นกตบยุงหางยาว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก นกตบยุงหางยาว Large-tailed Nightjar)
นกตบยุงหางยาว
นกตบยุงหางยาว
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Caprimulgiformes
สกุล: Caprimulgus
สปีชีส์: C.  macrurus
ชื่อทวินาม
Caprimulgus macrurus
(Horsfield,1821)

นกตบยุงหางยาว (อังกฤษ: Large-tailed Nightjar) เป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังจำพวกสัตว์ปีก (Aves) อยู่ในวงศ์นกตบยุง (Family Caprimulgidae) นกวงศ์นี้มีเพียง ๑ สกุล คือ สกุลนกตบยุง (Caprimulgus) ในประเทศไทยมีนกตบยุง 6 ชนิด ได้แก่ นกตบยุงพันธุ์มลายู (Eurostopodus temminckii) นกตบยุงยักษ์ (Eurostopodus macrotis) นกตบยุงภูเขา (Caprimulgus indicus) นกตบยุงหางยาว (Caprimulgus macrurus) นกตบยุงเล็ก (Caprimulgus asiaticus) และนกตบยุงป่าโคก (Caprimulgus affinis) ซึ่งนกตบยุงจะมีจะงอยปากแบนกว้าง ไม่ค่อยแข็งแรง ช่องปากกว้าง รูจมูกเป็นหลอดเล็กน้อยคล้ายกับจมูกของนกจมูกหลอด บริเวณมุมปากมีขนยาว ลำตัวเพรียว หางยาว ปีกยาวปลาย ปีกแหลม ดวงตากลมโต อาหารได้แก่ แมลงต่าง ๆ หากินโดยการบินโฉบจับแมลงกลางอากาศ มีนิสัยชอบอยู่โดดเดี่ยว นกตบยุงไม่สร้างรัง แต่จะวางไข่บนพื้นดิน วางไข่ครอกละ ๒ ฟอง ปกติไข่ไม่มีลายขีด ลูกนกอยู่ในไข่จนโตพอสมควรก่อนออกจากไข่ มีขนดาวน์หรือขนอุยขึ้นปกคลุมลำตัว ลืมตาได้ แต่ลูกนกยังคงต้องให้พ่อแม่หาอาหารมาป้อนให้ [1]

บทนำ[แก้]

ชีววิทยาของนกตบยุงหางยาว[แก้]

ขนาดตัว: 31.5-33 เซนติเมตร ขณะเกาะปลายหางยาวเลยปลายปีกออกมามากกว่านกชนิดอื่นๆ [2]ตัวผู้: หัวสีน้ำตาลเหลือง แถบกลางหัวสีน้ำตาลคล้ำ แถบหนวดและแถบข้างคอขาวชัดเจน ปลายขนคลุมปีกมีแต้มสีน้ำตาลอ่อนหรือขาวต่อเนื่องเป็นแถบ 4 แถบขวางแนวลำตัว ท้ายทอยแกมสีน้ำตาลแดง ไหล่มีลายขีดดำชัดเจน ขณะบินปลายขนปีกบินมีจุดขาวใหญ่ชัด ปลายหางคู่นอกๆ ขาว [3]ตัวเมีย: จุดขาวที่ปีกมีสีน้ำตาลเหลือง ปลายหางขาวแกมเหลืองไม่ชัดเจน เสียงร้อง: ก้อง “ชุก ชุก” หรือ “จุ๋ง จุ๋ง” ต่อเนื่องเป็นจังหวะ [4]อุปนิสัย: มักพบโดดเดี่ยวหรือเป็นคู่ ออกหากินเวลากลางคืน กินแมลงเป็นอาหาร โดยหมอบตามพื้นดินหรือเกาะกิ่งไม้แห้ง เมื่อแมลงบินผ่านมาก็บินโฉบด้วยปาก ส่วนเวลากลางวันมักหมอบพักบนต้นไม้หรือหมอบนอนหลับตามพื้นดิน ใต้ร่มเงาต้นไม้ หรือพื้นหญ้า ซึ่งมีใบไม้หรือใบหญ้าที่ร่วงหล่นค่อนข้างหนาแน่น [5]การผสมพันธุ์: ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อนระหว่างเดือนมีนาคม – พฤษภาคม ในการเกี้ยวพาราสี นกตัวผู้จะวิ่งรอบตัวเมีย ส่ายหางไปมา พองขนสีขาวที่คอ พร้อมทั้งส่งเสียงร้องคล้ายกบ นกชนิดนี้ไม่สร้างรัง แต่จะวางไข่บนพื้นดิน ในรังมักพบไข่ 2 ฟอง ไข่สีครีมแกมเหลือง หรือสีเนื้อแกมชมพู มีลายจุดเป็นลายดอกดวงสีเทาหรือเทาแกมแดง ทั้งพ่อแม่นกจะช่วยกันฟักไข่ ระยะฟักไข่ 16 – 20 วัน [6]ถิ่นอาศัย: ป่าโปร่ง ชายป่า พื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่เปิดโล่งต่างๆ ที่ราบถึงความสูง 2,135 เมตร [7] มักพบอยู่ตามเส้นทางลำคลองในป่า ทั้งป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง [8]เขตแพร่กระจาย: พบในปากีสถาน อินเดีย จีนด้านตะวันตกเฉียงใต้ ไหหลำ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หมู่เกาะอันดามัน หมู่เกาะซุนดาใหญ่ และออสเตรเลียตอนเหนือ[9]สถานภาพ: นกประจำถิ่น พบบ่อย บางส่วนเป็นนกอพยพระยะสั้น [10]

