ข้ามไปเนื้อหา

น้ำมูกไหลลงคอ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
น้ำมูกไหลลงคอ
(Post-nasal drip)
ชื่ออื่นupper airway cough syndrome (UACS), post nasal drip syndrome (PNDS)
เสมหะในคอ
สาขาวิชาโสตศอนาสิกวิทยา

น้ำมูกไหลลงคอ หรือ เสมหะในคอ (อังกฤษ: Post-nasal drip, PND) หรือเรียกว่า อาการไอเหตุทางเดินหายใจส่วนบน (อังกฤษ: upper airway cough syndrome, UACS) เกิดเมื่อเยื่อเมือกในจมูกผลิตเมือก/มูกมากเกิน แล้วไหลไปสะสมอยู่ที่ด้านหลังจมูก จนในที่สุดไหลลงไปในคอ โดยมีเหตุมาจากเยื่อจมูกอักเสบ โพรงอากาศอักเสบ โรคกรดไหลย้อน หรือโรคเกี่ยวกับการกลืน เช่นการบีบตัวผิดปกติของหลอดอาหาร หรืออาจเกิดจากภูมิแพ้ (คือ allergic postnasal drip) หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ จากยา หรือจากเหตุอื่น [1]

อย่างไรก็ดี มีนักวิชาการที่อ้างว่า มูกที่ไหลไปในคอจากหลังจมูกเป็นการทำงานตามธรรมชาติที่พบในบุคคลปกติและผู้ไม่ไอด้วย จึงเป็นเพียงแค่อาการ (symptom) ไม่ใช่กลุ่มอาการ (syndrome) ที่สัมพันธ์กับการไอเรื้อรัง โดยวรรณกรรมการแพทย์ในสังคมต่าง ๆ ก็กล่าวถึงไม่เท่ากัน ขาดคำนิยามที่ยอมรับ ไร้การเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อทางพยาธิวิทยา และไม่สามารถทดสอบได้ทางชีวเคมี[2]

อาการ

[แก้]

อาการอาจปรากฏเป็นความไม่สบายที่มีอยู่ตลอดในทางเดินหายใจส่วนบน ทั่วไปจะระบุว่า เป็นความรู้สึกว่ามีอะไรไหลลงไปในคอ และอาจปรากฏร่วมกับน้ำมูกไหล การกระแอมเคลียร์คอเรื่อย ๆ การไอ แต่อาการก็ไม่สามารระบุโรคใดโรคหนึ่งโดยเฉพาะ[3] น้ำมูกไหลลงคอเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดสำหรับการไอเรื้อรัง ซึ่งนิยามว่าเป็นการไอที่ดำเนินต่อเนื่องเกินกว่า 8 สัปดาห์[4]

น้ำมูกไหลลงคออาจเป็นสาเหตุของกล่องเสียงอักเสบหรือไวการตอบสนองมากเกินไป แล้วทำให้สายเสียงทำงานผิดปกติ (vocal cord dysfunction)[5][6][7]

สาเหตุ

[แก้]

มีเหตุให้น้ำมูกไหลลงคอหลายอย่าง ซึ่งอาจเป็นแบบเฉียบพลันหรือเรื้อรัง

โรคกรดไหลย้อน

[แก้]

โรคกรดไหลย้อนมักสัมพันธ์กับอาการในระบบทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งคล้ายกับน้ำมูกไหลลงคอ เช่น การไอ การกระแอมขับเสมหะ เสียงแหบ และเสียงเปลี่ยน กรดไหลย้อนทำให้คอระคายเคือง ทำให้รู้สึกว่ามีเมือกเพิ่มขึ้นในคอ ซึ่งเชื่อว่าเป็นเหตุหรือทำอาการน้ำมูกไหลลงคอให้แย่ลง[3]

เยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้

[แก้]

เยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้เป็นภาวะที่พบได้บ่อย เกิดจากการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ ทำให้ร่างกายปล่อยสารสื่อการอักเสบ เช่น ฮิสตามีน ที่ทำให้จาม น้ำมูกไหล คันตา และคัดจมูก[8] การเพิ่มน้ำมูกไหลและการผลิตเมือกเพิ่ม อาจมีผลเป็นน้ำมูกไหลลงคอ

เยื่อจมูกอักเสบที่ไม่ใช่จากภูมิแพ้

[แก้]

เยื่อจมูกอักเสบที่ไม่ใช่จากภูมิแพ้ (NAR) มีอาการของเยื่อจมูกอักเสบ ซึ่งรวมถึงน้ำมูกไหลและการคัดจมูก แต่ผลการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังและซีรัมเป็นลบ[8] สามารถแบ่งประเภทออกเป็น:[ต้องการอ้างอิง]

