นาคารชุนโกณฑะ
นาคารชุนโกณฑะ | |
---|---|
ซากของนาคารชุนโกณฑะ | |
ที่ตั้ง | มเจรละ อำเภอปัลนาฑู รัฐอานธรประเทศ ประเทศอินเดีย |
พิกัด | 16°31′18.82″N 79°14′34.26″E / 16.5218944°N 79.2428500°E |
ผู้ดูแล | กรมสำรวจโบราณคดีอินเดีย |
นาคารชุนโกณฑะ (อักษรโรมัน: Nagarjunakonda; เขาพระนาคารชุน) เป็นเมืองโบราณและแหล่งโบราณคดีที่ปัจจุบันอยู่บนเกาะ ใกล้กับแหล่งน้ำนาคารชุนสาคร อำเภอปัลนาฑู รัฐอานธรประเทศ ประเทศอินเดีย[1][2] ถือเป็นหนึ่งในแหล่งโบราณคดีพุทธที่รุ่มรวยที่สุดในโลก ปัจจุบันพื้นที่ตั้งเดิมเกือบทั้งหมดอยู่ใต้น้ำที่เกิดจากการสร้างเขื่อนนาคารชุนสาคร นักโบราณคดีจึงขุดค้นและเคลื่อนย้ายซากปรักหักพังขึ้นไปอยู่บนเกาะที่เหนือระดับน้ำเขื่อน ซึ่งตั้งอยู่จนถึงปัจจุบัน
ในอดีต นาคารชุนโกณฑะเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยและอารามพุทธที่สำคัญของภูมิภาค ซากของแหล่งนาคารชุนโกณฑะปรากฏทั้งซากของศาสนสถานในศาสนาพุทธมหายานและศาสนาฮินดู[3] นาคารชุนโกณฑะตั้งอยู่ห่างไป 160 กิโลเมตรจากอมราวตีสถูป ประติมากรรมที่พบที่นี่ปัจจุบันนำไปจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ทั้งในและนอกประเทศอินเดีย และมีลักษณะทางศิลปกรรมที่สำคัญในกลุ่มศิลปกรรมอมราวตี ที่บางครั้งอาจเรียกว่าแบบอานธระยุคหลัง[4] นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ของอดีตพระราชวังซึ่งมีประติมากรรมรูปทางฆราวาสที่ถือว่าพบได้ยากในสมัยนั้น และมีอิทธิพลจากโรมัน[5]
ชื่อในปัจจุบันนั้นตั้งตามพระนาคารชุน คุรุมหายานรูปสำคัฐที่เข้าใจกันว่าเป็นผู้พัฒนาบริเวณนี้ชึ้น กระนั้นไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าท่านมีความเกี่ยวเนื่องกับการสร้างนาคารชุนโกณฑะขึ้นมาจริงหรือไม่ ชื่อดั้งเดิมที่ใช้ในสมัยที่เจริญรุ่งเรืองคือ "วิชยปุรี" (Vijayapuri)
แหล่งนี้ถูกค้นพบครั้งแรกในปี 1926 โดยครูโรงเรียนชาวท้องถิ่นคนหนึ่ง สุรปรชู เวงกฏรามิยะฮ์ (Suraparaju Venkataramaih) ซึ่งพบเสาหินโบราณที่นี้และรายงานไปยังรัฐบาลของรัฐมัทราส ซึ่งต่อมาได้ส่งผู้ช่วยแผนกเตลูกูของหน่วยโราณคดีและจารึกมัทราส ศรี สรัสวตี (Shri Sarasvati) มายังแหล่งนี้[6] การขุดค้นทางโบราณคดีอย่างเป็นระบบเริ่มต้นโดย เอ เอช เลิงเฮิสต์ ในปี 1927–1931 โดยขุดพบสถูปเจดีย์และประติมากรรมมากมาย[7][6]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Longhurst, A. H. (October 1932). "The Great Stupa at Nagarjunakonda in Southern India". The Indian Antiquary. ntu.edu.tw. pp. 186–192. สืบค้นเมื่อ 13 January 2019.
- ↑ Syamsundar, V. L. (2017-02-13). "Palnadu aspires for separate district status". www.thehansindia.com. สืบค้นเมื่อ 2019-05-28.
- ↑ T. Richard Blurton (1993). Hindu Art. Harvard University Press. pp. 53–54. ISBN 978-0-674-39189-5.
- ↑ Rowland, pp. 209-214
- ↑ Rowland, 212
- ↑ 6.0 6.1 K. Krishna Murthy 1977, p. 2.
- ↑ The Buddhist Antiquities of Nagarjunakonda, Madras Presidency by A. H. Longhurst. Journal of the Royal Asiatic Society, Volume 72, Issue 2–3 June 1940 , pp. 226–227 [1]