นิสสัน แฟร์เลดี้ แซด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รถนิสสัน แซด
1976 Datsun 280Z (S30)
ภาพรวม
บริษัทผู้ผลิตนิสสัน
เรียกอีกชื่อนิสสัน แฟร์เลดี้ แซด (ญี่ปุ่น)
เริ่มผลิตเมื่อ
  • 1969–2000
  • 2002–2020
  • เมษายน 2022–ปัจจุบัน
แหล่งผลิต
ตัวถังและช่วงล่าง
ประเภทรถสปอร์ต
แกรนด์ ทัวเรอร์
โครงสร้าง
ระยะเหตุการณ์
รุ่นก่อนหน้านิสสัน แฟร์เลดี้

นิสสัน แซด (อังกฤษ: Nissan Z-car) หรือที่อาจรู้จักกันในชื่อของญี่ปุ่นว่า แฟร์เลดี้ เป็นรถยนต์นั่งสมรรถนะสูง เครื่องยนต์กลางลำหน้า ขับเคลื่อน 2 ล้อหลัง (RWD) 2 ประตู 2 ที่นั่ง ผลิตโดยบริษัทนิสสัน จากญี่ปุ่น รถใช้เครื่องยนต์บล็อกวี 6 สูบ (V6) ไม่มีเทอร์โบ (N/A) รถรุ่นนี้นิยมใช้แข่งรายการต่างๆ โดยเฉพาะดริฟท์ เนื่องจากเป็นรถขับเคลื่อนล้อหลัง และมีสมรรถนะที่เหมาะสมกับการดริฟท์

พ.ศ. 2503 ยูตากะ คาตายามะ พนักงานบริษัทนิสสัน ได้เดินทางออกจากญี่ปุ่น ไปสำรวจตลาดในภาคพื้นตะวันตก ในสหรัฐอเมริกา เขาพบว่า รถญี่ปุ่นในช่วงเวลานั้น ชาวอเมริกันประเมินค่าเป็นเพียงรถยนต์ชั้น 2 เท่านั้น (3 ผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์ในอเมริกาขณะนั้น (Big 3) ได้แก่ GM, Ford และ ไครส์เลอร์) แม้บริษัทนิสสันอเมริกาจะถูกตั้งขึ้นในปีเดียวกัน ในช่วงแรกที่ยังไม่มีงบประมาณพอจะตั้งโชว์รูม ต้องหาตัวแทนจำหน่าย แต่ไม่สามารถหาได้ กลุ่ม Big 3 และนักธุรกิจรายใหญ่ ปฏิเสธและดูถูกนิสสันอย่างเย็นชา จนต้องใช้เตนท์รถมือสองเป็นตัวแทนจำหน่าย คาตายามา ใช้วิธีปรับปรุงบริการหลังการขายให้มีความทั่วถึง จนเริ่มได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภคมากขึ้น

คาตายามาพบว่า สภาพถนนในสหรัฐอเมริกามีถนนฟรีเวย์และถนนโล่งเป็นส่วนมาก รถญี่ปุ่นทั่วไปในขณะนั้นไม่ได้ออกแบบมาให้วิ่งในถนนลักษณะดังกล่าว แรงม้าจึงน้อย การเร่งแซงยาก และเมื่อวิ่งทางไกลจะพบปัญหาเบรกร้อน จึงมีความพยายามคิดค้นรถสปอร์ตที่จะมีสมรรถนะสูง เบรกที่ทนทาน สนองตอบรสนิยมและถนนดังกล่าวได้ และราคาถูก (รถสปอร์ตของ Big 3 มีจุดอ่อนที่ราคาแพง) จึงคิดค้นออกมา โดยในขณะคิดค้น ได้ตั้งชื่อโครงการว่า Project Z ซึ่งมาจากธง Z ที่กองทัพเรือใช้ในสงครามนิจิโระ (สงครามกับรัสเซีย พ.ศ. 2447) ธง Z หมายความว่า "การโจมตีครั้งสุดท้าย ไม่มีครั้งหลังอีกแล้ว" หรือ ต้องชนะให้ได้ในครั้งนี้

