นกอีแพรด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นกอีแพรด
นกอีแพรดสีเทา (Rhipidura albiscapa)
นกอีแพรดแถบอกดำ (Rhipidura javanica) ที่พบที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Passeriformes
วงศ์: Rhipiduridae
สกุล: Rhipidura
Vigors & Horsfield, 1827
ชนิด

มากกว่า 40 ชนิด (ดูเนี้อหา)

นกอีแพรด หรือ สกุลนกอีแพรด (อังกฤษ: fantail; ชื่อวิทยาศาสตร์: Rhipidura) เป็นสกุลของนกกินแมลงขนาดเล็กหลายชนิด ในวงศ์นกอีแพรด (Rhipiduridae) นกในสกุลนี้ส่วนใหญ่มีความยาวประมาณ 15 ถึง 18 เซนติเมตร (5.9 ถึง 7.1 นิ้ว) มีลักษณะเด่นที่หางแพนค่อนข้างยาว และหาอาหารโดยการจับแมลงกลางอากาศ มีถิ่นกำเนิดตั้งแต่ในอนุทวีปอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนถึงออสตราเลเซีย นกสกุลนี้มี 44 ชนิดทั่วโลก ปัจจุบันในประเทศไทยพบเพียง 4 ชนิด

ก่อนหน้านี้นกอีแพรดท้องเหลืองเคยถูกจัดให้อยู่ในสกุลนกอีแพรด ปัจจุบันอยู่ในสกุล Chelidorhynx ของวงศ์นกจับแมลง (Stenostiridae) บางครั้งคนมักสับสนว่านกอีแพรดบางชนิด เช่นนกอีแพรดแถบอกดำเป็นนกกางเขนบ้าน[1] หรือนกเด้าลม

ลักษณะทางกายวิภาค[แก้]

หางเป็นรูปพัดเรียก "หางแพน"

นกอีแพรดเป็นนกที่มีลำตัวขนาดเล็กยาวประมาณ 11.5–21 เซนติเมตร มีหางที่ยาว ซึ่งยาวกว่าปีกของมันเอง[2] บางชนิดมีหางที่ยาวกว่าขนาดลำตัว เมื่อหางหุบเข้า ปลายหางกลมมน เมื่อหางกางออก หางเป็นรูปพัดเรียก "หางแพน"

เมื่อเกาะคอน นกอีแพรดมักมีท่าทางค่อมหัวลงจนราบเสมอกับลำตัว โดยจะห้อยปีกลงและผ่อนออกจากลำตัว ส่วนหางกระดกงอขึ้นกึ่งหนึ่ง แต่ในบางชนิดเช่น นกอีแพรดนิวกินีเหนือ และนกอีแพรดหมู่เกาะโซโลมอน ซึ่งหางจะงอตั้งตรงไปข้างหน้ามากกว่าคล้ายนกแซวสวรรค์

ปลายปีกของนกอีแพรดเรียวแหลม ซึ่งไม่ช่วยให้บินร่อนได้อย่างรวดเร็ว แต่เพื่อความว่องไวและประสิทธิภาพในการควบคุมทิศทาง โดยเฉพาะการโฉบตามจับแมลงกลางอากาศ โดยส่วนใหญ่นกอีแพรดหลายชนิดมีปีกที่แข็งแรง ทำให้สามารถบินได้เป็นเวลานาน โดยบางชนิดมีความสามารถในการอพยพได้เป็นระยะทางไกล แต่บางชนิดที่มีขนหางที่หนาดกซึ่งทำให้เป็นนกที่มักบินในระยะทางสั้น ๆ และจำเป็นต้องลงเกาะคอนบ่อย ๆ

