นักศึกษาวิชาทหาร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก นศท.)
นักศึกษาวิชาทหาร
ตราของนักศึกษาวิชาทหาร
ประจำการพ.ศ. 2491 - ปัจจุบัน
ประเทศ ไทย
เหล่า กองทัพบกไทย
รูปแบบทหารกองเกิน
ขึ้นกับหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน
กองบัญชาการศูนย์การกำลังสำรอง, กรุงเทพ (13°44'46"N 100°29'42"E)
สมญาร.ด.
คำขวัญ"รักชาติยิ่งชีพ"
"แม้หวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ์ ศัตรูกล้ามาประจัน จะอาจสู้ริปูสลาย"
น.น้ำหนึ่งใจเดียว กลมเกลียวสามัคคี
ศ.ศึกษาดี มีความรู้ คู่คุณธรรม
ท.ทำความดี เพื่อตอบแทนคุณแผ่นดิน
สีหน่วยกากี-เขียว
เพลงหน่วยมาร์ชนักศึกษาวิชาทหาร
วันสถาปนา8 ธันวาคม
ปฏิบัติการสำคัญยุทธการที่สะพานท่านางสังข์
ผู้บังคับบัญชา
ผู้บัญชาการปัจจุบัน พลโททวีพูล ริมสาคร
เครื่องหมายสังกัด
เครื่องหมายราชการเครื่องหมายราชการของกรมการรักษาดินแดน เมื่อแรกสถาปนา (ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ พ.ศ. 2494)
รูปพระมหามงกุฎคร่อมอุณาโลมและดาบไขว้
ธงประจำกองนักศึกษาวิชาทหาร (สถานศึกษาต่างๆ)ธงประจำกองนักศึกษาวิชาทหาร มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน พื้นธงสีน้ำเงินแก่ ขอบธงเย็บชายครุยสีเหลืองทองทั้ง 3 ด้าน ตรงกลางของผืนธงมีรูปเครื่องหมายนักศึกษาวิชาทหาร เป็นรูปพระมหามงกุฎคร่อมพระอุณาโลม ดาบไขว้ และช่อชัยพฤกษ์ ทั้งหมดเป็นสีเหลืองทอง และมีข้อความเรียงกันบนล่าง 2 แถว มีข้อความว่า "นักศึกษาวิชาทหาร" สีขาว และมีชื่อสถานศึกษา หรือหน่วยของนักศึกษาวิชาทหารนั้นๆ สีขาว ตามลำดับ เป็นแถวโค้งโอบใต้รูปเครื่องหมายนักศึกษาวิชาทหาร

นักศึกษาวิชาทหาร (ย่อ: นศท.) เป็นบุคคลซึ่งอยู่ในระหว่างเข้ารับการฝึกวิชาทหารตามหลักสูตรที่กระทรวงกลาโหมกำหนด[1] ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร พ.ศ. 2503 เป็นกำลังพลสำรองของกองทัพไทย[2] ภายใต้การควบคุมของโรงเรียนรักษาดินแดน ศูนย์การนักศึกษาวิชาทหาร หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (ย่อ: นรด.)

ประวัติ[แก้]

พ.ศ. 2475 ประเทศไทยเริ่มมีการฝึกยุวชนทหารเพื่อผลิตทหารกองหนุน สนับสนุนการรบของกองทัพไทย กล่าวได้ว่าการฝึกนักศึกษาวิชาทหาร (นศท.) มีต้นกำเนิดและแนวคิดมาจากยุวชนทหาร

พ.ศ. 2491 กิจการการศึกษาวิชาทหารได้เริ่มต้นขึ้นโดยมีการสถาปนากรมการรักษาดินแดน ตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบป้องกันราชอาณาจักร พ.ศ. 2491[3] เพื่อดำเนินกิจการดังกล่าว ลงคำสั่งทหารที่ 54/2477 วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 โดยแนวคิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น (ต่อมาแก้ไขโดย พ.ร.บ.จัดระเบียบป้องกันราชอาณาจักร พ.ศ. 2500)[4]

การสงครามในอนาคตนั้น พลเมืองทุกคนไม่จำกัดเพศและวัย ย่อมจะต้องมีส่วนร่วมในสงครามด้วยกันทั้งสิ้น จึงมีความจำเป็นต้องขยายโครงสร้างของกองทัพ พร้อมกับพัฒนาระบบกำลังสำรองควบคู่กันไป

พ.ศ. 2492 ได้เริ่มรับสมัครนักเรียนซึ่งอยู่ในระหว่างการศึกษาตั้งแต่ชั้นเตรียมอุดมศึกษาปีที่ 1 หรือชั้นปีที่ 1 ของโรงเรียนอาชีพ หรือเป็นนิสิตและนักศึกษาระดับอุดมศึกษาชั้นปีที่ 1[5] และทำการฝึกนศท.เป็นปีแรก โดยเริ่มในกรุงเทพมหานคร แล้วจึงกระจายไปตามหัวเมืองในต่างจังหวัด โดยดำเนินการฝึกครบทั้ง 5 ชั้นปี ในปี 2496

พ.ศ. 2497 ได้มีการประกาศใช้กฎหมายสำคัญ 2 ฉบับในราชกิจจานุเบกษา คือ พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497[6] และ พระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2497[7] ส่งผลให้นักศึกษาหรือนิสิตที่สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา และการฝึกวิชาทหารตามหลักสูตรที่กระทรวงกลาโหมกำหนด ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร พ.ศ. 2494[8] ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2497 ต้องเข้ารับราชการทหารในฐานะนายทหารสัญญาบัตรต่อไปอีกไม่เกิน 2 ปี จากนั้นให้ปลดเป็น นายทหารสัญญาบัตรกองหนุน[9] หรือรับราชการในฐานะนายทหารสัญญาบัตรประจำการต่อก็ได้[10] (ต่อมาได้มีการแก้ไขข้อบังคับฯ เพิ่มเติมส่งผลให้ปลดเป็นนายทหารสัญญาบัตรกองหนุน)[11] และได้มีพิธีประดับยศเป็น ว่าที่ร้อยตรี สำหรับผู้สำเร็จการฝึกวิชาทหารเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2497[12]

พ.ศ. 2503 ได้มีการประกาศใช้กฎหมายในราชกิจจานุเบกษา คือ พระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร พ.ศ. 2503[13] ส่งผลให้ถอนทะเบียนกองประจำการนักศึกษาหรือนิสิต เฉพาะที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร พ.ศ. 2494 ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2497 สำหรับนักศึกษาหรือนิสิตซึ่งรับราชการทหารตามมาตรา 7 และมาตรา 7 ทวิ แห่ง พระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร พ.ศ. 2494 ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2497 นั้นให้ปลดเป็นกองหนุนตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร[14]

พ.ศ. 2528 ได้เริ่มมีการฝึกนศท.หญิงเป็นครั้งแรก พร้อมกับการฝึกนศท.ชั้นปีที่ 4 ในส่วนของกองทัพเรือ

พ.ศ. 2544 สถาปนา หน่วยบัญชาการกำลังสำรอง (นสร.) โดยการรวมกิจการของกรมการรักษาดินแดน และกรมการกำลังสำรองทหารบกเข้าด้วยกัน[15] ลงคำสั่ง ทบ.(เฉพาะ) ที่ 63/44 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2544