ทีมคิดค้นใช้เวลาพัฒนา 4 ปี นิสสัน Z รุ่นแรกก็เปิดตัวใน พ.ศ. 2512 ชื่อ แฟร์เลดี้ แซด ใช้เป็นชื่อในการทำตลาดเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น ทั้งแต่รุ่นแรกถึงปัจจุบัน ส่วนนอกประเทศญี่ปุ่น นิสสันจะไม่ใช้ชื่อแฟร์เลดี้ แซดในการขาย จะใช้ชื่อเป็นขนาดลูกสูบ (หน่วยเป็น ซีซี หารด้วย 10) แล้วตามด้วย Z หรือ ZX เช่น นิสสัน 240Z 260Z เป็นต้น (แต่ก็ยังมีการเรียกกันเองว่า แฟร์เลดี้ แซด นอกประเทศญี่ปุ่น)

ปัจจุบัน นิสสัน Z มียอดขายรวมตั้งแต่แรก 2 ล้านคัน ถือเป็นรถสปอร์ตที่ยอดขายสูงที่สุดในโลก (ไม่นับ Pony Car กับ Muscle Car ซึ่งเป็นรถที่มีตัวรถแบบกึ่งสปอร์ต แต่เครื่องยนต์แรงไม่น้อยกว่ารถสปอร์ต ถ้าพิจารณาเผินๆ แล้วจะค่อนข้างคล้ายรถสปอร์ต)

รุ่นที่ 1 (พ.ศ. 2512-2521; S30)[แก้]

นิสสัน 240Z

นิสสัน แซด รุ่นแรก รหัสตัวถัง S30 ออกแบบโดยทีมนักออกแบบนำโดย โยชิฮิโกะ มัตซึโอะ ในช่วงแรก 240Z กับแฟร์เลดี้ จะใช้เครื่องยนต์ต่างกัน แต่บอดี้เดียวกัน 240Z ที่ขายนอกญี่ปุ่น ใช้เครื่องยนต์ L24 6 สูบแถวเรียง 2,400 ซีซี 155 แรงม้า (HP) แต่ แฟร์เลดี้ แซด ที่ขายในประเทศญี่ปุ่น ใช้เครื่องยนต์ L20A 6 สูบแถวเรียง 2,000 ซีซี 130 แรงม้า (HP) ทั้งสองรุ่น มีราคาถูกกว่ารถสปอร์ตรุ่นอื่นๆ ที่ขายอยู่ในขณะนั้นมาก เกือบครึ่งต่อครึ่ง ในขณะที่สมรรถนะไม่น้อยไปกว่ากันมากนัก เครื่องยนต์สามารถประหยัดน้ำมันมากกว่า ยอดขายของ 240Z ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ยอดการผลิตเฉพาะรุ่นแซดในปี 1972 สูงถึง 50,000 คัน

พ.ศ. 2517 240Z ปรับโฉมเล็กน้อย (ไมเนอร์เชนจ์) เป็น 260Z คือใช้เครื่องยนต์ 2,600 ซีซี รหัส L26 เพิ่มสมรรถนะเป็น 165 HP ครั้งนี้ รถที่ขายในสหรัฐอเมริกาจะมีสมรรถนะต่ำกว่ารถที่ขายในตลาดอื่น เพราะจำเป็นต้องลดสมรรถนะลงเหลือ 140 HP เพื่อให้ผ่านเกณฑ์มลพิษไอเสียของสหรัฐฯ การปรับโฉมรวมถึงการปรับปรุงระบบปรับอากาศ เพิ่มความยาวด้านหลัง และมีตัวเลือกรถ 2 แบบคือ 2 ประตู 4 ที่นั่ง กับ 2 ประตู 2 ที่นั่ง (ก่อนหน้านี้ จะเป็น 2 ประตู 2 ที่นั่งทั้งหมด)