  • เยื่อจมูกอักเสบที่ไม่ใช่จากภูมิแพ้ร่วมกับการมีเม็ดเลือดขาวอีโอซิโนฟิลสูง (NARES)
  • เยื่อจมูกอักเสบจากฮอร์โมน (เช่น ระหว่างตั้งครรภ์)
  • เยื่อจมูกอักเสบจากยา
  • เยื่อจมูกอักเสบแบบฝ่อ (atrophic rhinitis)
  • เยื่อจมูกอักเสบจากสารระคายเคืองและอาชีพ (รวมถึงควันบุหรี่ น้ำยาทำความสะอาด ฯลฯ)
  • เยื่อจมูกอักเสบที่ไม่ใช่จากภูมิแพ้และไม่ทราบสาเหตุ

ไซนัสอักเสบ (rhinosinusitis)

[แก้]

ไซนัสอักเสบคือการอักเสบหรือการติดเชื้อของช่องไซนัส ไซนัสอักเสบฉับพลันจะมีอาการน้อยกว่าสี่สัปดาห์ ไซนัสอักเสบเรื้อรัง นานกว่า 12 สัปดาห์[9] การระคายเคืองที่ยืดเยื้อเช่นนี้อาจทำให้ผลิตเมือกเพิ่มขึ้น ซึ่งก่ออาการน้ำมูกไหลลงคอ[8]

กลไก

[แก้]

กลไกที่แน่นอนของ PND ขึ้นอยู่กับสาเหตุแต่โดยทั่วไปมักเกี่ยวข้องกับการผลิตเมือกเพิ่มขึ้นของเยื่อเมือกในจมูก นอกจากการดมกลิ่นแล้ว ช่องจมูกมีหน้าที่กรองและควบคุมอุณหภูมิและความชื้นของอากาศที่หายใจเข้า[8] เยื่อเมือกในช่องจมูกสามารถผลิตสารคัดหลั่งหรือเมือกที่ช่วยหล่อลื่นและปกป้องช่องจมูก ระบบประสาทอิสระเป็นตัวกระตุ้นการผลิตเมือกโดยใช้นิวโรเปปไทด์กลุ่มโคลีเนอร์จิก[8] เมือกส่วนเกินสามารถไหลลงคอด้านหลังไปยังทางเดินหายใจส่วนบนและล่างเหมือนกับสารระคายเคืองทางกายภาพและเคมีอื่น ๆ สามารถกระตุ้นตัวรับสัญญาณการไอในระบบทางเดินหายใจ ส่งผลให้ไอเพื่อป้องกันตัว[10]

การวินิจฉัย

[แก้]

การวินิจฉัยภาวะน้ำมูกไหลลงคอจะขึ้นอยู่กับทั้งประวัติอย่างละเอียดและการตรวจทางคลินิกเพื่อช่วยกำหนดสาเหตุ ประวัติอาจเริ่มจากความรู้สึกคัดจมูกโดยมีหรือไม่มีน้ำมูกไหล[11] หากสงสัยเยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ก็จะประเมินประวัติครอบครัวเกี่ยวกับภาวะภูมิแพ้ รวมถึงประวัติส่วนตัวของการมีภาวะที่เกี่ยวข้องกันอื่น ๆ เช่น ภูมิแพ้อาหาร โรคหอบหืด และผิวหนังอักเสบเหตุภูมิแพ้[11] เยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้มักมีอาการจามติดต่อกัน ตาคัน และปัญหาระบบหายใจมากกว่า แต่การแยกแยะประเภทเยื่อจมูกอักเสบโดยใช้อาการเพียงอย่างเดียวก็ทำได้ยาก[11][8] การสังเกตดูสามารถระบุการหายใจทางปากซึ่งบ่งชี้การอุดตันของจมูก หรือรอยย่นบนจมูกซึ่งเกิดจากการใช้ฝ่ามือถูปลายจมูกขึ้นเมื่อคัน (ซึ่งเรียกในบางพื้นที่ว่า วันทยหัตถ์เหตุภูมิแพ้)[11]

