พินัยกรรมทางการเมืองของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หน้าแรกของพินัยกรรม

"พินัยกรรมทางการเมืองของข้าพเจ้า" (เยอรมัน: Mein politisches Testament) อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ลงนามในพินัยกรรมส่งมอบอำนาจทางการเมือง ณ ฟือเรอร์บุงเคอร์ เบอร์ลิน เวลาตีสี่ของวันที่ 29 เมษายน ค.ศ. 1945 หนึ่งวันก่อนที่เขาจะฆ่าตัวตายพร้อมภริยา กระบวนการพิจารณาคดีเนือร์นแบร์คเรียกเอกสารฉบับนี้ว่า พินัยกรรมทางการเมืองของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (เยอรมัน: Politisches Testament Adolf Hitlers)

ส่วนของคำสั่งเสียส่วนตัวระบุว่า ทั้งคู่เลือกตายดีกว่ายอมจำนนและให้จัดการศพของพวกตนด้วยการเผา ทั้งยังมอบหมายให้มาร์ทีน บอร์มัน เป็นผู้จัดการเรื่องดังกล่าว ส่วนพินัยกรรมทางการเมืองมีสองส่วน ในส่วนแรก เขาระบุว่า ไม่ยอมรับข้อกล่าวหาเรื่องบ้าสงคราม ขอบคุณพลเมืองเยอรมันที่จงรักภักดี และร้องขอให้พลเมืองฮึดสู้ต่อไป ในส่วนที่สอง เขาประกาศให้ ไฮน์ริช ฮิมเลอร์ กับแฮร์มัน เกอริง เป็นกบฏ และกำหนดแผนการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของจอมพลเรือคาร์ล เดอนิทซ์

เทราเดิล ยุงเงอ เลขานุการของฮิตเลอร์ จำได้ว่า ฮิตเลอร์อ่านข้อความพินัยกรรมจากที่เขียนไว้แล้วให้จดตาม และเชื่อกันว่า โยเซ็ฟ เกิบเบิลส์ เป็นผู้ช่วยจด

คำสั่งเสีย[แก้]

ส่วนแรกของเอกสารคือคำสั่งเสียส่วนตัว ซึ่งบันทึกว่าฮิตเลอร์ได้ทำการสมรสโดยกฎหมายแล้ว (แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นการสมรสกับเอฟา เบราน์) และระบุว่าฮิตเลอร์กับเบราน์ยอมตายดีกว่ายอมสละอำนาจหรือจำนนให้อดสู ทั้งกำหนดว่า ให้จัดการศพของทั้งคู่ด้วยการเผา คำสั่งเสียระบุให้จัดการทรัพย์สินของฮิตเลอร์ดังนี้[1]

  • ของสะสมทางศิลปะ ให้มอบแก่หอศิลป์ในบ้านเกิดของฮิตเลอร์ที่เมืองลินทซ์บนฝั่งแม่น้ำดานูบ
  • วัตถุที่มีคุณค่าทางจิตใจหรือจำเป็นต่อการดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย ให้มอบแก่ญาติพี่น้องของฮิตเลอร์ และเพื่อนร่วมงานผู้ซื่อสัตย์ เช่น อันนี วินเทอร์ ผู้เป็นแม่บ้าน
  • ของมีค่าอย่างอื่นที่ฮิตเลอร์มีในครอบครอง ให้มอบแก่พรรคนาซี

มาร์ทีน บอร์มัน ถูกระบุชื่อให้เป็นผู้จัดการคำสั่งเสียส่วนตัวของฮิตเลอร์ คำสั่งเสียนี้มีบอร์มันเองและพันเอก นิโคเลาส์ ฟ็อน เบโล ลงนามเป็นพยาน[2]

พินัยกรรรมทางการเมือง[แก้]

พินัยกรรมทางการเมืองลงนาม ณ วันเวลาเดียวกับคำสั่งเสียส่วนตัว[3]

พินัยกรรมส่วนแรกพรรณนาแรงจูงใจของฮิตเลอร์ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมานับแต่อาสาเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และกล่าวย้ำข้อกล่าวอ้างของฮิตเลอร์ที่ว่า จะฮิตเลอร์เองก็ดี จะคนอื่นคนใดในเยอรมนีก็ดี ไม่มีใครอยากให้เกิดสงครามเมื่อปี ค.ศ. 1939 ทั้งยังระบุเหตุผลของฮิตเลอร์ที่ประสงค์จะฆ่าตัวตาย พร้อมชื่นชมและขอบคุณชาวเยอรมันที่สนับสนุนและสร้างความสำเร็จด้วยกันตลอดมา[4] ส่วนแรกนี้ยังลงรายละเอียดเรื่องข้อกล่าวอ้างของฮิตเลอร์ที่ว่า ฮิตเลอร์พยายามเลี่ยงไม่ทำสงครามกับชาติอื่น ๆ แล้ว และยกการเกิดสงครามให้เป็นความรับผิดชอบของหนังสือพิมพ์ ดิอินเทอร์เนชันนัลจิว กับผู้ช่วยเหลือหนังสือพิมพ์นี้[5] ฮิตเลอร์ระบุว่า ตนจะไม่ทิ้งเบอร์ลิน แม้มีกำลังน้อยนิดเกินกว่าจะรักษาเมืองไว้ได้ ฮิตเลอร์ยังแถลงเจตนาที่เลือกตายดีกว่าตกในเงื้อมมือศัตรู[6] เขาทิ้งท้ายพินัยกรรมส่วนนี้ด้วยข้อเรียกร้องให้เสียสละและต่อสู้กันต่อไป[6] กับทั้งแสดงความหวังว่า จะรื้อฟื้นขบวนการสังคมนิยมแห่งชาติขึ้นใหม่เพื่อก่อให้เกิด "ประชาคมประชาชาติที่แท้จริง" (true community of nations)[5]