จะงอยปากของนกอีแพรด โดยทั่วไปค่อนข้างแบนและเป็นรูปสามเหลี่ยม ซึ่งเหมาะกับการจับเหยื่อกลางอากาศ มีขนยาวขึ้นโดยรอบจะงอยปากโดยเฉพาะด้านข้าง 2 ข้างที่คล้ายพุ่มขนเปรง ขนนี้ส่วนมากมีความยาวพอ ๆ กับความยาวของจะงอยปาก โดยทั่วไปกล้ามเนื้อที่ควบคุมจะงอยปากของนกอีแพรดไม่แข็งแรงนัก ทำให้จำกัดชนิดเหยื่อที่มันจับได้ไว้เพียงแมลงจำพวกที่ไม่มีเปลือกหรือปีกที่แข็ง ซึ่งมีข้อยกเว้นในนกอีแพรดบางชนิดที่อาศัยตามพื้นดิน

ขนของนกอีแพรดส่วนใหญ่มีความแตกต่างกัน ส่วนมากมีลายหรือเครื่องหมายบนขนในตำแหน่งที่เป็นเอกลักษณ์ของสกุลที่คล้ายกัน[2] ต่างกันที่สีของลายซึ่งทำให้ดูต่างกัน สีขนโดยรวมของนกในสกุลนี้ส่วนใหญ่เป็นสีเทา สีดำ สีขาว และสีน้ำตาล แม้ว่าบางชนิดอาจมีขนสีเหลืองหรือสีน้ำเงินที่เหลือบแสงก็ตาม และโดยส่วนใหญ่หลายชนิดไม่มีภาวะทวิสันฐานทางเพศปรากฏในขนนก ยกเว้นบางชนิดที่โดดเด่นเช่น นกอีแพรดดำนิวกินีซึ่งตัวผู้มีขนสีดำล้วนและตัวเมียมีสีน้ำตาลล้วน ในบางชนิดเช่น นกอีแพรดนิวซีแลนด์มีสองลักษณะย่อยที่ต่างสีกันคือ สีด่างแบบธรรมดาและสีดำล้วนที่หายากกว่า (ซึ่งพบมากในเกาะใต้)[3]

ถิ่นที่อยู่และการกระจายพันธุ์[แก้]

กลุ่มประชากรของนกอีแพรดสีน้ำตาลอาศัยทางตอนตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรเลียจะอพยพเป็นฝูงขนาดใหญ่สู่ทางเหนือของรัฐควีนส์แลนด์และนิวกินี

นกอีแพรดเป็นสกุลของนกที่มีถิ่นที่อยู่และกระจายกลุ่มประชากรตั้งแต่ทางตะวันตกสุดในอนุทวีปอินเดียตอนเหนือ จนถึงตะวันออกสุดในแถบออสตราเลเซียที่หมู่เกาะซามัว ทางใต้สุดที่ประเทศนิวซีแลนด์ ประชากรในส่วนการกระจายพันธุ์แถบตะวันออกซึ่งเป็นหมู่เกาะในแปซิฟิคนั้น หลายชนิดเป็นชนิดเฉพาะถิ่นของเกาะนั้น ๆ เช่น นกอีแพรดคาดาวู แต่โดยมากชนิดส่วนใหญ่ของสกุลอาศัยในประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป ที่เหลือกระจายอยู่ตามประเทศจีนตอนใต้ อินเดีย และบางส่วนของเทือกเขาหิมาลัย บางชนิดมีแถบการกระจายพันธุ์ที่กว้างมากเช่น นกอีแพรดวิลลี นกอีแพรดสีเทา นกอีแพรดคอขาว