พ.ศ. 2518 260Z ไมเนอร์เชนจ์เป็น 280Z เฉพาะในสหรัฐฯเท่านั้น (ตลาดอื่นขาย 260Z ยาวจนถึงการเปลี่ยนโฉมใหญ่ (โมเดลเชนจ์)) 280Z ใช้เครื่องยนต์ 6 สูบ 2,800 ซีซี เปลี่ยนจากเครื่องยนต์คาร์บูเรเตอร์ เป็นเครื่องยนต์หัวฉีด ซึ่งช่วยเพิ่มกำลัง (175HP) และช่วยประหยัดน้ำมัน ลดมลภาวะ เพื่อแก้ปัญหาของ 260Z ที่ต้องลดสมรรถนะลงเพราะไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานไอเสีย มีระบบเกียร์ธรรมดา 5 สปีดเป็นออปชั่นเสริม จากเดิม มีเกียร์ให้เลือก 2 แบบ คือธรรมดา 4 สปีด กับอัตโนมัติ 3 สปีดเท่านั้น แต่ 280Z มีเกียร์ธรรมดา 5 สปีด เป็นตัวเลือกที่สาม (แต่อย่างไรก็ดี พบได้น้อยมาก ระบบเกียร์ที่ลูกค้า S30 เลือกซื้อมากที่สุดคือ ธรรมดา 4 สปีด) การตกแต่งภายในหรูหราขึ้น และเพิ่มขนาดกันชน

รุ่นที่ 2 (พ.ศ. 2521-2526; S130)[แก้]

นิสสัน 280ZX

หลังการโมเดลเชนจ์ 260Z และ 280Z ถูกแทนที่ด้วย 280ZX รหัสตัวถัง S130 แม้ชื่อจะคล้ายกัน แต่นอกจากเครื่องยนต์ (2,800 ซีซี 6 สูบแถวเรียง) และระบบเกียร์ (เฉพาะธรรมดา 5 สปีด กับอัตโนมัติ 3 สปีด) แล้ว ที่เหลือเปลี่ยนใหม่หมด การตกแต่งภายในหรูหราขึ้นอย่างมาก เพื่อสนองตอบต่อความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้น เครื่องยนต์ในช่วงนี้ จะมีรุ่นมาตรฐาน และเทอร์โบชาร์จ ซึ่งจะใช้สูบ 2,800 ซีซีเท่ากัน รุ่น 2,800 ซีซีมาตรฐาน จะให้กำลัง 135HP แรงบิด 195 นิวตันเมตร ส่วน 2,800 ซีซี เทอร์โบชาร์จ ให้กำลัง 180HP แรงบิด 275 นิวตันเมตร

พ.ศ. 2522 มีการทำรุ่นลิมิเต็ดเอดิชั่น (จำนวนจำกัด) ในโอกาสครบรอบ 10 ปี ของแซด จะใช้โลโก้ทอง ล้อโลหะผสมทอง เบาะหนัง เครื่องปรับอากาศอัตโนมัติ ฯลฯ นิสสัน แซด รุ่นที่สอง เป็นรุ่นที่มียอดขายสูงที่สุด โดยเฉพาะในปี 2522 ยอดขายแซดรวมใน 1 ปี กว่า 86,000 คัน

รุ่นที่ 3 (พ.ศ. 2526-2532; Z31)[แก้]

นิสสัน 300ZX (Z31)

โมเดลเชนจ์อีกครั้ง เป็น 300ZX รหัสตัวถัง แซด 31 ใช้เครื่องยนต์ 3,000 ซีซี 6 สูบ แต่เปลี่ยนจาก 6 สูบแถวเรียง เป็น วี6 ซึ่งจะช่วยให้เครื่องยนต์ทำงานนิ่งเงียบ นุ่มนวล กำลังต่อเนื่องดี ใช้งานหนักได้[1] และระบบเกียร์อัตโนมัติ 3 สปีด เปลี่ยนเป็นอัตโนมัติ 4 สปีด ขายควบคู่กับเกียร์ธรรมดา 5 สปีด

