ทวิบถเท็จ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ทวิภาคปลอม)
ดิเล็มมาอย่างหนึ่งที่ปรากฏในสหรัฐช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 คือจะเป็นผู้มีปัญญาและวีรบุรุษ หรือจะเป็นคนรวยและมีอำนาจ (โปสเตอร์ปี 1901 หรือหลังจากนั้น)

ทวิบถเท็จ (อังกฤษ: false dilemma, false dichotomy) เป็นเหตุผลวิบัติอรูปนัยซึ่งเกิดจากข้อตั้งที่จำกัดทางเลือกอย่างผิด ๆ โดยเหตุผลไม่ได้วิบัติเพราะการอนุมานที่ผิด ๆ แต่เกิดจากข้อตั้งที่ผิด อยู่ในรูปแบบเป็นการเลือกเชิงตรรกศาสตร์ว่า ทางเลือกทางใดทางหนึ่งที่ระบุจะต้องเป็นจริง เป็นปัญหาเพราะกันทางเลือกอื่น ๆ ที่อาจเป็นไปได้ เช่น เมื่อกล่าวว่า "ก. พูดต่อต้านระบบทุนนิยม ดังนั้น เขาต้องเป็นคอมมิวนิสต์" ทางเลือกที่ถูกกันออกก็คือ ก. อาจไม่ใช่คอมมิวนิสต์ แต่ก็ไม่ใช่นักทุนนิยมด้วย

ทวิบถเท็จมักมีรูปแบบเป็นข้อความตรงข้ามกันสองอย่าง โดยทั้งสองอาจเป็นเท็จ รูปแบบการอนุมานหลายอย่างสัมพันธ์กับทวิบถเท็จ เช่น constructive dilemma, destructive dilemma และ disjunctive syllogism ปกติแล้วทวิบถเท็จจะใช้เมื่อให้เหตุผลแบบนิรนัย (deductive argument) แต่ก็พบในรูปแบบ defeasible argument ด้วย ที่เรามักสร้างทวิบถเท็จขึ้นอาจเป็นเพราะว่า ต้องการทำเหตุการณ์ให้เป็นเรื่องง่าย ๆ โดยใช้วลีที่แบ่งความจริงออกเป็นสองพวก ซึ่งอาจมีอยู่ในโครงสร้างภาษาบางอย่างแล้วด้วยซ้ำ (เช่น สำนวนอังกฤษว่า either...or) หรืออาจเป็นเพราะต้องการความชัดเจนแล้วปฏิเสธความคลุมเครือที่มีอยู่โดยธรรมชาติในคำพูดรูปแบบต่าง ๆ

นิยาม[แก้]

ทวิบถเท็จเป็นเหตุผลวิบัติอรูปนัยชนิดหนึ่งที่อาศัยข้อตั้งที่จำกัดทางเลือกอย่างผิด ๆ[1][2][3] ในรูปแบบที่ง่ายสุด จะจำกัดเหลือทางเลือกเพียงสองทางเท่านั้น เหตุผลวิบัติก็คือข้อโต้แย้ง/อาร์กิวเมนต์ เป็นข้อตั้งชุดหนึ่งบวกกับข้อสรุปที่ไม่ถูกต้องและ/หรือไม่สมเหตุผล โดยปกติจะแบ่งประเภทเป็นรูปนัย (formal) และอรูปนัย (informal) เหตุผลวิบัติรูปนัยไม่สมเหตุผลเพราะมีโครงสร้างที่ไม่ดี เทียบกับเหตุผลวิบัติอรูปนัยที่ไม่สมเหตุผลเพราะเนื้อหาไม่ดี[3][4][1][5] เนื้อหาที่เป็นปัญหาของทวิบถเท็จมีรูปแบบเป็นการเลือกเชิงตรรกศาสตร์ (disjunctive claim) ซึ่งอ้างว่า ทางเลือกหนึ่งในบรรดาทางเลือกที่ยกขึ้นมาต้องเป็นจริง ซึ่งเป็นปัญหาเพราะทำเรื่องให้ง่ายเกินไปโดยกันทางเลือกที่เป็นไปได้อย่างอื่นออก[1]

รูปแบบ[แก้]

เหตุและการหลีกเลี่ยง[แก้]

