บาตารากาลา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บาตารากาลา
ตัวหนังวายังรูปบาตารากาลา
กลุ่มสิ่งมีชีวิตในตำนาน
กลุ่มย่อยอันเดด
ผู้ให้กำเนิดศิวะ, ทุรคา
ประเทศอินโดนีเซีย
ภูมิภาคศาสนาฮินดูแบบชวา
ศาสนาฮินดูแบบบาหลี

บาตารากาลา (อินโดนีเซีย: Batara Kala) ในวรรณคดีอิเหนาของไทยเรียก ปะตาระกาหลา เป็นเทพเจ้าประจำยมโลกตามเทวตำนานของฮินดูแบบชวาและบาหลี โดยปกครองอยู่ภายในถ้ำร่วมกันกับเทพีเซเตซูยารา (Setesuyara)[1][2] ได้รับการนับถือว่าเป็นเทพเจ้าผู้สร้างแสงสว่างและโลก เป็นเทพเจ้าแห่งกาลเวลา และเทพแห่งการทำลาย มีอำนาจในการก่อให้เกิดสุริยุปราคา จันทรุปราคา หรือแม้แต่ผลาญคนที่อัปโชค

ในวรรณคดีไทยเรื่องอิเหนา บาตารากาลา หรือ ปะตาระกาหลา เป็นเทพบรรพชนของอสัญแดหวาหรือสกุลของเจ้าผู้ครองเมืองซึ่งสืบเชื้อสายจากเทวดา มีอยู่ทั้งหมดสี่เมือง ได้แก่ เมืองกุเรปัน ดาหา กาหลัง และสิงหัดส่าหรี ถือเป็นเทวดาผู้ยิ่งใหญ่ที่คอยกำหนดชะตาชีวิตของตัวละคร[3]

ประวัติ[แก้]

ตำนานเบื้องกำเนิดของบาตารากาลา หรือ ปะตาระกาหลา สำนวนหนึ่งอธิบายไว้ว่า บาตารากูรู (Batara Guru; คือพระศิวะในคติชวา)[4] มีพระชายาผู้ทรงสิริโฉมนามว่าเดวีอูมา (Batara Uma; คือพระปารวตีในคติชวา) ทว่าวันหนึ่งบาตารากูรูไม่สามารถควบคุมกามารมณ์ของตนเองได้ จึงไปสังวาสกับเดวีอูมาบนหลังโคนนทิ ซึ่งเป็นพาหนะศักดิ์สิทธิ์ สร้างความอับอายขายหน้าแก่เดวีอูมายิ่งนัก เดวีอูมาที่โกรธเกรี้ยว (คือกลายเป็นนางทุรคา) ได้สาปสรรให้ทั้งบาตารากูรู และบุตรที่เกิดขึ้นมาคือบาตารากาลา มีหน้าตาอัปลักษณ์เหมือนยักษ์[4]

ส่วนอีกสำนวนหนึ่งอธิบายว่า บาตารากูรูทำน้ำอสุจิตกลงไปหยดหนึ่ง แต่มีปลากลืนอสุจินั้นลงไปจนตั้งครรภ์ และให้กำเนิดบาตารากาลา[5]

เชื่อกันว่าบาตารากาลามีความต้องการด้านการบริโภคไม่มีมีสิ้นสุด และมีพฤติกรรมหยาบคาย เหล่าเทวดาจึงส่งบาตารากาลาลงไปกำจัดมนุษย์ที่ชั่วช้า แต่บาตารากาลากลืนกินมนุษย์ลงไป ก็เพียงเพื่อสนองความต้องการด้านการบริโภคเท่านั้น หาใช่การลงทัณฑ์คนเลว เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนั้น เหล่าเทวดาจึงเรียกตัวบาตารากาลากลับขึ้นมาบนสวรรค์อีกครั้ง และถูกส่งไปปกครองยมโลกร่วมกันกับเทพีเซเตซูยารา[1][2][6]

การบูชา[แก้]

ชาวชวามีธรรมเนียมในการบูชาบาตารากาลาในฐานะเทพเจ้าแห่งกาลเวลา และเทพเจ้าแห่งการทำลาย เพื่อป้องกันเหตุร้ายโดยเฉพาะกับเยาวชน[7] มีพิธีกรรมสะเดาะเคราะห์ เรียกว่า รูวาตัน (ruwatan) สำหรับเด็กในช่วงสถานการณ์ที่เลวร้าย อย่างเช่น การคลอดท่าก้น เพื่อมิให้เด็กคนนั้นถูกบาตารากาลากลืนกิน ในพิธีดังกล่าวจะจัดการแสดงวายัง (หนังตะลุงอย่างชวา) และการจัดเลี้ยงเซอลามาตัน (selamatan)[8]

นอกจากนี้ในความเชื่อของชาวชวาระบุว่า บาตารากาลาเป็นสาเหตุของการเกิดุสุริยุปราคา และจันทรุปราคา[9] ด้วยเป็นเทพเจ้าแห่งความมืดและนรก ทั้งยังเป็นศัตรูตัวฉกาจของเทพบาตาราจันดรา (Batara Candra; คือพระจันทร์ในคติชวา) และบาตาราซูรียา (Batara Surya; คือพระอาทิตย์ในคติชวา) บางครั้งบาตารากาลาจะพยายามกลืนกินดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ทำให้เกิดคราส ชาวชวาจะทำการเซ่นสรวงสังเวย ใช้ไม้ตีพริกเคาะเลซุง (ครกไม้ใหญ่คล้ายครกกระเดื่องของไทย) หรือตีกลอง เพื่อให้เกิดเสียงดัง ด้วยมุ่งหวังให้บาตารากาลาคายดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์เพื่อหยุดคราส[10]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 C. Scott Littleton; Marshall Cavendish Corporation (January 2005). Gods, goddesses, and mythology. Marshall Cavendish. pp. 1324–. ISBN 978-0-7614-7559-0. สืบค้นเมื่อ 2 January 2011.
  2. 2.0 2.1 Miguel Covarrubias (1986). Island of Bali. KPI. pp. 7–. ISBN 978-0-7103-0134-5. สืบค้นเมื่อ 2 January 2011.
  3. สุภัค มหาวรากร. "บทละครเรื่อง อิเหนา". นามานุกรมวรรณคดีไทย. สืบค้นเมื่อ 23 มีนาคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. 4.0 4.1 Monbaron, Simon (1999). Subud the Coming New Age of Reality: The Most Complete Book on Subud. Peace. p. 573. ISBN 978-0-9672753-1-4.
  5. Emigh, John (1996). Masked performance: the play of self and other in ritual and theatre. University of Pennsylvania Press. p. 100. ISBN 978-0-8122-1336-2.
  6. Khoon, Choy Lee (1999). A fragile nation: the Indonesian crisis. World Scientific. p. 209. ISBN 978-981-02-4003-5.
  7. Geels, Antoon (1997). Subud and the Javanese mystical tradition. 0700706232, 9780700706235. p. 75. ISBN 978-0-7007-0623-5.
  8. Weintraub, Andrew Noah (2004). Power plays: wayang golek puppet theater of West Java. Ohio University Press. p. 39. ISBN 978-981-230-249-6.
  9. Archaeoastronomy, Volumes 6-8. University of Maryland, College Park. Center for Archaeoastronomy. 1984. p. 197.
  10. "Gerhana Disambut Ritual Usir Batara Kala". okezone.com. June 16, 2011.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]