ว่าแพลตฟอร์มนี้จะไม่ได้รับอนุญาตในญี่ปุ่น และสั่งให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบในท้องถิ่น[12] ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2566 FSA ได้ออกคำเตือนต่อสาธารณะอีกครั้งเกี่ยวกับกิจกรรมการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีที่ไม่ได้ลงทะเบียนซึ่งกำหนดเป้าหมายไปที่ผู้ใช้ในญี่ปุ่น ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 FSA ได้ปิดกั้นบายบิตจากแอปสโตร์ และกูเกิล เพลย์[13]

สหราชอาณาจักร

[แก้]

ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 บายบิตหยุดให้บริการผู้ใช้ในสหราชอาณาจักร เพื่อตอบสนองต่อคำสั่งห้ามของหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงิน (Financial Conduct Authority, FCA) ต่อการค้าปลีกอนุพันธ์ของคริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2564[14]

สหรัฐอเมริกา

[แก้]

ในปี พ.ศ. 2564 บายบิตถูกปิดกั้นไม่ให้ดำเนินการในสหรัฐอเมริกา[15]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 "Cryptocurrency theft of £1.1bn could be biggest ever, says Bybit". www.bbc.com. 22 กุมภาพันธ์ 2025.
  2. "Ben Zhou: Latest Articles, Analysis and Profile". South China Morning Post (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2025.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 Schwartz, Leo (11 พฤศจิกายน 2023). "FTX claims Bybit, one of world's largest crypto exchanges, used VIP status to pull hundreds of millions of dollars during collapse". Fortune Crypto.
  4. 4.0 4.1 Yaffe-Bellany, David (22 กุมภาพันธ์ 2025). "Big Day for Crypto Goes South After Bybit Hack" – โดยทาง NYTimes.com.
  5. 5.0 5.1 "North Korean hackers suspected of being behind record US$1.5 billion hack of crypto exchange Bybit". CNA. 23 กุมภาพันธ์ 2025.
  6. Nicholson, Jonno (18 สิงหาคม 2021). "NAVI unveils Bybit as cryptocurrency partner".
  7. Daniels, Tom (23 สิงหาคม 2021). "Astralis agrees three-year deal with cryptocurrency platform Bybit".
  8. Sale, Jessie (18 พฤศจิกายน 2021). "AFA adds Bybit brand to national team's kit - Insider Sport".
  9. "Red Bull sign partnership deal with cryptocurrency exchange Bybit". Reuters. 16 กุมภาพันธ์ 2022.
  10. Bhardwaj, Shashank (2022). "Bybit signs a settlement agreement with Ontario Trading commission". Forbes India.
  11. "OSC holds global crypto asset trading platforms accountable". 22 มิถุนายน 2022.
  12. "Warning issued to Bybit Fintech Limited that is operating crypto-asset (virtual currency) exchange businesses without proper registrationopen new window" (PDF). FSA Weekly Review No.443 (ภาษาญี่ปุ่น). 28 พฤษภาคม 2021.
  13. Qureshi, Mehab (7 กุมภาพันธ์ 2025). "Japan blocks major crypto exchanges from App Store and Google Play". TheStreet.
  14. Erazo, Felipe (31 พฤษภาคม 2021). "FSA Warns of Bybit Operating Unregistered Crypto Services in Japan". Finance Magnates. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 ธันวาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2025.
  15. Osipovich, Alexander (30 กรกฎาคม 2021). "U.S. Crypto Traders Evade Offshore Exchange Bans". Wall Street Journal.