เพื่อให้เข้าใจเหตุผลวิบัติบางชนิดได้ก็จะต้องไม่มองแค่แง่มุมทางตรรกศาสตร์ แต่ต้องเข้าใจถึงจิตวิทยาเชิงประสบการณ์ซึ่งอาจอธิบายได้ว่าทำไมมนุษย์จึงมักพลาดเกิดเหตุผลวิบัติต่าง ๆ[6][1] ในทวิบถเท็จ แนวโน้มที่มนุษย์จะจัดเหตุการณ์ให้ง่ายโดยสร้างทางเลือกเพียงแค่สองทางอาจมีบทบาทสำคัญ ภาษาต่าง ๆ มักมีคำเกี่ยวกับคู่ที่เป็นเรื่องตรงข้ามกันจำนวนมาก (เช่น ขาว ดำ เป็นต้น)[5] การทำเรื่องให้ง่ายบางครั้งจำเป็นในการตัดสินใจเมื่อมีเวลาไม่พอเพื่อให้ได้ข้อมูลหรือเพื่อพิจารณาข้อมูลให้ถี่ถ้วน

เพื่อหลีกเลี่ยงทวิบถเท็จ บุคคลต้องรู้ว่ามีทางเลือกอื่น ๆ นอกเหนือจากที่ระบุไว้ การคิดวิเคราะห์และความคิดสร้างสรรค์อาจช่วยให้เห็นว่า การมีทางเลือกแค่สองทางไม่เป็นจริงแล้วหาทางเลือกอื่น ๆ ได้[1]

ตัวอย่าง[แก้]

ทางเลือกเทียม[แก้]

การใช้ทางเลือกเทียมเป็นเหตุผลมักเป็นการตั้งใจกำจัดทางเลือกในระหว่าง ๆ ทางเลือกส่วนสุดทั้งสองข้าง เช่น การอ้างเหตุผลไม่ออกกฎหมายบังคับมลภาวะทางเสียงมักเป็นทางเลือกเทียม เช่น อาจกล่าวได้ว่า เสียงดังในกรุงเทพไม่ควรเข้าไปควบคุม เพราะถ้ามีกฎหมายควบคุม ก็จะทำให้ธุรกิจต่าง ๆ ต้องปิดกิจการ เหตุผลนี้สมมุติว่า ธุรกิจกลางคืนต่าง ๆ อาจจะต้องปิดตั้งแต่เช้าเพื่อไม่ให้มีเสียงดังหลังเที่ยงคืน โดยไม่ได้จำแนกว่า กฎหมายสามารถบังคับให้ธุรกิจกลางคืนติดตั้งวัสดุป้องกันเสียงเพื่อไม่ให้เสียงดังกระจายไปยังเพื่อนบ้านเรือนเคียงได้[7]

ความคิดขาวดำ[แก้]

ในสาขาจิตวิทยา มีปรากฏการณ์หนึ่งคล้าย ๆ ทวิบถเท็จคือ ความคิดขาวดำ มีคนที่คิดในลักษณะนี้เป็นปกติ เช่น จัดคนอื่นให้เป็นคนดีหรือคนเลวโดยสิ้นเชิง[8]

ดูเพิ่ม[แก้]

เชิงอรรถและอ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 Tomić, Taeda (2013). "False Dilemma: A Systematic Exposition". Argumentation. 27 (4): 347–368. doi:10.1007/s10503-013-9292-0. S2CID 144781912.
  2. Dowden, Bradley. "Fallacies: 6. Partial List of Fallacies". Internet Encyclopedia of Philosophy. สืบค้นเมื่อ 2021-03-13.
  3. 3.0 3.1 Vleet, Van Jacob E. (2010). "Introduction". Informal Logical Fallacies: A Brief Guide. Upa.
  4. Hansen, Hans (2020). "Fallacies". The Stanford Encyclopedia of Philosophy. Metaphysics Research Lab, Stanford University. สืบค้นเมื่อ 2021-03-13.
  5. 5.0 5.1 Engel, S. Morris (1982). "4. Fallacies of presumption". With Good Reason an Introduction to Informal Fallacies.
  6. Walton, Douglas N. (1987). "3. The logic of propositions". Informal Fallacies: Towards a Theory of Argument Criticisms. John Benjamins.
  7. Desantis, Nick (2012-01-23). "Data Shows Bars With Most Noise Complaints, But Is It Just Sound and Fury?". The New York Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-08-04. สืบค้นเมื่อ 2015-10-31.
  8. AJ Giannini. "Use of fiction in therapy". Psychiatric Times. 18(7): 56-57, 2001. https://www.psychiatrictimes.com/view/use-fiction-therapy

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]