นกในสกุลนกอีแพรดเกือบทุกชนิด เป็นนกในเขตร้อน, เป็นชนิดที่โดดเดี่ยวโดยทางภูมิศาสตร์, เป็นนกประจำถิ่น และไม่เป็นนกย้ายถิ่น (นกอพยพ) บางครั้งนกอีแพรดเฉพาะชนิดที่อาศัยทางตอนเหนือสุดหรือใต้สุดอาจมีการย้ายถิ่นแต่ไม่เป็นไปตามแบบแผน และต่างกันในแต่ละชนิด เช่น นกอีแพรดท้องเหลืองของเทือกเขาหิมาลัยเป็นนกที่ย้ายถิ่นตามระดับความสูง โดยมีระยะการผสมพันธุ์ที่ระดับความสูง 1,500 ถึง 4,000 เมตร และย้ายถิ่นลงมาระดับต่ำที่ประมาณ 180 เมตรในฤดูหนาว นกอีแพรดบางชนิดในออสเตรเลียอพยพตามฤดู แม้รูปแบบจะไม่เหมือนกันในแต่ละชนิด เช่น นกอีแพรดสีน้ำตาลมีพฤติกรรมอพยพในบางส่วนของกลุ่มประชากรเท่านั้นคือเฉพาะกลุ่มประชากรทางตอนตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรเลียจะอพยพเป็นฝูงขนาดใหญ่สู่ทางเหนือของรัฐควีนส์แลนด์และนิวกินี

ลูกนกอีแพรดสีเทา

นกในสกุลนี้มีถิ่นที่อยู่ที่หลากหลายอย่างมากซึ่งโดยทั่วไปอาศัยในป่าดิบชื้น โดยหลายชนิดสามารถปรับตัวอาศัยได้ในพื้นที่ที่หลากหลายได้แก่ เขตแห้งแล้งและป่าชายเลน แม้กระทั่งพื้นที่ที่ถูกปรับสภาพอย่างสิ้นเชิงเช่น พื้นที่การเกษตรแบบเชิงเดี่ยว หรือพื้นที่เมือง แต่เฉพาะนกในสกุลนี้ที่มีถิ่นอาศัยในป่าชายเลนนั้นสามารถปรับตัวอาศัยได้ในพื้นที่หลากหลายได้น้อยที่สุด คืออาศัยได้เฉพาะป่าชายเลนและพื้นที่รอบข้างเท่านั้น และยังต้องทิ้งระยะห่างจากนกอีแพรดอื่นในวงรัศมี 3 กิโลเมตร[4]

โดยทั่วไปนกอีแพรดบางชนิดที่มีสายวิวัฒนาการในช่วงต้นของสกุลมักจำกัดอยู่เฉพาะป่าฝนปฐมภูมิ แต่สปีชีส์อื่น ๆ ส่วนใหญ่สามารถอยู่รอดได้ในป่าที่ถูกมนุษย์รบกวนแล้ว ชนิดที่ปรับตัวได้มากที่สุดคือ นกอีแพรดวิลลีซึ่งพบอยู่มากมายในแหล่งที่อยู่ทุกประเภทในออสเตรเลีย ยกเว้นป่าดิบชื้นที่หนาแน่น

พฤติกรรมและนิเวศวิทยา[แก้]

นกอีแพรดหลายชนิดยังไม่ได้รับการศึกษาพฤติกรรม แต่โดยรวมนกในสกุลนกอีแพรดมีพฤติกรรมที่เฉพาะตัวของสกุล จากการสังเกตพฤติกรรมโดยสังเขปของนกในสกุลด้วยการเปรียบเทียบนกบางชนิดที่ได้รับการศึกษาไม่มากกับชนิดที่ได้รับการศึกษาเป็นอย่างดี ชี้ให้เห็นถึงความคล้ายคลึงกันในระดับสูงของพฤติกรรมที่เฉพาะตัวของสกุลดังกล่าว คือ นกอีแพรดเป็นนกที่มีความว่องไวปราดเปรียวสูง นกอีแพรดที่มีขนาดเล็กหลายชนิดในสกุลมักเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องอยู่ตลอด แม้เมื่อเกาะคอนอยู่พวกมันยังโยกตัว เต้นไปมา หรือหมุนกลับตัวหน้าหลัง กระดกหางขึ้นลงหรือรำแพนหาง (คลี่กางออก) และหุบ หรือกระดกหางลงซ้ายสลับขวา[5] ในขณะบินพวกมันมีความว่องไวสูงและสามารถบินโฉบวนรอบแบบผาดโผน ซึ่งแสดงความสลับซับซ้อนในการบินอย่างสูง โดยที่มักคลี่หางออกเพื่อจับแมลงขณะบินกลางอากาศ

อาหารและการหาอาหาร[แก้]

นกอีแพรดสีเทาในออสเตรเลีย กำลังให้อาหาร เหยื่อที่จับได้คือแมลงขนาดเล็ก

อาหารส่วนใหญ่ของนกอีแพรด ได้แก่ แมลงขนาดเล็กและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง นกอีแพรดวิลลีที่มีขนาดใหญ่กว่านั้นสามารถจัดการกับจิ้งเหลนหรือจิ้งจกขนาดเล็กได้ ซึ่งพบได้ไม่บ่อย เหยื่อแมลงของนกอีแพรดโดยทั่วไปมีขนาดเล็กและจัดการได้ง่าย โดยบางครั้งหากเหยื่อมีขนาดใหญ่จำเป็นต้องถูกทำให้เล็กลงด้วยขบกระแทกกิ่งไม้เพื่อเอาปีกของแมลงนั้นออกเช่น ผีเสื้อกลางคืน

มีการหาอาหารสองวิธีที่คล้ายกันที่นกในสกุลนี้ใช้เพื่อหาเหยื่อ[6] อย่างแรกเรียกว่า "การค้นหาแบบอยู่กับที่" โดยที่นกอีแพรดจะเกาะอยู่ที่คอนและเฝ้าดูเหยื่อที่บินในอากาศซึ่งจากนั้นจะบินเข้าหาและฉกเหยื่อจากอากาศ ก่อนที่จะบินกลับไปที่เกาะที่คอนเดิมเพื่อกินและหาเหยื่อตัวอื่นต่อไป วิธีที่สองที่ใช้เรียกว่า "การค้นหาแบบเข้าหา" โดยที่นกอีแพรดเคลื่อนที่ผ่านกลุ่มพุ่มไม้หรือพืชพรรณต่าง ๆ เพื่อค้นหาแมลงจากการรวบรวมโดยการโบกขยับหางนก (กางและหุบ) ทำให้เหยื่อที่ซ่อนอยู่ให้ตกใจและออกมา เช่น นกอีแพรดวิลลีใช้เทคนิคนี้ในการหาอาหารบนพื้นดินโล่ง โดยกระดกหางจากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่งและพุ่งตัวอย่างรวดเร็วเพื่อจิกเหยื่อ

นกอีแพรดมักเข้ากลุ่มกับนกชนิดอื่นหรือสัตว์อื่นเพื่อหาอาหาร บางชนิดชอบเกาะอยู่บนหลังปศุสัตว์ ซึ่งพวกมันใช้เป็นทั้งจุดมองหาอาหารที่ดี และเนื่องจากบนผิวหนังของวัวควายหรือขนแกะมักชุกชุมไปด้วยแมลง รวมทั้งในทางอ้อมสัตว์เหล่านี้ยังช่วยคุ้ยเขี่ยไล่แมลงตามพงหญ้าให้บินออกมา พฤติกรรมนี้ทำให้นกอีแพรดเช่น นกอีแพรดวิลลีมีชื่อเล่นว่า "สหายของคนเลี้ยงแกะ"

นกอีแพรดมักมีพฤติกรรมก้าวร้าวและไม่เกรงกลัวมนุษย์[7] ชอบอยู่ใกล้เพื่อจับแมลงที่ถูกมนุษย์ไล่ออกมา ยังสามารถพบนกอีแพรดชนิดต่างกันรวมฝูงกันหาอาหาร หรือบินร่วมกับนกกินแมลงขนาดเล็กอื่น ๆ โดยเฉพาะบริเวณชายขอบของฝูงนกเหล่านั้นโดยใช้ประโยชน์จากการไล่ล่าเหยื่อของฝูงนกทำให้แมลงกลุ่มใหญ่กระพือกันออกมาโดยรอบ

