นิลกาย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นิลกาย
นิลกายตัวผู้
ตัวเมียและลูก
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Artiodactyla
วงศ์: Bovidae
วงศ์ย่อย: Bovinae
สกุล: Boselaphus
Blainville, 1816
สปีชีส์: B.  tragocamelus
ชื่อทวินาม
Boselaphus tragocamelus
(Pallas, 1766)
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์
นิลกายที่สวนสัตว์นครราชสีมา

นิลกาย (อังกฤษ: Nilgai, Blue bull; เบงกอล: নীলগাই; ฮินดี: नीलगाय; ชื่อวิทยาศาสตร์: Boselaphus tragocamelus) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่ง ในวงศ์วัวและควาย (Bovidae)

จัดเป็นเพียงสัตว์ชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Boselaphus[2]

มีรูปร่างลักษณะคล้ายวัวผสมกับม้า ตัวผู้มีลักษณะเด่น ที่ สีลำตัวเมื่อโตขึ้นจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินเข้มขึ้นเรื่อย ๆ หรือสีเทาปนดำ อันเป็นที่มาของชื่อ ถือเป็นแอนทีโลปที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชีย โดยมีส่วนสูงวัดถึงไหล่ประมาณ 1.2–1.5 เมตร และยาว 1.8–2 เมตร หางยาว 40–45 เซนติเมตร ตัวเต็มวัยมีน้ำหนักประมาณ 120–140 กิโลกรัม ลำตัวใหญ่ แต่มีขาเล็กเรียว ตัวผู้มีเขาเล็ก ๆ โค้งไปข้างหน้าเล็กน้อย ยาวประมาณ 21–25 เซนติเมตร มีขนแข็งยาวขึ้นจากส่วนหัวไล่ไปถึงกลางหลังทั้งสองเพศ ขณะที่ตัวเมียมีสีออกน้ำตาลแดง

นิลกาย เป็นสัตว์ที่มีถิ่นกระจายพันธุ์ในราบตอนเหนือของอินเดียและทางภาคตะวันออกของปากีสถาน ชอบอยู่ตามที่ราบและเนินเขาที่มีไม้พุ่มเตี้ยมากกว่าอยู่ในป่าทึบ

นิลกายเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 18 เดือน ซึ่งหลังผสมพันธุ์แล้ว มีระยะเวลาตั้งท้องประมาณ 8 เดือน ออกลูกคราวละ 2 ตัวหรือมากได้ถึง 3 ตัว น้ำหนักตัวเมื่อเกิดใหม่ราว 13–16 กิโลกรัม มีอายุขัยโดยเฉลี่ย 21 ปี

นิลกายเป็นสัตว์ที่ออกหากินในเวลากลางวัน และพักผ่อนในเวลากลางคืนเหมือนสัตว์ในวงศ์เดียวกันชนิดอื่น ๆ แต่กินอาหารหลากหลายกว่า เพราะกินทั้งต้นไม้, ใบหญ้า, ใบไม้ และผลไม้ทั่วไป นอกจากนี้ยังมีความสามารถพิเศษ คือ สามารถอดน้ำได้หลายวันโดยไม่มีน้ำดื่ม แต่มักจะอาศัยอยู่ใกล้แหล่งน้ำ โดยส่วนใหญ่จะอยู่กันเป็นกลุ่มประมาณ 15 ตัว บางกลุ่มอาจมีถึง 20 ตัว ยกเว้นตัวที่อายุมากแล้วมักจะปลีกตัวไปอยู่ตามลำพัง และจะรวมตัวกันอีกทีก็ในช่วงฤดูหนาว ซึ่งอาจจะมีจำนวนถึง 30–100 ตัว

ปัจจุบัน นิลกายพบจำนวนมากในที่ สวนลุมพินีวัน อันเป็นสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า และเชื่อว่าเป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์ด้วย เป็นสัตว์ที่เชื่อว่าหากใครได้พบเห็น จะพบกับความเป็นสิริมงคล แต่นิลกายก็ถือเป็นสัตว์ที่รบกวนกินพืชผลของเกษตรกรเสียหายได้ครั้งละเป็นจำนวนมาก ทางการอินเดียจึงอนุญาตให้ล่าสัตว์ชนิดนี้ได้อย่างถูกกฎหมาย ขณะที่อีกไม่น้อยถูกรถชน นอกจากนี้ยังต้องขาดแคลนที่อยู่ซึ่งเป็นผลมาจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นทุกวัน และมีศัตรูตามธรรมชาติอีกอย่างคือเสือและสิงโต ทำให้ปัจจุบันเหลือปริมาณ นิลกายอยู่ไม่มากแล้ว ในอินเดียมีประมาณ 100,000 ตัวเท่านั้น ส่วนที่รัฐเท็กซัสในสหรัฐอเมริกาถูกนำไปเลี้ยงในสวนสัตว์บ้าง ในธรรมชาติบ้าง ช่วงทศวรรษ 1920 เหลือปริมาณนิลกายประมาณ 1,500 ตัว[3]

สำหรับในประเทศไทย นิลกายมีอยู่ที่สวนสัตว์เชียงใหม่ ซึ่งได้ตกลูกในไทยมาแล้วถึง 4 ตัว นอกจากนี้แล้วยังเป็นสัตว์ที่มีความใกล้เคียงกับซาวลา (Pseudoryx nghetinhensis) ที่พบในป่าทึบของเวียดนามอีกด้วย[4][5][6]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Mallon, D.P. (2008). Boselaphus tragocamelus. In: IUCN 2008. IUCN Red List of Threatened Species. Downloaded on 29 March 2009. รายการฐานข้อมูลมีหมายเหตุย่อถึงการระบุให้สายพันธุ์นี้เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงต่ำต่อการสูญพันธุ์
  2. "Boselaphus tragocamelus (Pallas, 1766)". ITIS Integrated Taxonomic Information System - Report (ภาษาอังกฤษ).
  3. "สวนสัตว์เชียงใหม่ได้สมาชิกเพิ่ม". เดลินิวส์. 29 มกราคม 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 เมษายน 2012.
  4. "นิลกายสัตว์โบราณ". วัดไทยลุมพินี ประเทศเนปาล. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 มิถุนายน 2011.
  5. "ฮือฮา! สวนสัตว์เชียงใหม่โชว์ 'นิลกาย' สัตว์โบราณในป่าหิมพานต์". ไทยรัฐ. 29 มกราคม 2012.
  6. "ค้นพบซาวลา "ยูนิคอร์นแห่งเอเซีย" อีกครั้ง ในรอบ 15 ปี ที่ประเทศเวียดนาม". World Wide Fund For Nature. 12 พฤศจิกายน 2013.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

  • วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Boselaphus tragocamelus

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Boselaphus tragocamelus ที่วิกิสปีชีส์