300ZX ทีมออกแบบนำโดย คาสุมาซุ ทาคากิ (Kasumazu Takagi) แม้จะประสบความสำเร็จไม่เท่า 280ZX แต่ก็ถือว่ารุ่นนี้มียอดขายที่งดงาม การตกแต่งภายในที่หรูหราจนเกือบจะถูกจัดเป็นรถประเภท Grand Tourer หรือรถยนต์สปอร์ตหรูหรา เครื่องยนต์ 2,000 ซีซีมาตรฐาน ให้กำลังถึง 170HP เครื่องยนต์แบบ Turbocharged ให้แรงม้าสูง 195HP ซึ่งเป็นรถที่แรงม้าสูงที่สุดในญี่ปุ่นขณะนั้น การควบคุมรถ การเร่งแซง ทำได้ดีขึ้นมาก

บริษัทดัทสัน ได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทนิสสันตั้งแต่ปี 2477 แต่แม้จะเปลี่ยนชื่อไปแล้ว รถของนิสสัน ยังคงชื่อดัทสันไว้ในบางประเทศ โดยที่ตัวรถเป็นตัวเดียวกันกับรถที่ใช้ชื่อนิสสัน แต่จะใช้ชื่อใดขึ้นอยู่กับประเทศที่ขาย (รวมทั้งประเทศไทย ที่เคยใช้ชื่อ ดัทสัน มาก่อน) สำหรับชื่อดัทสันจะใช้สำหรับรถยนต์ขนาดเล็ก ส่วนแต่นิสสันจะใช้สำหรับรถยนต์ขนาดกลางและใหญ่ ในปี พ.ศ. 2528 นิสสัน ได้ยกเลิกชื่อดัทสัน เปลี่ยนมาใช้ชื่อนิสสันทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย เพื่อลดความสับสนและสร้างแบรนด์ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับแบรนด์ในทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย

รุ่นที่ 4 (พ.ศ. 2532-2543; Z32)[แก้]

นิสสัน 300ZX (Z32)

โมเดลเชนจ์อีกครั้ง (รุ่นนี้เป็นรุ่นแรกที่ออกแบบโดยใช้โปรแกรม CAD และซูเปอร์คอมพิวเตอร์) ยังใช้ชื่อรุ่น 300ZX แต่รหัสตัวถัง แซด 32 ใช้เครื่องยนต์ วี6 มีขนาด 3 ลิตร เหมือน แซด 31 แต่เป็นหัวฉีดแบบ ดับเบิลโอเวอร์เฮดแคมชาฟท์ (DOHC) จากเดิมที่ใช้แบบซิงเกิลโอเวอร์เฮดแคมชาฟท์ (SOHC) และยังมีเทคโนโลยีหัวฉีด VVT ให้กำลังสูงขึ้น เป็น 222HP ถือเป็นเครื่องยนต์มาตรฐาน ส่วนเครื่องยนต์รุ่นพิเศษ ครั้งนี้ไม่ใช่ เทอร์โบชาร์จธรรมดา แต่เป็นเทอร์โบชาร์จคู่ พร้อมระบบเทอร์โบแปรผัน และอินเตอร์คูลเลอร์คู่ ให้กำลัง 283HP ส่วนระบบเกียร์มี 2 แบบคือ ธรรมดา 5 สปีด กับอัตโนมัติ 4 สปีด

พ.ศ. 2533 ยอดขายสะสม (เฉพาะที่ขายในสหรัฐอเมริกาประเทศเดียว)ของนิสสัน แซด ตั้งแต่ 240Z ครบ 1 ล้านคัน และได้ทำลายสถิติ เป็นรถสปอร์ตรุ่นที่มียอดขายสูงที่สุดในโลก ซึ่งรถตระกูลแซดสามารถครองสถิติดังกล่าวได้จนถึงปัจจุบัน

แต่แม้จะเป็นปีที่สามารถทำลายสถิติได้ แต่ก็เป็นเพราะยอดขายเก่าสะสมมาเสียส่วนใหญ่ ในช่วงของ Z32 นี้ กระแสนิยมรถสปอร์ตตกต่ำลงมาก รถสปอร์ตเกือบทุกรุ่นทั่วโลกยอดขายตกต่ำ ประกอบกับค่าเงินเยนญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้นอย่างรุนแรงในช่วงเดียวกัน เงินดอลลาร์ที่ได้มาจึงแลกเป็นเงินเยนได้น้อยลง ส่งผลให้ต้องขึ้นราคาดอลลาร์ในต่างประเทศ ราคาในสหรัฐอเมริกาพุ่งไปเกือบ 50,000 ดอลลาร์ จากเดิมที่เคยอยู่ที่ 30,000 ดอลลาร์ ยิ่งทำให้ยอดขายตกต่ำลงไปอีก จนใน พ.ศ. 2539 นิสสัน ได้ยกเลิกการขาย แซด ในสหรัฐอเมริกา และ พ.ศ. 2543 ได้ยกเลิกการผลิตแซดทั่วทั้งโลกในที่สุด

รุ่นที่ 5 (พ.ศ. 2545-2551; Z33)[แก้]

นิสสัน 350Z

หลังจากการยกเลิกการผลิต 300ZX ก็มีกระแสเรียกร้องล้นหลามอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนให้กลับมาผลิต Z อีกครั้ง[2] อีกทั้งการยกเลิกรถสปอร์ตรุ่นนี้ ยังทำให้นิสสันสูญเสียภาพลักษณ์ของการเป็นยี่ห้อรถที่ผู้คนหลงใหลใฝ่ฝัน (Image Leader) ตกต่ำกลายเป็นภาพลักษณ์ที่เชื่องช้า ไม่น่าสนใจ นิสสันตกอยู่ในสถานะทางการเงินที่ย่ำแย่ ซึ่งในสมัยนั้น มีรถญี่ปุ่นอีก 2 ยี่ห้อที่อยู่ในสภาวะขาดทุนเช่นเดียวกัน คือ มิตซูบิชิ และ อีซูซุ แต่นิสสันได้รับการช่วยเหลือ จากการที่บริษัทรถฝรั่งเศส ชื่อเรโนลต์ (Renault) ได้เข้าซื้อหุ้นนิสสัน 44.4% ทำให้ Carlos Ghosn จากเรโนลต์ ได้เข้ามาดำรงตำแหน่ง CEO นิสสัน เขาตัดสินใจจะให้นิสสันกลับมาผลิต Z อีกครั้ง ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีของ Carlos Ghosn ในฐานะ CEO

Z รุ่นที่ 5 คือ 350Z รหัสตัวถัง Z33 ใช้เครื่องยนต์ วี6 มีขนาด 3,500 ซีซี VQ35DE DOHC 291PS (ปี 2005 เพิ่มเป็น 299PS เครื่องยนต์เดิม) ราคาตกกลับมาอยู่ที่ 30,000 ดอลลาร์ แต่จะไม่มีรุ่น 4 ที่นั่ง มีเฉพาะรุ่น 2 ที่นั่ง ปี 2549 เครื่องยนต์ของ 350Z ปรับปรุงเล็กน้อย เพิ่มขีดจำกัดการทำงานโดยไม่เป็นอันตรายขึ้นไปที่ 7,000 รอบ/นาที (รถเบนซินทั่วๆ ไป จะอยู่ที่ 6,000-6,500 รอบต่อนาที หากเกินขีดจำกัด มาตรแสดงรอบจะชี้ถึงแถบสีแดง) ปี 2550 350Z ได้ไมเนอร์เชนจ์ ใช้เครื่อง VQ35HR 3,500 ซีซี ให้กำลัง 310PS ขีดจำกัดรอบเพิ่มขึ้นไปอีก อยู่ที่ 7,500 รอบ/นาที

ระบบเกียร์ จะมีเกียร์ธรรมดา 6 สปีด กับเกียร์อัตโนมัติ 5 สปีด แต่ถ้าสำหรับเกียร์อัตโนมัติ จะสูญเสียกำลังไป 13PS จากแรงม้าที่แสดงไว้ในย่อหน้าก่อน ด้วยเพราะเป็นเรื่องปกติของเกียร์อัตโนมัติของรถทุกรุ่นทุกคัน ที่การส่งกำลัง การใช้เชื้อเพลิง จะไม่มีประสิทธิภาพเท่าเกียร์ธรรมดา

นอกจากนี้รถยังมีอีก 2 แบบคือ 1. แบบหลังคาแข็ง 2. แบบหลังคาผ้าใบ (เปิดประทุนได้)

รุ่นที่ 6 (พ.ศ. 2551-2563; Z34)[แก้]

นิสสัน 370Z

โมเดลเชนจ์อีกครั้ง เป็น 370Z ซึ่งเป็นรุ่นปัจจุบัน เปิดตัวปลายเดือนธันวาคม 2551 รหัสตัวถัง แซด 34 ใช้เครื่องยนต์ V6 รหัส VQ37VHR กำลัง 337PS แรงบิด 370 นิวตันเมตร สามารถเร่งความเร็วจาก 0-60 ไมล์ต่อชั่วโมง (0-96.56 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ในเวลา 5.1 วินาที จากการทดสอบของนิสสัน แต่จากการทดสอบขององค์กรภายนอก (Motor Trend Magazine) 4.7 วินาที วิ่งระยะทาง 400 เมตร (ควอเตอร์ไมล์) ใช้เวลา 13.5 วินาที ความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

แม้จะใช้เครื่องยนต์ขนาดใหญ่ นิสสันได้พัฒนาเครื่องยนต์มาเป็นอย่างดี 370Z ใช้เชื้อเพลิง 7.6 กิโลเมตรต่อลิตร ในเมือง และ 11 กิโลเมตรต่อลิตร บนถนนไฮเวย์ และมีมลพิษในไอเสียเพียงครึ่งหนึ่งของ มาตรฐานไอเสียของสหรัฐอเมริกา [3]

นิสสันประเทศไทย ได้นำเข้า 370Z มาขายเอง โดยจะมี 2 รุ่น คือ เกียร์ธรรมดา 6 สปีด Syncro REV Mode 5.2 ล้านบาท และเกียร์อัตโนมัติ 7 สปีด พร้อม Manual Mode 5.3 ล้านบาท[4] นำเข้าสำเร็จรูปจากญี่ปุ่น ทั้งคัน เปิดตัวในเมืองไทยอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552

รุ่นที่ 7 (พ.ศ. 2564-ปัจจุบัน; RZ34)[แก้]

นิสสัน Z (Nissan Z (RZ34))

ขุมพลังของ Nissan Z รุ่นล่าสุด คาดว่าเป็น เครื่องยนต์เบนซิน แบบ 6 สูบ 3.0 ลิตร เทอร์โบคู่ รหัส VR30DDTT กำลังสูงสุด 400 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 475 นิวตันเมตร ยกมาจาก Infiniti Q50 และ Q60 Red Sport 400 แต่อาจจะปรับแต่งให้แรงกว่าตัวเลขข้างต้น ส่วนรายละเอียดเพิ่มเติมจะเป็นอย่างไร ติดตามการเปิดตัวของรถยนต์ Prototype รุ่นนี้ที่จะมีขึ้นในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2563 ส่วนเวอร์ชันผลิตจริงอาจตามมาช่วงปี 2021 – 2022[5]

ระบบส่งกำลังมีให้เลือก 2 แบบ ได้แก่ เกียร์ธรรมดาแบบ 6 จังหวะ 6MT และ เกียร์อัตโนมัติ 9 จังหวะ Jatco 9M-ATx พร้อม Manual Mode

ทั้งนี้ Nissan 400Z 2022 จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการวันที่ 17 สิงหาคม 2564 ที่มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยจะวางจำหน่ายในราคาเริ่มต้นที่ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ

All NEW Nissan Z เปิดตัวอย่างเป็นทางการในตลาดโลกไปแล้ว ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม 2564 จากนั้นก็ถูกนำมาโชว์ตัวให้ชาวญี่ปุ่นได้ยลโฉมคันจริงกันในงาน Tokyo Auto Salon 2022 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-16 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา พร้อมกับประกาศใช้ชื่อ “Fairlady Z” พร้อมรหัส 3BA-RZ34 ในการทำตลาด และล่าสุดเพิ่งจะมีการเปิดเผยข้อมูล Spec ตัวรถทั้งหมด พร้อมราคาจำหน่ายอย่างเป็นทางการของเวอร์ชั่นญี่ปุ่นในวันที่ 25 เมษายน 2565

แน่นอน แม้ว่ามันจะดูเหมือนว่าเรื่องนี้อาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อชาวไทยมากเท่าไหร่นัก เพราะยังไงตอนนี้ Nissan Z รุ่นใหม่ล่าสุดก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะถูกนำเข้ามาวางจำหน่ายในไทยเลยด้วยซ้ำ แต่หากอิงจากข้อมูลก่อนหน้านี้ ที่เราเคยได้ข้อมูลมาว่าอันที่จริงทางผู้บริหารของ Nissan ประเทศไทย ก็กำลังพิจารณาความเป็นไปได้ในการขายเจ้า Z อีกครั้งในไทยกันอยู่เช่นกัน หลังจากที่ Nissan GT-R ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ด้วยความจริงที่ว่า GT-R R35 ได้เข้าสู่ช่วงเวลาใกล้ปิดสายการผลิตแล้ว การนำเอา Z ที่แม้จะเป็นตัวรถสปอร์ตรุ่นรองกว่า แต่ก็ยังเป็นรถยนต์สมรรถนะสูงที่พอจะมีลูกค้าชาวไทยให้ความสนใจกันอยู่บ้าง มาทำตลาดแทนกัน ก็ย่อมเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้

ดังนั้นหากทางผู้บริหารของ Nissan ประเทศไทย ยังคงให้ความสนใจในการทำตลาดรถสปอร์ตรุ่นนี้อยู่ การที่มันมีปัญหาในเรื่องสายพานการผลิต ย่อมส่งผลถึงการพิจารณากำหนดช่วงเวลาวางจำหน่ายในไทยแน่นอน เพราะพวกเขาอาจต้องรอให้รถสามารถส่งมอบให้กับลูกค้าในตลาดหลักได้อย่างคล่องตัวเสียก่อน จึงจะมีโควต้ารถสำหรับนำเข้ามาส่งมอบให้กับลูกค้าชาวไทยได้

นิสสัน Z ในเวอร์ชั่น Super GT 2022 "Team Impul Fairlady Z GT500 at 2022 "Suzuka Thanksgiving Day" racing festival"

อ้างอิง[แก้]

  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-06. สืบค้นเมื่อ 2010-10-28.
  2. http://www.thaidriver.com/PDF_files/no-111/111-spy-nissan-fairlady.pdf
  3. http://www.thaidriver.com/2010/Totalnews.php?id=359
  4. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-30. สืบค้นเมื่อ 2010-10-28.
  5. http://www.headlightmag.com/official-photo-nissan-z-proto-retro-coupe/