นักองค์เภา (พระราชธิดาในสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดี)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นักองค์เภา
พระเทพี
ประสูติพ.ศ. 2365
พนมเปญ อาณาจักรกัมพูชา
สิ้นพระชนม์ไม่มีข้อมูล
อุดงฦๅไชย กัมพูชาในอารักขาของฝรั่งเศส
พระภัสดาสมเด็จพระศรีไชยเชฐ (นักองค์อิ่ม) (พ.ศ. 2383–2387)
พระบุตรพระองค์เจ้าสำออก
ราชวงศ์ตรอซ็อกผแอม
พระบิดาสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดี
พระมารดานักนางยศ

นักองค์เภา หรือ นักพระองค์เภา[1] เป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดี หรือนักองค์จัน ประสูติแต่นักนางยศ ครั้นเมื่อตกอยู่ในอิทธิพลญวนจึงมีอีกพระนามหนึ่งว่า หง็อก ทู (Ngọc Thu, 玉秋) และภายหลังได้เข้าเป็นพระเทพีในสมเด็จพระศรีไชยเชฐ (นักองค์อิ่ม) ซึ่งเป็นพระเจ้าอา มีพระธิดาพระองค์หนึ่งชื่อพระองค์เจ้าสำออก

พระประวัติ[แก้]

พระชนม์ชีพช่วงต้น[แก้]

นักองค์เภา ประสูติเมื่อจุลศักราช 1184 ปีมะเมีย จัตวาศก (พ.ศ. 2365) เป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดี หรือนักองค์จัน ประสูติแต่นักนางยศ[2] นักองค์เภามีพระอนุชาต่างพระชนนี แต่ไม่ปรากฏพระนามพระองค์หนึ่ง[2] มีพระเชษฐภคินีพระองค์หนึ่งคือ นักองค์แบน และพระขนิษฐาอีกสองพระองค์ คือ นักองค์เม็ญ หรือมี (ประสูติแต่นักนางกระจับ)[3] และนักองค์สงวน (ประสูติแต่นักนางแป้น)[4]

ผังเครือญาติของนักองค์เภา

นักองค์ตน

นักองค์เอง

นักองค์จัน

นักองค์ด้วง
นักองค์แบน
นักองค์เม็ญ
นักองค์เภานักองค์สงวน
นักองค์ราชาวดี

นักองค์ศรีสวัสดิ
นักองค์วัตถา

หลังสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดีผู้มีนโยบายนิยมญวน[5][6] เสด็จทิวงคตเมื่อ พ.ศ. 2377 ราชสำนักกัมพูชาขาดผู้สืบราชสันตติวงศ์ เพราะพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศมีพระราชธิดาอยู่สี่พระองค์ คือ นักองค์แบน นักองค์มี นักองค์เภา และนักองค์สงวน[7] ในเวลานั้นพระอนุชาในสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดีสองพระองค์ คือ สมเด็จศรีไชยเชฐ พระมหาอุปราช หรือนักองค์อิ่ม และสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี หรือนักองค์ด้วง ซึ่งประทับอยู่ในสยามอ้างสิทธิในราชบัลลังก์ทันที แต่ฝ่ายญวนที่ปกครองเขมรอยู่นั้นไม่ยอมรับให้ทั้งสองสืบราชบัลลังก์

เบื้องต้นฝ่ายพระเจ้ากรุงญวนที่คิดจะเอาดินแดนเขมรมาไว้ในปกครอง จะตั้งให้เจ้านายผู้หญิง พระราชธิดาในสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดีทั้งสามพระองค์ ครองราชย์ร่วมกัน[8] ทว่าในเวลาต่อมาราชสำนักเว้และขุนนางเขมร หมายจะให้นักองค์แบน พระราชธิดาในสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดี ขึ้นเสวยราชย์สืบบิดา แต่เพราะเจ้าหญิงพระองค์นี้นิยมสยาม และยังเป็นหลานสาวของขุนนางเขมรที่ฝักใฝ่สยามจึงมิได้ถูกเลือก[9] ในขณะที่นักองค์เม็ญได้รับการโน้มน้าวจากขุนนางญวนให้เสกสมรสกับพระราชโอรสของจักรพรรดิซา ล็อง (เอกสารไทยเรียก ยาลอง หรือองเชียงสือ) แต่แผนการนี้ถูกขุนนางเขมรคัดค้านอย่างหนัก โดยให้เหตุผลว่ามีวัฒนธรรมต่างกัน และไม่เหมาะควรที่จะให้เจ้านายผู้หญิงปกครองประเทศยาวนาน[8]