พ.ศ. 2552 เปลี่ยนนามหน่วยเป็น หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (นรด.) แทนชื่อเดิม หน่วยบัญชาการกำลังสำรอง (นสร.) [16] โดย นรด. มีหน้าที่วางแผน อำนวยการ ประสานงาน กำกับการและดำเนินการเกี่ยวกับกิจการกำลังสำรองทั้งปวง กิจการสัสดี รวมทั้งปกครองบังคับบัญชาหน่วยทหารที่กระทรวงกลาโหมกำหนด มีผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ[17] การฝึก นศท.จึงได้รับการอำนวยการจากหน่วยงานดังกล่าว โดยขึ้นตรงกับ โรงเรียนรักษาดินแดน ศูนย์การกำลังสำรอง หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน รวมทั้ง ศูนย์การฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกต่าง ๆ

พ.ศ. 2560 มีการแปรสภาพ ศูนย์การกำลังสำรอง หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (ศสร.) เป็น ศูนย์การนักศึกษาวิชาทหาร หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (ศศท.) ณ ที่ตั้งสุทธิสาร และแปรสภาพ โรงเรียนกำลังสำรอง เป็น ศูนย์การกำลังสำรอง หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (ศสร.) ณ ที่ตั้งปราณบุรี ทำให้ปัจจุบัน นักศึกษาวิชาทหารได้รับการอำนวยการฝึกจาก โรงเรียนรักษาดินแดน ศูนย์การนักศึกษาวิชาทหาร หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน[18]

ปัจจุบัน รัฐบาลได้กำหนดวันที่ 8 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวัน นักศึกษาวิชาทหาร หน่วยฝึกนักศึกษาวิชาทหารในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคจัดพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนสวนสนามของนักศึกษาวิชาทหารเพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของ ทหารประจำการ ตำรวจ ยุวชนทหาร และราษฏรอาสาสมัครที่ได้ร่วมมือต่อต้านข้าศึกในสงครามมหาเอเชียบูรพา

การคัดเลือก[แก้]

ช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี จะมีการคัดเลือกนักเรียนนักศึกษาในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เพื่อเข้าเป็นนักศึกษาวิชาทหาร โดยผู้เข้ารับการคัดเลือกจะต้องมีคุณลักษณะดังนี้[19]

  1. สำเร็จการศึกษาตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือเทียบเท่าขึ้นไป และมีผลการเรียนเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 1.00
  2. กำลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษาที่หน่วยบัญชาการรักษาดินแดนเปิดทำการฝึกวิชาทหาร
  3. เป็นบุคคลชายหรือหญิงและมีสัญชาติไทย
  4. เป็นบุคคลผู้มีอายุไม่เกิน 22 ปี นับตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร และต้องได้รับคำยินยอมจาก บิดา มารดา หรือผู้ปกครอง (กรณีที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ) (ดูการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบด้านล่างประกอบ สำหรับผู้มีอายุต่ำกว่า 17 ปี)
  5. เป็นบุคคลที่ไม่พิการ ทุพพลภาพ หรือมีโรค [20]ซึ่งไม่สามารถจะรับราชการทหารได้ ตามกฎหมาย ว่าด้วยการรับราชการทหาร พ.ศ. 2497
  6. เป็นบุคคลผู้มีน้ำหนัก ขนาดรอบตัว ขนาดส่วนสูง ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ โดยผู้สมัครต้องผ่านการทดสอบร่างกาย ตามเกณฑ์ที่กำหนด[21]
  7. มีใบรับรองของสถานศึกษาว่ามีความประพฤติเรียบร้อย สมควรเข้ารับการฝึกวิชาทหาร
  8. ไม่เป็นทหารประจำการ, ทหารกองประจำการ, ผู้ที่ปลดประจำการ ภายหลังจากรับราชการในกองประจำการครบกำหนด แล้วปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 1 แล้ว หรือถูกกำหนดตัวให้เข้ากองประจำการแล้ว
  9. เป็นบุคคลผู้มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI: Body Mass Index) อยู่ในเกณฑ์ปกติ และต้องไม่อยู่ในภาวะ โรคอ้วน ซึ่งมีดัชนีความหนาของร่างกาย ตั้งแต่ 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไป (BMI = น้ำหนักตัว (กก.) / ส่วนสูง² (ม.²) )

การทดสอบสมรรถภาพทางร่างกาย[แก้]

นอกจากคุณสมบัติข้างต้นแล้ว ผู้เข้ารับการทดสอบ จะต้องผ่านเกณฑ์ทดสอบสมรรถภาพการคัดเลือกนักศึกษาในปี พ.ศ. 2553 โดยแต่ละอย่างจะมีคะแนนเต็ม 100 คะแนน หากสามารถทำได้อย่างสมบูรณ์ (วิ่งครบระยะทาง/ดันพื้นและลุกนั่งครบจำนวนครั้ง ได้ตามระยะเวลาที่กำหนด) จะได้รับคะแนนเต็มในส่วนนั้น ๆ นอกจากนี้หากได้คะแนนเต็มทั้ง 3 ส่วน จะสามารถรายงานตัวเข้ารับการฝึกได้ทันที

ชาย[แก้]

  1. วิ่ง 800 เมตร ใน 3 นาที 15 วินาที
  2. ลุกนั่ง (ซิทอัพ) 34 ครั้ง ใน 2 นาที
  3. ดันพื้น (วิดพื้น) 22 ครั้ง ใน 2 นาที

หญิง[แก้]

  1. วิ่ง 800 เมตร ใน 4 นาที
  2. ลุกนั่ง (ซิทอัพ) 25 ครั้ง ใน 2 นาที
  3. ดันพื้น (วิดพื้น) 15 ครั้ง ใน 2 นาที (เข่าติดพื้น)

หลักสูตรและการเรียนการสอน[แก้]

ภาพการฝึกภาคสนามที่เขาชนไก่ของ นศท. ปี 3

เป้าหมายของการฝึกนักศึกษาวิชาทหารในแต่ละชั้นปี

  • ชั้นปีที่ 1 และ 2 ให้นักศึกษาวิชาทหาร ให้มีความรู้วิชาทหารเบื้องต้น เพื่อให้บังเกิดระเบียบวินัย ลักษณะทหาร การเชื่อฟังและการปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาโดยเคร่งครัด สามารถใช้อาวุธประจำกาย และทำการยิงปืนอย่างได้ผล
  • ชั้นปีที่ 3 ให้นักศึกษาวิชาทหาร ให้มีความรู้วิชาทหารทั้งทางเทคนิคและยุทธวิธี ให้สามารถทำหน้าที่ในตำแหน่งผู้บังคับหมู่ได้
  • ชั้นปีที่ 4 ให้นักศึกษาวิชาทหาร ให้มีความรู้วิชาทหารทั้งทางเทคนิคและยุทธวิธี ให้สามารถทำหน้าที่ในตำแหน่งรองผู้บังคับหมวดได้
  • ชั้นปีที่ 5 ให้นักศึกษาวิชาทหาร ให้มีความรู้วิชาทหารทั้งทางเทคนิคและยุทธวิธี ให้สามารถทำหน้าที่ในตำแหน่งผู้บังคับหมวดได้