เมื่อไม่มีการทดสอบที่เฉพาะเจาะจง ก็อาจวินิจฉัยภาวะน้ำมูกไหลลงคอได้ยากจากประวัติอาการเพียงอย่างเดียว เพราะสาเหตุมีหลากหลายและอาการจะค่อนข้างทั่วไปกับโรคอื่น ๆ มาก ด้วยเหตุนี้ วิธีการตรวจที่ช่วยชี้ให้เห็นเยื่อจมูกอักเสบและสารคัดหลั่งมูกปนหนอง เช่น การส่องกล้องจมูก อาจใช้เพื่อใช้ช่วยระบุภาวะนี้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น[12][3]

การรักษา

[แก้]

การรักษาจะขึ้นอยู่กับอาการและสาเหตุ แพทย์อาจสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะหากมีอาการเพราะไซนัสอักเสบจากแบคทีเรีย[9] ในกรณีที่น้ำมูกไหลลงคอเกิดจากเยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้หรือจากสารระคายเคือง การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้หรือปัจจัยที่ระคายเคือง เช่น รังแค ควันบุหรี่ และน้ำยาทำความสะอาด อาจมีประโยชน์[8] ยาต้านฮิสตามีนมีประโยชน์โดยเฉพาะสำหรับเยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ และก็อาจมีสำหรับเยื่อจมูกอักเสบที่ไม่ใช่จากภูมิแพ้บางกรณี[8] ยาต้านฮิสตามีนรุ่นแรก เช่น คลอร์เฟนิรามีนและคลีมาสทีน มีประสิทธิภาพดีแต่มีผลข้างเคียงทำให้ง่วงนอนมากกว่า อาจใช้ยาต้านฮิสตามีนรุ่นใหม่ ๆ เพื่อลดผลข้างเคียงเหล่านี้[8] อะเซลาสทีนเป็นยาฉีดจมูกต้านฮิสตามีนซึ่งได้อนุมัติให้ใช้สำหรับเยื่อจมูกอักเสบทั้งจากภูมิแพ้และไม่ใช่จากภูมิแพ้ เนื่องจากมีผลต้านการอักเสบแยกต่างหากกับการต่อต้านตัวรับฮิสตามีน[8]

สเตียรอยด์ชนิดพ่นจมูกอาจมีประโยชน์กับผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อยาต้านฮิสตามีน การวิเคราะห์อภิมานแบบคอเคลนปี 2019 พบว่า สเตียรอยด์ชนิดพ่นจมูกพบว่าช่วยบรรเทาอาการเยื่อจมูกอักเสบที่ไม่ใช่จากภูมิแพ้ได้ดีกว่ายาหลอกจนถึงสัปดาห์ที่ 4 แต่หลังจากนั้น หลักฐานไม่แน่นอน[13] ยาลดอาการคัดจมูก เช่น ซูโดอีเฟดรีน สามารถทำให้หลอดเลือดเยื่อบุจมูกหดตัวแล้วทำให้ผลิตเมือกลดลง[8] ยาต้านโคลิเนอร์จิก เช่น ipratropium bromide สามารถช่วยลดการคัดหลั่งโดยบล็อกผลของระบบประสาทพาราซิมพาเทติกต่อเยื่อเมือกจมูก[8][14]

การศึกษาหนึ่งพบว่าอาการดีขึ้นหลังจากการรับประทานยาลดกรด lansoprazole 30 มก. วันละสองครั้งเป็นเวลา 8–16 สัปดาห์ ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีอาการทั่วไปของโรคกรดไหลย้อน[15]

วิธีการอื่น ๆ เช่น การดื่มน้ำอุ่นและการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ อาจช่วยลดอาการของน้ำมูกไหลลงคอ แต่ประสิทธิภาพการรักษาก็ยังไม่ชัดเจนในวรรณกรรมทางการแพทย์[16]

ระบาดวิทยา

[แก้]

เพราะน้ำมูกไหลลงคอมักระบุว่าเป็นอาการมากกว่าโรคต่างหาก อัตราการเกิดจึงไม่แน่ชัดและต่างกันไปตามสาเหตุ เยื่อจมูกอักเสบเรื้อรัง ทั้งชนิดจากภูมิแพ้และไม่ใช่จากภูมิแพ้ สามารถมีผลต่อประชากร 30–40%[13] เยื่อจมูกอักเสบที่ไม่ใช่จากภูมิแพ้มักพบในหญิงมากกว่าชาย[8]