การผสมพันธุ์[แก้]

รังของนกอีแพรดคอขาว แสดงให้เห็นก้นรังที่แหลมจากวัสดุขนาดใหญ่และยาวที่รองก้น พบได้ในนกหลายชนิดในสกุลนกอีแพรด

นกอีแพรดเป็นนกที่มีเขตอาณานิคม และมีพฤติกรรมก้าวร้าวในการปกป้องอาณานิคมของมันจากผู้บุกรุกทั้งนกชนิดเดียวกันและนกอีแพรดชนิดอื่น รวมทั้งนกกินแมลงอื่น[2] ในเขตอาณานิคมนี้นกตัวเมียจะทำหน้าที่เลือกจุดตำแหน่งในการสร้างรัง รังใหม่มักอยู่ไม่ไกลจากรังเก่าของปีก่อนหน้า นกทั้งสองเพศจะช่วยกันสร้างรัง ฟักไข่ และเลี้ยงลูกนก รังของนกอีแพรดมีขนาดพอ ๆ กับและคล้ายกับถ้วยขนาดเล็ก ประกอบขึ้นด้วยวัสดุต่าง ๆ และสานด้วยเส้นใยคล้ายใยแมงมุม ใช้เวลาประมาณ 10 วันในการสร้างรัง นกอีแพรดหลายชนิดใช้ขนหางของมันประกอบการปูพื้นรังหรือเป็นโครงด้านฐานรังซึ่งอาจทำให้รูปทรงของรังไม่แน่นอน นกบางชนิดยังมีพฤติกรรมพรางรัง รังมักอยู่ในที่ต่ำนกจึงชดเชยมุมการมองที่ไม่สามารถมองเห็นผู้ล่าจากระยะไกลด้วยพฤติกรรมการปกป้องลูกนกที่ก้าวร้าวโดยการบินโฉบสัตว์ที่เข้ามารบกวนอย่างอุกอาจ

นกอีแพรดบางครั้งล่อสัตว์ที่มันคิดว่าเป็นผู้ล่าด้วยการแกล้งเจ็บและให้ติดตามในทิศทางที่ห่างออกไปจากรัง ขณะเดียวกันนั้นนกตัวผู้จะคอยบินติดตามโฉบจิกไล่สัตว์นั้นให้ล่าถอย ด้วยพฤติกรรมเหล่านี้ทำให้นกอีแพรดประสบความสำเร็จในการปกป้องรังแม้ตำแหน่งของรังจะต่ำมากก็ตาม

ชนิด[แก้]

อ้างอิงจากรายชื่อของสมาพันธ์ปักษีวิทยานานาชาติ (IOC) เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ.2021 ดังนี้

