นกตีนเทียน
นกตีนเทียน | |
---|---|
![]() | |
H. h. meridionalis (แอฟริกาใต้) | |
![]() | |
ที่ทะเลสาบอมีนปูร รัฐเตลังคานา อินเดีย | |
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Aves |
อันดับ: | Charadriiformes |
วงศ์: | Recurvirostridae |
สกุล: | Himantopus |
สปีชีส์: | H. himantopus |
ชื่อทวินาม | |
Himantopus himantopus (Linnaeus, 1758) | |
![]() | |
ระยะกระจายพันธุ์ H. himantopus sensu lato ระยะฤดูผสมพันธุ์ ประจำถิ่น ระยะผ่านระหว่างอพยพ ระยะนอกฤดูผสมพันธุ์
| |
ชื่อพ้อง | |
|

นกตีนเทียน (ชื่อวิทยาศาสตร์: Himantopus himantopus; อังกฤษ: black-winged stilt) เป็นนกลุยน้ำพบได้ทั่วไปในพื้นที่ภูมิอากาศร้อนถึงอบอุ่น เป็นนกสังคมมักพบเป็นฝูงขนาดเล็ก พบในพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีน้ำตื้นและมักเป็นน้ำกร่อย มีลักษณะเด่นคือ ขายาวมากสีชมพูแดง ปากแหลมบางยาว และสีขนขาวดำตัดกัน นกตีนเทียนจัดอยู่ในวงศ์นกปากงอนและนกตีนเทียน (Recurvirostridae) มีการกระจายพันธุ์ที่กว้างครอบคลุมไปทั่วตั้งแต่ทวีปยูโรไซบีเรีย และแอฟริกา
ในอดีตนกตีนเทียนในชื่อวิทยาศาสตร์ Himantopus himantopus ถูกจัดอย่างกว้างให้เป็นชนิดเดียวในสกุล (monotype) ซึ่งครอบคลุมหลายชนิดย่อยทั่วโลก (เรียก Himantopus himantopus sensu lato) ชื่อ Himantopus มาจากความหมายภาษากรีก "เท้าที่มีสายรัดหนัง" ปัจจุบันมีการจำแนกชนิดที่เป็นที่ยอมรับออกเป็นอย่างน้อย 2–4 ชนิด[2][3][4][5] ในอดีตบางครั้งยังถูกเรียกว่า "pied stilt" แต่ปัจจุบันชื่อนี้ถูกสงวนไว้สำหรับนกตีนเทียนออสเตรเลีย (Himantopus leucocephalus)
อนุกรมวิธาน[แก้]
การจัดจำแนกชนิดของนกตีนเทียนนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ก่อนหน้านี้นกตีนเทียนจัดเป็นชนิดย่อยของนกตีนเทียนธรรมดา (H. himantopus sensu lato หรือบางครั้งเรียก อังกฤษ: common stilt) ปัจจุบันเป็นหนึ่งในห้าชนิดของสกุล ซึ่งแตกต่างกันของตำแหน่งและขนาดของลายดำ
ในความหมายอย่างกว้างของ H. himantopus (หรือ Himantopus himantopus sensu lato) จัดเป็นหนึ่งชนิดที่ประกอบด้วย 5–7 ชนิดย่อย ซึ่งบางครั้งเรียก นกตีนเทียนธรรมดา (อังกฤษ: common stilt) และในความหมายอย่างแคบของ H. Himantopus (หรือ Himantopus himantopus sensu stricto) หมายถึงนกตีนเทียนปีกดำ (อังกฤษ: black-winged stilt) หรือนกตีนเทียนที่พบในทวีปยูเรเซีย และแอฟริกา รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งมีสองชนิดย่อยคือ H. h. himantopus จาก Palearctic และ H. h. meridionalis จากภูมิภาค แอฟริกาเขตร้อน[6]
ลักษณะทางกายวิภาค[แก้]
นกตีนเทียนเป็นนกชายเลนขนาดกลาง ตัวโตเต็มวัยมีลำตัวยาว 33–38 เซนติเมตร[7] ปากบางแหลมและยาวตรงสีดำ หัว อก คอ ท้องและลำตัวขาว ปีกและลำตัวด้านบนดำ ขายาวมากสีชมพูแดง มีหน้าแข้งยาวสำหรับเดินลุยเลน มี 4 นิ้ว นิ้วเท้าหลังยกสูง 3 นิ้วเท้าหน้าติดกันเป็นพังผืด ขณะบินจะเหยียดขายาวพ้นหาง[8] ตาสีแดง บางตัวอาจมีแถบสีเทาหรือดำที่หัวและท้ายทอย[9] นกวัยรุ่นปีกสีน้ำตาล
