ข้ามไปเนื้อหา

บริษัทไฟฟ้าสยาม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บริษัทไฟฟ้าสยาม
อุตสาหกรรมสาธารณูปโภคไฟฟ้า
ก่อตั้งพ.ศ. 2441; 127 ปีที่แล้ว (2441)
เลิกกิจการพ.ศ. 2493; 75 ปีที่แล้ว (2493)
สาเหตุโอนมาเป็นของรัฐและภายหลังควบรวมเข้ากับการไฟฟ้านครหลวง
สำนักงานใหญ่
พื้นที่ให้บริการกรุงเทพมหานคร

บริษัทไฟฟ้าสยาม เป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าแห่งแรกของประเทศไทย จัดหาไฟฟ้าให้กรุงเทพฯ จาก โรงไฟฟ้าวัดเลียบ ตลอดครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 และยังเป็นผู้ดำเนินการระบบรถรางหลักของพระนครอีกด้วย

บริษัทเริ่มก่อตั้งครั้งแรกในปี พ.ศ. 2432 แต่ประสบปัญหาและล้มละลายภายในไม่กี่ปี ในปี พ.ศ. 2441 บริษัทเดนมาร์กที่มีชื่อเดียวกันได้รับสัมปทานในการดำเนินงาน และธุรกิจก็เจริญรุ่งเรืองภายใต้บริษัทใหม่ มีไฟฟ้าให้บริการครอบคลุมทั่วทั้งพระนคร เช่นเดียวกับบริการรถราง โรงไฟฟ้าได้รับความเสียหายอย่างหนักจากการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรเมื่อปลายสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ได้รับการซ่อมแซมและดำเนินการต่อไปเกือบสองทศวรรษ บริษัทได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทไฟฟ้าไทย คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในปี พ.ศ. 2482 (เนื่องจากมีการเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทย) ดำเนินกิจการจนถึงปี พ.ศ. 2493 เมื่อสัมปทานสิ้นสุดลงและถูกโอนเป็นของรัฐในชื่อ การไฟฟ้ากรุงเทพ ต่อมาได้มีการควบรวมและเปลี่ยนเป็นการไฟฟ้านครหลวง ในปี พ.ศ. 2501 อาคารเดิมของบริษัทกำลังได้รับการบูรณะและเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์

ประวัติ

[แก้]

จุดเริ่มต้น

[แก้]
โรงไฟฟ้า (4 และ 5) และห้องเครื่อง (6) ที่บริษัทไฟฟ้าสยาม จากหนังสือ Twentieth Century Impressions of Siam ใน ค.ศ. 1908

บริษัทไฟฟ้าสยามก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2432 โดยกลุ่มพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนาง นำโดยพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ กรมหมื่นสรรพสาตรศุภกิจ ผู้ซึ่งได้กราบทูลต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อขอสัมปทานผูกขาดเป็นเวลาสามสิบปีในสิ่งที่จะเป็นโรงไฟฟ้าแห่งแรกของประเทศ[1][a] บริษัทไฟฟ้าสยามก่อตั้งขึ้นเป็นบริษัทเอกชน แม้ว่าหุ้นส่วนใหญ่จะเป็นของพระมหากษัตริย์ แต่การดำเนินงานของบริษัทเป็นอิสระจากรัฐบาล โรงไฟฟ้าตั้งอยู่ในบริเวณวัดราชบุรณราชวรวิหาร ซึ่งเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วัดเลียบ ส่งผลให้โรงไฟฟ้าแห่งนี้รู้จักกันในชื่อ โรงไฟฟ้าวัดเลียบ ไฟฟ้าผลิตด้วยเครื่องจักรไอน้ำ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้แกลบจากโรงสีจำนวนมากในบริเวณใกล้เคียงเป็นเชื้อเพลิง และจำหน่ายไปตามถนนหลายสายในตัวเมือง ได้แก่ถนนตรีเพชร ถนนบ้านหม้อ ถนนสนามไชย และถนนบำรุงเมืองทางเหนือ และถนนเจริญกรุง ถนนเยาวราช และถนนสำเพ็งทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ไฟฟ้าถูกนำมาใช้เฉพาะเพื่อให้แสงสว่างเท่านั้น โดยส่วนใหญ่จะใช้ตามถนน พระราชวังและสถานที่ราชการ รวมถึงบ้านพักของขุนนางและชาวต่างชาติจำนวนหนึ่ง ซึ่งหมายความว่ารายได้ส่วนใหญ่มาจากรัฐบาล[1]

การดำเนินกิจการในช่วงเริ่มแรกพบกับอุปสรรคมากมาย เช่น ความไม่น่าเชื่อถือ ต้นทุนที่พุ่งสูงเนื่องจากการจ้างวิศวกรชาวตะวันตก การขาดแคลนเชื้อเพลิง และการขโมยสายไฟฟ้า บริษัทล้มละลายในปี พ.ศ. 2435 หลังจากดำเนินกิจการมาได้ 3 ปี และรัฐบาลก็เข้ามาดำเนินการแทน แม้ว่าจะไม่เต็มใจนักเนื่องจากยังคงดำเนินกิจการต่อไปทั้ง ๆ ที่ขาดทุน ในปี พ.ศ. 2440 รัฐบาลได้ให้สัมปทานทางธุรกิจที่สามารถขยายเวลาได้เป็นเวลา 10 ปีแก่ L.E. Bennet ชาวอเมริกัน ซึ่งขายสิทธิ์ให้กับกลุ่มบริษัทเดนมาร์กที่นำโดยอ็องเดร ดูว์ แปลซี เดอ รีเชอลีเยอ ในปีถัดมา[1]

การดำเนินงานของเดนมาร์ก

[แก้]