นักกินแมลงยามค่ำคืน[แก้]

อาหารหลักของนกตบยุงเป็นพวกแมลงกลางคืนนานาชนิด ทั้งผีเสื้อกลางคืน ด้วงปีกแข็ง และมวนต่าง ๆ [11] รวมทั้งแมลงเม่า หรือแม้แต่พวกจิ้งหรีดตามพื้นดินเป็นอาหาร ส่วนยุงกลับไม่ใช่อาหารของมัน แต่ด้วยลีลาการบินที่ค่อยกระพือปีก สลับร่อน และยกปีกเป็นรูปตัววี บินกลับตัวฉวัดเฉวียน จึงดูคล้ายกำลังตบยุงกลางอากาศ [12] เมื่อตะวันตกดิน นกตบยุงก็จะเริ่มออกหากินเรื่อยไปตลอดทั้งคืน ด้วยการบินโฉบจับแมลงกลางอากาศในระดับเรือนยอดไม้ หรือหมอบอยู่ตามพื้นดินหรือเกาะบนกิ่งไม้ เมื่อแมลงบินผ่านก็โฉบจับด้วยปากอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้นกตบยุงหางยาวจึงเป็นนกที่ช่วยควบคุมปริมาณแมลงที่มีมากมายในธรรมชาติให้อยู่ในภาวะสมดุลได้ [13]

ความสัมพันธ์เชิงวิวัฒนาการของนกตบยุงหางยาวกับญาติ[แก้]

จากการศึกษาความสัมพันธ์เชิงวิวัฒนาการของนกในอันดับ Caprimulgiformes โดยใช้ลำดับเบสจำนวน 2.8 kb ของ RAG-1 exon นั้น พบว่า นกในอันดับนี้ไม่เป็น monophylatic group โดยนกในวงศ์ Aegothelidae (owlet-nightjars) เป็น sister group กับนกในอันดับ Apodiformes (swifts and hummingbirds) และพบว่านกในวงศ์นกปากกบ Podargidae (frogmouths) และนกในวงศ์นกตบยุง Caprimulgidae (nightjars) มีความใกล้ชิดกัน สำหรับนกตบยุงหางยาว (C. macrurus) เป็น sister group กับ นก C. europaeus นกในสกุล Semeiophorus และนกในสกุล Scotornis [14]

การปรับตัวเชิงวิวัฒนาการของนกตบยุงหางยาว[แก้]

การมีขนแบบขนนก (Feathers) ที่ช่วยในการบินโฉบจับแมลงกลางอากาศ[แก้]