พินัยกรรมส่วนที่สองระบุเจตนาของฮิตเลอร์เกี่ยวกับรัฐบาลเยอรมนีและพรรคนาซีหลังจากที่เขาสิ้นชีพแล้ว กับทั้งรายละเอียดเรื่องใครจะสืบตำแหน่งเขา เขายังให้ไล่แฮร์มัน เกอริง ออกจากพรรคและจากตำแหน่งราชการทุกตำแหน่ง และยกเลิกกฤษฎีกาฉบับ ค.ศ. 1941 ที่ตั้งเกอริงเป็นผู้สืบตำแหน่งเขาหลังเขาเสียชีวิตแล้ว พินัยกรรมระบุให้ตั้งคาร์ล เดอนิทซ์ เป็นประธานาธิบดีและผู้บัญชาการทหาร แทนที่เกอริง[7] พินัยกรรมยังให้ไล่ไฮน์ริช ฮิมเลอร์ ออกจากพรรคและตำแหน่งราชการทุกตำแหน่ง ฐานที่พยายามเจรจาสันติภาพกับสัมพันธมิตรตะวันตกโดยที่ฮิตเลอร์ไม่รับรู้และไม่อนุญาต[6] นอกจากนี้ ฮิตเลอร์ให้เรียกเกอริงและฮิมเลอร์ว่า กบฏ[8]

ฮิตเลอร์ให้ตั้งบุคคลต่อไปนี้เป็นคณะรัฐมนตรีชุดใหม่และเป็นผู้นำประเทศ[9]

พินัยกรรมมีพยาน คือ โยเซ็ฟ เกิบเบิลส์, มาร์ทีน บอร์มัน, พลเอก วิลเฮ็ล์ม บวร์คดอร์ฟ, และพลเอก ฮันส์ เครพส์[3]

ครั้นบ่ายวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1945 ราวหนึ่งวันครึ่งหลังจากฮิตเลอร์ลงนามในบันทึกความประสงค์และพินัยกรรมแล้ว ฮิตเลอร์กับเบราน์ผู้เป็นภริยาก็ฆ่าตัวตาย[10] เกิบเบิลส์, พลเอก บวร์คดอร์ฟ, และพลเอก เครพส์ ฆ่าตัวตายตามไปในอีกสองวันถัดมา ส่วนบอร์มันฆ่าตัวตายในวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 1945 เพื่อไม่ให้ทหารโซเวียตที่ล้อมเบอร์ลินอยู่จับตัวได้[11]

อ้างอิง[แก้]

  1. Hitler 1945a.
  2. Kershaw 2008, pp. 948, 950.
  3. 3.0 3.1 Kershaw 2008, p. 950.
  4. Kershaw 2008, p. 948.
  5. 5.0 5.1 Hitler 1945b.
  6. 6.0 6.1 6.2 Kershaw 2008, p. 949.
  7. Kershaw 2008, pp. 949, 950.
  8. Evans 2008, p. 724.
  9. Hitler 1945b; NS-Archiv
  10. Kershaw 2008, pp. 953–955.
  11. Beevor 2002, pp. 381, 383, 387, 389.

บรรณานุกรม[แก้]

  • Beevor, Antony (2002). Berlin: The Downfall 1945. London: Viking–Penguin Books. ISBN 978-0-670-03041-5. {{cite book}}: |ref=harv ไม่ถูกต้อง (help)
  • Evans, Richard J. (2008). The Third Reich At War. New York: Penguin Group. ISBN 978-0-14-311671-4. {{cite book}}: |ref=harv ไม่ถูกต้อง (help)
  • Hitler, Adolph (1945a). My Private Will and Testament . {{citation}}: |ref=harv ไม่ถูกต้อง (help)
  • Hitler, Adolph (1945b). My Political Testament . {{citation}}: |ref=harv ไม่ถูกต้อง (help)
  • Kershaw, Ian (2008). Hitler: A Biography. New York: W. W. Norton & Company. ISBN 978-0-393-06757-6. {{cite book}}: |ref=harv ไม่ถูกต้อง (help)