การฝึกวิชาทหารดังกล่าว ถ้ามีการละเว้นการเรียน 1 ปีโดยไม่แจ้งลาพักเข้ารับการฝึก จะถือว่าสิ้นสุดสภาพความเป็นนักศึกษาวิชาทหารไม่สามารถเข้ารับการฝึกในชั้นปีต่อไปได้[22]

นักศึกษาวิชาทหาร ในส่วนของกองทัพบก[แก้]

นักศึกษาวิชาทหารในส่วนของกองทัพบกสามารถแบ่งออกได้ 5 เหล่าคือ

  1. เหล่าทหารราบ
  2. เหล่าทหารม้า
  3. เหล่าทหารปืนใหญ่
  4. เหล่าทหารช่าง
  5. เหล่าทหารสื่อสาร

การเรียนการสอนนักศึกษาวิชาทหารแบ่งออกเป็นภาคที่ตั้งและภาคสนาม

สำหรับเหล่าทหารช่างและทหารเหล่าสื่อสารเริ่มการฝึกให้กับนักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 4 เมื่อปีการศึกษา 2549

ศูนย์ฝึกและหน่วยฝึก[แก้]

ภาคที่ตั้ง[แก้]

หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (นรด.) กำหนดให้หน่วยฝึกนักศึกษาวิชาทหารทำการฝึกทั้งหมด ทั้งหมด 80 ชม. โดยอาจฝึกแบบ 1 (20 สัปดาห์, สัปดาห์ละ 4 ชั่วโมง) หรือแบบ 4 (10 สัปดาห์, สัปดาห์ละ 8 ชั่วโมง) ในชั้นปีที่ 4 และ 5 นั้นจะมีการฝึกศึกษาวิชาเหล่าใน 40 ชม. หลัง

สำหรับส่วนภูมิภาค (มทบ. และ จทบ.) จะทำการฝึกภาคที่ตั้งในช่วงปิดภาคต้นของสถานศึกษาปกติ

การฝึกยุทธวิธี[แก้]

นอกจากการฝึกทฤษฎีและวินัยแล้ว จะมีการฝึกยุทธวิธีด้วย เช่น ยิงปืน ลงทางดิ่ง และโดดหอสูง โดยเมื่อผ่านการฝึกแล้ว จะสามารถติดเครื่องหมายของแต่ละการฝึกได้

นักศึกษาวิชาทหารชายชั้นปีที่ 4 และ 5 ที่สังกัดกรุงเทพฯ และจังหวัดข้างเคียง จะถูกแยกฝึกตามเหล่า โดยการแยกฝึกนี้จะถูกกำหนดจากศูนย์ฝึกฯ ผ่านลงมาตามสถานศึกษา

การสอบ[แก้]

ให้ดำเนินการสอบภาคปฏิบัติให้กับนักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 1–5 ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ในสัปดาห์ที่ 21 ของการฝึกวิชาทหาร ในภาคปกติ

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 เป็นต้นไป ให้งดการสอบภาคทฤษฎีสำหรับ นักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 1 และชั้นปีที่ 2 แต่ให้ดำเนินการสอบภาคทฤษฎีสำหรับ นักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 3 - 5 เท่านั้น

ภาคสนาม[แก้]

นักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 1 ทั้งชายและหญิง ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ให้งดทำการฝึก
นักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 2-5 ที่สังกัดภายในกรุงเทพฯ หรือจังหวัดข้างเคียง ให้ทำการฝึกที่ค่ายฝึกเขาชนไก่ จ.กาญจนบุรี
นักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 2-5 ที่สังกัดส่วนภูมิภาค ให้ทำการฝึก ณ ที่ตั้งส่วนภูมิภาค
นักศึกษาวิชาทหารชาย[แก้]
  • ชั้นปีที่ 2 ทำการฝึกภาคสนามเป็นเวลา 3 วัน 2 คืน
  • ชั้นปีที่ 3 ทำการฝึกภาคสนาม เป็นเวลา 4 วัน 3 คืน
  • ชั้นปีที่ 4 และ 5 ทุกภาคส่วน ให้ทำการฝึกภาคสนาม ณ ค่ายฝึกเขาชนไก่ จ.กาญจนบุรี เป็นเวลา 7 วัน 6 คืน

หมายเหตุ เรื่องจากเหตุการณ์อุทกภัยในปลายปี พ.ศ. 2554 จึงทำให้งบประมาณที่จะใช้ในการฝึกภาคสนามไม่เพียงพอ ดังนั้น การฝึกภาคสนามประจำปีการศึกษา 2554 จึงดำเนินการฝึกให้สำหรับนักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 3 ถึง ชั้นปีที่ 5 เท่านั้น แต่เพิ่มวันฝึกภาคสนามให้สำหรับชั้นปีที่ 3 ในปีการศึกษา 2554 เดิมจาก 5 วัน 4 คืน เพิ่มเป็น 6 วัน 5 คืน

นักศึกษาวิชาทหารหญิง[แก้]
  • ชั้นปีที่ 2 และ 3 ทำการฝึกภาคสนาม เป็นเวลา 3 วัน 2 คืน
  • ชั้นปีที่ 4 และ 5 ทุกภาคส่วน ให้ทำการฝึกภาคสนาม ณ ค่ายฝึกเขาชนไก่ จ.กาญจนบุรี เป็นเวลา 4 วัน 3 คืน
หลักสูตรพิเศษ[แก้]

ปัจจุบัน มีการฝึกหลักสูตรพิเศษ เช่น การกระโดดร่มแบบพาราเซล โดยมีการฝึกภาคที่ตั้งและภาคสนามเพิ่มเติมจากหลักสูตรปกติ

หลักสูตรพาราเซล[แก้]

หลักสูตรพาราเซลสำหรับนักศึกษาวิชาทหาร จะเปิดรับสมัครให้แก่นักศึกษาชั้นปีที่ 3 กับชั้นปีที่ 4 เท่านั้นโดยแต่ละปีจะเปิดรับนักศึกษาชาย 100 คน หญิง 100 คนทั่วประเทศ โดยเกณฑ์การทดสอบร่างกายมีดังต่อไปนี้

ชาย:

  • ดึงข้อ 15 ครั้ง ไม่จำกัดเวลา
  • ลุกนั่ง 65 ครั้ง ในเวลา 2 นาที
  • ดันพื้น 47 ครั้ง ในเวลา 2 นาที
  • วิ่ง 1600 เมตร ในเวลา 8 นาที

หญิง:

  • โหนบาร์ 1 นาที 15 วินาที
  • ลุกนั่ง 55 ครั้ง ในเวลา 2 นาที
  • ดันพื้น 33 ครั้ง ในเวลา 2 นาที (เข่าติดพื้น)
  • วิ่ง 1600 เมตร ในเวลา 9.30 นาที

การฝึกพาราเซล จะใช้เวลาตรงกับการฝึกภาคสนามของนักศึกษาวิชาทหารผลัดใดผลัดหนึ่ง ตามที่แผนกวิชารบพิเศษ ศูนย์การนักศึกษาวิชาทหารกำหนด โดยจะกินเวลา 7 วัน และเลื่อนการฝึกภาคสนามผลัดนั้นและผลัดต่อไปออก ผู้เข้ารับการฝึกจะพักแรมในบริเวณของกองพันฝึกปกครองที่ 41 รวมกันทั้งหมด

นักศึกษาวิชาทหารผู้ผ่านการฝึก จะได้รับสิทธิในการติดเครื่องหมายปีกพาราเซลสีฟ้าเหนือป้ายชื่อ (หน้าอกด้านขวา)

นักศึกษาวิชาทหาร ในส่วนกองทัพเรือ (ราชนาวี)[แก้]

สังกัดกองการกำลังพลสำรอง กรมกำลังพลทหารเรือ โดย กพส.กพ.ทร.ได้ประสานกับ นรด.เพื่อจัดหานักศึกษาวิชาทหารที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ของกองทัพเรือหรือเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 1 ในส่วนของกองทัพเรือ (สมุดประจำตัวทหารกองหนุน หรือ สด.8 เป็นเล่มสีน้ำตาล) เข้ารับการศึกษาวิชาทหารในชั้นปีที่ 4 โดยแต่ละปีการศึกษาจะรับนึกศึกษาวิชาทหารประมาณ 90 นาย

พ.ศ. 2552 การฝึกนักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 1 ในส่วนของกองทัพเรือเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก[23] ซึ่งจะขยายการฝึกจนครบทั้ง 5 ชั้นปีเช่นเดียวกับนักศึกษาวิชาทหารในส่วนของกองทัพบก แต่ยังเปิดรับนักศึกษาวิชาทหารที่สำเร็จการฝึกชั้นปีที่ 3 ในส่วนของกองทัพบกที่ประสงค์โอนย้ายมาฝึกวิชาทหารชั้นปีที่ 4 ในส่วนของกองทัพเรือไปจนถึงปีการศึกษา 2554

พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป การรับนักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 4 จะรับสมัครนักศึกษาวิชาทหารที่สำเร็จการฝึกวิชาทหารชั้นปีที่ 3 จากกองทัพเรือเป็นเกณฑ์หลัก

ภาคทฤษฎี
  • ชั้นปีที่ 1 – 2 จะทำการฝึก ณ ศูนย์ฝึกทหารใหม่ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เป็นเวลาทั้งหมด 80 ชั่วโมง คิดเป็น 20 วันในช่วงเดือนกรกฎาคม
  • ชั้นปีที่ 3 จะมีการแบ่งหน่วย ณ ศูนย์ฝึกทหารใหม่ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 3 หน่วย คือ
  1. พรรคนาวิน สังกัด กองเรือยุทธการ (กร.)
  2. พรรคนาวิกโยธิน สังกัด หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน (นย.)
  3. พรรคนาวิน สังกัด หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (สอ.รฝ.)

เมื่อทำการแยกหน่วยเสร็จสิ้น นักศึกษาวิชาทหารต้องเดินทางไปทำการฝึกที่หน่วยของตนในวันต่อไป

  • ชั้นปีที่ 4 – 5 จะทำการเรียนภาควิชาทหารเรือ ณ กองการฝึก กองเรือยุทธการ

(หมายเหตุ : ข้อมูล นศท.ทร.ชั้นปีที่ 1 – 2 เป็นข้อมูลเดิม ก่อนการยุบหน่วย ศูนย์ฝึกทหารใหม่ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ เป็นศูนย์การฝึก หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (เกล็ดแก้ว) เมื่อ 1 เมษายน 2562)

การรับสมัครบุคคลเข้าศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 4

  1. เป็นผู้ที่สำเร็จวิชาทหารชั้นปีที่ 3 และปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 1 (สมุด สด.8 สีน้ำตาล)
  2. ถ้าผู้เข้าศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 4 ไม่ครบตามจำนวน จะพิจารณาจากนักศึกษาวิชาทหารที่สำเร็จชั้นปีที่ 3 ในส่วนของกองทัพบก (สมุด สด.8 สีเขียว) ในเขตพื้นที่จังหวัด ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
  3. เมื่อปฏิบัติตามข้อที่ 2 ไม่ครบตามจำนวน จะพิจารณานักศึกษาวิชาทหารที่สำเร็จชั้นปีที่ 3 ในส่วนของกองทัพบก (สมุด สด.8 สีเขียว) นอกเขตพื้นที่จังหวัด ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

นักศึกษาวิชาทหารในส่วนของกองทัพเรือสามารถแบ่งออกได้ 2 พรรค 3 หน่วย คือ

  1. พรรคนาวิน สังกัด กองเรือยุทธการ (กร.) เปิดรับทุก ๆ ปี ปีละประมาณ 45 นาย
  2. พรรคนาวิกโยธิน สังกัด หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน (นย.) เปิดรับปีเว้นปี ปีละประมาณ 45 นาย
  3. พรรคนาวิน สังกัด หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (สอ.รฝ.) เปิดรับปีเว้นปี (สลับกับ นย.) ปีละประมาณ 45 นาย

การฝึกภาคสนาม/ทะเล

  1. นักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 2 จะทำการฝึกภาคสนามเป็นเวลา 3 วัน 2 คืน ณ ศูนย์ฝึกทหารใหม่
  2. นักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 3 จะทำการฝึกภาคสนาม ณ หน่วยของตนเป็นเวลา 7 วัน (กร., นย. หรือ สอ.รฝ.)
  3. นักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 4 จะเข้ารับการฝึกเป็นเวลา 7 วัน ที่กองการฝึก กองเรือยุทธการ (กฝร.)[24]
  4. นักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 5 จะแยกฝึกตามสังกัดของตน (กร., นย. หรือ สอ.รฝ.) โดยใช้เวลาฝึก 17 วัน[24]
  5. หลักสูตรก่อนการแต่งตั้งยศเป็น ว่าที่เรือตรี ณ ศูนย์การฝึก หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน (ศฝ.นย.) เป็นเวลา 15 วัน [25]

นักศึกษาวิชาทหาร ในส่วนของกองทัพอากาศ[แก้]

ปีการศึกษา 2549 กรมกำลังพลทหารอากาศได้รับอนุมัติจากกองทัพอากาศ เปิดการฝึกนักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 1 และจะเปิดการฝึกครบทั้ง 5 ชั้นปี ในปีการศึกษา 2553 โดยกองทัพอากาศต้องการเน้นเฉพาะการฝึกนักศึกษาวิชาทหารเพื่อเป็นกำลังพลสำรองในส่วนช่างเทคนิค เพื่อชดเชยกำลังหลักในส่วนดังกล่าวที่ขาดแคลน โดยจะคัดเลือกเฉพาะนักศึกษาวิชาทหารที่สถานศึกษามีที่ตั้งใกล้เคียงกับกองบัญชาการกองทัพอากาศกรุงเทพมหานคร และเปิดสอนในด้านช่างเทคนิค ซึ่งได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง วิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี โรงเรียนเซนต์จอห์นโปลิเทคนิค วิทยาลัยเทคโนโลยีช่างฝีมือปัญจวิทยา

การฝึกภาคทฤษฎี

การเรียนภาคทฤษฎีเริ่มทำการฝึกประมาณเดือนกรกฎาคม จนถึง เดือนพฤศจิกายน ของทุกปี ที่โรงเรียนจ่าอากาศ