ขนที่ขึ้นปกคลุมร่างกายของนกมีลักษณะแตกต่างไปจากขนของสัตว์ชนิดอื่นคือ มีโครงสร้างที่แข็งและมีโครงสร้างบางส่วนที่เป็นตะขอทำหน้าที่เกาะเกี่ยวกันจนเกิดเป็นแผ่นเรียกว่า ขนนก (Feathers) ขนที่มีลักษณะนี้เป็นลักษณะจำเพาะของสัตว์ที่อยู่ใน Class Aves เท่านั้น ทั้งนี้ขนที่ขึ้นปกคลุมลำตัวนกในแต่ละส่วนของร่างกายจะมีลักษณะและรูปร่างแตกต่างกัน ซึ่งขนแบบคอนทัวร์ (Contour) จะพบมากที่สุดบนตัวนก อันได้แก่ ขนปกคลุมลำตัวทั่วไป ขนปีก ขนหาง โดยขนปีกและขนหางมีขนาดใหญ่กว่าขนที่ปกคลุมลำตัว และเส้นขนก็มีความแข็งแรงกว่า ขนประเภทนี้ทำหน้าที่ในการบิน นอกจากนี้ นกตบยุงหางยาวยังมีขนแบบบริสเติล (Blistle) ซึ่งเป็นขนที่มีก้านขนยาว และอาจมีเส้นขนเล็กน้อยหรือไม่มีเลย พบอยู่ตามที่ต่าง ๆ ในส่วนของหัว [15] ที่ช่วยในการกรองแมลงเข้าปากขณะบิน [16] และเพื่อใช้รับความรู้สึกเวลามีแมลงบินผ่าน [17]

การมีสีขนที่ปรับให้คล้ายคลึงกับสภาพแวดล้อม[แก้]

จุดมุ่งหมายที่สำคัญคือ ใช้พรางตัวเพื่อให้รอดพ้นอันตรายจากการล่าโดยศัตรู หรือในทางตรงข้าม นกใช้ประโยชน์จากการพรางตัวเพื่อการล่าเหยื่อ ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า นกที่หากินอยู่บนพื้นดินส่วนใหญ่จะมีสีน้ำตาลสลับดำเป็นส่วนใหญ่เพื่อให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในนกเพศเมียที่ต้องทำหน้าที่ฟักไข่ ด้วยเหตุนี้ นกตบยุงหางยาวจึงเป็นนักพรางตัวที่ดีเลิศ เนื่องจากมีขนสีน้ำตาลคล้ำอมเทาผสมกับแถบสีดำและจุดประสีน้ำตาลปกคลุมจนทั่วตัว ทำให้กลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมที่เป็นพุ่มไม้หรือกองใบไม้แห้งตามพื้นป่า ทำให้ยากต่อการสังเกตเห็น ซึ่งต้องเข้าใกล้เกือบถึงตัวนกจึงจะรู้ว่ามีนกชนิดนี้อยู่ก็เมื่อตอนมันบินหนีไป [18] นอกจากนี้การมีไข่สีน้ำตาลที่กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม เช่นเดียวกับลูกนกที่แรกเกิดจะยังลืมตาไม่ได้แต่การมีสีขนลำตัวเป็นสีน้ำตาลแก่นั้นจะช่วยพรางตัวจากสัตว์ผู้ล่า เนื่องจากขนคล้ายใบไม้แห้งที่หล่นทับถมตามรังนอนมาก [19]

การมีจะงอยปากสั้นแบน ไม่ค่อยแข็งแรง ทำให้นิ้วมีเล็บเป็นซี่หวี[แก้]

