ข้ามไปเนื้อหา

วัชรยาน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก นิกายตันตระ)

วัชรยาน (สันสกฤต: Vajrayāna) มันตรยาน (Mantrayāna) คุยหยาน (Esoteric Buddhism) หรือ ตันตรยาน (Tantric Buddhism) เป็นศาสนาพุทธแบบคุยหลัทธิ ที่สืบทอดขนบความเชื่อและการปฏิบัติแบบตันตระมาจากอินเดียสมัยกลาง

วัชรยาน หมายถึง ยานเพชร ซึ่งผู้ศรัทธาในสายนี้เชื่อว่าเป็นยานที่ประเสริฐกว่าหีนยานและมหายาน

ความเป็นมาของวัชรยาน

[แก้]

พุทธศาสนิกชนฝ่ายวัชรยานกล่าวว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงหมุนกงล้อพระธรรมจักร 3 ครั้งด้วยกัน ซึ่งมีความหมายว่า ท่านได้เทศนาในหลักใหญ่ ๆ ไว้ 3 เรื่อง 3 วาระ ได้แก่

  1. ที่เมืองสารนาถ กรุงพาราณสี เทศนาเกี่ยวกับพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท
  2. ที่กฤตธาราโกติ กรุงมคธ
  3. ที่ไวศาลี

การเทศนาครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 นั้นได้เทศนาเกี่ยวกับมหายาน ซึ่งได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในเรื่องของอุดมคติการหลุดพ้นของสรรพสัตว์ทั้งหมด เป็นอุดมคติของมหายาน อุดมคตินี้ เรียกว่า "โพธิจิต"(จิตที่ต้องการตรัสรู้ธรรมเพื่อประโยชน์ของสัตว์ทั้งหลาย)

พุทธศาสนาได้เข้าสู่ทิเบตในสมัยกษัตริย์ซงแจ็นกัมโปในราวคริสต์ศตวรรษที่ 7 พุทธศาสนาเข้าสู่ทิเบตทั้งจากอินเดียและจีน ได้มีบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ทิเบตว่ามีการสังคายนาพระพุทธศาสนา ณ นครลาซา โดยผ่านการโต้วาทีธรรมระหว่างนิกายเซนของจีนและวัชรยานจากอินเดีย ผลปรากฏว่า ชาวทิเบตเลื่อมใสในวัชรยานมากกว่า ดังนั้นพุทธศาสนาวัชรยานจึงลงรากฐานมั่นคงในทิเบตสืบมา

ครั้นพระเจ้าชีซงเตแจ็น ได้ทรงนิมนต์ท่านศานตรักษิต ภิกษุชาวอินเดียและพระคุรุปัทมสมภวะเข้ามาเพื่อเผยแผ่พระธรรม โดยเฉพาะพระคุรุปัทมสมภวะได้เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวทิเบตอย่างมากจนท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ 2 ของชาวทิเบต ท่านได้ร่วมกับท่านศานตรักษิตสร้างวัดสัมเย่ขึ้นในปี ค.ศ. 787 และเริ่มมีการอุปสมบทพระภิกษุชาวทิเบตขึ้นเป็นครั้งแรก ในความอุปถัมภ์ของกษัตริย์ชีซงเตแจ็น ทั้งนี้ยังได้จัดนักปราชญ์ชาวทิเบตเข้าร่วมในการแปลพระพุทธธรรมเป็นภาษาทิเบตด้วยอย่างมากมาย

การเผยแผ่ของพุทธวัชรยาน (พุทธทิเบต)

[แก้]

พุทธศาสนาในทิเบตมีประวัติความเป็นมา ทางหนึ่งเผยแผ่จากอินเดียในศตวรรษที่ 7 ในสมัยกษัตริย์ซงแจ็นกัมโปดังกล่าวข้างต้น แบ่งออกเป็น 4 นิกายใหญ่ๆ ได้แก่ ญิงมาปะ, คากิวปะ, สาเกียปะ และเกลุกปะ โดยญิงมาปะจะเน้นการฝึกปฏิบัติตามคำสอนในคัมภีร์ที่ได้มีการแปลจากสันสกฤตระหว่างศตวรรษที่ 7-10 ส่วนนิกายที่เหลือรวมเรียกว่า ซาร์มา (Sarma) หมายถึงนิกายใหม่ เน้นการฝึกปฏิบัติตามคำสอนในคัมภีร์ที่ได้มีการแปลหลังศตวรรษที่ 11 โดยมีท่านอตีศะทีปังกร พระอาจารย์ชาวอินเดียเป็นผู้เน้นในเนื้อหาของพระสูตร