การฝึกภาคสนาม

  • นศท.ชั้นปีที่ 1 ฝึกภาคสนามที่โรงเรียนการบิน อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม
  • นศท.ชั้นปีที่ 2 ฝึกภาคสนามที่ กองบิน 2 จังหวัดลพบุรี
  • นศท.ชั้นปีที่ 3 ฝึกภาคสนามที่ กองบิน 4 อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์
  • นศท.ชั้นปีที่ 4 และ นศท. ชั้นปีที่ 5 ฝึกภาคสนามที่ กองบิน 5 อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคิรีขันธ์

การฝึกอบรมก่อนพิธีประดับยศ การอบรมใช้เวลา 5 วัน ดำเนินการโดยกรมยุทธศึกษาทหารอากาศ กองบัญชาการกองทัพอากาศ

วันจันทร์ที่ 19 กันยายน 2554 ได้มีพิธีประดับยศเป็น ว่าที่เรืออากาศตรี ให้กับ นศท. ชั้นปีที่ 5 ในส่วนของกองทัพอากาศ รุ่นที่ 1 ปีการศึกษา 2553[26]

สิทธิที่นักศึกษาวิชาทหารจะได้รับ[แก้]

เครื่องแบบฝึกนักศึกษาวิชาทหาร (ปี พ.ศ. 2557–ปัจจุบัน)

การแต่งกาย[แก้]

นักศึกษาวิชาทหารมีสิทธิแต่งเครื่องแบบนักศึกษาวิชาทหารได้ ตามพระราชบัญญัติเครื่องแบบนักศึกษาวิชาทหารและเครื่องแบบผู้กำกับนักศึกษาวิชาทหาร พ.ศ. 2521

นักเรียนผู้บังคับบัญชา[แก้]

เนื่องด้วยมีนักเรียนจำนวนมากเข้ารับการศึกษาวิชาทหารในแต่ละปี ทำให้เป็นการยากต่อครูผู้ฝึกที่จะควบคุมดูแลตามลำพัง จึงมีการคัดเลือกและแต่งตั้งนักเรียนผู้บังคับบัญชา (หรือนักเรียนบังคับบัญชา) เพื่อช่วยเหลือครูผู้ทำการฝึก โดยนักเรียนบังคับบัญชาจะได้รับสิทธิในการติดป้ายชั้นปีปรับสีเพื่อแสดงชั้นยศ และอาจได้รับปลอกแขน โดยในหลักสูตรจะมีชั้นยศอย่างเป็นทางการ 3 ระดับ ได้แก่

  1. หัวหน้านักเรียน(มีสถานะเทียบเท่าหัวหน้ากองพัน) สีน้ำเงิน
  2. หัวหน้ากองร้อย สีฟ้า
  3. หัวหน้าหมวด สีแดง
  4. หัวหน้าหมู่ สีเขียวอ่อน * ตำแหน่งนี้มักไม่มีการแต่งตั้ง, เรียกใช้ หรือฝึกฝนเป็นพิเศษ*

นอกจากนี้ อาจมีการแต่งตั้งยศที่ไม่ได้มีการบรรจุในระเบียบอย่างเป็นทางการเพื่อการฝึก คือนักเรียนบังคับบัญชาระดับสูงหรือรองนักเรียนบังคับบัญชา โดยใช้ปลอกแขนคู่กับเลขชั้นปี สีประจำชั้นยศของยศพิเศษหรือแม้แต่ยศปกติข้างต้นอาจแตกต่างกันในแต่ละภาคส่วน

  1. หัวหน้ากรม (มีเฉพาะส่วนภูมิภาค)
  2. หัวหน้ากองพัน (สีน้ำเงิน; สำหรับภาคสนามของส่วนกลาง)

การยกเว้นตรวจเลือกเข้ารับราชการทหารกองประจำการ[แก้]

นักศึกษาวิชาทหารซึ่งอยู่ในระหว่างเข้ารับการฝึกวิชาทหารตามหลักสูตรของกระทรวงกลาโหมกำหนดตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร พ.ศ. 2503 มีสิทธิได้รับการยกเว้นการเรียกมาตรวจเลือกเข้ารับราชการทหารกองประจำการในยามปกติ ตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497[27]

การเข้ารับราชการทหารกองประจำการ[แก้]

บุคคลชายผู้มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด มีหน้าที่รับราชการทหารด้วยตนเองทุกคน[28]

  • นักศึกษาวิชาทหารที่สำเร็จชั้นปีที่ 1 มีสิทธิเข้ารับราชการทหารกองประจำการ 1 ปี 6 เดือน หรือร้องขอสมัครใจเป็น 1 ปี
  • นักศึกษาวิชาทหารที่สำเร็จชั้นปีที่ 2 มีสิทธิเข้ารับราชการทหารกองประจำการ 1 ปี หรือร้องขอสมัครใจเป็น 6 เดือน
  • นักศึกษาวิชาทหารที่สำเร็จชั้นปีที่ 3 4 และ 5 มีสิทธิได้รับการขึ้นทะเบียนกองประจำการและปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 1[29] (ได้รับยกเว้นการเข้ารับราชการทหารกองประจำการ)[30]


หมายเหตุ- นักศึกษาวิชาทหารที่จบชั้นปีที่ 1 และ 2 ที่จะลดหย่อนระยะเวลาในการรับราชการทหารกองประจำการนั้น ต้องยื่นหลักฐานการจบ รด. ปีที่ 1 และ 2 แสดงต่อหน้าคณะกรรมการตรวจเลือกทหาร ภายในวันตรวจเลือกทหารเท่านั้น

- นักศึกษาวิชาทหารที่สำเร็จการฝีกชั้นปีที่ 3 ที่จะได้รับการยกเว้นในการรับราชการทหารกองประจำการนั้น จะต้องส่งหลักฐานเพื่อขอสิทธิในการขึ้นทะเบียนกองประจำการและนำปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 1 ในขณะที่กำลังศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 3 และก่อนที่จะเข้ารับการฝึกภาคสนาม เท่านั้น

การเพิ่มคะแนนพิเศษ[แก้]

นักศึกษาวิชาทหารมีสิทธิได้รับการเพิ่มคะแนนพิเศษ เมื่อสอบเข้าโรงเรียนทหาร ตามข้อบังคับ กห.ว่าด้วยโรงเรียนทหาร พ.ศ. 2492 คือ

  • สำเร็จการฝึกวิชาทหารชั้นปีที่ 1 เพิ่มให้ร้อยละ 3
  • สำเร็จการฝึกวิชาทหารชั้นปีที่ 2 เพิ่มให้ร้อยละ 4
  • สำเร็จการฝึกวิชาทหารชั้นปีที่ 3 เพิ่มให้ร้อยละ 5
  • สำเร็จการฝึกวิชาทหารชั้นปีที่ 4 เพิ่มให้ร้อยละ 6
  • สำเร็จการฝึกวิชาทหารชั้นปีที่ 5 เพิ่มให้ร้อยละ 7

การแต่งตั้งยศทหาร[แก้]

การแต่งตั้งยศทหารของนักศึกษาวิชาทหารผู้สำเร็จการฝึกวิชาทหาร (ในส่วนของกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ) ซึ่งเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยการแต่งตั้งยศทหาร พ.ศ. 2507 ระเบียบกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยการแต่งตั้งยศผู้สำเร็จการฝึกวิชาทหารตามหลักสูตรของกระทรวงกลาโหม ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร พ.ศ. 2524 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยการแต่งตั้งยศผู้สำเร็จการฝึกวิชาทหารตามหลักสูตรของกระทรวงกลาโหม ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2537 ดังต่อไปนี้[31]

ระดับการศึกษา
วิชาทหารหลักสูตรของ กห.
ระดับการศึกษา
วิทยฐานะ ศธ.รับรอง
ยศทหาร
ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ
อักษรย่อ
ทบ. ทร. ทอ.
เงื่อนไข
ชั้นปีที่ 1 มัธยมศึกษาตอนปลาย (เทียบเท่า) สิบตรี จ่าตรี จ่าอากาศตรี ส.ต., จ.ต., จ.ต. เข้ารับราชการกองประจำการครบกำหนดแล้ว
อนุปริญญา (เทียบเท่า) - ปริญญาตรี สิบโท จ่าโท จ่าอากาศโท ส.ท., จ.ท., จ.ท. รับราชการกองประจำการครบกำหนดแล้วขึ้นทะเบียนและนำปลดแล้ว
ชั้นปีที่ 2 - สิบตรี จ่าตรี จ่าอากาศตรี ส.ต., จ.ต., จ.ต. เข้ารับราชการกองประจำการครบกำหนดแล้ว
มัธยมศึกษาตอนปลาย (เทียบเท่า) สิบโท จ่าโท จ่าอากาศโท ส.ท., จ.ท., จ.ท. รับราชการกองประจำการครบกำหนดแล้วขึ้นทะเบียนและนำปลดแล้ว
อนุปริญญา (เทียบเท่า) - ปริญญาตรี สิบเอก จ่าเอก จ่าอากาศเอก ส.อ., จ.อ., จ.อ. รับราชการกองประจำการครบกำหนดแล้วขึ้นทะเบียนและนำปลดแล้ว
ชั้นปีที่ 3 - สิบโท จ่าโท จ่าอากาศโท ส.ท., จ.ท., จ.ท. ขึ้นทะเบียนและนำปลดแล้ว
มัธยมศึกษาตอนปลาย (เทียบเท่า) สิบเอก จ่าเอก จ่าอากาศเอก ส.อ., จ.อ., จ.อ. ขึ้นทะเบียนและนำปลดแล้ว
อนุปริญญา (เทียบเท่า) - ปริญญาตรี จ่าสิบตรี พันจ่าตรี พันจ่าอากาศตรี จ.ส.ต., พ.จ.ต., พ.อ.ต. ขึ้นทะเบียนและนำปลดแล้ว
ชั้นปีที่ 4 ศึกษาอนุปริญญา (เทียบเท่า) แต่ไม่สำเร็จการศึกษา จ่าสิบตรี พันจ่าตรี พันจ่าอากาศตรี จ.ส.ต., พ.จ.ต., พ.อ.ต. ขึ้นทะเบียนและนำปลดแล้ว
อนุปริญญา (เทียบเท่า) จ่าสิบโท พันจ่าโท พันจ่าอากาศโท จ.ส.ท., พ.จ.ท., พ.อ.ท. ขึ้นทะเบียนและนำปลดแล้ว
ปริญญาตรี จ่าสิบเอก พันจ่าเอก พันจ่าอากาศเอก จ.ส.อ., พ.จ.อ., พ.อ.อ. ขึ้นทะเบียนและนำปลดแล้ว
ชั้นปีที่ 5 ศึกษาอนุปริญญา (เทียบเท่า) แต่ไม่สำเร็จการศึกษา จ่าสิบเอก พันจ่าเอก พันจ่าอากาศเอก จ.ส.อ., พ.จ.อ., พ.อ.อ. ขึ้นทะเบียนและนำปลดแล้ว
อนุปริญญา (เทียบเท่า) - ปริญญาตรี (ว่าที่) ร้อยตรี, (ว่าที่) เรือตรี, (ว่าที่) เรืออากาศตรี (ว่าที่) ร.ต., (ว่าที่) ร.ต.(ชื่อ)ร.น., (ว่าที่) ร.ต. ได้รับการฝึกอบรมตามระเบียบการแต่งตั้งยศของเหล่าทัพแล้ว นำขึ้นทะเบียนและนำปลด
หลักสูตรฝึกเลื่อนยศ(สูงสุด) (ว่าที่) พันเอก,(ว่าที่) นาวาเอก, (ว่าที่) นาวาอากาศเอก (ว่าที่) พ.อ., (ว่าที่) น.อ.(ชื่อ)ร.น., (ว่าที่) น.อ. เข้ารับการฝึกเลื่อนยศ ตามประกาศของหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน

โดยจะเปิดรับสัมครทหารกองหนุนเข้ารับการฝึกเป็นประจำทุกปี โดยต้องเป็นนายทหารกองหนุนชั้นยศ และเหล่า ตามที่กำหนด

หมายเหตุ 1 : ยศทหารชั้นสัญญาบัตรที่มิได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศทหาร ให้มีคำว่า "ว่าที่" นำหน้ายศนั้น ๆ

หมายเหตุ 2 : เมื่อทหารกองเกินสำเร็จการฝึกวิชาทหารแล้วปลดจากกองประจำการจะได้รับการแต่งตั้งยศทหาร[32]เป็นนายทหารสัญญาบัตรแล้วปลดเป็นนายทหารสัญญาบัตรกองหนุน (ไม่มีเบี้ยหวัด)[33] หรือได้รับการแต่งตั้งเป็นนายทหารประทวน แล้วปลดเป็นนายทหารประทวนกองหนุน (ไม่มีเบี้ยหวัด)แล้วแต่กรณีตามชั้นปีที่สำเร็จการศึกษาและเขื่อนไขดังกล่าวตามตารางข้างต้น

หมายเหตุ 3 : เมื่อสมัครสอบคัดเลือกและได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการทหาร การแต่งตั้ง การเลื่อนหรือลดตำแหน่ง การย้าย การโอน การเลื่อนชั้นเงินเดือน...ให้เป็นไปตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการทหารและการให้ได้รับเงินเดือน พ.ศ. 2555[34] ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ. 2521[35] (แก้ไขเพิ่มเติม ฉับบที่ 7 พ.ศ. 2551[36]) ส่วนการแต่งตั้งยศทหารให้เป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงกลาโหมกำหนดตามพระราชบัญญัติยศทหาร พ.ศ. 2479 [37] (แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2494[38] และฉบับที่ 7 พ.ศ. 2505[39])

หมายเหตุ 4 : ปัจจุบันไม่มีการเปิดการฝึกหลักสูตร ชั้นนายพัน (ยศ ว่าที่พันตรี, ว่าที่นาวาตรี, ว่าที่นาวาอากาศตรี) มาเป็นระยะเวลานานแล้ว และภายหลังต่อมา ได้กลับมาเปิดการฝึกหลักสูตร ชั้นนายพัน ในปี 2567 หลังจากที่ไม่ได้เปิดการฝึกมาเป็นระยะเวลานาน