เนื่องจากนกต้องปรับตัวให้มีน้ำหนักเบา เพื่อให้เหมาะสมกับการบิน จึงจำเป็นต้องลดรูปกระดูกขากรรไกรให้มีขนาดเล็กลงและไม่มีฟัน แต่นกได้เพิ่มความสามารถในการฉีกและจับอาหารของปากโดยมีจะงอยปากที่แข็ง และกระเพาะอาหารที่พัฒนาเพื่อการบดเคี้ยวอาหารแทนกระดูกขากรรไกรและฟัน เป็นผลทำให้ขนาดและรูปร่างของจะงอยปากของนกแตกต่างกันไปตามชนิดของอาหารที่นกกิน ทั้งนี้นกตบยุงมีจะงอยปากที่สั้นแบน ใช้สำหรับกินแมลงเป็นอาหาร จึงทำให้นิ้วที่ 3 มีเล็บเป็นเล็บหยักคือ มีซี่หวี (Pectimate) เพื่อใช้ในการจัดเรียงระเบียบขนแทนจะงอยปาก [20] เนื่องจากนกต้องดูแลขนของตัวเองให้สะอาดอยู่เสมอ เพราะถ้าขนสกปรกจะทำให้ขนปีกติดกัน และนกอาจตกลงมาในเวลาบินได้ ทั้งยังเป็นการขับไล่แมลงและไรที่เกาะหากินอยู่บนตัวนก [21]

การมีปากสั้นแบนกว้างและมีขนแข็งที่โคนปาก[แก้]

เนื่องจากนกตบยุงหางยาวกินแมลงเป็นอาหารและออกหากินในเวลากลางคืน ด้วยวิธีบินโฉบจับแมลงกลางอากาศในระดับเรือนยอดไม้ หรือหมอบอยู่ตามพื้นดินหรือเกาะบนกิ่งไม้ ดังนั้นการมีปากสั้นแบนกว้างและมีขนแข็งที่โคนปาก จึงเพิ่มโอกาสในการจับแมลงที่บินผ่านในขณะที่โฉบจับกลางอากาศด้วยปากอย่างรวดเร็ว [22]

การมีตาขนาดใหญ่[แก้]

นกมีตาขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับลำตัว โดยนกที่หากินกลางวันมีลูกตารูปทรงกลมหรือแบน ส่วนนกหากินกลางคืนมีลูกตาทรงกระบอก นกมีหนังตาชั้นที่ 3 เป็นอวัยวะเด่นที่แตกต่างจากสัตว์อื่น ใช้สำหรับเปิดปิดนัยน์ตาแทนการกระพริบตาด้วยหนังตาชั้นนอก และช่วยป้องกันตาเมื่อนกบินปะทะลม [23] ด้วยเหตุนี้นกตบยุงหางยาวซึ่งออกหากินในเวลากลางคืนจึงมีหนังตาและตาขนาดใหญ่ เพื่อช่วยในการหาเหยื่อ

อ้างอิง[แก้]