เชิงอรรถและอ้างอิง

[แก้]
  1. "Postnasal Drip: Causes, Treatments, Symptoms, and More". WebMD (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2018-04-02.
  2. Morice, AH (2004). "Post-nasal drip syndrome--a symptom to be sniffed at?". Pulmonary Pharmacology & Therapeutics. 17 (6): 343–5. doi:10.1016/j.pupt.2004.09.005. PMID 15564073.
  3. 3.0 3.1 3.2 Sylvester, DC; Karkos, PD; Vaughan, C; Johnston, J; Dwivedi, RC; Atkinson, H; Kortequee, S (2012). "Chronic cough, reflux, postnasal drip syndrome, and the otolaryngologist". International Journal of Otolaryngology. 2012: 564852. doi:10.1155/2012/564852. PMC 3332192. PMID 22577385.
  4. Gibson, P; Wang, G; McGarvey, L; Vertigan, AE; Altman, KW; Birring, SS (January 2016). "Treatment of Unexplained Chronic Cough: CHEST Guideline and Expert Panel Report". Chest. 149 (1): 27–44. doi:10.1378/chest.15-1496. PMC 5831652. PMID 26426314.
  5. Ibrahim, WH; Gheriani, HA; Almohamed, AA; Raza, T (March 2007). "Paradoxical vocal cord motion disorder: past, present and future". Postgraduate Medical Journal. 83 (977): 164–72. doi:10.1136/pgmj.2006.052522. PMC 2599980. PMID 17344570.
  6. Gimenez, LM; Zafra, H (April 2011). "Vocal cord dysfunction: an update". Annals of Allergy, Asthma & Immunology. 106 (4): 267–74, quiz 275. doi:10.1016/j.anai.2010.09.004. PMID 21457874.
  7. Kenn, K; Balkissoon, R (January 2011). "Vocal cord dysfunction: what do we know?". The European Respiratory Journal. 37 (1): 194–200. doi:10.1183/09031936.00192809. PMID 21205712. S2CID 12436689.
  8. 8.00 8.01 8.02 8.03 8.04 8.05 8.06 8.07 8.08 8.09 8.10 8.11 8.12 Flint, PW; Haughey, BH; Robbins, KT; Thomas, JR; Niparko, JK; Lund, VJ; Lesperance, MM (2014). Cummings Otolaryngology: Head & Neck Surgery (Sixth ed.). Philadelphia, PA. ISBN 978-0-323-27820-1. OCLC 894112159.
  9. 9.0 9.1 Rosenfeld, RM; Piccirillo, JF; Chandrasekhar, SS; Brook, I; K, Ashok Kumar; Kramper, M; และคณะ (April 2015). "Clinical practice guideline (update): adult sinusitis". Otolaryngology–Head and Neck Surgery. 152 (2 Suppl): S1–S39. doi:10.1177/0194599815572097. PMID 25832968. S2CID 30043393.
  10. McCallion, P; De Soyza, A (December 2017). "Cough and bronchiectasis". Pulmonary Pharmacology & Therapeutics. 47: 77–83. doi:10.1016/j.pupt.2017.04.010. PMID 28602999.
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 Probst, R; Grevers, G; Iro, H (2017). Basic Otorhinolaryngology. Georg Thieme Verlag. doi:10.1055/b-005-148915. ISBN 978-3-13-203472-3.
  12. Pratter, MR (January 2006). "Chronic upper airway cough syndrome secondary to rhinosinus diseases (previously referred to as postnasal drip syndrome): ACCP evidence-based clinical practice guidelines". Chest. 129 (1 Suppl): 63S–71S. doi:10.1378/chest.129.1_suppl.63s. PMID 16428694.
  13. 13.0 13.1 Segboer, C; Gevorgyan, A; Avdeeva, K; Chusakul, S; Kanjanaumporn, J; Aeumjaturapat, S; และคณะ (November 2019). "Intranasal corticosteroids for non-allergic rhinitis". The Cochrane Database of Systematic Reviews. 2019 (11). doi:10.1002/14651858.CD010592.pub2. PMC 6824914. PMID 31677153.
  14. Naclerio, R (August 2009). "Anticholinergic drugs in nonallergic rhinitis". The World Allergy Organization Journal. 2 (8): 162–5. doi:10.1097/WOX.0b013e3181b35336. PMC 3650956. PMID 24228813.
  15. Fossmark, Reidar; Ness-Jensen, Eivind; Sørdal, Øystein (2023-09-06). "Is empiric proton pump inhibition in patients with symptoms of extraesophageal gastroesophageal reflux justified?". BMC Gastroenterology. Springer Science and Business Media LLC. 23 (1): 303. doi:10.1186/s12876-023-02945-7. ISSN 1471-230X. PMC 10483799. PMID 37674110.
  16. "Banishing Sinus Infection Misery? - Andrew Weil, M.D."

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
การจำแนกโรค
ทรัพยากรภายนอก