ข้ามไปเนื้อหา

นิราศธารโศก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นิราศธารโศก
ชื่ออื่นกาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก, นิราศพระบาท, นิราศเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์
กวีเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์
ประเภทกาพย์ห่อโคลงนิราศ
คำประพันธ์กาพย์ยานี, โคลงสี่สุภาพ
ความยาว152 บท
ยุคสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมวรรณศิลป์

นิราศธารโศก เป็นกาพย์ห่อโคลงในพระราชนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ ทรงพระนิพนธ์คราวเดียวกับกาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง เมื่อครั้งตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศไปทรงนมัสการและสมโภชรอยพระพุทธบาทสระบุรี เดิมเรียก นิราศพระบาท ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็น "กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก" เพื่อให้คล้องกับกาพย์ห่อโคลงนิราศธารทองแดง

รูปแบบคำประพันธ์เป็นกาพย์ห่อโคลงจำนวน 152 บท ขึ้นต้นด้วยโคลง 4 สุภาพ 2 บท จบด้วยโคลงกระทู้ 3 บท ระบุชื่อกวีผู้ทรงนิพนธ์และระบุว่าวรรณคดีเรื่องจบบริบูรณ์ เนื้อความเริ่มด้วยการชมความงามของนางอันเป็นที่รักตามคติอินเดีย คือชมความงามทีละส่วนตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้าแล้วสรุปว่า นางนั้นงามจนยากที่จะหาใครเทียม จากนั้นพรรณนาคร่ำครวญไปตามลำดับเวลา ตลอดวัน ตลอดคืน เริ่มแต่โมงเช้า สองโมงเช้า สามโมงเช้า สี่โมงเช้า ห้าโมงเช้า เที่ยง บ่ายโมง สองโมง สามโมงเย็น สี่โมงเย็น ห้าโมงเย็น ทุ่มหนึ่ง สองทุ่ม ยามหนึ่ง สี่ทุ่ม ห้าทุ่ม สองยาม เจ็ดทุ่ม แปดทุ่ม ยามสาม สิบทุ่ม ตีสิบเอ็ด จวบจนถึงเช้า แล้วคร่ำครวญไปตามลำดับวัน เดือน ฤดู ปี ตั้งแต่วันอาทิตย์ถึงวันเสาร์ เดือนห้าถึงเดือนสี่ ฤดูคิมหันต์ วัสสันต์(วสันต์) และเหมันต์ ปีชวดถึงปีกุญ (กุน)[1] กล่าวถึงพิธีต่าง ๆ ที่กระทำในแต่ละเดือน จากนั้นกล่าวถึงการเสด็จประพาสธารโศก[2]

กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ วิทยาจารย์ ร.ศ. 130 (พ.ศ. 2452) ใช้ชื่อว่า กาพย์ห่อโคลงนิราศเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ต่อมากรมศิลปากรตรวจสอบชำระใหม่ใน พ.ศ. 2505 ได้ทำเชิงอรรถเพิ่มเติม พร้อมรูปภาพและแผนที่ประกอบ[3]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "กาพย์ห่อโคลงธารโศก". นามานุกรมวรรณคดีไทย.
  2. ณัฐวุฒิ คล้ายสุวรรณ, อภิเดช สุผา. "โลกทัศน์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรที่ปรากฏในพระนิพนธ์ประเภทกาพย์เห่เรือและกาพย์ห่อโคลง". วารสารวิชาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา.
  3. "คำอธิบาย กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก". วัชรญาณ.