  • นกอีแพรดสีน้ำเงินมินดาเนา, Rhipidura superciliaris
  • นกอีแพรดสีน้ำเงินวิสายัน, Rhipidura samarensis
  • นกอีแพรดหัวสีน้ำเงิน, Rhipidura cyaniceps
  • นกอีแพรดทาบราส, Rhipidura sauli
  • นกอีแพรดวิสายัน, Rhipidura albiventris
  • นกอีแพรดท้องสีน้ำตาลแดง, Rhipidura hyperythra
  • นกอีแพรดเฟรนด์ลี, Rhipidura albolimbata
  • นกอีแพรดสีเทา, Rhipidura albiscapa
  • นกอีแพรดนิวซีแลนด์, Rhipidura fuliginosa
    • นกอีแพรดลอร์ดโฮว์, Rhipidura fuliginosa cervina (ชนิดย่อย) สูญพันธุ์แล้ว (เมื่อปี 1925)
  • นกอีแพรดป่าชายเลน, Rhipidura phasiana
  • นกอีแพรดสีน้ำตาล, Rhipidura drownei
  • นกอีแพรดมากีรา, Rhipidura tenebrosa
  • นกอีแพรดเรนเนล, Rhipidura rennelliana
  • นกอีแพรดลาย, Rhipidura verreauxi
  • นกอีแพรดคาดาวู, Rhipidura personata
  • นกอีแพรดซามัว, Rhipidura nebulosa
  • นกอีแพรดสุลาเวสี, Rhipidura teysmanni
  • นกอีแพรดตาลีอาบู, Rhipidura sulaensis
  • นกอีแพรดแถบหลังสีน้ำตาลอ่อน, Rhipidura superflua
  • นกอีแพรดอกริ้ว, Rhipidura dedemi
  • นกอีแพรดหางยาว, Rhipidura opistherythra
  • นกอีแพรดปาลาอู, Rhipidura lepida
  • นกอีแพรดหลังสีน้ำตาลอ่อน, Rhipidura rufidorsa
  • นกอีแพรดบิสมาร์ค, Rhipidura dahli
  • นกอีแพรดมาสเซา, Rhipidura matthiae
  • นกอีแพรดมาลาอีตา, Rhipidura malaitae
  • นกอีแพรดอาราฟูรา, Rhipidura dryas
  • นกอีแพรดโพนเพย์, Rhipidura kubaryi
  • นกอีแพรดสีน้ำตาลอ่อน, Rhipidura rufifrons
    • นกอีแพรดสีน้ำตาลอ่อนกวม, Rhipidura rufifrons uraniae (ชนิดย่อย) สูญพันธุ์แล้ว (เมื่อปี 1984)
  • นกอีแพรดมานุส, Rhipidura semirubra
  • นกอีแพรดสองสี, Rhipidura brachyrhyncha
  • นกอีแพรดดำ, Rhipidura atra
  • นกอีแพรดน้ำตาลดำl, Rhipidura nigrocinnamomea
  • นกอีแพรดหางสีน้ำตาลอ่อน, Rhipidura phoenicura
  • นกอีแพรดท้องขาว, Rhipidura euryura
  • นกอีแพรดอกลายจุด, Rhipidura perlata
  • นกอีแพรดคิ้วขาว, Rhipidura aureola
  • นกอีแพรดแถบอกดำ (Malaysian pied fantail), Rhipidura javanica
  • นกอีแพรดแถบอกดำฟิลิปปินส์ (Philippine pied fantail), Rhipidura nigritorquis
  • นกอีแพรดคอขาว, Rhipidura albicollis
  • นกอีแพรดลายจุดขาว, Rhipidura albogularis
  • นกอีแพรดหมวกน้ำตาล, Rhipidura diluta
  • นกอีแพรดหางสีน้ำตาลเทา, Rhipidura fuscorufa
  • นกอีแพรดเหนือ, Rhipidura rufiventris
  • นกอีแพรดเบียค, Rhipidura kordensis[8]
  • นกอีแพรดปีกขาว (Cockerell's fantail or white-winged fantail), Rhipidura cockerelli
  • นกอีแพรดสีเทาหางหนา, Rhipidura threnothorax
  • นกอีแพรดหางหนาท้องขาว, Rhipidura leucothorax
  • นกอีแพรดสีดำหางหนา, Rhipidura maculipectus
  • นกอีแพรดวิลลี, Rhipidura leucophrys
  • นกอีแพรดเปเล็ง, Rhipidura habibiei
นกอีแพรดวิลลี (Rhipidura leucophrys)

ชนิดที่พบในประเทศไทย[แก้]

มี 4 ชนิด[9] ได้แก่

  1. นกอีแพรดอกลายจุด (Spotted fantail, Rhipidura perlata) ถิ่นอาศัยหลัก คือป่าชายเลนหรือป่าละเมาะใกล้ชายฝั่งทะเล[5]
  2. นกอีแพรดคิ้วขาว (White-browed fantail, Rhipidura aureola)
  3. นกอีแพรดแถบอกดำ (Malaysian pied fantail), Rhipidura javanica)
  4. นกอีแพรดคอขาว (White-throated fantail, Rhipidura albicollis)

