ข้ามไปเนื้อหา

ท้าวอินทรสุริยา (เนื่อง จินตดุล)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คุณ

ท้าวอินทรสุริยา
(เนื่อง จินตดุล)

เกิดเนื่อง
10 ธันวาคม พ.ศ. 2428
กรุงเทพพระมหานคร
เสียชีวิต16 ตุลาคม พ.ศ. 2517 (88 ปี)
พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน กรุงเทพมหานคร
บิดามารดากลีบ จินตดุล
ทองคำ จินตดุล

ท้าวอินทรสุริยา (เนื่อง จินตดุล; 10 ธันวาคม พ.ศ. 2428 - 16 ตุลาคม พ.ศ. 2517) เป็นพระพี่เลี้ยงผู้ถวายการอภิบาลพระราชโอรส-ธิดาในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และพระราชโอรส-ธิดาในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ประวัติ

ท้าวอินทรสุริยา มีนามเดิมว่า เนื่อง เป็นธิดาคนเดียวของกลีบ และทองคำ จินตดุล เกิดเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2428 ณ ตำบลบางขุนศรี อำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี บิดารับราชการกรมมหรสพ มารดามีเชื้อสายราชินิกุลชูโต

เมื่อเนื่องอายุประมาณ 2 ขวบ มารดายกเธอให้เป็นธิดาบุญธรรมของคุณนายทับทิม บุณยาหาร ซึ่งเป็นญาติกัน เนื่องเป็นที่รักของคุณนายทับทิมและคนในบ้าน เพราะเธอสุภาพเรียบร้อย ว่านอนสอนง่าย เมื่อเนื่องเริ่มโตพอศึกษา คุณนายทับทิมจึงหาครูมาสอนเธอที่บ้านให้พออ่านออกเขียนได้ จนอายุ 15 ปี เนื่องมีใจน้อมไปทางธรรม เนื่องจากมีโอกาสติดตามคุณนายทับทิมไปวัด ทำบุญรักษาศีลทุกวันมิได้ขาด ต่อมาเนื่องตัดสินใจโกนผมนุ่งห่มขาว บวชอยู่ ณ สำนักชีวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร เป็นเวลา 5 ปี ครั้นไม่มีคนช่วยดูแลบ้าน คุณนายทับทิมจึงขอร้องให้ลาเพศชีกลับมาช่วยดูแลบ้านตามเดิม

เนื่องลาเพศชีออกมาได้ 5-6 ปี ภารกิจที่บ้านว่างลง เธอจึงขออนุญาตคุณนายทับทิมเข้าศึกษาวิชาพยาบาล จนสำเร็จวิชาพยาบาลศิริราช รุ่นที่ 9 เนื่องเป็นพระสหายร่วมชั้นเรียนวิชาพยาบาลของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่โรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาลแห่งศิริราช ต่อมาเธอเป็นพยาบาลที่โรงพยาบาลศิริราชและโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ตามลำดับ และเคยเป็นพยาบาลอาสาในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

เมื่อปี พ.ศ. 2466 เมื่อหม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา ได้ให้ประสูติหม่อมเจ้ากัลยาณิวัฒนา มหิดล และติดตามสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ เสด็จกลับสยาม ในปีนั้นเองสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ ได้คัดเลือกพระพี่เลี้ยงนางนมให้มาถวายการดูแลพระโอรส-ธิดา ปรากฏว่านางพยาบาลเนื่อง จินตดุล ได้รับการคัดเลือก เพราะเป็นสหายคนสนิทของหม่อมสังวาลย์ เธอได้ติดตามไปเป็นพระพี่เลี้ยง และตามเสด็จไปประเทศเยอรมนีและประเทศฝรั่งเศส ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2468[1] และตามเสด็จในการเสด็จนิวัติพระนครทุกครั้ง ต่อมาเธอได้ย้ายมาอาศัยในพระตำหนักใหม่ วังสระปทุม

การเป็นพระพี่เลี้ยงของมาหลายสิบปี พระพี่เลี้ยงเนื่องจึงมีความรู้ทางด้านภาษาต่างประเทศพอสมควร นอกจากนี้ยังเป็นผู้ที่คอยติดตามข่าวสารบ้านเมืองเสมอ จึงเป็นคนที่ทราบการเคลื่อนไหวของชาวโลกตลอดเวลา ทั้งยังอยู่ในเหตุการณ์การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง และในเวลาต่อมา เธอได้เป็นพยานคนสำคัญในคดีนี้

