ทิศทาง (อณูชีววิทยา)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โมเลกุลฟูราโนส (เป็นวงแหวนน้ำตาลชนิดหนึ่ง) ที่ติดป้ายอะตอมคาร์บอน โดย 5′ อยู่ทางด้าน upstream (ต้นสาย) และ 3′ อยู่ทางด้าน downstream (ปลายสาย) ดีเอ็นเอและอาร์เอ็นเอจะสังเคราะห์เริ่มจากต้นสาย (5′) ไปยังปลายสาย (3′)

ในสาขาอณูชีววิทยาและชีวเคมี directionality (ทิศทาง) หมายถึงทิศทางทางเคมีในกรดนิวคลีอิกสายเดี่ยวจากต้นสายไปยังปลายสาย เพราะสำหรับดีเอ็นเอหรืออาร์เอ็นเอสายเดี่ยว วิธีการระบุตำแหน่งอะตอมคาร์บอนทางเคมีสำหรับวงแหวนน้ำตาลเพนโทส (pentose) ที่เป็นนิวคลีโอไทด์ จะทำให้ให้มีส่วนสุดด้าน 5′ (อ่านว่า ไฟฟ์ไพรม์) ซึ่งบ่อยครั้งเป็นกลุ่มฟอสเฟตที่เชื่อมอยู่กับคาร์บอน 5′ ในวงแหวนไรโบส และมีส่วนสุดด้าน 3′ (อ่านว่า ทรีไพรม์) ซึ่งปกติเป็นส่วน -OH ของวงแหวนไรโบสที่ยังไม่ได้แปลง ถ้าเป็นสายเกลียวคู่กรดนิวคลีอิก สายแต่ละข้างจะวิ่งในทิศทางกลับกันเพื่อให้จับคู่เบสกับกันและกันได้ ซึ่งสำคัญในการถ่ายแบบหรือการถอดรหัสข้อมูลพันธุกรรมที่เข้ารหัสไว้

ในสิ่งมีชีวิต กรดนิวคลีอิกจะสังเคราะห์จากด้าน 5′ (ต้นสาย) ไปยัง 3′ (ปลายสาย) เพราะเอนไซม์โพลิเมอเรส (polymerase) ที่ประกอบสายกรดนิวคลีอิกใหม่ชนิดต่าง ๆ ปกติต้องได้พลังงานจากการทำลายพันธะนิวคลีโอไซด์ไตรฟอสเฟต (nucleoside triphosphate) เพื่อไปใช้เชื่อมนิวคลีโอไซด์โมโนฟอสเฟตตัวใหม่เข้ากับกลุ่มไฮดรอกซิล (-OH) ที่ปลายด้าน 3′ ด้วยพันธะ phosphodiester ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบตำแหน่งโครงสร้างต่าง ๆ ตามสายกรดนิวคลีอิก รวมทั้งยีนและจุดเชื่อม (binding site) ของโปรตีน จึงสามารถระบุว่าอยู่ทาง upstream (ต้นสาย) คืออยู่ทางฝั่งปลาย 5′ หรือ downstream (ปลายสาย) คืออยู่ทางฝั่งปลาย 3′

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

  • Harvey Lodish; Arnold Berk; Paul Matsudaira; Chris A. Kaiser (2004). Molecular Cell Biology (5th ed.). New York City: W.H. Freeman and Company. ISBN 978-0-7167-4366-8.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]