นีกอลา บูร์บากี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมาคมผู้ร่วมงานแห่งนีกอลา บูร์บากี
Association des collaborateurs de Nicolas Bourbaki
ตั้งชื่อตามชาร์ล-เดอนี บูร์บากี
ก่อตั้ง10 ธันวาคม ค.ศ. 1934
(การประชุมอย่างไม่เป็นทางการครั้งแรก)
10–17 กรกฎาคม ค.ศ. 1935
(การประชุมก่อตั้งอย่างเป็นทางการครั้งแรก)
ประเภทสมาคมอาสาสมัคร
วัตถุประสงค์ตีพิมพ์ตำราเรียนคณิตศาสตร์บริสุทธิ์
สํานักงานใหญ่เอกอลนอร์มาลซูว์เปรีเยอร์ ปารีส
สมาชิก
เป็นความลับ
ภาษาทางการ
ภาษาฝรั่งเศส
เว็บไซต์www.bourbaki.fr
ชื่อในอดีต
คณะกรรมการตำราวิเคราะห์

นีกอลา บูร์บากี (ฝรั่งเศส: Nicolas Bourbaki) เป็นนามแฝงร่วมของนักคณิตศาสตร์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นศิษย์เก่าเอกอลนอร์มาลซูว์เปรีเยอร์ (ENS) ก่อตั้งขึ้นเมื่อค.ศ. 1934–1935 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแต่งตำราเรียนคณิตวิเคราะห์ใหม่ ก่อนจะขยายเป็นโครงการตำราคณิตศาสตร์บริสุทธิ์ชุดใหญ่[3] งานชิ้นสำคัญของบูร์บากีคือ อีลีม็องเดอแมเตแมทีก หรือ อีลีม็อง (Éléments de mathématique, องค์ประกอบของคณิตศาสตร์) ซึ่งตีพิมพ์ตั้งแต่ ค.ศ. 1939 จนถึงปัจจุบัน หัวข้อของงานชิ้นนี้ได้แก่ ทฤษฎีเซต พีชคณิตนามธรรม ทอพอโลยี การวิเคราะห์ กลุ่มลีและพีชคณิตลี

กลุ่มบูร์บากีเกิดขึ้นเนื่องจากหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งมีนักคณิตศาสตร์รุ่นใหม่ของฝรั่งเศสเสียชีวิตจำนวนมาก ส่งผลให้อาจารย์มหาวิทยาลัยยังคงต้องใช้ตำราเรียนเนื้อหาเก่า อ็องรี การ์ตงหารือเรื่องนี้กับอ็องเดร เวย์ เพื่อนร่วมงานขณะสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยสทราซบูร์ เวย์จึงจัดประชุมเพื่อนนักคณิตศาสตร์ในปารีสเพื่อร่วมกันแต่งตำราเรียนเนื้อหาใหม่ บูร์บากีมีผู้นำหลัก ได้แก่ การ์ตง เวย์ โกลด ชาวาแล ฌ็อง เดลซาร์ทและฌ็อง ดีเยอดอเน นอกจากนี้ยังมีคนอื่น ๆ ที่เข้าร่วมในช่วงแรกเป็นเวลาสั้น ๆ บูร์บากีมีธรรมเนียมรักษาความลับของสมาชิกปัจจุบัน แม้ว่าอดีตสมาชิกสามารถกล่าวถึงการมีส่วนร่วมของตนในอดีต

ชื่อบูร์บากีมาจากชาร์ล-เดอนี บูร์บากี นายพลชาวฝรั่งเศสสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19 ผู้ประสบความสำเร็จในการทัพก่อนจะพ่ายแพ้ในสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย[4] ชื่อนี้เป็นที่คุ้นเคยของนักศึกษาชาวฝรั่งเศสช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 นอกจากนี้ยังเป็นการเล่นตลกในหมู่นักศึกษา ENS ที่ปลอมเป็นศาสตราจารย์และนำเสนอ "ทฤษฎีบทบูร์บากี"

กลุ่มบูร์บากีจัดการประชุมลับเพื่อหารือเรื่อง อีลีม็อง โดยคณะกรรมการย่อยจะได้รับมอบหมายหัวข้อ ร่างเนื้อหา อภิปรายและตกลงร่วมกันอย่างเอกฉันท์ก่อนตีพิมพ์เนื้อหา กระบวนการนี้ทำให้กลุ่มสามารถรักษาคุณภาพงานแม้จะตรากตรำและใช้เวลา บูร์บากียังเกี่ยวข้องกับเซมิแนร์บูร์บากี (Séminaire Bourbaki) ซึ่งเป็นการประชุมวิชาการด้านคณิตศาสตร์ที่จัดโดยสมาชิกและไม่ใช่สมาชิกกลุ่ม สำนักงานของบูร์บากีตั้งอยู่ที่ ENS[5]

กลุ่มบูร์บากีส่งอิทธิพลต่อวงการคณิตศาสตร์สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ อีลีม็อง ตีพิมพ์บ่อยครั้ง[6] บูร์บากียังได้รับการยอมรับในหมู่นักคณิตศาสตร์ถึงการนำเสนอที่เคร่งครัดและแม่นยำ รวมถึงการแนะนำโครงสร้างทางคณิตศาสตร์ อันเป็นแนวคิดเชิงสหวิทยาการของโครงสร้างนิยม[7][8][9] งานของบูร์บากียังก่อให้เกิดกระแสคณิตศาสตร์ใหม่ (New Math) ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960[10] ปัจจุบันบูร์บากียังคงมีความเคลื่อนไหวแต่มีบทบาทลดลงเนื่องจากมีการตีพิมพ์ อีลีม็อง ฉบับใหม่น้อยลง อีลีม็อง ฉบับล่าสุดตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2016 ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับทอพอโลยีเชิงพีชคณิต

เชิงอรรถ[แก้]

หมายเหตุ[แก้]

  1. ซีมอน เวย์ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่ม อย่างไรก็ตามเธอร่วมการประชุมช่วงแรกหลายครั้งเพื่อสนับสนุนอ็องเดร เวย์ พี่ชายของเธอ รวมถึงเรียนรู้คณิตศาสตร์[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. Aczel, pp. 123–25.
  2. Mashaal, p. 31.
  3. Mashaal, p. 11.
  4. Weil, André (1992). The Apprenticeship of a Mathematician. Birkhäuser Verlag. pp. 93–122. ISBN 978-3764326500.
  5. Beaulieu 1999, p. 221.
  6. Aczel, p. 117.
  7. Aczel, pp. 129–48.
  8. Aubin, p. 314.
  9. Mashaal, pp. 70–85.
  10. "Bourbaki and the Foundations of Modern Mathematics". CNRS News. 14 August 2017. สืบค้นเมื่อ 1 November 2022.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]