ข้ามไปเนื้อหา

นกแต้วแร้วป่าโกงกาง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นกแต้วแร้วป่าโกงกาง
รูปวาดนกแต้วแร้วป่าโกงกาง
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Passeriformes
วงศ์: Pittidae
สกุล: Pitta
สปีชีส์: P.  megarhyncha
ชื่อทวินาม
Pitta megarhyncha
Schlegel, 1863[1]

นกแต้วแร้วป่าโกงกาง หรือ นกแต้วแร้วป่าชายเลน (อังกฤษ: Mangrove pitta; ชื่อวิทยาศาสตร์: Pitta megarhyncha) เป็นนกแต้วแร้วชนิดหนึ่ง

เดิมเคยถูกจัดให้เป็นชนิดย่อยของนกแต้วแร้วธรรมดา (P. moluccensis) แต่ปัจจุบันถูกจัดให้เป็นชนิดต่างหากแยกออกมา ซึ่งชื่อวิทยาศาสตร์มาจากภาษาละตินโดยคำว่า "megas" แปลว่า "ใหญ่" และ "rhynch" หรือ "rhunkhos" แปลว่า "ปาก" รวมความหมายคือ "นกที่มีปากใหญ่"

ลักษณะ

[แก้]

นกแต้วแร้วป่าโกงกางเป็นนกขนาดเล็ก ความยาวจากปลายปากจดหาง 18-21 เซนติเมตร ลักษณะทั่วไปคล้ายนกแต้วแร้วธรรมดามาก เพียงแต่ว่านกแต้วแร้วป่าโกงกางบริเวณกระหม่อมเป็นสีน้ำตาลเข้มแทนที่จะเป็นสีดำเหมือนนกแต้วแร้วธรรมดา นอกจากนี้นกแต้วแร้วป่าโกงกาง จะมีปากที่ใหญ่และยาวกว่าโดยยาวประมาณ 4.0 เซนติเมตร ในขณะที่นกแต้วแร้วธรรมดามีปากยาว 3.0 เซนติเมตร ใต้ท้องสีคล้ำกว่า คางสีออกขาว การจำแนกชนิดให้ดูจากลักษณะสีของลำตัวประกอบกับพื้นที่หากิน อันเป็นอุปนิสัยเฉพาะของนกชนิดนี้เป็นส่วนสำคัญในการจำแนกชนิด [2]

พฤติกรรมและถิ่นอาศัย

[แก้]
คลิปวีดีโอนกแต้วแร้วป่าโกงกาง ที่มาเลเซีย สิงหาคม ค.ศ. 1994

มีพฤติกรรมมักหากินตัวเดียวโดดเดี่ยว ด้วยการกระโดดหากินตามพื้นชายเลนที่น้ำทะเลลดลงแล้ว ชอบร้องตลอดเวลาที่หากิน เสียงคล้ายนกแต้วแร้วธรรมดาแต่เบาไม่ก้องกังวาน โดยร้องว่า "วิ๊วว วิ๊วว" เมื่อตกใจจะบินขึ้นต้นไม้ แต่ไม่สูงมากนัก บินเร็วและตรงแหล่งอาศัยหากิน อาศัยอยู่เฉพาะในป่าชายเลนซึ่งมีไม้ประเภทโกงกาง, เสม็ดขาว, เสม็ดแดง, ตะบูน, ทองหลางป่า หากินตามพุ่มไม้และพื้นดิน ในช่วงน้ำทะเลลดจะลงมาหากินแถวหาดเลน จับกุ้ง, ปู, หอย, ปูเปี้ยว และสัตว์ชายเลนหน้าดินชนิดมีและไม่มีเปลือกกิน นอกจากนี้ก็ขุดรังปลวก หากินปลวก ตัวอ่อนและไข่ของปลวก และแมลงตามพื้นดินหรือโคนไม้ใหญ่ ส่วนใหญ่จะพบหากินตามที่ดอนที่เป็นโคกหรือเนินสูงในป่าชายเลนมากกว่าตามพื้นที่มีรากหายใจของต้นโกงกางขึ้น เมื่ออิ่มจะขึ้นพักเกาะนอนตามกิ่งไม้ที่ทอดเอนเหนือน้ำหรือในที่รกทึบใกล้น้ำ ฤดูผสมพันธุ์ทำรังวางไข่ จับคู่ทำรังในเดือนมีนาคม-สิงหาคม รังคล้ายรังนกแต้วแร้วธรรมดา คือ เป็นรูปทรงกลมมีทางเข้าออกอยู่ด้านข้าง ภายนอกใช้กิ่งไม้เล็ก ๆ เป็นโครงแบบหลวม ๆ ปิดภายนอกด้วยใบไม้แห้ง, เส้นใยพืช หรือเถาวัลย์เส้นเล็ก ๆ ภายในเป็นแอ่งวางไข่ ปูพื้นรังด้วยรากฝอยของพืชหรือเส้นโครงใบที่พื้นใบย่อยสลายแล้วการแพร่กระจายพันธุ์ เป็นนกประจำถิ่นของบังคลาเทศ, สุมาตรา สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบยาก หรืออาจพบบ่อยในบางท้องที่ตามชายฝั่งทะเลของพม่า, ชายฝั่งทะเลทางใต้ด้านตะวันตกของไทย, คาบสมุทรมลายู, มาเลเซียและสิงคโปร์ สำหรับประเทศไทยพบตามชายฝั่งทะเลในภาคใต้ด้านตะวันตก โดยแหล่งที่พบเห็นได้ง่ายและพบบ่อย คือ ป่าชายเลนในตัวอำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่[3] [4]

จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมาย[5]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 จาก IUCN
  2. Pittas in Thailand
  3. Robson, Craig (2005). New Holland field guide to the birds of South-East Asia. Kenthurst, New South Wales: New Holland Publishers. p. 76. ISBN 1-84330-746-4.
  4. Strange, Morten (2000). Photographic Guide to the Birds of Southeast Asia. Singapore: Periplus. p. 219. ISBN 962-593-403-0.
  5. สัตว์ป่าคุ้มครอง

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Pitta megarhyncha ที่วิกิสปีชีส์