นิกาย

[แก้]

พุทธวัชรยานแบ่งเป็นหลากหลายนิกาย แต่ละนิกายล้วนมีสังฆราช หรือผู้ปกครองสุงสุดของคณะสงฆ์ในแต่ละนิกายนั้น ๆ แต่ทุกนิกายล้วนแต่ยึดสมเด็จองค์ดาไลลามะ (ทะไลลามะ) เป็นประมุขทางจิตวิญญาณ

1. นิกายพุทธจากอินเดีย 4 นิกาย ได้แก่

นิกายณิงมาปะ (Nyingmapa)

[แก้]

ญิงมาปะเป็นนิกายแรกที่เผยแผ่มาจากอินเดีย โดยถือว่ากำเนิดจากท่านคุรุปัทมสมภวะ ได้มีพัฒนาการครั้งใหญ่ๆ 3 ครั้ง คือ การเริ่มต้น ซึ่งก็ถือว่าเป็นการเริ่ม ต้นพุทธศาสนาของทิเบตด้วย และเป็นนิกายเดียวที่มีอยู่ในช่วงนั้น คือศตวรรษที่ 8-11 คำว่า "ญิงมาปะ" ซึ่งแปลว่าโบราณนิกายคือชาวทิเบตเลื่อมใสศรัทธา ท่านคุรุปัทมภพมากเชื่อว่าท่านเป็นผู้ทรงพลานุภาพอย่างมากในการให้ความช่วยเหลือขจัดอุปสรรคต่าง ๆ ได้จนหมดสิ้น ณยิงมาปะได้เน้นในด้านพุทธตันตระคำว่าตันตระนั้นแปลว่าเชือกหรือเส้นด้ายใหญ่ ๆ หรือความต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการถ่ายทอดคำสอนจากอาจารย์ไปสู่ศิษย์ โดยไม่มีการขาดตอนโดยผ่านพิธีมนตราภิเษก และเป็นการถ่ายทอดคำสอนปากเปล่าจากอาจารย์สู่ศิษย์

องค์คุรุปัทมสัมภวะได้ให้เหตุผลไว้ 3 ได้แก่

  1. เพื่อไม่ให้คำสอนผิดเพี้ยนไปเมื่อเวลาผ่านไปนาน ๆ
  2. เพื่อให้พลังแห่งคำสอนนั้นอยู่ครบถ้วนบริบูรณ์ และ
  3. เพื่อเป็นการให้พรแก่คนรุ่นหลังที่ได้สัมผัสกับคำสอนดั้งเดิม

คำสอนญิงมาปะเน้นในเรื่องความไม่เป็นแก่นสารของจักรวาลและเน้นถึงความเป็นไปได้ในการตรัสรู้ในเวลาอันสั้น แบ่งพุทธศาสนาออกเป็น 9 ยานคือ

  1. สาวกยาน ปัจเจกพุทธยาน และ โพธิสัตว์ยาน คือสามยานขั้นต้น
  2. กริยาตันตระ จริยะตันตระ และโยคะตันตระ เป็นสามยานในชั้นกลางหรือจัดเป็นตันตระล่าง (Lower Tantra) และ
  3. มหาโยคะตันตระ อนุโยคะตันตระและอติโยคะตันตระ สามยานสุดท้าย หรือจัดเป็นตันตระบน (Upper Tantra) หรือ อนุตรโยคะตันตระ

นิกายคากิวปะเป็นนิกายสำคัญนิกายหนึ่งในต้นศตวรรษที่ 11การ์จู" แปลว่า การถ่ายทอดคำสอนด้วยการบอกกล่าวจากอาจารย์สู่ศิษย์ ผู้ก่อตั้งคือท่านมาร์ปะ ผู้สืบสายคำสอนมาจากนาโรปะ นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งมหาวิหารนาลันทา ผู้รับสืบทอดคำสอนมาจากติโลปะ ผู้ถือว่ารู้แจ้งเองไม่ปรากฏว่าท่านได้รับคำสอนจากพระอาจารย์ท่านใด แต่ได้มีบันทึกบอกกล่าวไว้ว่าท่านได้รับคำสอนโดยตรงจากพระพุทธวัชรธร มาร์ปะเป็นลามะปราชญ์ผู้แปลพระธรรมที่มีชื่อเสียงมากท่านหนึ่งของทิเบต ท่านได้ถ่ายทอดคำสอนต่อให้มิลาเรปะ โยคีผู้บรรลุความรู้แจ้งในชีวิตนี้ นิกายการ์จูปะได้ชื่อว่านิกายขาวก็สืบเนื่องจากการครองผ้าของมิลาเรปะซึ่งท่านจะครองผ้าบาง ๆ สีขาวหรืออาจจะมาจากสัญลักษณ์ของวัดในการ์จูปะซึ่งจะทาสีขาวทั้งหมด มาร์ปะและมิลาเรปะถือว่ามีความสำคัญมากในพุทธตันตระของทิเบต ท่านได้ประพันธ์คำสอนไว้มากมาย มิลาเรปะมีศิษย์ทั้งหมด 21 ท่าน ท่านที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ กัมโปปะ คำสอนสำคัญของนิกายนี้ ตันตระโยคะทั้ง 6 และการปฏิบัติ มหามุทรา

นิกายสาเกียปะ

[แก้]

นิกายนี้ได้มาจากชื่อของวัดสาเกียปะ คำว่า สาเกียแปลว่าดินสีเทา อยู่ในแคว้นซัง ทางตอนใต้ของ แม่น้ำยาร์ลุงจังโป

วัดสาเกียมีเอกลักษณ์คือทาสีเป็น 3 แถบ คือแถบสีแดง สีขาว และสีดำ สีทั้ง 3 เป็นสีแห่งพระโพธิสัตว์ 3 องค์ คือ

นิกายสาเกียปะได้ตั้งขึ้นในศตวรรษที่ 11 ผู้ก่อตั้งนิกายคือผู้สืบเชื้อสายขุนนางเก่าตระกูลเกิน โกนชก เกียลโป ท่านได้รับคำสอนกาลจักรตันตระจากบิดาซึ่งรับคำสอนมากจากวิรูปะ มหาสิทธาชาวอินเดีย ท่านเกิน โกนชก เกียลโปได้เดินทางไปเรียนตันตระจากอาจารย์อีกท่านคือโยมิโลซาวา เป็นบัญญัติของท่านเกิน โกนชก เกียลโป ว่าการสืบทอดในนิกายนี้จะสืบทอดเฉพาะคนในตระกูลเกินเท่านั้น ตำแหน่งของเจ้านิกายสาเกียปะเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจทั้งในทางการเมืองและการศาสนาความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่าผู้สืบสายนิกายสาเกียปะ ท่านที่4คือกุงกา เกียลเซ็น หรือ สาเกียบันฑิต และหลานของท่านที่ชื่อว่า พักปะ โลดุป เกียลเซนทั้ง 2 ท่านเป็นผู้มีชื่อเสียงในการเมืองของทิเบตมาก ท่านได้รับการเชิญจากโดยข่านชาวมงโกลให้ไปแผ่แผ่พุทธตันตระในประเทศจีน เป็นที่เลื่อมใสแก่ข่านมงโกลอย่างมาก กุบไลข่านได้แต่งตั้งให้พักปะ โลดุป เกียลเซนให้ปกครองทิเบต และนี่เป็นจุดเริ่มต้นของการที่พระสงฆ์นั้นปกครองทั้งอาณาจักรและศาสนจักร

นิกายกาดัมปะและเกลุกปะ

[แก้]

เช่นเดียวกับนิกายกากยวีปะและซากยาปะ จุดเริ่มของทั้ง 2 นิกายมาจากอตีศะทีปังกร และศิษย์ของท่านชื่อ ตมเติมปะ ท่านอตีศะได้เน้นมากในเรื่องคำสอนดั้งเดิมของพุทธศาสนาและเน้นในการปฏิบัติพระธรรมวินัยที่เคร่งครัดโดยไม่เน้นในคำสอนตันตระ ศิษย์ของท่านอตีศะได้ก่อตั้งนิกายกาดัมปะขึ้น คำว่า กาดัม แปลว่าคำสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อเวลาผ่านไปกาดัมปะได้สูญเอกลักษณ์ของตนเองไปบ้างด้วยแรงดึงดูดใจจากตันตระ ในศตวรรษที่14 พระอาจารย์ซงคาปาได้ศึกษาคำสอนของท่านอตีศะและได้ปฏิวัตินิกายกาดัมปะขึ้นมาใหม่ให้คงเอกลักษณ์เดิมและได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นนิกายเกลุกปะ คำว่าเกลุก แปลว่าความดีงาม คำสอนของเกลุกปะ เน้นที่การศึกษาจากต่ำขึ้นไปสูงเน้นธรรมวินัย เน้นด้านตรรกะและพุทธปรัชญา

วัชรยานในประเทศต่าง ๆ

[แก้]

ทิเบต

[แก้]

บทความหลัก: วัชรยาน

ในทิเบต คำสอนเกี่ยวพุทธตันตระได้พัฒนาไปเป็นวัชรยาน โดยมีการแบ่งเป็นนิกายย่อย ๆ อีกมาก

จีน: นิกายเจิ้นเหยียนหรือมี่จง

[แก้]

ผู้นำคำสอนนิกายพุทธตันตระเข้าสู่ประเทศจีนคือ ศุกรสิงหะซึ่งเข้าสู่จีนเมื่อ พ.ศ. 1259 ต่อมาได้มีคณาจารย์สำคัญเช่น วัชรโพธิ์ และอโมฆวัชระเข้ามาเผยแพร่คำสอนอีก นิกายนี้ได้รับการส่งเสริมมากเมื่อมองโกลเข้ามามีอำนาจในจีน จากนั้นได้เสื่อมไป

ญี่ปุ่น: นิกายชินงอน

[แก้]

ก่อตั้งโดยคูไค ซึ่งมีนามว่า โคโบ ไดจิหลังจากมรณภาพ โดยรับคำสอนผ่านทางนิกายเชนเหยนและฌานในจีน ได้รวมเอาความเชื่อในศาสนาชินโตเข้าไว้ด้วย

ไทย

[แก้]

พระพุทธศาสนาฝ่ายวัชรยานในเมืองไทย เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยของ พระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร (โพธิ์แจ้งมหาเถระ) หรือลามะ ทริมซิน กุนดั๊ก รินโปเช ปฐมเจ้าอาวาสวัดโพธิ์แมนคุณาราม และอดีตเจ้าคณะใหญ่จีนนิกายรูปที่ 6 ท่านเจ้าคุณอาจารย์ได้จาริกไปประเทศจีน ได้ธุดงค์ไปถึงแคว้นคาม ทิเบตตะวันออก และได้เข้าศึกษามนตรยาน นิกายณยิงมาคากิว ณ สำนักสังฆราชาริโวเช แคว้นคาม ทิเบตตะวันออกกับพระสังฆราชา “วัชระนะนาฮู้ทู้เคียกทู้” (พระมหาวัชรจารย์ พุทธะ นอร่า รินโปเช) ซึ่งเป็นพระมหาเถระที่มีชื่อเสียงมากของทิเบต จีน และในแถบจีนตอนใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย

ท่านสังฆราชานะนา ได้เปิดเผยว่าท่านเจ้าคุณอาจารย์ถือกำเนิดจากปรมาจารย์ “คุรุนาคารชุน” (ตามความเชื่อและแนวทางปฏิบัติในทิเบต) ซึ่งมาเพื่อฟื้นฟู สถาปนาพุทธศาสนามหายานให้มั่นคงในภูมิภาคนี้ ดังนั้นท่านเจ้าคุณอาจารย์ได้รับ ความเมตตาจากพระอาจารย์เป็นพิเศษ เมื่อท่านเจ้าคุณอาจารย์ศึกษาแตกฉานในศาสนาพุทธ ฝ่ายวัชรยาน นิกายณยิงมาคากิวแล้ว พระสังฆราชาฯ ได้ประกอบมนตราภิเษก ตั้งให้ท่านเจ้าคุณอาจารย์โพธิ์แจ้งมหาเถระ หรือลามะ ทริมซิน กุนดั๊ก รินโปเช เป็น “พระวัชราจารย์” อันดับที่ 26 สืบต่อจากท่าน ในการครั้งนั้น ท่านสังฆราชานะนาได้มอบ อัฐบริขาร สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำตำแหน่งสังฆราชาให้ท่านเจ้าคุณอาจารย์อย่างครบถ้วน และหลังจากนั้นไม่นานท่านได้รับเกียติสูงสุดในตำแหน่งพระสังฆราชองค์ที่ 19 แห่งนิกายมันตรยาน ทิเบต

ทั้งนี้พระอาจารย์ได้มอบพระธรรมคัมภีร์ ที่ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุดของนิกายพร้อมทั้งกำชับให้ท่านเจ้าคุณอาจารย์นำกลับมาประดิษฐานในประเทศไทย ด้วยเหตุที่ว่าเมืองไทยพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองและมั่งคง ท่านสังฆราชาได้ทำนายว่า ทิเบตต้องแตก พระธรรมคัมภีร์อันมีค่ามหาศาลจะถูกทำลายหมด ในปัจจุบันเป็นที่ยืนยันแล้วว่า พระธรรมคัมภีร์ฉบับที่อยู่ กับท่านเจ้าคุณอาจารย์เป็นฉบับสมบูรณ์ที่สุด

จนถึงสมัยก่อนที่ท่านจะดับขันธ์ ท่านเกิดอาการล้มป่วยเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลธนบุรี ท่านเจ้าคุณเย็นเต็ก ซึ่งเป็นลูกศิษย์ท่านได้เดินทางไปยังเนปาล เพื่อสอบถามถึงอาการป่วยของพระอาจารย์จากลามะชั้นสูง และท่านได้เข้าพบกับพระสังฆราชต๊ากน่า จึงได้ถ่ายทอดรหัสนัยแห่งวัชรยานให้แก่ท่านเจ้าคุณเย็นเต็ก

เมื่อท่านเจ้าคุณโพธิ์แจ้งถึงแก่กาลดับขันธ์นั้น ท่านไม่ได้ถ่ายทอดรหัสนัย และตำแหน่งพระสังฆราชนิกายณยิงมาคากิวให้แก่ผู้ใดเลย คณะศิษย์ของท่านได้เดินทางตามหาพระลามะที่จะมาต่อสายวัชรยานจากท่านหลายๆประเทศ โดยอาศัยเพียงรูปถ่ายของท่านเจ้าคุณโพธิ์แจ้ง พระอาจารย์นอร่ารินโปเช และท่านวิดยาดรุ๊ปวังเท่านั้น สุดท้ายก็พบกับท่านพระมหาวัชรจารย์โซนัม ท๊อปเกียว รินโปเช จึงได้กระจ่างขึ้น เมื่อท่านได้เปิดเผยความลับเรื่องวัชรยาน

จนถึงปัจจุบันนี้ พุทธศาสนาฝ่ายวัชรยานในเมืองไทย ได้รับการสืบทอดมาจากพระอารามริโวเช ซึ่งเป็นต้นสายของวัชรยาน จากแคว้นคาม ทิเบตตะวันออก โดยมีพระมหาวัชรจารย์ โซนัม ท๊อปเกียว รินโปเชเป็นผู้สืบทอด และมีการฝึกปฏิบัติแนวทางนี้ที่ริโวเชธรรมสถาน และวัดโพธิ์แมนคุณาราม กรุงเทพมหานคร

ในส่วนของพระในคณะสงฆ์จีนนิกายนั้น วัชรยานที่ท่านเจ้าคุณได้ถ่ายทอดให้กับศิษย์นั้นเหลือไม่กี่ท่านที่ยังยึดถือและปฏิบัติตามวิถีทางแห่งวัชรยานอย่างเคร่งครัด อาทิเช่น ท่านเจ้าคุณเย็นอี่ วัดโพธิ์เย็น พระอาจารย์เย็นเมี่ยง วัดเทพพุทธาราม เป็นต้น

นอกนั้นยังมีการยึดถือปฏิบัติในส่วนของพิธีกรรม และการมนตราภิเษก และการเขียนอักขรมนต์ในพิธีเจริญพุทธมนต์

สายการปฏิบัติในประเทศไทย

[แก้]

ปัจจุบันมีการถ่ายทอดคำสอนเข้ามาในประเทศไทยจากหลายนิกาย และได้มีการตั้งกลุ่มปฏิบัติต่าง ๆ ขึ้นดังนี้

  • กลุ่ม รังจุง เยเช ประเทศไทย (Rangjung Yeshe Thailand,Chokling Tersar and Taklung Kagyu lineage) [1] เน้นสายการปฏิบัติชกลิง เตรซาและตักลุง กาจูโดยมีพระอาจารย์สำคัญคือ สมเด็จพักชก ริมโปเช (Kyabgön Phakchok Rinpoche)
  • กลุ่ม ศูนย์กลางข้อมูลพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน (ริโวเชธรรมสถาน) สายริโวเช (Mahayana information center - Riwoche, Riwoche lineage) [2]
  • กลุ่ม ชัมบาลา สายปฏิบัติชัมบาลา (Shambhala Bangkok, Shambhala lineage) เน้นคำสอนของพระอาจารย์ทรุงปะ ริมโปเช [3]
  • บ้านติโลปะ (Tilopa House) สืบสายการปฏิบัติของท่านทรุงปะริมโปเช เช่นเดียวกับสายชัมบาลา แต่ผ่านคุรุทางจิตวิญญาณชาวอเมริกันชื่อ เรจินัลด์ เรย์ (Reginald Ray) มีบ้านปฏิบัติธรรมและที่อบรมเสวนาในกรุงเทพมหานคร
  • ศูนย์อนัมคาราเพื่อปัญญาเมตตาและสันติสุข สอนการทำสมาธิพระวัชรสัตว์เพื่อชำระล้างอดีตกรรม การทำสมาธิโพวา การทำทงเลน และการสวดภาวนา
  • Drikung kayu Dorje Ling Thailand เป็นสายปฏิบัติของนิกายดริกุงการ์จู ซึ่งเป็นหนึ่งในนิกายเชื่อว่าสืบมาตั้งแต่สมัยท่านจิกเตน ซุมกอนผู้ซึ่งเป็นศิษย์ขอบท่านพักโม่ ดรูปะ โดยจะมีการมอบมนตราภิเษกต่างๆเช่น พิธีมนตราภิเษกมรรควิถีทั้ง5แห่งมหามุทราและ พิธีนาคบูชา เป็นต้นและอาจมี และอาจมีกิจกรรมอื่นๆซึ่งจะมีการประชาสัมพันธ์ในทางเพจ Facebook https://www.facebook.com/DKTHofficial?mibextid=LQQJ4d

นอกจากนี้ ยังมีคำสอนในพุทธวัชรยานที่ได้รับการถ่ายทอดที่วัดโพธิ์แมนคุณาราม เช่น พิธีมนตราภิเษก และเสถียรธรรมสถาน เช่น คำสอนเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์ตารา

อ้างอิง

[แก้]
  • ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์. ศาสนาและปรัชญาในจีน ทิเบต และญี่ปุ่น. กทม. สุขภาพใจ. 2545
  • ประยงค์ แสนบุราณ. พระพุทธศาสนามหายาน. กทม.โอเดียนสโตร์. 2548
  • อภิชัย โพธิ์ประสิทธิ์ศาสตร์. พระพุทธศาสนามหายาน. พิมพ์ครั้งที่ 4. กทม. มหามกุฏราชวิทยาลัย. 2539
  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-01-21. สืบค้นเมื่อ 2015-07-25.
  2. ศูนย์กลางข้อมูลพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน Mahayana information center - Riwoche
  3. ชัมบาลา กรุงเทพฯ Shambhala Bangkok group

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

ศูนย์กลางข้อมูลพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน

[แก้]

เผยแผ่ข้อมูลกิจกรรมธรรมในพุทธศาสนาวัชรยาน

[แก้]