ตัวผู้ หัวและลำตัวขาว ปีกและลำตัวด้านบนดำ บางตัวอาจมีสีดำที่หัวและท้ายทอยรูปแบบแตกต่างกัน แต่อย่างน้อยในฤดูผสมพันธุ์ตัวผู้ทุกตัวมีหัวสีขาวล้วน นกตัวเมีย ลำตัวด้านบนดำแกมน้ำตาล หัวและท้ายทอยอาจมีแถบสีเทา นกวัยอ่อน หัวและท้ายทอยน้ำตาลแกมเทา ลำตัวด้านบนและปีกน้ำตาลแกมเทามีลายเกล็ดสีขาวจากขอบบนสีน้ำตาลอ่อน[10] ขาและนิ้วสีชมพูอมส้มอ่อน[11]
การกระจายพันธุ์และถิ่นที่อยู่[แก้]
แหล่งน้ำทั้งน้ำจืดและน้ำเค็มของพื้นที่ภูมิอากาศร้อนถึงอบอุ่น ครอบคลุมไปทั่วโลกตั้งแต่ทวีปยูโรไซบีเรีย และแอฟริกา เคยพบเห็นยากมากในยูโรปเหนือ เขตหนาว และสหราชอาณาจักร[3]
ในสหราชอาณาจักรไม่พบนกตีนเทียนกว่า 27 ปี จนกระทั่งในปี 2557 ที่ประสบความสำเร็จในการผสมพันธุ์ในอังกฤษตอนใต้ในปี 2557[12] และในปี 2560 มีการสำรวจลูกนกจำนวน 13 ตัวในทางตอนใต้ของอังกฤษ[13]
ในประเทศไทย[แก้]
สามารถพบได้ทุกภาคในประเทศไทย เป็นนกประจำถิ่น และบางส่วนเป็นนกอพยพ[14][15] พบได้บ่อยในแหล่งน้ำเกือบทั่วประเทศทั้งแหล่งน้ำทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม[5][16] โดยเฉพาะตามหาดเลนและนาเกลือใกล้ชายฝั่งทะเล เป็นนกประจำถิ่นซึ่งทำรังวางไข่ในประเทศไทย[17][18] นกที่พบห่างไกลจากทะเล เช่น ตามภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นนกอพยพนอกฤดูผสมพันธุ์ ซึ่งเข้ามาสมทบในฤดูหนาวโดยอพยพจากประเทศทางเหนือ[18] พบตามแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เช่น บึง หนองน้ำ ทะเลสาบ อ่างเก็บน้ำ นาข้าว และพื้นที่ชุ่มน้ำ[10]
พฤติกรรมและนิเวศวิทยา[แก้]
นกตีนเทียนพบเห็นง่ายตามแหล่งน้ำทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม มีจำนวนมาก เป็นนกสังคมมักพบเป็นฝูงขนาดเล็ก[15] มีเสียงร้อง "กิ๊ก-กิ๊ก-กิ๊ก"[10]
การผสมพันธุ์[แก้]
ผสมพันธุ์และทำรังในช่วงฤดูร้อนจนถึงต้นฤดูฝน (เดือนพฤษภาคม–สิงหาคมในบึงบอระเพ็ด[7] และทั่วไปในเดือนเมษายน–มิถุนายน[11]) ทำรังตามพื้นดินใกล้แหล่งน้ำเช่นเดียวกับนกน้ำอื่นที่ทำรังบนพื้นดิน นกตีนเทียนมักทำรังอยู่ใกล้กันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ (semi-colonial) แต่ละรังจะห่างกันประมาณ 5-6 เมตร[11] โดยการขุดให้เป็นแอ่งหลุมตื้น ปูรองด้วยใบหญ้าใบพืชแห้ง กิ่งไม้ ก้านบัว เปลือกหอยสองฝา แต่ไม่มากนักเพื่อวางไข่[19] มักจะทำรังอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำที่ใช้หากิน ไข่มีสีพื้นเป็นสีเขียวเข้ม หรือสีน้ำตาลอมเขียว มีจุดหรือลายสีเขียวเข้ม ดำ หรือสีน้ำตาลแดง ในแต่ละรังมีไข่ 3–4 ฟอง ความกว้างเฉลี่ย 3.0 เซนติเมตร ยาวเฉลี่ย 4.1 เซนติเมตร หนักเฉลี่ย 19.8 กรัม[19] นกตัวผู้และตัวเมียผลัดกันฟักไข่ตลอดทั้งวัน โดยมีพฤติกรรมการรักษาอุณหภูมิไข่ด้วยการนำตัวไปจุ่มน้ำแล้วมาฟักไข่[19] ระยะเวลาฟัก 25–26 วัน[7][18]
นกตีนเทียนมีพฤติกรรมแกล้งบาดเจ็บคล้ายนกนกชายเลนอีกหลายชนิด ในการหลอกล่อสัตว์นักล่าที่เข้ามาใกล้รังให้ถอยออกไป โดยมันจะบินส่งเสียงร้อง และร่อนถลาลงมาแกล้งทำท่า "ปีกหัก" บนพื้นในจุดที่ห่างออกไปจากรัง เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจศัตรูให้ตามไป[11][18]
ลูกนกเมื่อออกจากไข่แล้ว สามารถออกหากินตามพ่อแม่นกได้ทันที[19] และอยู่กับพ่อนกแม่นกไปจนกระทั่งอายุ 35-40 วัน ที่ลูกนกโตเต็มวัย[11]
การหาอาหาร[แก้]
