นิทรรศการศิลปะตกรอบ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
งาน “อาหารกลางวันบนลานหญ้า” โดยเอดวด มาเนท์ที่ถูกปฏิเสธโดยคณะกรรมการตัดสินของซาลอน

นิทรรศการศิลปะตกรอบ (ฝรั่งเศส: Salon des Refusés (เสียงอ่านภาษาฝรั่งเศส: [salɔ̃ de ʁəfyze]), อังกฤษ: Exhibition of rejects) คือนิทรรศการแสดงงานศิลปะที่ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าแสดงในนิทรรศการศิลปะแห่งปารีส หรือ “ซาลอน” ซึ่งเป็นนิทรรศการศิลปะที่จัดขึ้นอย่างเป็นทางการโดยสถาบันวิจิตรศิลป์แห่งฝรั่งเศสในกรุงปารีส แต่นิทรรศการศิลปะตกรอบครั้งสำคัญคือนิทรรศการศิลปะตกรอบของปี ค.ศ. 1863

ที่มา[แก้]

ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ปารีสเป็นศูนย์กลางของศิลปินทุกสาขาตั้งแต่กวี, จิตรกร, ประติมากร และอื่นๆ[1] ปารีสกลายเป็นสถานที่ที่ต้องไปและเป็นเมืองหลวงของศิลปะของโลก ศิลปินที่ต้องการที่จะสร้างชื่อเสียงก็จะต้องพยายามนำงานเข้าแสดงที่ “ซาลอน” หรือต้องศึกษาในฝรั่งเศส การได้รับเข้าแสดงงานในซาลอนเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อการดำรงอยู่ของศิลปิน ชื่อเสียงและอาชีพอาจจะได้รับการชื่นชูหรือได้รับการโจมตีจนเสียหายก็มาจากการได้รับการยอมรับหรือปฏิเสธโดยซาลอน[2]

ราวคริสต์ทศวรรษ 1830 ห้องแสดงภาพในปารีสก็เริ่มจัดงานแสดงศิลปะขนาดเล็ก ซึ่งเป็นงานแสดงส่วนบุคคลของงานที่ได้รับการปฏิเสธโดยคณะกรรมการตัดสินของซาลอน และอันที่จริงแล้วการแสดงศิลปะตกรอบครั้งใหญ่ของปี ค.ศ. 1863 ก็จัดโดยรัฐบาลฝรั่งเศสเอง ในปีนั้นศิลปินทำการประท้วงคณะกรรมการตัดสินของซาลอนที่ปฏิเสธงานถึง 3,000 ชิ้น ซึ่งเป็นจำนวนงานที่ได้รับการปฏิเสธที่สูงกว่าปกติ ประกาศอย่างเป็นทางการกล่าวว่า “เราต้องการที่จะให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่าการประท้วงการตัดสินของคณะกรรมการนี้ยุติธรรมหรือไม่ด้วยตนเอง” จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 จึงมีพระราชประกาศให้ศิลปินที่ถูกปฏิเสธงานนำงานไปตั้งแสดงในบริเวณที่ติดกับบริเวณที่มีการจัดนิทรรศการศิลปะแห่งปารีสอย่างเป็นทางการได้

นักวิพากษ์ศิลป์และมหาชนต่างก็เย้ยหยันงาน “ตกรอบ” ที่รวมทั้งงานจิตรกรรมที่ในปัจจุบันเป็นงานที่มีชื่อเสียงเช่นงาน “อาหารกลางวันบนลานหญ้า” (Le déjeuner sur l'herbe) โดยเอดวด มาเนท์ และภาพ “สตรีในชุดขาว” โดยเจมส์ แม็คนีลล์ วิสต์เลอร์ แต่การแสดงก็ได้รับความสนใจพอที่จะทำให้เกิดการเขียนแนวการเขียนแบบอาวองการ์ดขึ้น จากแรงยุยงของมาเนท์จิตรกรอิมเพรสชันนิสม์ก็เริ่มแสดงงานเขียนนอกนิทรรศการศิลปะแห่งปารีสกันมากขึ้นเริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1874 และประสบกับความสำเร็จ หลังจากนั้นก็ได้มีการจัด “นิทรรศการศิลปะตกรอบ” ขึ้นในกรุงปารีสในปี ค.ศ. 1874, ค.ศ. 1875 และ ค.ศ. 1886 จากนั้นความนิยมของงานนิทรรศการศิลปะแห่งปารีสก็เริ่มจะวายลง

อ้างอิง[แก้]

  1. Ross King, The Judgement of Paris (2006), p59.
  2. Ibid., p57.
  • Brombert, Beth Archer (1996). Edouard Manet: Rebel in a Frock Coat. Boston: Little, Brown.
  • Hauptman, William (March 1985). "Juries, Protests, and Counter-Exhibitions Before 1850." The Art Bulletin 67 (1): 97-107.
  • Mainardi, Patricia (1987). Art and Politics of the Second Empire: The Universal Expositions of 1855 and 1867. New Haven: Yale U Pr.
  • King, Ross (2006). "The Judgement of Paris: The Revolutionary Decade That Gave the World Impressionism" Bond Street Books, Canada

See also[แก้]