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงออกนามเรียกพระพี่เลี้ยงเนื่องว่า แหนน[2] เพราะออกเสียงง่ายกว่าคำว่า เนื่อง พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ก็ทรงออกนามเรียกท่านเช่นนั้นตามพระเชษฐภคินี

คุณท้าวอินทรสุริยายังได้ถวายการอภิบาลพระราชโอรสธิดาทุกพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยมีคุณวิไล อมาตยกุล ท่านผู้หญิงอภิรดี ยิ่งเจริญ ท่านผู้หญิงพรสม กุณฑลจินดา และคุณทวี มณีนุตร เป็นผู้ช่วยถวายการอภิบาล

บรรดาศักดิ์

วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2493 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้นางสาวเนื่อง จินตดุล เป็น ท้าวอินทรสุริยา สรรพาหารพิจาริณี ที่นักพฤฒิชราฉลองพระโอษฐ์ บังคับบัญชาบรรดาวิเสทนอกในทั้งปวง ถือศักดินา 1,000[3]

บั้นปลายชีวิต

ต้นปี พ.ศ. 2505 ท้าวอินทรสุริยาได้กราบบังคมทูลลาถือเพศแม่ชีอีกครั้ง ณ วัดโกมุทรัตนาราม จังหวัดชลบุรี โดยมีหลวงพ่อสาลี เป็นผู้ประกอบพิธี เมื่อบวชแล้วก็ย้ายมาจำพรรษา ณ วัดธาตุทอง ท่านได้อุทิศตนบำเพ็ญประโยชน์ให้กับการบำรุงวัด สถานพยาบาล โรงเรียน และสถาบันแม่ชี และท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่าง ๆ ที่ชอบมาก คือ วัดวชิราลงกรณวราราม ตำบลหนองน้ำแดง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ท้าวอินทรสุริยามีโอกาสได้รู้จักกับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร และอาจารย์สายพระป่าในประเทศไทยหลายรูป ในเวลาต่อมาพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงขอร้องให้ท้าวอินทรสุริยาเข้ามาพำนักในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และพระราชทานห้องพักในพระตำหนักจิตรลดารโหฐานให้

ท้าวอินทรสุริยาถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2517 เวลา 19.10 น. ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สิริรวมอายุได้ 88 ปี 11 เดือน[2] ท้าวอินทรสุริยาเกิดในเดือนธันวาคม ถึงแก่อนิจกรรมในเดือนตุลาคม ตอนมีอายุ 88 ปี 11 เดือน เหมือนกับพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผู้ที่ท้าวอินทรสุริยา ถวายการอภิบาลและถวายงานอย่างใกล้ชิดมาตลอด

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน น้ำหลวงอาบศพ โกศแปดเหลี่ยม ฉัตรเบญจา 6 คันตั้งประกอบเกียรติยศ ปี่ไฉน 1 กลองชนะ 10 ประโคมเวลารับพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ และให้ตั้งโกศศพบำเพ็ญกุศลไว้ ณ ศาลาบัณณรศภาค วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร

วันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2518 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จฯในการพระราชทานเพลิงศพท้าวอินทรสุริยา ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส โดยทรงพระดำเนินขึ้นบนเมรุ ทรงวางดอกไม้จันทน์พระราชทานเพลิงศพด้วยพระองค์เอง

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

อ้างอิง

  1. เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์[ลิงก์เสีย]
  2. 2.0 2.1 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาเจ้านายเล็กๆ - ยุวกษัตริย์. กรุงเทพ : ซิลค์เวอร์ม บุคส์, พิมพ์ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2549. 450 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-7047-55-1
  3. "เรื่องพระราชทานบรรดาศักดิ์ฝ่ายใน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 67 (25 ง): 1804. 2 พฤษภาคม 2493.
  4. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ เก็บถาวร 2011-11-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 55, ตอน 0 ง, 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481, หน้า 2958
  5. "แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 67 (25 ง): 1809. 2 พฤษภาคม 2493. สืบค้นเมื่อ 24 พฤษภาคม 2561. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. "แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 70 (29 ง): 2049. 12 พฤษภาคม 2496. สืบค้นเมื่อ 16 เมษายน 2563. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  • สารัตถสมุจจัย มงคลสูตร. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พระจันทร์, 2519. 121 หน้า หน้า. [พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทาน ในงานพระราชทานเพลิงศพ ท้าวอินทรสุริยา ท.จ. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2518]