เหยี่ยว
เหยี่ยว | |
---|---|
นกเหยี่ยวสีน้ำตาล (F. berigora) | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Aves |
อันดับ: | Falconiformes |
วงศ์: | Falconidae |
สกุล: | Falco Linnaeus, 1758 |
ชนิด | |
|
เหยี่ยว หรือ อีเหยี่ยว[2] (อังกฤษ: falcon, hawk, kite, kestrel; อีสาน: แหลว) คือ นกในอยู่ในสกุล Falco[1] จัดอยู่ในกลุ่มนกล่าเหยื่อที่อยู่ในอันดับ Falconiformes และวงศ์ Falconidae
เหยี่ยวมีลักษณะคล้ายกับอินทรี ซึ่งเป็นนกล่าเหยื่อเช่นเดียวกัน แต่เหยี่ยวมีขนาดเล็กกว่า คือมีจะงอยปากที่งองุ้ม มีกรงเล็บที่แหลมคมและแข็งแรง บินได้อย่างรวดเร็ว กางปีกได้กว้างและยาว สามารถบินหรือเหินได้สูง และมีสายตาที่ดีมาก อาหารโดยทั่วไปของเหยี่ยว คือ สัตว์ขนาดเล็กกว่าต่าง ๆ เช่น สัตว์ฟันแทะ, สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมต่าง ๆ, สัตว์เลื้อยคลาน, สัตว์น้ำ เช่น ปลา หรือกุ้ง หรือแม้แต่สัตว์ที่มีขนาดใหญ่กว่าได้ เช่น กวาง เป็นต้น[3] [4]
นอกจากสกุล Falco แล้ว ยังมีนกในสกุลอื่น แต่อยู่ในวงศ์เดียวกันที่เรียกว่าเหยี่ยวได้ เช่น Haliastur, Elanus, Haliaeetus และMicrohierax (ซึ่งบางครั้งอาจเรียกเป็นอินทรี) เป็นต้น[5]
เหยี่ยวที่พบในประเทศไทยมีหลายชนิด อาทิ เหยี่ยวแดง (Haliastur indus), นกออก (Haliaeetus leucogaster), เหยี่ยวรุ้ง (Spilornis cheela) เป็นต้น
และยังมีอีกชนิดหนึ่ง คือ เหยี่ยวออสเปร (Pandion haliaetus) ซึ่งเป็นนกที่มีวิวัฒนาการเป็นของตัวเอง มีวงศ์และสกุลของตัวเองต่างหาก[6]
จากความที่เป็นนกล่าเหยื่อ และมีขนาดลำตัวที่ไม่ใหญ่นัก เหยี่ยวจึงถูกมนุษย์ใช้เลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงมาแล้วนานกว่า 2,000 ปี[7] เพื่อใช้ประโยชน์หลายอย่าง เช่น ล่าสัตว์, เพื่อความเพลิดเพลิน หรือแม้แต่ใช้ในการไล่นกชนิดอื่น ๆ ในสนามบินหรือชุมชนเมืองบางแห่ง[8] [9]
ในความเชื่อของชาวเล ซึ่งเป็นชนชาติปฐมภูมิทางภาคใต้ของไทยตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เชื่อว่าเหยี่ยวเป็นวิญญาณบรรพบุรุษที่ช่วยนำทางไปสู่ปลา เป็นสัตว์ที่ช่วยในการจับปลา โดยพบเป็นหลักฐานภาพวาดบนผนังถ้ำผีหัวโต ที่อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ นอกจากนี้แล้วยังเชื่อด้วยว่าเหยี่ยวจะเป็นเครื่องนำทางวิญญาณของผู้เสียชีวิตไปสู่โลกหลังความตาย โดยมีเรือเป็นพาหนะ[10]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "Falco". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
- ↑ บรรจบ พันธุเมธา, ศาสตราจารย์, ดอกเตอร์. ภาษาต่างประเทศในภาษาไทย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2514, หน้า 67
- ↑ "เหยี่ยว". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-01. สืบค้นเมื่อ 2012-02-08.
- ↑ "เหยี่ยว". พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542.
- ↑ "นักฆ่าผู้น่ารัก..." โอเคเนชั่น. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-05. สืบค้นเมื่อ 2012-02-08.
- ↑ Osprey". Online Etymology Dictionary. http://www.etymonline.com/index.php?term=osprey. เรียกข้อมูลเมื่อ 2007-06-29.
- ↑ "Siam Falconry club". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-03-25. สืบค้นเมื่อ 2012-02-08.
- ↑ "พญาเหยี่ยวแห่งคาซัคสถาน". วอยซ์ทีวี.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "ประดิษฐ์เหยี่ยวหุ่นยนต์ไล่นกที่สนามบิน". สำนักข่าวไทย.[ลิงก์เสีย]
- ↑ หน้า ๑๐๘-๑๐๙, "คนทะเล" สองพันห้าร้อยปีที่ถ้ำผีหัวโต. "แลชมสมบัติศิลป์" โดย ภาคภูมิ น้อยวัฒน์. อนุสาร อ.ส.ท. ปีที่ ๕๗ ฉบับที่ ๘: มีนาคม ๒๕๖๐
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Falco ที่วิกิสปีชีส์