เจ้าหญิงประเทศราช[แก้]

พฤษภาคม พ.ศ. 2378 ราชสำนักเว้สถาปนานักองค์เม็ญ หรือหง็อก เวิน (Ngọc Vân, 玉雲) เป็น "เจ้าหญิงเมืองขึ้น" (Quận chúa, 郡主) และมีฐานันดรศักดิ์ต่ำกว่าเจ้าหญิงพระราชธิดากรุงญวน (Công chúa, 公主) ส่วนพระภคินีพระองค์อื่น คือ นักองค์แบน หรือหง็อก เบี่ยน (Ngọc Biện, 玉卞) นักองค์เภา หรือหง็อก ทู (Ngọc Thu, 玉秋) และนักองค์สงวน หรือหง็อก เงวียน (Ngọc Nguyên, 玉源) มีบรรดาศักดิ์เป็น "ท่านหญิงหัวเมืองน้อย" (Huyen quan, 縣君) ฝ่ายญวนทำการอารักขาพระองค์เม็ญอย่างใกล้ชิด มีทหารรักษาพระองค์สองกองร้อย รวม 100 นาย ส่วนพระภคินีอีกสามพระองค์ มีทหารอารักขาพระองค์ละ 30 นาย ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันมิให้เจ้านายเขมรคิดหลบหนีไปพึ่งสยาม

กระทั่ง พ.ศ. 2383 นักองค์แบนถูกทางการญวนจับได้ว่าทรงวางแผนหลบหนีไปสยาม จากการลับลอบติดต่อกับนักเทพ พระชนนี ที่พลัดไปเมืองพระตะบองซึ่งอยู่ในเขตอิทธิพลของสยาม จักรพรรดิมิญ หมั่ง จึงมีพระบรมราชโองการให้จับเจ้านายเขมรไปคุมขังที่พนมเปญเพื่อพิจารณาคดี ต่อมามีพระราชโองการปลดพระองค์เม็ญในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2384 ก่อนเนรเทศเจ้าหญิงเขมรพร้อมเครื่องราชกกุธภัณฑ์ไปไซ่ง่อน[10][7][11] บรรดาขุนนางและข้าราชการเขมรมองว่าการที่ญวนทำเช่นนี้ เสมือนการล้างบางเจ้าเขมรให้สูญวงศ์ อาณาประชาราษฎร์ต่างพากันโกรธแค้นและเจ็บปวดกับนโยบายของญวน[12] ขุนนางญวนส่งเจ้าหญิงเขมรทั้งสี่พระองค์ไว้ที่เมืองล็องโห่ (Long Hồ, 龍湖) เอกสารเขมรเรียกเมืองลงโฮ ส่วนเอกสารไทยเรียกเมืองล่องโห้ เซือง วัน ฟ็อง (Dương Văn Phong) เอกสารเขมรเรียก กุงดก เจ้าเมืองล็องโห่ นำส่งเจ้าหญิงเขมรสามพระองค์คือ นักองค์มี นักองค์เภา และนักองค์สงวนให้เจือง มิญ สาง (Trương Minh Giảng, 張明講) หรือเอกสารไทยเรียก องเตียนกุน แม่ทัพญวนที่ปกครองเขมร ส่งต่อไปยังเมืองไซ่ง่อน แต่กุมนักองค์แบนไว้ เพราะพระชนนีของพระองค์หนีไปพึ่งสยามในกรุงเทพฯ ฝ่ายญวนมองว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการทรยศ เซือง วัน ฟ็องจึงนำนักองค์แบนผู้แปรพักตร์ไปสำเร็จโทษที่เมืองล็องโห่ เมื่อพระชันษา 32 ปี[13] เอกสารเขมรระบุว่านักองค์แบนสิ้นพระชนม์จากการจมน้ำที่แม่น้ำโขง ส่วนเอกสารของคิน สก (Khin Sok) ระบุว่านักองค์แบนถูกทรมานจนสิ้นพระชนม์ ทหารญวนจึงนำพระศพไปทิ้งน้ำ[14] ในเวลาต่อมา พระองค์เม็ญ นักองค์เภา นักองค์สงวน และสมเด็จศรีไชยเชฐ มหาอุปราช ถูกนำไปไว้ที่เมืองเว้[15]

เมื่อทนแรงกัดดันไม่ไหว ทางราชสำนักญวนจึงส่งพระองค์เม็ญ พระขนิษฐา พระชนนี และพระองค์อิ่มพระปิตุลาคืนกรุงพนมเปญเมื่อขึ้น 7 ค่ำ เดือน 6 (ตรงกับวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2384) โดยเจือง มิญ สาง ปลูกเรือนถวายหนึ่งหลัง แล้วถวายตราลัญจกรของสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดี พร้อมพระขรรค์ประจำแผ่นดินแก่พระองค์เม็ญ โอกาสนั้นพระองค์เม็ญทรงแต่งตั้งขุนนางตำแหน่งต่าง ๆ แล้วทำหนังสือไปยังขุนนางเขมรนัยว่าให้ขุนนางและข้าราชการทั้งหลายสนับสนุนพระองค์ แต่ก็ไม่มีผู้ใดสวามิภักดิ์[16] ในเวลาเดียวกันกับนักองค์ด้วงที่เป็นพระปิตุลาอีกพระองค์หนึ่ง ได้รับเสียงสนับสนุนจากราชสำนักกรุงอุดงฦๅไชย[17] ต่อมาพระองค์เม็ญและเจ้านายผู้หญิงที่ถูกฝ่ายญวนจับกุม เพราะทรงลักลอบส่งหนังสือไปหานักองค์ด้วง เนื้อหาระบุว่าให้ขุนนางเขมรไปรับ จะเสด็จหนีออกไปอยู่ด้วย เมื่อองเตียนกุนทราบก็ตั้งกองกำลังเข้มแข็งขึ้น[18] ต่อมาแรม 6 ค่ำ เดือน 11 (ตรงกับวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2384) เจ้าเมืองไซ่ง่อนส่งสมเด็จพระศรีไชยเชษฐหรือนักองค์อิ่มขึ้นมายังพนมเปญ องเตียนกุนจึงปลูกเรือนหลังหนึ่งให้นักองค์อิ่มไปอาศัยรวมกับเจ้านายผู้หญิงซึ่งรวมไปถึงพระองค์เม็ญด้วย เรียกว่าสำนักตาแก้ว และให้นักองค์อิ่มเกลี้ยกล่อมขุนนางเขมรให้เข้าฝ่ายญวน แต่ไม่สำเร็จ[19] ในเวลาต่อมาพระเจ้ากรุงญวนทรงเห็นว่าไม่มีขุนนางเขมรนิยมชมชอบพระองค์เม็ญ จึงส่งพระองค์เม็ญและเจ้านายอื่น ๆ ไปเมืองเมียดจรูก หรือเอกสารไทยเรียกโจฎก เมื่อแรม 11 ค่ำ เดือน 12 (ตรงกับวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2384)[20] ช่วงปีนั้นสมเด็จพระศรีไชยเชฐหรือนักองค์อิ่ม ได้นักองค์เภาซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานอา เป็นพระเทพี[20]

นิวัตมาตุภูมิ[แก้]

ทัพญวนมิอาจต้านทานกองทัพประสมสยามกับเขมรนำโดยเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) หลังทำสงครามกันมายาวนาน[21] จึงขอหย่าศึกที่ตำบลโพธิ์สามต้นใน พ.ศ. 2389[22] และทยอยปล่อยเจ้านายเขมรคืนกัมพูชา[23] แรม 8 ค่ำ เดือน 11 (ตรงกับวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2389) ฝ่ายญวนส่งนักนางรศ หม่อมกลีบ และพระธิดาองค์หนึ่งของนักองค์ด้วงคืนกรุงพนมเปญ แต่ยังไม่ส่งพระองค์เม็ญและเจ้านายผู้หญิงรวมทั้งนักองค์เภาคืนให้ โดยฝ่ายญวนแจ้งว่า หากต้องการ ให้ส่งพระราชสาสน์แต่งบรรณาการไปทูลขอเจ้าเวียดนามก็จะโปรดให้[24]

ต่อมาแรม 3 ค่ำ เดือน 6 (ตรงกับวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2390) ขุนนางญวนแต่งตั้งนักองค์ด้วงขึ้นเป็น เตามันกวักเอือง หรือเตาบางกวิกเกวิง (Cao Miên Quốc vương, 高棉國王 กาวเมียนโกว๊กเวือง) แปลว่า "เจ้าเขมรอยู่คนหนึ่ง" รับตราตั้งสององค์พร้อมฉลองพระองค์แบบญวน และฝ่ายญวนอ้างว่าจะคืนดินแดนเขมรที่ญวนยึดครองอยู่ให้ไปด้วย[25] หลังจากนั้นขึ้น 6 ค่ำ เดือน 7 (ตรงกับวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2390) องต๋าเตืองกุน ขุนนางญวนก็นำนักองค์เม็ญ นักองค์เภา และนักองค์สงวน คืนแก่นักองค์ด้วง ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 7 (ตรงกับวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2390) แม่ทัพนายกองญวนในพนมเปญก็เลิกทัพไปหมด[26] ส่วนหนึ่งก็เพราะญวนเผชิญกับการกบฏบริเวณตังเกี๋ย ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ[27] ครั้นขึ้น 14 ค่ำ เดือน 2 (ตรงกับวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2391) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระยาเพ็ชรพิไชย (เสือ) กับเจ้าพนักงานทุกตำแหน่ง คุมเครื่องประกอบพระอิสริยยศ สุพรรณบัตรจารึกพระนามออกไปเมืองเขมร อภิเษกนักองค์ด้วงพร้อมด้วยเจ้าพระยาบดินทรเดชาเมื่อขึ้น 4 ค่ำ เดือน 4 (ตรงกับวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2391) เป็นเจ้าแผ่นดินกัมพูชา พระนามว่า องค์พระหริรักษ์เจ้ากรุงกัมพูชา[28] จากนั้นมีการจัดกระบวนแห่รูปพระนารายณ์ พระขรรค์ราชย์ และตราแผ่นดินเขมร พร้อมด้วยเจ้านายทั้งหลายรวมถึงนักองค์เภา เสด็จคืนสู่พระราชวังอุดงฦๅไชย[29]

หลังจากนั้น ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา มิได้กล่าวถึงนักองค์เภาอีก

ชีวิตส่วนพระองค์[แก้]

นักองค์เภาเป็นพระเทพีในสมเด็จพระศรีไชยเชฐ (นักองค์อิ่ม) พระปิตุลา เมื่อราว พ.ศ. 2383 ในช่วงที่ทั้งสองพระองค์ถูกรัฐบาลญวนส่งไปที่เมืองเมียดจรูก (เอกสารไทยเรียก โจฎก)[20] นักองค์เภามีพระธิดาด้วยกันกับสมเด็จพระศรีไชยเชฐมหาอุปราชเพียงพระองค์เดียวทรงนามพระองค์เจ้าสำออก[1] และใช้ชีวิตร่วมกันจนกระทั่งสมเด็จพระศรีไชยเชฐมหาอุปราชทรงพระประชวรและทิวงคตที่เมืองเมียดจรูกเมื่อ พ.ศ. 2387[20]

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 243
  2. 2.0 2.1 ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 221
  3. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 212
  4. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 222
  5. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4, หน้า 184
  6. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3, หน้า 113-114
  7. 7.0 7.1 เขมร "ถกสยาม", หน้า 99
  8. 8.0 8.1 พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3, หน้า 166
  9. ศิลปะเขมร, หน้า 21
  10. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3, หน้า 192
  11. "Siam, Cambodia, and Laos 1800-1950 by Sanderson Beck". www.san.Beck.org. สืบค้นเมื่อ 6 August 2017.
  12. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 239
  13. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 240
  14. Trudy Jacobsen, Lost goddesses: the denial of female power in Cambodian history, p. 113
  15. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 241
  16. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3, หน้า 244
  17. Lost goddesses: the denial of female power in Cambodian history By Trudy Jacobsen, p.114
  18. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3, หน้า 245
  19. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3, หน้า 249-250
  20. 20.0 20.1 20.2 20.3 ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 242
  21. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4, หน้า 184
  22. ยุทธมรรคา เส้นทางเดินทัพไทย-เขมร, หน้า 43
  23. เขมร "ถกสยาม", หน้า 100
  24. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3, หน้า 296
  25. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4, หน้า 185
  26. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3, หน้า 305-306
  27. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 258
  28. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3, หน้า 307
  29. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 259
บรรณานุกรม
  • ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยาพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2560. 360 หน้า. ISBN 978-616-514-575-6
  • ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2563. 500 หน้า. ISBN 978-616-514-661-6
  • เรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์), พันตรี หลวง. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2563. 336 หน้า. ISBN 978-616-514-668-5
  • รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง และศานติ ภักดีคำ. ศิลปะเขมร. กรุงเทพฯ : มติชน, 2557. 232 หน้า. ISBN 978-974-02-1324-6
  • ศานติ ภักดีคำ. เขมร "ถกสยาม". กรุงเทพฯ : มติชน, 2553. 208 หน้า. ISBN 978-974-02-0418-3