หมายเหตุ 5 : ระเบียบกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเลื่อนยศและการเลื่อนฐานะกำลังพลสำรองที่เข้ารับราชการทหารในการเรียกกำลังพลสำรอง เพื่อฝึกวิชาทหาร เพื่อปฏิบัติราชการ หรือเพื่อทดลองความพรั่งพร้อม และในการระดมพล พ.ศ. 2565 (หมวด 1 ข้อ 5) สามารถเลื่อนยศได้สูงสุดไม่เกิน ว่าที่พันเอก, ว่าที่นาวาเอก, ว่าที่นาวาอากาศเอก

แนวคิดที่จะแก้ไขกฎระเบียบ[แก้]

ตั้งแต่ปีการศึกษา 2555 จะไม่รับผู้มีอายุ 15 ปี (ซึ่งเป็นอายุที่กำลังศึกษาในระดับ ม.3-4) และจะเลือกรับผู้มีอายุ 17 ปีขึ้นไปก่อน ตามข้อเสนอของคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติที่มิให้ฝึกใช้อาวุธแก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี[40] แต่สุดท้ายแนวคิดดังกล่าวก็ไม่ได้ถูกบังคับใช้ในกฎระเบียบแต่อย่างใด ยังคงรับสมัคร นศท ที่จบ ม.3 ตามปกติ ที่กำลังศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ตามเดิม

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับหลักสูตรการฝึกนักศึกษาวิชาทหาร ต้องมีการปรับปรุงให้ทันต่อสถานการณ์ และ ต้องให้ทันต่อภัยคุกคามรูปแบบใหม่ และได้กล่าวถึงปัญหาในปัจจุบันที่มีผู้ที่เข้ามารับสมัครเข้าเป็นนักศึกษาวิชาทหาร จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และได้แสดงความเป็นห่วงว่า ต่อไปถ้ามีผู้ที่เข้ามารับสมัครเข้าเป็นนักศึกษาวิชาทหารมากขึ้นเรื่อยๆ อาจจะทำให้จำนวนผู้ที่ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารมีจำนวนลดน้อยลงเรื่อยๆ และในปัจจุบันอัตราส่วนอยูที่ 2.3 คน ต่อการเป็นทหารเกณฑ์ 1 คน ซึ่งจำนวนนี้จะลดน้อยลงเรื่อย ๆ ถ้ามีผู้ที่สำเร็จการฝึกวิชาทหารชั้นปีที่ 3 มากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น ท่านจึงได้มีแนวคิดที่จะแก้ไขระเบียบให้นักศึกษาวิชาทหารที่สำเร็จหลักสูตรชั้นปีที่ 3 ขึ้นไป ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารประจำปีตามปกติ เหมือนชายไทยทั่วไปที่ไม่ได้เรียนนักศึกษาวิชาทหาร หรือ เรียนแต่ไม่สำเร็จการฝึกวิชาทหารชั้นปีที่ 3[41]

พลโทวิชิต ศรีประเสริฐ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน ได้ให้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดของ ผบ.ทบ. ที่มีแนวคิดให้ผู้ที่เรียนจบหลักสูตรนักศึกษาวิชาทหาร ต้องเข้ามาเกณฑ์ทหารว่า แนวคิดดังกล่าวถือว่าเป็นแนวคิดที่ดี และกองทัพมีแนวคิดในเรื่องนี้มานานแล้วว่า ทุกคนที่เรียนจบหลักสูตรนักศึกษาวิชาทหาร ควรเข้ามารับการฝึกประมาณ 3–6 เดือน เพื่อเพิ่มพูนจิตวิญญาณในการรักชาติ ซึ่งเป็นเพียงแค่การขยายแนวความคิดเท่านั้น ต้องศึกษาวิธีการต่อไป ว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือ การเพิ่มยอดนักศึกษาวิชาทหาร เพราะผู้ที่ได้เรียนนักศึกษาวิชาทหารส่วนใหญ่มาจากผู้ที่ได้เข้าเรียนตามสถานศึกษาต่าง ๆ ในระดับชั้น ม.4–6 แต่ชายไทยที่ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ จะต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารทั้งหมด ซึ่งมันทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำได้ และ จากการหารือในรายละเอียด ก็ได้มีแนวทางว่า ต่อไปนักศึกษาวิชาทหารที่สำเร็จการฝึกวิชาทหารชั้นปีที่ 3 ขึ้นไป อาจจะต้องเข้ารับการตรวจเลือกเข้าเป็นทหารกองประจำการ แต่จะได้สิทธิลดหย่อนระยะเวลาในการรับราชการทหารแทน โดยอาจจะต้องเข้ามาประจำการเป็นทหารเกณฑ์ประมาณ 3–6 เดือน[42]

พลตรีทวีชัย กฤษิชีวิน ผู้บัญชาการศูนย์การกำลังสำรอง ได้ให้สัมภาษณ์ถึงหลักสูตรการฝึกนักศึกษาวิชาทหารว่า ณ ปัจจุบัน นักศึกษาวิชาทหารที่เรียนจบชั้นปีที่ 3 มีสิทธิ์ได้ขึ้นทะเบียนกองประจำการ และปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 1 ได้รับยกเว้นไม่ต้องเกณฑ์ทหาร แต่อนุสัญญาเจนีวา ที่ห้ามฝึกอาวุธให้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี จึงทำให้นักศึกษาวิชาทหารไม่สามารถฝึกอาวุธได้เข้มข้นเทียบเท่ากับทหารเกณฑ์ ดังนั้นจึงได้เสนอแนวคิดมาว่า ถ้านักศึกษาวิชาทหารเรียนจบชั้นปีที่ 3 ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารตามปกติ แต่ลดระยะเวลาการรับราชการทหารกองประจำการลงเหลือ 6 เดือน มิฉะนั้น ยังไม่ทันยิงปืนเป็นเรียนจบแล้ว แต่ถ้านักศึกษาวิชาทหารเรียนจบชั้นปีที่ 5 มีสิทธิ์ได้ขึ้นทะเบียนกองประจำการ และ ปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 1 โดยไม่ต้องรับราชการในกองประจำการ ดังนั้น ถ้านักศึกษาวิชาทหารที่เรียนจบชั้นปีที่ 3 แล้วไม่ต้องการเป็นทหารต่อ จะต้องเรียนจนจบชั้นปีที่ 5 และหลักสูตรการการฝึกอาวุธ ได้ขยายไปอยู่ในชั้นปีที่ 4 – 5 และจะทำให้กองทัพสามารถผลิตทหารกองหนุนออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ[43]

ปัจจุบัน ทุก ๆ อย่างที่ผู้บัญชาการทั้ง 3 ท่านได้กล่าวมานั้น ยังเป็นเพียงแค่แนวคิด ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ ทั้งสิ้น ยังคงใช้กฎระเบียบเดิมคือ ผู้ที่เรียนจบนักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 3 มีสิทธิ์ได้ขึ้นทะเบียนกองประจำการ และปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 1 โดยไม่ต้องเข้ารับราชการทหารเป็นทหารกองประจำการอีกต่อไป

ข้อผูกพันต่อทางราชการ[แก้]