ชาวเดนมาร์กได้จัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นในกรุงโคเปนเฮเกน เป็นที่รู้จักในชื่อบริษัทไฟฟ้าสยาม (หรืออีกชื่อหนึ่งคือ บริษัทไฟฟ้าจำกัด) และได้ฟื้นฟูกิจการขึ้นมาใหม่ โดยได้ขยายระยะเวลาสัมปทานออกไปจนถึงปี พ.ศ. 2493 ภายใต้การบริหารงานของอาร์เก เวสเทนโฮลซ์ การขยายระบบไฟฟ้าได้ขยายไปทางเหนือถึงพระราชวังดุสิต และไปทางตะวันออกเฉียงใต้ถึงย่านธุรกิจของชาวจีนและชาวตะวันตก (ปัจจุบันคือไชนาทาวน์และบางรัก) ซึ่งธุรกิจเอกชนต่าง ๆ ก็เริ่มนำระบบนี้มาใช้โดยรวดเร็ว[1] บริษัทจัดหาไฟฟ้าให้กับรถรางสายแรกของกรุงเทพฯ ซึ่งได้เริ่มเดินรถในปี พ.ศ. 2436 และได้ซื้อกิจการสายนี้ในปี พ.ศ. 2443[2] ในปี พ.ศ. 2451 ได้ดำเนินการรถรางครึ่งพระนคร และยังให้บริการรดน้ำถนนและดับเพลิงแก่พระนครอีกด้วย[3]

บริษัทประสบความสำเร็จอย่างมาก และทุนของบริษัทก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นเจ็ดเท่าภายในสิบปีหลังดำเนินกิจการ[1] บริษัทถูกขายให้กับกลุ่มชาวเบลเยียมในปี พ.ศ. 2456[2] และมีโรงไฟฟ้าสามเสนซึ่งเป็นของรัฐบาลเข้ามาร่วมในตลาดในปี พ.ศ. 2457 ไฟฟ้าสยามเป็นผู้รับผิดชอบจัดหาไฟฟ้าบริเวณใต้คลองบางลำพู ทางด้านทิศตะวันออกของพระนคร และใต้คลองบางกอกน้อย ทางด้านฝั่งธนบุรี[4]

ช่วงท้าย

[แก้]
โรงไฟฟ้าถูกทิ้งระเบิดจากเครื่องบินของกองทัพอากาศสหราชอาณาจักรในวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2488

เมื่อสยามเปลี่ยนชื่อเป็นประเทศไทยในปี พ.ศ. 2482 บริษัทจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทไทยไฟฟ้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อประเทศไทยเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น กรุงเทพมหานครต้องตกเป็นเป้าโจมตีของการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร และโรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งก็ถูกทิ้งระเบิดจนเสียหายในเดือนเมษายน พ.ศ. 2488 ทำให้ทั้งเมืองมืดไปหมด โรงไฟฟ้าวัดเลียบได้กลับมาเดินเครื่องอีกครั้งหลังจากผ่านไป 2 เดือน และดำเนินการต่อภายใต้บริษัทจนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2492 ซึ่งเป็นช่วงที่สัมปทานหมดอายุลง โดยให้การไฟฟ้ากรุงเทพที่จัดตั้งขึ้นเป็นรัฐวิสาหกิจเมื่อปี พ.ศ. 2493 เข้ามาดำเนินการแทน[4]

ความต้องการใช้ไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครและทั่วประเทศเพิ่มสูงขึ้นในช่วงหลังสงคราม ส่งผลให้รัฐบาลต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของประเทศใหม่ การไฟฟ้ากรุงเทพได้รวมเข้ากับกองไฟฟ้า กรมโยธาเทศบาล (ผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าสามเสน) จนกลายมาเป็นการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เมื่อปี พ.ศ. 2501[4] โรงไฟฟ้าวัดเลียบหยุดดำเนินการในเวลาต่อมาไม่นาน เนื่องจากมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่กว่าเข้ามาแทนที่

อาคารเดิมของโรงไฟฟ้าวัดเลียบ ยังคงตั้งอยู่ ณ การไฟฟ้านครหลวง เขตวัดเลียบ และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากร ในปี พ.ศ. 2563 การไฟฟ้านครหลวงได้ประกาศแผนบูรณะอาคารเพื่อใช้เป็นพิพิธภัณฑ์การไฟฟ้าไทย[5]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. ก่อนหน้านี้ได้มีการติดตั้งไฟฟ้าในพระบรมมหาราชวัง

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 "แรกมี "ไฟฟ้า" ในสยาม สิ่งฟุ่มเฟือยของชนชั้นนำ สู่กิจการโรงไฟฟ้า ไทยทำเจ๊ง ฝรั่งทำรุ่ง". Silpa Wattanatham. 19 January 2021. สืบค้นเมื่อ 30 July 2021.
  2. 2.0 2.1 Nielsen, Flemming Winther (5 February 2011). "Aage Westenholz – the First Expert". Scandasia. สืบค้นเมื่อ 31 July 2021.
  3. Wright, Arnold; Breakspear, Oliver T. (บ.ก.). Twentieth century impressions of Siam: its history, people, commerce, industries, and resources, with which is incorporated an abridged edition of Twentieth century impressions of British Malaya. London [etc.]: Lloyds Greater Britain Publishing Company, Ltd. pp. 188–192. สืบค้นเมื่อ 6 June 2021.
  4. 4.0 4.1 4.2 "Thailand Electricity History". www.egat.co.th. Electricity Generating Authority of Thailand. สืบค้นเมื่อ 31 July 2021.[ลิงก์เสีย]
  5. "MEA worships sacred spirits at Building 1 of MEA Wat Liab in preparation for restoration works to create "Thai Electricity Museum" (PR news)". Bangkok Post. 11 August 2020. สืบค้นเมื่อ 31 July 2021.