หากินตอนกลางวันตามชายฝั่งทะเลที่มีน้ำท่วมขัง หรือหาดเลน นกตีนเทียนใช้ปากที่เรียวยาวคล้ายเข็มทำหน้าที่เป็นตัวคีบจับสัตว์น้ำขนาดเล็กกินเป็นอาหาร[18] กินสัตว์ขนาดเล็กที่หน้าดินเช่น ลูกปู ตัวอ่อนของแมลงน้ำ[8] และหนอนที่ฝังตัวอยู่ในดินและใต้น้ำ[7][18]
-
ลูกนกเพิ่งมีขน (fledgling) ที่ทะเลเวนิซ อิตาลี
-
ลูกนก สวนสัตว์เพิร์ท
-
นกที่ยังไม่โตเต็มวัย
ช่องคาซิงกา, ยูกันดา -
ลูกนกที่ยังไม่ผละออกจากรัง (nestling) ซึ่งมีความคล้ายกับลูกนกชายเลนอื่น ๆ
-
ขณะบิน ที่ทะเลเวนิซ อิตาลี
-
นกโตเต็มวัยขณะบินเป็นฝูง ที่อินเดีย
ชนิดที่คล้ายกัน[แก้]
อ้างอิง[แก้]
- ↑ แม่แบบ:Authors = BirdLife International
- ↑ "The IUCN Red List of Threatened Species". IUCN Red List of Threatened Species.
- ↑ 3.0 3.1 "นกตีนเทียน - eBird". ebird.org.
- ↑ "Himantopus melanurus (White-backed Stilt) - Avibase". avibase.bsc-eoc.org.
- ↑ 5.0 5.1 "Himantopus himantopus, Black-winged stilt". Thai National Parks (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Black-winged Stilt Himantopus himantopus (Linnaeus, 1758)". Avibase. Denis Lepage. สืบค้นเมื่อ 19 August 2017.
- ↑ 7.0 7.1 7.2 7.3 "ข้อมูลนกบึงบอระเพ็ด". 123.242.166.5.
- ↑ 8.0 8.1 "นกตีนเทียน (Black-winged Stilt) - กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง Department of Marine and Coastal Resources, Thailand". กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.
- ↑ "สัตว์". biodiversity.forest.go.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-15. สืบค้นเมื่อ 2021-06-15.
- ↑ 10.0 10.1 10.2 "นกตีนเทียน Black-winged Stilt ( Himantopus himantopus (Linnaeus, 1758) )". www.lowernorthernbird.com.
- ↑ 11.0 11.1 11.2 11.3 11.4 วิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชน : นกตีนเทียน Black-winged Stilt. แนวหน้า. 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2557. สืบค้นเมื่อ 14 มิถุนายน 2564.
- ↑ RSPB. "27-year first as rare black-winged stilt chicks hatch at RSPB reserves in southern England". RSPB Website. สืบค้นเมื่อ 16 November 2015.
- ↑ "UK's rare black-winged stilt numbers soar". Countryfile Magazine. BBC. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-08-20. สืบค้นเมื่อ 20 August 2017.
- ↑ "นกตีนเทียน Black-winged Stilt – ภาพถ่ายนกทุกชนิดที่พบในประเทศไทย".
- ↑ 15.0 15.1 "นกตีนเทียน Black-winged Stilt". Birds of Thailand: Siam Avifauna.
- ↑ "Species: Himantopus himantopus". กลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม.
- ↑ รุ่งโรจน์ จุกมงคล. นกชายเลนในอ่าวไทยตอนในวัฏจักรและชะตาชีวิตบนหาดเลน. สารคดี, 2001. สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2564.
- ↑ 18.0 18.1 18.2 18.3 18.4 18.5 "นกตีนเทียน (Black-winged Stilt)". www.enac-club.com.
- ↑ 19.0 19.1 19.2 19.3 อภิษฎา เรืองเกตุ, ประทีป ด้วงแค, ไกรรัตน์ เอี่ยมอำไพ และดอกรัก มารอด. (2556). ชีววิทยาการสืบพันธ์ุบางประการของนกตีนเทียน (Himantopus himantopus) บริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์.