นักศึกษาวิชาทหารที่สำเร็จหลักสูตรชั้นปีที่ 3, ชั้นปีที่ 4 หรือ ชั้นปีที่ 5 ให้ขึ้นทะเบียนกองประจำการ และนำปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 1 โดยได้รับการยกเว้นไม่ต้องเข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำการ และถือว่าเป็นกำลังพลสำรองของกองทัพแล้ว ทางราชการมีสิทธิ์เรียกพลเพื่อตรวจสอบสภาพ, ตรวจสอบบัญชีรายชื่อ หรือเพื่อฝึกวิชาทหารได้ทุกเวลา ซึ่งถ้ามีการเรียกพล ทางอำเภอจะส่งหมายเรียกไปที่บ้านของผู้นั้น เพื่อนัดวัน เวลา และสถานที่ ซึ่งผู้ถูกเรียกพล ต้องมารายงานตัวตาม วัน เวลา และ สถานที่ที่กำหนดไว้ โดยมีกำหนดการเรียกพลเพื่อฝึกวิชาทหาร 10 ปี ตามเงื่อนไขของระบบการกำลังพลสำรอง ซึ่งการเรียกพลจะกระทำจนถึงอายุ 29 ปีบริบูรณ์ ถ้าหากทหารกองหนุนท่านใดหลีกเลี่ยงการเรียกพลเพื่อฝึกวิชาทหาร ต้องรับโทษ ตาม พ.ร.บ. การรับราชการทหาร พ.ศ. 2497

ทหารกองหนุนท่านใดที่กำลังเรียนหลักสูตรนักศึกษาวิชาทหารต่อในชั้นปีที่ 4 หรือ ชั้นปีที่ 5 สามารถขอผ่อนผันการเรียกพลเพื่อฝึกวิชาทหารได้ โดยต้องนำ สด.8 (สมุดประจำตัวทหารกองหนุนประเภทที่ 1) และเอกสารขอผ่อนผันมายื่นที่อำเภอให้เรียบร้อยอย่างถูกต้อง หากไม่ปฏิบัติตามวิธีการผ่อนผันที่ถูกต้อง จะถือว่าผู้นั้นหลีกเลี่ยงการเรียกพลเพื่อฝึกวิชาทหาร ต้องรับโทษเช่นเดียวกับผู้สำเร็จนักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 3 ที่ไม่ได้ผ่อนผันการเรียกพลเพื่อฝึกวิชาทหาร แต่หลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกพลเช่นกัน

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. มาตรา 4 วรรค 1 แห่ง พ.ร.บ. ส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2521
  2. มาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ. จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551
  3. พ.ร.บ.จัดระเบียบป้องกันราชอาณาจักร พ.ศ. 2491
  4. พ.ร.บ.จัดระเบียบป้องกันราชอาณาจักร พ.ศ. 2500
  5. กฎกระทรวง พ.ศ. 2494 ออกตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร พ.ศ. 2494
  6. พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497
  7. พระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2497
  8. พระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร พ.ศ. 2494
  9. "นายทหารกองหนุน" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2011-11-20.
  10. ข้อบังคับ กห.ว่าด้วยผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยตาม กม.ว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร พ.ศ. 2498
  11. ข้อบังคับ กห.ว่าด้วยผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยตาม กม.ว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2499
  12. จากบทความ "นักศึกษาวิชาทหาร" ในสูจิบัตรงานวันกำลังสำรอง ปี 2553 หน้าที่ 58 บรรทัดที่ 8 โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ว่าที่ร้อยตรี ดร.กัญจน์ นาคามดี
  13. พระราชบัญญัติส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร พ.ศ. 2503
  14. มาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร พ.ศ. 2503
  15. "พ.ร.ฎ.แบ่งส่วนราชการ และกำหนดหน้าที่ของส่วนราชการ กองทัพบก พ.ศ. 2544" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-06-05. สืบค้นเมื่อ 2011-04-27.
  16. พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการ และกำหนดหน้าที่ของส่วนราชการ กองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2552
  17. "หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-28. สืบค้นเมื่อ 2010-11-13.
  18. http://www.ruksadindan.com/orgchart.html[ลิงก์เสีย]
  19. กฎกระทรวง ฉบับที่ 10
  20. กฎกระทรวง ฉบับที่ 74
  21. กฎกระทรวง ฉบับที่ 12 ข้อ 2 (7)
  22. เอกสารประกอบการประชุมชี้แจงการรับสมัครเข้าฝึกวิชาทหารประจำปีการศึกษา 2553 โดย นรด.
  23. ศฝ.นศท. ศฝท. ยศ.ทร.
  24. 24.0 24.1 [http://www.navy.mi.th/reserve//w ebpage/th/studytrain.html "การเรียนภาคทฤษฎี/การฝึกภาคปฏิบัติ"]
  25. "การอบรมก่อนการแต่งตั้งยศ"
  26. "พิธีประดับเครื่องหมายยศ เรืออากาศตรี แก่ นศท.ทอ. ที่สำเร็จการฝึกวิชาทหารชั้นปีที่ 5". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-06-05. สืบค้นเมื่อ 2011-09-19.
  27. พระราชบัญญัติรับราชการทหาร ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2507 มาตรา 3 แก้ไขมาตรา 14
  28. กฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน มาตรา 73 บุคคลมีหน้าที่รับราชการทหาร... ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ และ พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 มาตรา 7 ชายที่มีสัญชาติไทยตามกฎหมาย มีหน้าที่รับราชการทหารด้วยตนเองทุกคน
  29. พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 มาตรา 4 (4) ทหารกองหนุนประเภทที่ 1 หมายความว่า ... หรือ ทหารกองเกินซึ่งสำเร็จการฝึกวิชาทหารตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร และได้ขึ้นทะเบียนกองประจำการแล้วปลดเป็นกองหนุนตามพระราชบัญญัตินี้
  30. การส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร
  31. "ชมรมการกำลังสำรองแห่งประเทศไทย จังหวัดชลบุรี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-11. สืบค้นเมื่อ 2011-02-19.
  32. "ข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการแต่งตั้งยศทหาร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-06-05. สืบค้นเมื่อ 2012-09-03.
  33. ข้อบังคับทหารว่าด้วยการแบ่งประเภทนายทหารสัญญาบัตร[ลิงก์เสีย]
  34. กฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการทหารและการให้ได้รับเงินเดือน พ.ศ. 2555
  35. พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ. 2521
  36. พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2551
  37. พระราชบัญญัติยศทหาร พ.ศ. 2479
  38. พระราชบัญญัติยศทหาร (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2494
  39. พระราชบัญญัติยศทหาร (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2505
  40. ทบ.ปรับเกณฑ์นักเรียน รด.ต้องอายุ 17 ปีขึ้นไป, ไทยรัฐ
  41. "ผบ.ทบ. เล็งอาจเสนอ ให้นักเรียนที่เรียนจบ รด. ต้องเข้าเกณฑ์ทหาร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-19. สืบค้นเมื่อ 2015-10-06.
  42. ผบ. นรด. เด้งรับ แนวคิด ประยุทธ์ เล็งให้ผู้ที่เรียนจบ รด.ชั้นปีที่ 3 ขึ้นไป ต้องเข้าเกณฑ์ทหาร เล็งให้รับใช้ชาติ 3–6 เดือน[ลิงก์เสีย]
  43. ทบ. เล็งแก้กฎ ให้คนจบ รด. ปี 3 ต้องเกณฑ์ทหาร ยกเว้นจบปี 5

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

หน่วยงาน[แก้]

กฎหมายและคำสั่งของทางราชการที่เกี่ยวข้อง[แก้]