ชนิดที่เคยอยู่ในสกุลนี้[แก้]

ก่อนหน้านี้มีนกอีแพรดบางชนิดเคยได้รับการจัดให้อยู่ในสกุลนี้โดยองค์กรบางแห่ง ได้แก่

  • นกโมนาร์คหินชนวน (ในชื่อทวินามเดิม Rhipidura Lessoni ปัจจุบันในชื่อ Mayrornis lessoni)[10]
  • นกอีแพรดท้องเหลือง (ในชื่อทวินามเดิม Rhipidura hypoxantha[11] และชื่อภาษาอังกฤษเดิม yellow-bellied fantail) ตั้งแต่ปี 2009 นกชนิดนี้กลับไปชื่อทวินามดั้งเดิมก่อนหน้าคือ Chelidorhynx hypoxantha ในสกุล Chelidorhynx[12] และชื่อภาษาอังกฤษ fairy-flycatcher ในวงศ์นกจับแมลง (Stenostiridae)
  • นกโมนาร์คดำ (ในชื่อทวินามเดิม Rhipidura fallax ปัจจุบันในชื่อ Symposiachrus axillaris)[13]

อ้างอิง[แก้]

  1. S, Sompop (2010-07-17), นกอีแพรดแถบอกดำ (Pied fantail), สืบค้นเมื่อ 2022-08-06
  2. 2.0 2.1 2.2 Boles, W.E. (2006). Family Rhipiduridae (Fantails). Pp 200-244 in: del Hoyo, J., Elliott, A. & Christie, D.A. eds (2006) Handbook of the Birds of the World. Vol. 11. Old World Flycatchers to Old World Warblers. Lynx Edicions, Barcelona. ISBN 978-84-96553-06-4
  3. Craig, J. (1972) "Investigation of the mechanism maintaining polymorphism in the New Zealand fantail, Rhipidura fuliginosa" (Sparrman), Notornis 19(1):42-55 [1] เก็บถาวร 2009-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  4. Noske, R. A. (1996) "Abundance, Zonation and Foraging Ecology of Birds in Mangroves of Darwin Harbour, Northern Territory" Wildlife Research 23(4): 443–474
  5. 5.0 5.1 "นกอีแพรดแถบอกดำ". คมชัดลึกออนไลน์. 2013-10-27.
  6. McLean I.G. (1989) "Feeding behaviour of the fantail (Rhipidura fuliginosa)" Notornis 36(2): 99-106 [2] เก็บถาวร 2008-10-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  7. "เรียนรู้นกวันละตัว : ๒๒. นกอีแพรด (Pied Fantail) - GotoKnow". www.gotoknow.org.
  8. "Species Updates – IOC World Bird List" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2021-06-04.
  9. author. "นกอีแพรด (Fantail Flycatchers)" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). {{cite web}}: |last= มีชื่อเรียกทั่วไป (help)
  10. "Mayrornis lessoni - Avibase". avibase.bsc-eoc.org. สืบค้นเมื่อ 2017-01-12.
  11. "Chelidorhynx hypoxanthus - Avibase". avibase.bsc-eoc.org. สืบค้นเมื่อ 2017-01-12.
  12. Fuchs, J. R. M.; Pasquet, E.; Couloux, A.; Fjeldså, J.; Bowie, R. C. K. (2009). "A new Indo-Malayan member of the Stenostiridae (Aves: Passeriformes) revealed by multilocus sequence data: Biogeographical implications for a morphologically diverse clade of flycatchers". Molecular Phylogenetics and Evolution. 53 (2): 384–93. doi:10.1016/j.ympev.2009.06.015. PMID 19576994.
  13. "Symposiachrus axillaris fallax - Avibase". avibase.bsc-eoc.org. สืบค้นเมื่อ 2017-01-13.

ลิ้งค์ภายนอก[แก้]