  1. ประภากร ธาราฉาย. ม.ป.ป. การจัดการและอนุรักษ์นกในธรรมชาติ: อนุกรมวิธานของนกที่พบในประเทศไทย. คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยแม่โจ้.
  2. จารุจินต์ นภีตะภัฏ, กานต์ เลขะกุล และวัชระ สงวนสมบัติ. 2555. คู่มือศึกษาธรรมชาติหมอบุญส่ง เลขะกุล นกเมืองไทย กรุงเทพฯ: บริษัท ด่านสุทธาการพิมพ์ จำกัด.
  3. จารุจินต์ นภีตะภัฏ, กานต์ เลขะกุล และวัชระ สงวนสมบัติ. 2555. คู่มือศึกษาธรรมชาติหมอบุญส่ง เลขะกุล นกเมืองไทย กรุงเทพฯ: บริษัท ด่านสุทธาการพิมพ์ จำกัด.
  4. จารุจินต์ นภีตะภัฏ, กานต์ เลขะกุล และวัชระ สงวนสมบัติ. 2555. คู่มือศึกษาธรรมชาติหมอบุญส่ง เลขะกุล นกเมืองไทย กรุงเทพฯ: บริษัท ด่านสุทธาการพิมพ์ จำกัด.
  5. นิรนาม. ม.ป.ป. นกตบยุงหางยาว. สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช. http://www.tistr.or.th/sakaerat/Flora_Fauna/nok%20PDF/039.pdf
  6. นิรนาม. ม.ป.ป. นกตบยุงหางยาว. สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช. http://www.tistr.or.th/sakaerat/Flora_Fauna/nok%20PDF/039.pdf
  7. จารุจินต์ นภีตะภัฏ, กานต์ เลขะกุล และวัชระ สงวนสมบัติ. 2555. คู่มือศึกษาธรรมชาติหมอบุญส่ง เลขะกุล นกเมืองไทย กรุงเทพฯ: บริษัท ด่านสุทธาการพิมพ์ จำกัด.
  8. นิรนาม. 2554. นกตบยุง นักกินแมลงแห่งรัตติกาล. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ: กลุ่มงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. http://biodiversity.forest.go.th/index.php?option=com_content&view=article&id=228:2011-12-05-06-34-36&catid=25:the-project&Itemid=68 เก็บถาวร 2016-03-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  9. นิรนาม. ม.ป.ป. นกตบยุงหางยาว. สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช. http://www.tistr.or.th/sakaerat/Flora_Fauna/nok%20PDF/039.pdf
  10. จารุจินต์ นภีตะภัฏ, กานต์ เลขะกุล และวัชระ สงวนสมบัติ. 2555. คู่มือศึกษาธรรมชาติหมอบุญส่ง เลขะกุล นกเมืองไทย กรุงเทพฯ: บริษัท ด่านสุทธาการพิมพ์ จำกัด.
  11. ภูริช เชี่ยวน้อย. 2553.นกตบยุง. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น. http://www.bedo.or.th/lcdb/biodiversity/view2.aspx?id=10082[ลิงก์เสีย]
  12. นิรนาม. 2554. นกตบยุง นักกินแมลงแห่งรัตติกาล. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ: กลุ่มงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้.http://biodiversity.forest.go.th/index.php?option=com_content&view=article&id=228:2011-12-05-06-34-36&catid=25:the-project&Itemid=68
  13. ภูริช เชี่ยวน้อย. 2553.นกตบยุง. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น. http://www.bedo.or.th/lcdb/biodiversity/view2.aspx?id=10082[ลิงก์เสีย]
  14. Barrowclough F.G., Groth G. J. and Mertz A.L. 2006. The RAG-1 exon in the avian order Caprimulgiformes: Phylogeny, heterozygosity, and base composition. Molecular Phylogenetics and Evolution 41: 238–248
  15. ประภากร ธาราฉาย. ม.ป.ป. การจัดการและอนุรักษ์นกในธรรมชาติ: กายวิภาคและการปรับตัวของนก. คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยแม่โจ้.
  16. http://www.oknation.net/blog/plains-wanderer/2013/07/14/entry-1
  17. ภูริช เชี่ยวน้อย. 2553.นกตบยุง. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น. http://www.bedo.or.th/lcdb/biodiversity/view2.aspx?id=10082[ลิงก์เสีย]
  18. http://www.tropicalforest.or.th/p50.htm[ลิงก์เสีย]
  19. นิรนาม. 2554. นกตบยุง นักกินแมลงแห่งรัตติกาล. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ: กลุ่มงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้.http://biodiversity.forest.go.th/index.php?option=com_content&view=article&id=228:2011-12-05-06-34-36&catid=25:the-project&Itemid=68
  20. ประภากร ธาราฉาย. ม.ป.ป. การจัดการและอนุรักษ์นกในธรรมชาติ: กายวิภาคและการปรับตัวของนก. คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยแม่โจ้.
  21. นิรนาม. ม.ป.ป. โครงสร้างทางกายภาพของนก. สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย. http://www.bcst.or.th/?page_id=57 เก็บถาวร 2013-08-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  22. ภูริช เชี่ยวน้อย. 2553.นกตบยุง. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น. http://www.bedo.or.th/lcdb/biodiversity/view2.aspx?id=10082[ลิงก์เสีย]
  23. นิรนาม. ม.ป.ป. โครงสร้างทางกายภาพของนก. สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย. http://www.bcst.or.th/?page_id=57 เก็บถาวร 2013-08-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน